อาหารสำหรับคนไข้มะเร็ง


คนไข้มะเร็งหลายคนบ่นว่า หมอไม่แนะนำว่าควรกินอะไร และอะไรเป็นอาหารแสลง

  • คนไข้มะเร็งหลายคนหลายคนเป็นคนขี้บ่น ส่วนหนึ่งของคำบ่น(ที่ดี)ได้แก่ หมอไม่แนะนำว่าควรกินอะไร และอาหารอะไรเป็นอาหารแสลง

Picnic

อาจารย์ ผศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เขียนเรื่อง “กินอย่างไรเมื่อเป็นมะเร็ง” ในวารสารหมอชาวบ้าน ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้...

Carving Turkey

  • ระยะแรก:
    ช่วงนี้ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องอาหาร ให้กินอาหารหลากหลาย กินให้ครบทุกหมวดหมู่(ข้าวกล้อง ปลา ถั่ว งา ผัก ผลไม้) ให้หลีกเลี่ยงสารปนเปื้อน เช่น สีผสมอาหาร ผงชูรส ฯลฯ หลีกเลี่ยงอาหารมันๆ และกินอาหารที่ไม่มีการปรุงแต่งมาก เช่น อาหารทำเองจะดีกว่าอาหารจำหน่าย ฯลฯ
  • กรณีมีปัญหาในการกลืน:
    คนไข้บางคนมีปัญหาในการกลืน เช่น มะเร็งช่องปาก ฉายแสงช่องปากหรือลำคอ ได้รับยาเคมีบำบัดแล้วมีแผลในปาก ฯลฯ ให้กินอาหารอ่อนๆ ถ้าเจ็บมากให้นำอาหารมาปั่นผสมกัน เพื่อให้ดื่มได้ หรือปรึกษาแพทย์ขออาหารทางสาย (tube feeding)
  • กรณีเบื่ออาหาร:
    คนไข้มะเร็งส่วนหนึ่งจะกินได้น้อย อิ่มเร็ว ทำให้ผอมซูบโทรม ให้กินครั้งละน้อยๆ แต่กินบ่อยขึ้น เช่น วันละ 3 มื้อ อาหารว่างอีก 3 มื้อ รวมเป็น 6 มื้อต่อวัน ฯลฯ เตรียมอาหารที่ชอบไว้ให้พร้อม (ready-to-eat) เช่น ผลไม้ เมล็ดพืชแห้ง อาหารที่อุ่นได้เร็ว ฯลฯ

    ถ้าเป็นไปได้... ควรกินพร้อมกับญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ถ้าไม่มีใครกินเป็นเพื่อนจริงๆ ก็ควรกินกับเพื่อนคนไข้ด้วยกัน

    ผู้เขียนขอแนะนำให้นั่งกินใกล้คนที่กินเก่งจะทำให้กินได้มากขึ้น แต่ควรระวังไม่กินจนอิ่มมากเกิน เพราะจะเสี่ยงต่ออาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • เนื้อสัตว์:
    คนไข้บางคนมีการรับรู้รสชาดอาหารเปลี่ยนไปจากเดิม ไวต่อรสขม และรสเฝื่อน ที่พบบ่อยได้แก่ เนื้อสัตว์สีแดง เช่น วัว ควาย หมู แพะ ฯลฯ มีรสชาดขม เฝื่อนคล้ายโลหะ ให้กินเนื้อไก่ ไข่ ปลา นม เต้าหู้ และถั่วแทน

    ผู้เขียนขอแนะนำว่า ถ้ากินนมหรือผลิตภัณฑ์นมแล้วท้องอืด ท้องเสีย ควรกินโยเกิร์ตหรือนมเปรี้ยวแทน ให้เลือกชนิดที่หวานน้อยหน่อย คนไข้มะเร็งมีแนวโน้มจะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนเพิ่มขึ้นเมื่อกินอาหารที่มีรสหวาน
  • การปรุงอาหาร:
    ภาชนะปรุงอาหารโลหะอาจทำให้คนไข้บางคนรู้สึกว่า อาหารมีรสชาดขม เฝื่อนคล้ายโลหะ ควรใช้ภาชนะแก้ว เครื่องเคลือบ(เซรามิก) หรือพลาสติกแทน

    การปรุงอาหารด้วยซอสถั่วเหลืองมีส่วนช่วยให้รสชาดขมในอาหารลดลง
  • คลื่นไส้ อาเจียน:
    คนไข้ที่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนไม่ควรกินให้อิ่มมากเกิน หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารมัน อาหารที่มีกลิ่นแรง อาหารจืด อาหารร้อนจัด และควรอยู่ห่างๆ โรงครัว เพราะกลิ่นอาหารอาจทำให้อาการแย่ลง
  • ขอยาบรรเทาอาการ:
    เมื่อมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อขอยาบรรเทาอาการ

    เจ้าหน้าที่เวชระเบียนท่านหนึ่งบันทึกคำแนะนำของอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษามะเร็งที่ไปตรวจสอบเวชระเบียน และการรักษามะเร็งที่ลำปางปีนี้ (2548) อาจารย์ท่านแนะนำว่า หมอไทยยังให้ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้น้อยเกินไป เดี๋ยวนี้เรามียาดีๆ ที่จะช่วยให้อาการทุเลาลงไปได้มาก
  • กินน้ำให้พอ:
    ควรกินน้ำให้มากพอทั้งวัน เน้นการจิบน้ำบ่อยๆ ระหว่างมื้ออาหาร ไม่ควรดื่มน้ำในมื้ออาหารมากนัก(กินแบบ “ข้าวคำ-น้ำคำ”) เพราะจะทำให้ปริมาตรอาหารรวมกับน้ำในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น ทำให้คลื่นไส้ อาเจียนได้ง่าย

BBQ

  • กรณีคอแห้งหรือมีแผลในปาก:
    ให้ผสมน้ำยาบ้วนปาก โดยใช้โซดาทำขนมปังหรือโซเดียมไบคาร์บอเนต (baking soda) 1 ช้อนชาผสมน้ำสะอาด 2 ถ้วย เตรียมไว้ใช้บ้วนปากบ่อยๆ จะช่วยให้สดชื่น และป้องกันการติดเชื้อภายในช่องปาก

Flippy

  • กรณีท้องเสียหรือท้องผูก:
    ควรกินข้าวกล้อง(หรือขนมปังโฮลวีต) ถั่ว งา ผัก ผลไม้ และดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ท้องเสียได้ง่าย เช่น นม ผลิตภัณฑ์จากนม อาหารรสจัด อาหารมันๆ อาหารที่มีส่วนผสมของคาร์เฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลมโคลา ฯลฯ

    ถ้ามีไข้ ปวดท้องมาก หรือท้องเสียเกิน 2 วันควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจมีโรคติดเชื้อร่วมด้วย
  • กรณีเลือดจางหรือซีด:
    ควรกินปลา ตับ ผักใบเขียวเพิ่มขึ้น อาหารเหล่านี้มีธาตุเหล็ก ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงได้เพิ่มขึ้น

Sushi

  • กรณีเม็ดเลือดขาวลดลง:
    โรคมะเร็ง และการรักษามะเร็ง(ฉายแสง หรือเคมีบำบัด)มีส่วนทำให้เม็ดเลือดขาวลดลง ควรล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ ก่อนกินอาหารและดื่มน้ำทุกครั้ง และหลังออกจากห้องน้ำ ฟอกสบู่ช้าๆ ทั้งด้านหน้ามือ หลังมือ รอบนิ้วหัวแม่มือ ปลายนิ้ว และฟอกสบู่ก๊อกน้ำ(เพื่อลดปริมาณเชื้อโรคตกค้าง)

    ระวังอย่าให้เกิดบาดแผล หรือรอยถลอกที่ผิวหนัง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น โดยเฉพาะห้องแอร์ อย่าอยู่ใกล้คนป่วย โดยเฉพาะคนที่ไอหรือจาม
  • ของแสลง:
    ควรงดดื่มแอลกอฮอล์(เหล้า เบียร์ ไวน์...) งดบุหรี่ รวมทั้งหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ที่คนอื่นสูบ ให้งดของแสดง 5 อย่างได้แก่ เหล้า(รวมไวน์) เบียร์ บุหรี่ ปลาดิบ และเนื้อดิบ

    สาเหตุที่กล่าวถึงปลาดิบด้วย เพราะมีพยาธิใบไม้ตับที่มีส่วนทำให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของภาคเหนือและอีสาน ส่วนเนื้อดิบมีส่วนทำให้ติดพยาธิตัวตืดที่อาจกระจายไปยังสมองทำให้ชักได้

    เวลาพูดควรเชิญญาติมาฟังด้วย เพราะช่วงเวลาที่คนเป็นมะเร็งเป็นโอกาสทองที่จะส่งเสริมให้ญาติมีสุขภาพดีขึ้นต่อไป

แหล่งข้อมูล:

  • อาจารย์ ผศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ. กินอย่างไรเมื่อเป็นมะเร็ง. หมอชาวบ้าน ปี 27 ฉบับ 320 (ธันวาคม 2548). หน้า 44-46.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๘ > 4 มกราคม 2552. สงวนลิขสิทธิ์
หมายเลขบันทึก: 9794เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2005 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท