เพลงพื้นบ้าน จากการปฏิบัติจริง 10 (เพลงกล่อม)


เสียงร้องแผ่ว ๆ โอ..ละ เห่.. ชวนให้เคลิบเคลิ้ม
 
เพลงพื้นบ้าน 

จากการปฏิบัติจริง

(ตอนที่ 10) เพลงกล่อม       
                                 
มาถึงตอนสุดท้ายของการเล่า เรื่องจริงจากประสบการณ์ตรงของผมเสียแล้ว ความจริงผมมีเรื่องราวที่ผ่านร้อนผ่านหนาว จากสายลมและแสงแดดมามายมาย ผลกระทบที่เรียกว่า ประสบการณ์จึงพอมีให้คนเก่า (ยังไม่แก่มาก) ได้เล่าขานอีกบ้าง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะพูดถึงเพลงพื้นบ้าน จากการปฏิบัติจริงใน ตอนที่ 10 (ขณะที่ผมเขียนเรื่องนี้เวลาประมาณ 15.45 น.ของวันที่ 23 พฤษภาคม 2550) อีกสักครู่เด็กๆ 2-3 คนคงจะเข้ามาหาผม คือ หทัยกาญจน์, รัตนา และธีระพงษ์ เขาจะมาเรียนรู้ภูมิปัญญา เพลงพื้นบ้านจากผมกันคนละอย่าง (อิม) หทัยกาญจน์-เพลงแหล่, รัตนา (ยุ้ย)-เพลงกล่อม และธีรพงษ์ (ท็อป)-มาฝึกทำขวัญนาค ทำนองเสนาะ (ธรรมวัตร) ผมคงต้องกลับไปเล่าต่อที่บ้านในตอนค่ำแล้วนะครับ           
                                                            
ผมอยู่กับพวกเขา 1 ชั่วโมงครึ่ง เพื่อฟังเสียง รัตนาร้องเพลงกล่อมที่สดใสน่าฟัง ผมขอเริ่มเล่าต่อเลยโดยย้อนไปตอนที่ผมเด็ก ๆ ยังเล็กมากก่อน 1 ขวบ แม่มาเล่าให้ฟังตอนหลังว่า เวลาอุ้มลงเปลจะกล่อมให้นอนกลางวัน แม่จะต้องรีบกินข้าว แล้วก็ไกวเปลให้ผมหลับเพื่อที่แม่กับพ่อจะได้ออกไปทำงานในท้องนา แม่เคยพูดถึงฤดูฝน เมื่อมีน้ำฝนเต็มนา ไม่ต้องไปรอน้ำท่อ จะต้องรีบไถทำ เพื่อหว่านข้าวกล้า เตรียมเอาไว้ปักดำต่อไป ในวันนั้นผมยังไม่รู้เดียงสา แม่ร้องกล่อมว่าอะไรบ้าง ชำเลืองจำไม่ได้หรอกครับ มาได้ยินบ้าง คลับคล้ายคลับคลาก็ตอนที่แม่คุณกล่อมน้องสาว (ผมแก่กว่าน้อง 3 ปีครึ่ง) แม่คุณกล่อมน้องสาวผมด้วยเพลงกาเหว่าเอย พอนึกเค้า ๆ ได้นิด ๆ แต่แม่คุณร้องเพลงกล่อมให้ผมฟังจนผมจำความได้ ดูเหมือนว่าเข้าโรงเรียนชั้น ป.1 (อายุ 7 ปี) แล้วยังได้ฟังอยู่เลย เพลงที่ได้ยินได้ฟังแม่คุณร้องบ่อย ๆ คือเพลง นกเอี้ยงเลี้ยงควยเฒ่า  ความกินข้าวนกเอี้ยงตีกัน.....
                                          
   พ่อกับแม่ คือ ครูคนแรกที่ให้ความรู้แก่เรา ปู่ ย่า ตา ยาย ผู้ที่อุปการะเลี้ยงดูเรา คือ ผู้ที่มีพระคุณ ทุกท่านที่ได้กล่าวมาล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ต้องใช้วิธีการ กระบวนการในการดูแลลูกหลานตั้งแต่เล็กจนโต  เพลงกล่อม เป็นศิลปะการร้องที่คนเก่า ๆ ไม่ได้กำหนดหลักการ ไม่มีทฤษฎีตายตัวว่า จะต้องร้องด้วยทำนองอย่างไร ตรงไหนขึ้นเสียงสูง ตรงไหนลงเสียงต่ำ  แต่ที่เน้นก็คือ ร้องลากเสียงยาว ๆ ทำเสียงให้แผ่ว ๆ ด้วยคำร้อง โอ..ละ เห่.. อือ.. เอ...อืม... ชวนให้เคลิบเคลิ้ม ง่วงนอน  จึงมีผู้กำหนดชื่อเสียใหม่ว่า เพลงสำหรับเด็ก ความจริงเพลงกล่อม มิได้มีการกล่อมเฉพาะเด็กหรอกครับ ถ้าผมจะยกเอามากล่าว ณ ที่นี้เอาไว้บ้างเพื่อเป็นแนวความคิดที่จะได้นำมาแลกเปลี่ยนกัน ได้แก่
   กล่อมขวัญ เป็นการร้องปลอบผู้ที่จะบวช เรียกว่าทำขวัญนาค เด็กที่จะโกนจุกก็มีกล่อมขวัญ             
   กล่อมหอ    เป็นการร้องเพลง ถ้าสมัยก่อนจะเป็นเพลง (ไทยเดิม) ร้องในวันก่อนขันหมาก
   กล่อมนอน  ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องกล่อมเฉพาะเด็ก ๆ อาจจะเป็นคนโต ๆ ก็มีการขับกล่อมได้
   อย่างในประเพณีทำขวัญนาค จะมีตอนที่เล่าเรื่องพระคุณของบิดา มารดา (ปฏิสนธิ) ถึงตอนที่จะต้องกล่อมนาค เป็นตอนยกลูกลงเปล หมอขวัญก็จะนำเอาเพลงเก่า ๆ มาขับร้องให้นาคที่จะบวชฟัง เช่น
  

 เพลงกล่อม (ทำนองฝรั่งควง)       

 นอนเสียเถิด  แก้วตา  อย่าจาบัน            มิ่งขวัญ  ของแม่  จงหลับนอน   
 ทั้งเปลเบาะ  เมาะฟูก  ผูกให้เจ้า              อย่าโศกเศร้า  พุ่มพวง  ดวงสมร       
 ผ้าผืนน้อย ห้อยระบาย ลูกคลายร้อน   พระพายจร  โบกสะบัด  ลมพัดเย็น  
 พ่อเนื้ออ่อน นอนหลับ เสียเถิดหนา     เดือนขึ้นแล้ว  แม่จะพา  ไปเดินเล่น  
                                                      
สำหรับเพลงกล่อมที่ผมใช้ร้องตอนทำพิธีทำขวัญนาค มีหลายเพลงและหลายทำนอง บางเพลงมีเนื้อร้องที่ไพเราะจับใจซึ่งผมเองก็มิอาจที่จะทราบได้ว่าผู้ใดเป็นคนเขียนเนื้อร้องเอาไว้ พ่อคุณซึ่งเป็นต้นฉบับ ของผมท่านบอกว่าเป็นเพลงครู เราคนรุ่นหลังก็จำกันต่อ ๆ มา อย่างเพลงกล่อมนาคนอน ทำนองพัดชา มีเนื้อร้องที่ไพเราะมากครับ  มีดังนี้
                                             
      เพลงกล่อม (ทำนองพัดชา)
      ขวัญอ่อน  เจ้าจงนอน  ในอู่เปล           โอละเห่  แม่จะกล่อม  ให้เจ้านอน
      ลูกอย่าอ้อน  แม่เลย  แม่จะไกว             นอนเล่น  ให้เย็นใจ   แก้วแม่อา  
                ดาวกระจ่าง  เหมือนนาง  สนมใน      บำเรอให้  ขับกล่อม  ก็พร้อมมูล
                   มานอนเหนือ  เนินผา  แทบอาดุล        มีแต่พูน  ความทุกข์   ระทมทน
 

       
ผมขอย้อนกลับมายังเพลงกล่อมที่ชี้เฉพาะไปที่เด็ก (เพลงกล่อมเด็ก) ซึ่งในยุคก่อน ๆ ปราชญ์ชาว บ้านท่านได้คิดบทร้องเอาไว้น่าสนใจ บางเพลงเล่าเรื่องราวให้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง  บางเพลงพูดถึงชีวิตความเป็นอยู่ของนก ของสัตว์บางชนิด ที่มีความผูกพันกับคนเราได้อย่างซาบซึ้งใจแก่ผู้ที่ได้ยินได้ฟัง ผมเคยได้ฝึกร้องเพลงกล่อมกับแม่บัวผัน จันทร์ศรี (ศิลปินแห่งชาติ ปี 2533) เมื่อ ปี พ.ศ. 2539 ผมมีโอกาสได้ไปสนทนาทางเพลงกับแม่บัวผัน ที่บ้านห้วยเจริญ อำเภอศรีประจันต์  แม่ใช้เวลาว่างนั่งปอกแห้ว (รับจ้าง) แม่มีเงินเดือนประจำจากการเป็นศิลปินแห่งชาติอยู่แล้ว บางช่วงเวลาได้รับ เงินเดือน 24,000 บาท (ปกติดูเหมือนว่าจะได้ 12,000 บาท) ก็พอใช้อยู่แล้ว แต่แม่บัวผันเป็นคนขยัน วันใดไม่มีงานออกไปแสดงก็นั่งปอกแห้ว คุยกับผมไปทำงานไปด้วย พอคุยกันมาถึงเพลงกล่อมแม่ก็หยุดงานไปเลย ตั้งใจร้องเพลงกล่อมให้ผม วันนั้นผมได้ฝึกร้องเพลง ไอ้ขุนทอง  ที่ขึ้นต้นว่า  วัดเอ๋ย วัดโบสถ์.....  แม่บัวผันร้องเพราะมาก เนื้อเพลงมีดังนี้
                                                                        
      เพลงกล่อมเด็ก เจ้าขุนทอง
   วัดเอ๋ย  วัดโบสถ์                   มีต้นโตนด  อยู่เจ็ดต้น  
ไอ้ขุนทอง  ไปปล้น                  ป่านฉะนี้   ไม่เห็นมา  
คดข้าว  ใส่ห่อ                        ถ่อเรือ  เที่ยวตามหา  
เขาก็ร่ำ  ลือมา                       ว่าขุนทอง  นั้นตายแล้ว  
พบกระดูก  ลูกแก้ว                  แพ้วไว้  อยู่ในดง  
ขุนศรี  ถือฉัตร                        ยกกระบัตร  ถือธง  
ถือท้าย  เรือหงส์                     ไปปลงศพ  เจ้าขุนทอง 
                                                                         
   ผมได้ฝึกปฏิบัติจริงในการร้องเพลงกล่อมเด็ก จากแม่บัวผันศิลปินแห่งชาติ และเนื่องจากผมเป็นครูเทคโนโลยี ผมจึงบันทึกเทปคำสนทนาที่แม่บัวผัน พูด ร้อง แนะนำผมเอาไว้ตลอด ยังเก็บเสียงร้องสด ๆ ของแม่เอาไว้ ผมมี 2 ม้วน และเทปชุดนี้ได้มีโอกาสช่วยให้นักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยชื่อดังมาขอสำเนาเอาไปเรียนรู้มากต่อมาก  ผมปลื้มใจแทนแม่บัวผัน ที่ในสังคมไทยยังมีผู้คนให้ความสนใจเพลงกล่อมนำไปวิเคราะห์ (หาอะไรก็ไม่รู้) อันที่จริงน่าที่จะเอาไปฝึกร้องกันเสียมากกว่า แล้วนำเอาไปร้องกล่อมเด็กกลุ่มตัวอย่างสัก 15 คน เพื่อค้นหาว่า เด็กนิสัยอย่างไร ควรใช้เพลงกล่อมชนิดใดกล่อม  น่าที่จะเกิดประโยชน์มากที่สุดและตรงกับคำว่าผู้สืบทอดภูมิปัญญาที่แท้จริง
                                                                  
   ในวันนี้ผมยังมีลูกศิษย์อีก 3 คน ที่เป็นเด็กวัยรุ่นอายุ 15-17 ปีให้ความสนใจฝึกร้องเพลงพื้นบ้าน
 คนที่ 1  ชื่อ นางสาวรัตนา ผัดแสน ตอนนี้เรียนอยู่ชั้น ม.6/2  ร้องเพลงกล่อม เพลงแหล่ รานิเกลิง ทำขวัญนาค เพลงพวงมาลัยได้ดีมาก ผมยอมรับว่าเป็นคนเก่งมาก  เรียนรู้ได้รวดเร็วและมีความตั้งใจจริง
 คนที่ 2 ชื่อ นางสาวหทัยกาญจน์ เมืองมูล เรียนอยู่ชั้น ม.6/1 คนนี้ความคิดเร็ว ฝึกและร้องเพลงแหล่ด้นสดๆ ได้ดีมากเสียงหวาน  ราชนิเกลิงก็ได้  ทำขวัญนาค  กล่อมนาคได้ และมีความตั้งใจจริงอีกด้วย
คนที่ 3 ชื่อ เด็กชายธีระพงษ์ พูลเกิด เรียนอยู่ชั้น ม.3/6 เด็กคนนี้ไม่เคยฝึกเพลงพื้นบ้านมาก่อนเลย วันนี้เขาสามารถร้องแหล่ทำขวัญนาคได้  ว่าทำนองเสนาะได้  ร้องเพลงกล่อมนาคได้แล้ว
หากวันนี้ผมไม่มีผู้มาสืบสานต่อสิ่งที่ตัวผมได้ฝึกฝนมายาวนานเท่ากับชีวิตของผมก็ว่าได้ ก็จะถึงวันสิ้นสุดลงแค่นี้ แต่ ณ วันนี้ยังมีเด็ก ๆ หัวโบราณเข้ามาร่วมต่อลมหายใจแห่งตำนานเพลงกล่อม ให้คงอยู่ต่อไป อย่างน้อยก็อีก 1  ชั่วอายุคน (พวกเขาทั้ง  3 คน) นั่นเองครับ
(ชำเลือง  มณีวงษ์ / 2550)
                                       
 
หมายเลขบันทึก: 98151เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2007 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • โอ้ละเห่....โอละหึก ..รู้จริง รู้ลึก ต้องยกให้พี่ชำเลือง
  • พี่แกช่างเชี่ยวชาญ ทุกพื้นบ้าน พื้นเมือง
  • ช่วยผดุง ให้ฟุ้งเฟื่อง นะพี่ชำเลือง ของเราเอย..

 

โอละเห่... เอ...เอ เอ่ เอ้.. เอ...
  • เรื่องแต่งกลอน      ยอมยกให้
  • แหล่สดขอเอาไว้   ให้พี่ก่อน
  • เพื่อทำมาหากิน     ถิ่นดงดอน
  • เอาไว้สอนคนกล้า  เข้ามาเรียน
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท