ความเคลื่อนไหวงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดลำปาง


สรุปบทเรียนการทำงาน

ความเคลื่อนไหวงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของศูนย์ประสานงานวิจัยจังหวัดลำปาง

สรุปบทเรียนศูนย์ประสานงานวิจัยจังหวัดลำปาง
Node ทำหน้าที่อะไร ? / ตั้งมาทำไม?

                การทำหน้าที่ศูนย์ประสานงานวิจัยท้องถิ่นในระดับพื้นที่มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามเงื่อนไขและปัจจัยเฉพาะแห่ง  ดังนั้นการทำงานของแต่ละ Node จึงไม่อาจสรุปมาให้สอดคล้องใกล้เคียงกันได้ครบถ้วน  อย่างไรก็ตามถึงแม้ถึงแม้ Node จะแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขที่กล่าวแล้ว  แต่สิ่งหนึ่งที่ตรงกันคือการทำหน้าที่สนับสนุนให้เกิดการวิจัยของชุมชนในพื้นที่ให้เกิดขึ้น   ในการสรุปบทเรียนจึงเป็นความพยายามที่จะเล่า และเรียบเรียงประสบการณ์การทำงานทั้งในแง่กระบวนการ  วิธีการ  เทคนิค  เครื่องมือและกลไก ในอุปสรรคที่ได้สัมผัสและเรียนรู้ระหว่างปฏิบัติงาน  ดังนั้นบทเรียนที่เกิดขึ้นและสรุปได้ จึงเป็นบทเรียนของบุคคลที่เป็นคนทำงานภายใต้โครงสร้างการทำงานของสกว.ภาค และมีความจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์โครงสร้างของสกว.ไปด้วย จึงจะได้ข้อมูลครบครันภายใต้บริบทการทำงานที่เป็นจริงของคนทำงานภายใต้โครงสร้างดังกล่าว  ซึ่งจะนำเสนอในตอนท้ายว่า  คนทำงานภายใต้เงื่อนไขอย่างไร?

                Node ลำปางมุ่งทำงานวิจัยท้องถิ่นให้เกิดในท้องถิ่นลำปางเพื่อตอบปัญหาและสถานการณ์ที่เป็นปัญหา ให้เป็นไปตามความหวังของคนลำปาง เป้าหมายสำคัญนอกจากจะได้ชุมชนที่แสวงหาคำตอบและลุกขึ้นมาจัดการกับชุมชนของตนเองแล้ว ยังหวังอีกระดับหนึ่งที่จะทำให้นักวิจัยในชุมชนเชื่อมโยงบุคคลและองค์ความรู้ระหว่างกันเพื่อเคลื่อนไปสู่การจัดการปัญหาระดับมหภาคร่วมกัน การทำงานสนับสนุนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นซึ่งนอกจากจะสนับสนุนชุมชนวิจัยในแต่ละแห่งแล้ว  ยังมุ่งสร้างอำนาจการมีส่วนร่วมในการคิดและตัดสินใจในทุกมิติ  จะยืนอยู่บนพื้นฐานของการวิจัยความเป็นเหตุเป็นผลมากกว่าอารมณ์ความรู้สึก  ซึ่งกระบวนการวิจัยที่ Node ลำปางใช้       จำเป็นทั้งกระบวนการสร้างพลังทางสังคมและสร้างองค์ความรู้ให้กับชุมชนไปด้วย  ดังนั้นงานสนับสนุนงานวิจัยของ Node ลำปางมุ่งให้ชุมชนเห็นความแตกต่างระหว่างงานพัฒนาและงานวิจัยอย่างชัดเจน  และสามารถนำผลการวิจัยมาใช้กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนได้ในที่สุด

                ศูนย์ประสานงานวิจัยท้องถิ่นจังหวัดลำปาง (Node) มีพัฒนาการจาก RC ที่มีความสัมพันธ์ส่วนบุคคลกับ สกว. ขณะเดียวกัน RC มีความสัมพันธ์กับบุคล องค์กร และสถาบันในจังหวัดลำปางในระดับหน่วยงานราชการ และระดับส่วนบุคคล จากพื้นฐานความสัมพันธ์ดังกล่าวก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันขึ้น

                เริ่มต้นผู้ประสานงาน (RC = ผู้เขียนรายงาน) เป็นผู้สังเกตการณ์และเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มลำพูนเสวนา  ซึ่งเป็นพัฒนาการของการทำงานพัฒนาของจังหวัดลำพูนที่พัฒนามาสู่การวิจัยท้องถิ่นและมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในการทำงานวิจัยของ Node ลำพูน ตลอด 1 ปีโดยไม่มีความประสงค์จะทำงานวิจัยหรือเป็นผู้ประสานงานแต่อย่างใด  และมีโอกาสเสวนากับสกว. หลายครั้ง  ซึ่งดูเหมือนว่าขณะเดียวกัน  สกว.ก็ต่อสายกับบุคคลอื่น ๆ อีกในจังหวัด  บางครั้งมีผู้ไปขอทุนกับ สกว.โดยตรง  แต่ก็ยังไม่มีสภาพเป็น Node ของสกว.

                จนเมื่อ ดร. อาวรณ์ ได้หารือร่วมกันในระดับหนึ่งว่าน่าจะมีการเคลื่อนงาน สกว. ลำปางให้เกิดขึ้น และ RC มีความสัมพันธ์เดิมและมีพื้นฐานการทำงานกับ Node ลำพูน   จึงเริ่มจัดเวทีเสวนาว่าด้วยการวิจัยท้องถิ่นของลำปางขึ้น  สำหรับการตัดสินใจทำงานร่วมกันนั้น  และมีความปรารถนาที่จะทดสอบทฤษฎี และความเชื่อที่ตนมีว่า “ชาวบ้านคือแผ่นดิน ถูกเป็นที่รองรับการปลูกพืชมาหลายชนิด  ทำอย่างไรจะให้ดินมีศักยภาพของตนเองและปลูกพืชอะไรน่าจะเกิดจากความเชื่อของเขา” โดยเชื่อว่า “ชาวบ้านสามารถทำวิจัยได้” ตามความหมายที่ว่า  กระบวนการวิจัยคือการแสวงหาทางออกร่วมกันของชาวบ้าน 

                การเข้ามาทำงานด้วยตัวคน ๆ เดียวไม่มุ่งหวังการประสานงานใด ๆ กับองค์กรอื่น ๆ จึงลดบทบาทจากงานอื่นลงเกือบทั้งหมด  โดยเชื่อว่าหากชาวบ้าน “รู้ตัวทั่วพร้อม”  ชาวบ้านน่าจะสามารถควบคุมทิศทางและกำหนดองค์ความรู้เพื่อการพัฒนา  หรือเพื่อหาทางออกด้วยตนเองได้  ความร่วมมือน่าจะเกิดขึ้นในอนาคต  ซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานที่เป็น Node ที่สมบูรณ์ตามความหมายว่า “ท้ายที่สุดชุมชนน่าจะมีส่วนกำหนดทิศทางการพัฒนา”  ของตนเองได้   ภายใต้การสร้างสรรองค์ความรู้ของชุมชนเอง

                ผู้เกี่ยวข้องของ Node ถึงวันนี้จะเห็นลักษณะมิใช่ในสถานะ RC ทั้งหมด  หากแค่เป็นผู้มีส่วนคิดและอยากทำงานร่วมกันในการเข้ามาเป็นเจ้าของศูนย์ประสานงาน  ซึ่งด้านหนึ่งอาจได้ประโยชน์คือโครงการวิจัย  แต่อีกด้าน Node คือศูนย์ประสานความคิดของคนลำปางชุดหนึ่งที่ต้องการสถาปนาองค์ความรู้ของตนเอง

                ปัจจุบัน Node ลำปางมีผู้อำนวยความสะดวก 3 คน เป็นกลไกในการทำงานซึ่งมิได้เป็นเจ้าของ หากแต่มุ่งที่จะให้มีโครงการ และทีมวิจัยที่ผ่านการเซ็นสัญญา เข้ามารับช่วงภารกิจที่สำคัญนี้ต่อไป  Node ลำปางจึงมีจุดยืนและเป้าหมายที่อยากไปให้ถึงคือ  งานวิจัยที่ชุมชนเข้าใจและจับต้องได้อย่างภาคภูมิ  โดยจะต้องแสวงหาแหล่งทรัพยากรได้ด้วยตนเอง  ในท้ายที่สุดบนความมั่นใจที่ผ่านกระบวนการวิจัยท้องถิ่นแล้ว

Node ทำงานอย่างไร?

                คนทำงานศูนย์ประสานงานวิจัยในจังหวัดมีทั้งหมด 3 คน    ทำงาน Full  time 2 คน และ Part time  1 คน คำถามสำคัญที่ทีมงานกำหนดไว้คือ “ทำอย่างไรจะสนับสนุนงานวิจัยงานวิจัยให้เกิดในพื้นที่  ให้เกิดความชัดเจน  มีความหมายและตอบคำถามของชุมชนในรูปแบบของงานวิจัยชาวบ้านได้”  ดังนั้นบุคลากรในทีมจึงมุ่งสู่ชุมชนเมืองและชุมชนชนบท  มุ่งหาประเด็นคน  ชุมชน   องค์กร  โดยผ่านการแสวงหาโดยการเข้าถึง  ค้นหา  พบปะโดยตรง  อีกวิธีหนึ่งโดยผ่านเวทีเสนอโครงการในเวทีวันที่ 10 ของทุกเดือน  ซึ่งเป็นเวทีเปิด  มุ่งให้คนที่ได้รับข่าวสารเข้ามาเสนอโครงการ  และวิธีสุดท้ายเป็นการค้นพบโดยการแนะนำจากองค์กรอื่น ๆ   หลังจากที่ได้ทราบข้อมูลเช่น จาก SIF  แผนแม่บท  สกว.ภาค  และ NGO อื่น ๆ ซึ่งทั้งสามแนวทางจำเป็นที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น  ทั้งในส่วนของค่าเดินทางของเจ้าหน้าที่   ค่าจัดเวที  ค่าเดินทางของผู้เข้าร่วมในเวที  ค่าอาหารว่างของผู้เข้าร่วมในเวที  ค่าติดต่อประสานงาน  วัสดุสำนักงาน   และประการสำคัญคือค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ ซึ่งศูนย์ประสานงานฯ (Node) ลำปาง  พยายามใช้จ่ายอย่างประหยัดสูงสุด   โดยเน้น “มุ่งให้คนในชุมชนเกิดความต้องการ”  เป็นความต้องการของ “ผู้เสนอโครงการ” หรือ “ชุมชน” มากกว่าเป็นความต้องการของ Node   การให้ค่าตอบแทนเป็นการแสดงน้ำใจเท่านั้น  ซึ่ง Node ลำปางยึดแนวทางประโยชน์สูงประหยัดสุด  และเงินทุกบาทเป็นของประชาชนซึ่งทุกคนน่าจะมีโอกาสเข้าถึง

               
หลักและวิธีการสำคัญต่อการทำงาน

Ø    เงื่อนไขเวทีวันที่ 10 ทางศูนย์ประสานงานวิจัย จังหวัดลำปาง มี 3  ขั้นตอน กล่าวคือ 

ขั้นตอนที่แรก เป็นการนัดหมายแกนนำหรือผู้ร่วมทีมที่เขียนโครงการเสนอผ่านเวที เพื่อตรวจสอบความชัดเจน และรู้จักชุมชนไปด้วย ก็จะพบแกนนำของหมู่บ้าน ประมาณ 10 – 15 คน  ที่มานำเสนอ

 ขั้นตอนที่สอง มอบหมายภารกิจบางอย่างให้ผู้ร่วมทีมวิจัยหรือแกนนำเช่น ลองพูดคุย กับคนที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนกลุ่มต่าง องค์กร สถาบัน ที่อยู่ในหมูบ้านเพื่อให้เนื้อหา ข้อมูลที่จะใช้เป็นตัวกำหนดประเด็นโจทย์การวิจัยให้ครอบคลุมตามความต้องการของชุมชน ขั้นตอนนี้ชุมชนจะไปจัดการเอง

ขั้นตอนที่สาม  เข้าไปชุมชนเพื่อดูเอกสารอีกครั้ง ก่อนนำไปเสนอในเวทีที่ 10 ครั้งที่ 2 , 3 ฯลฯ ก่อนจะนำเสนอ สกว. ภาค ขั้นตอนเหล่านี้จะเห็นความพยายาม ความอดทน ความตั้งใจ ความมุ่งมั่นอย่างมากของชุมชน  การต่อรองปรับเปลี่ยนของชุมชนต่อแหล่งทุนหรือองค์กรภายนอก

                หลังจากผ่านขั้นตอนทั้ง 3  แล้วจะทำให้เอกสารที่ชุมชนนำเสนอในครั้งแรกถูกขัดเกลา  และมีความชัดเจนมากขึ้น  ระยะเวลานั้นจะขึ้นอยู่กับลักษณะของโครงการและการทำความเข้าใจของชุมชนที่แตกต่างกัน  บางโครงการใช้ระยะเวลาในการผ่านเข้าออกชุมชน 2-3 เดือน ก็สามารถเขียนเป็นเอกสารเชิงหลักการได้  โดยระบุกลุ่มคนและกิจกรรมได้   บางโครงการใช้เวลามากกว่า 6 เดือนในการสร้างความชัดเจนในเอกสาร  ซึ่งมีข้อจำกัดในส่วนของกลุ่มเป้าหมาย  คนทำงาน  และสิ่งที่จะทำ   เหล่านี้เป็นต้น  ลักษณะอีกโครงการหนึ่งคือการเขียนเอกสารเชิงหลักการมาก่อนเพื่อประกอบการพิจารณา  ซึ่งทางศูนย์ประสานงานเองก็ต้องใช้มาตรฐานของขั้นตอนทั้ง 3 เป็นหลักในการพิจารณา

Ø    การเปิดเวทีในหมู่บ้าน (การพัฒนาโครงการ)  เวลา  เทคนิค  วิธีการ   ข้อสรุป  กระบวนการ

                ลักษณะของการเข้าเปิดเวทีในหมู่บ้านของศูนย์ประสานงานวิจัยจังหวัดลำปาง มีทั้งที่ประสบความสำเร็จ   ความล้มเหลว  และข้อบกพร่องในเวทีแต่ละเวที  ซึ่งหมายรวมถึงองค์ประกอบของคน 2 กลุ่มที่ส่งผ่านกระบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รูปแบบของแต่ละพื้นที่ในเวทีก็มีความแตกต่างกัน  จำเป็นต้องมีเทคนิคและวิธีการในการที่จะทำให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ของชุมชนมากที่สุดซึ่งเป็นข้อจำกัดของชุมชนดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า  การพูดคุยง่ายกว่าการเขียนเอกสาร  ทำให้รูปแบบของเวทีเน้นการพูดคุยกันเป็นส่วนใหญ่  แต่ข้อด้อยของการพูดคุยบางเวทีก็ส่งผลต่อความสำเร็จในการทำเวทีเหมือนกัน 

Ø    งานติดตามโครงการของศูนย์ประสานงานวิจัย 

จำนวนโครงการในจังหวัดลำปาง ที่ได้รับการอนุมัติแล้วมีทั้งหมด 3 โครงการ  ซึ่งอยู่ในระยะการดำเนินงานในช่วงที่ 2 ทั้งสิ้น  ภารกิจหนึ่งในงานด้านการติดตามของศูนย์ฯ เป็นสิ่งที่ต้องทบทวนอย่างถี่ถ้วนต่อกิจกรรมการดำเนินงานที่ผ่านมา  และกระบวนการที่เกิดขึ้นในชุมชน รวมถึงผลของการดำเนินงานต่อคนในชุมชน  สิ่งเหล่านี้ต้องถูกบันทึกไว้เป็นข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์ชุมชนต่อกิจกรรมที่เกิดขึ้น   การติดตามงานเป็นการมองพัฒนาการของแต่ละทีมวิจัยในรูปแบบที่เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยตัวชุมชนเอง    จากที่ผ่านมา  ศูนย์ประสานงานเห็นว่าในบางกรณีความพยายามในการค้นหาคำตอบของชุมชนเกิดทางตัน  ชุมชนเองไม่สามารถคิดต่อเนื่องจากข้อจำกัดของชุมชนทั้งส่วนปัญหาภายใน(ความขัดแย้งทางด้านความคิด) หรือปัจจัยภายนอก (นโยบายของรัฐ/คำสั่งจากองค์กรของรัฐ) ที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการ และชุมชนก็ไม่สามารถโต้แย้งได้  กรณีเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ศูนย์ฯซึ่งเป็นคนนอกจะต้องเป็นผู้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ  แต่มิใช่ในฐานะที่ต้องไปนำความคิด  เพียงเป็นกระจกที่ช่วยสะท้อนให้เห็นในบางมุมเท่านั้น  การแก้ไขปัญหาของงานวิจัยมิใช่จะต้องปฏิเสธงานพัฒนาเสมอไป  แต่จะทำอย่างไรให้สามารถมาช่วยเสริมกันได้ทั้งงานวิจัยและงานพัฒนา และชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งสองกระบวนการ  งานวิจัยเป็นเพียงของหวานที่ไม่ต้องบริโภคเป็นอาหารหลัก   ซึ่งหมายถึงการให้ความสำคัญกับงานวิจัยนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องเอาเป็นเอาตายกับงานวิจัย  และจะต้องให้ได้มาซึ่งคำตอบที่ตั้งไว้  ถ้าดำเนินกระบวนการไปได้ระยะหนึ่งแล้วพบว่าโจทย์ที่ตั้งไว้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้  ก็สามารถตั้งโจทย์ใหม่  และหาวิธีการใหม่ได้  ให้กิจกรรมเกิดตามธรรมชาติและสถานการณ์พาไปเหมือนของหวานที่จะต้องรับประทานเมื่อเกิดความอยาก  มิใช่ให้กิจกรรมเป็นอาหารหลัก    ซึ่งสร้างความลำบากใจต่อชุมชน ทำให้เกิดความกังวลว่าจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้

                กระบวนการทำงานของ Node  ลำปาง  แรก ๆ มีความกดดันหรือกังวลใจเกี่ยวกับการเป็น Node ซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนของสกว. ทำให้ต้องเร่งให้เกิดส่งโครงการ  การทำงานเป็นไปในลักษณะรีบเร่ง  เคร่งเครียดกับการพัฒนาโครงการ  เพราะหากนำไปประกอบกับเวลา 1 ปี แล้วมีโครงการที่ได้ทำสัญญา 3 โครงการ  ทำให้เกิดการประเมินค่าของ Node เองว่าไม่มีความสามารถในการพัฒนาโครงการ  ความกดดันอีกด้านหนึ่งเกิดจากชุมชนที่เสนอโครงร่างในเวทีไม่ต่ำกว่า 5-10 ครั้ง จนบางชุมชนหรือบางโครงการถอนตัวออกไป  แต่บางโครงการยังยืนยันว่าจะดำเนินการต่อจนกว่าจะได้รับอนุมัติ  ทำให้กระบวนการทำงานจึงมุ่งพัฒนา CP เป็นด้านหลักมาตลอดระยะเวลา 1 ปี  ซึ่งสามารถเสนอกระบวนการทำงานให้เห็นดังรูป


                ผลการทำงานเป็นอย่างไร?

                จากการทำงานในนามของ Node มาตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่า  ภายใต้กระบวนการส่งเสริมสนับสนุน และประสานงานเพื่อให้เกิดการมีจิตสำนึกของชุมชนที่จะลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาชุมชนของตนเอง  มีลักษณะงานวิจัยที่ซ้อนงานวิจัย  โดยนอกจากชุมชนจะได้ทำงานวิจัยแก้ปัญหาของตนเอง  เกิดองค์ความรู้  ระเบียบวิธี  กระบวนการวิจัย  เป็นผลพลอยได้ที่ติดตัวบุคคล  ชุมชนไปด้วย  และมากไปกว่านั้น  ทีมงานของ  Node ก็ได้เรียนรู้รูปแบบการทำงานของชุมชน  รูปแบบของการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) ที่มีความหลากหลายของลักษณะ  ขึ้นอยู่กับแต่ละชุมชน  การเรียนรู้เหล่านี้  สกว.เองน่าจะต้องรวบรวมเพื่อสังเคราะห์รูปแบบและเนื้อหา  เพื่อยกระดับสู่การแก้ไขปัญหาในระดับมหภาคต่อไป  ซึ่งบทเรียนจากการทำงานที่ผ่านมา  มีทั้งส่วนที่จะผลิตซ้ำและนำเสนอสู่สาธารณะและเวทีของสมาชิกของสกว.  เพื่อให้เกิดผลึกแห่งความคิดขยายผลไปสู่องค์กร  และสถาบันอื่นเพื่อยืนยัน “ความชัดเจนและองค์ความรู้”  ที่เป็นศาสตร์ของประชาชนระดับรากหญ้า  ขณะเดียวกันบทเรียนบางบทต้องเป็นสิ่งที่ต้องถูกปรับปรุง  ดัดแปลง  แก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง  สอดคล้องกับความจำเป็นและพื้นฐานการคิดของชาวบ้านที่มี “ประสบการณ์”  แต่ขาด “ปริญญา” ชัดเจนใน “การกระทำ”  การ “ลงมือทำ”  มากกว่ากระบวนการคิดและเขียน (วัฒนธรรมการเล่าและวัฒนธรรมการเขียนยังสำคัญกว่า)….   การจะสถาปนาองค์ความรู้ของชาวบ้านจึงมีความชัดเจนอย่างยิ่งที่จะต้องถ่ายทอดบทเรียนทุกบทเพื่อเสริมพลังแห่งการอธิบายสังคม ให้ยอมรับความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ในสังคมชนบท  จนกว่าจะได้รับการยอมรับว่า “ปัญญาของชาวชนบทคือแสงสว่างของการพัฒนา”  บทเรียนจากการทำงานในพื้นที่อาจเสนอบนข้อสรุปได้ดังนี้

Ø    การสื่อสารเรื่องงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น   ตั้งแต่เริ่มทำงานมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร “การวิจัย” โดยเฉพาะประเด็น  ความหมาย และวิธีการ  ซึ่งโดยข้อเท็จจริงในประเด็น  “ความหมาย”  การตีความระหว่าง Node กับชาวบ้านไม่เป็นปัญหาเท่ากับ Node กับสกว.ภาค เพราะว่าความหมาย “การวิจัย” นั้นสกว.ได้กำหนดไว้ชัดเจนทั้งในระดับเอกสาร  และระดับการชี้แจงทำความเข้าใจ  ต่อเมื่อการทำงานผ่านชาวบ้านจนเป็นโครงร่างงานวิจัยสู่การพิจารณาอนุมัติทั้งความหมายและวิธีการยิ่งเข้าใจกันยากมากยิ่งขึ้น จะเห็นว่าทุกกลุ่มมีความเข้าใจตรงกัน  คือว่าด้วยปัญหาที่ชุมชนเผชิญอยู่  และคนในชุมชนต้องการแก้ไขปัญหาโดยลุกขึ้นมาจัดการ  ซึ่งหลาย ๆครั้งจะถูกทักท้วงจาก สกว.ภาคว่า โจทย์ไม่ชัด ขาดการมีส่วนร่วม  แผนปฏิบัติการไม่สื่อหรือไม่สร้างความเชื่อมั่นว่าจะได้รับคำตอบ  คำว่า “โจทย์” ไม่ชัดจึงเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องกลับ มาแก้ไข กระบวนการทำงานจึงวนเวียนอยู่ในส่วนนี้  ซึ่งคิดว่าปัญหาจึงมิน่าที่จะอยู่ที่ความหมาย  แต่หากควรเน้นกระบวนการทำงานภายใต้ความหมายที่มีรูปธรรมที่ถูกต้องอย่างไรมากกว่า

Ø    การสื่อความหมายระหว่าง Node กับกลุ่มเป้าหมายและสาธารณะชนอื่น ๆ ซึ่ง Node ใช้วิธีสื่อผ่านบุคคลโดยตรง และบุคคลโดยอ้อม  เอกสารและเวทีสาธารณะ  ซึ่งการสื่อสารทั้ง 3 ทางนั้นถือว่าสร้างความชัดเจนได้ในระหว่าง 60-70% อันพิจารณาได้จากลักษณะโครงการที่เข้ามา  จะเน้นเป็นงานพัฒนา  มุ่งต้องการงบประมาณไปแก้ไขปัญหาของกลุ่มหรือองค์กร  ในส่วนนี้มักเป็นโครงการที่รับรู้ผ่านบุคคลโดยอ้อม  กล่าวคือได้รับฟังมาจากผู้อื่นอีกต่อหนึ่ง  ส่วนชื่อเอกสารให้ความหมายได้เพียงรู้สถานที่ติดต่อ  แหล่งทุนทำงานเพิ่มขึ้นอีกแหล่งหนึ่ง  สื่อที่ค่อนข้างได้ผลคือสื่อที่ผ่านบุคลากรของ Node โดยตรง  (ส่วนนี้ถือเป็นส่วนสำคัญและจำเป็น) ที่มีการอธิบายและทำความเข้าใจได้ชัดเจนที่สุด  อย่างไรก็ตามการสื่อสารระหว่าง Node กับชุมชนมิใช่สิ่งที่เป็นปัญหาแม้ไม่ตรงกันก็ยังมีเวลาทำงานร่วมกัน  สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้แต่ต้องอาศัยเวลา

Ø    การสื่อสารงานวิจัยหลายครั้ง Node อาจตีความหมายของคำว่าองค์ประกอบ “ของชุมชน” และ “การมีส่วนร่วม” ของประชาชนในเบื้องต้นในการพัฒนา CP คลาดเคลื่อนกันอยู่มาก  เพราะหลายครั้งในการเข้าพัฒนาโครงการในพื้นที่  สกว. พยายามให้ทุกภาคส่วนของชุมชนเข้ามาร่วมในเวที  ซึ่งในขณะนั้นไม่เข้าใจว่าประสงค์ให้กระบวนการมีส่วนร่วมในเบื้องต้นเพื่ออะไร ?       ถ้าหมายความว่าให้ทุกภาคส่วนมารับรู้และลงมือทำร่วมกัน    ก็จะมีผู้สูงอายุ  เยาวชน  สตรี  ฌาปณกิจ  สงเคราะห์  กลุ่ม ธกส.  พระสงฆ์  กรรมการหมู่บ้าน  ลูกเสือชาวบ้าน  อบต.  ครู  ผู้ใหญ่บ้าน  สารวัตรกำนัน  ฯลฯ  จนถึงคนทั้งหมู่บ้าน  กระบวนการส่วนนี้จะให้ประชุมหรือชี้แจงก็น่าจะเหมาะสมกว่า  เพราะการเอาคนทั้งชุมชนมาประชุมชนกันหรือตัวแทนองค์กรในหมู่บ้านมาร่วมกันคิดในเรื่องนี้มิใช่เป็นเรื่องง่าย  หรือแม้จะทำได้ก็ไม่ตรงกับความหมายที่ต้องการ  เพราะจริง ๆแล้วปัญหาในชุมชนหนึ่ง ๆมีมากมาย และสามารถนำมาเป็นประเด็นหรือหัวข้องานวิจัยได้เกือบทั้งสิ้น  แต่สิ่งที่จำเป็นที่สุดในขณะพัฒนา CP ก็คือคนที่สนใจและสามารถหาทีมมาคิดร่วมกัน  มีความเข้าใจตรงกัน  มีความชัดเจนแล้วนำเสนอ CP ต่อ Node แล้วค่อยนำไปเสนอต่อชุมชน  ซึ่งน่าจะเป็นการสื่อสารภายในของประชาชนเองเพื่อให้มีส่วนรับรู้และมีส่วนในการดำเนินงาน  ซึ่งผู้ที่จะเข้ามาร่วมกิจกรรมย่อมเป็นไปตามปัญหา  และความต้องการของส่วนนั้น ๆ  ดีกว่าที่จะให้ทุกภาคส่วนของชุมชนเข้ามาโดยที่ยังไม่เกิดความเกี่ยวข้องที่จะต้องเข้าไปถึง

บทเรียนที่ได้มา  : ราคาของชุมชนวิจัย ในงานวิจัยชุมชน

                ได้พยายามคุยกันเสมอกับคนในทีมว่า คนที่มาหาเราไม่รู้เป็นอย่างไร  มักจะรับรู้และเข้าใจเราเหมือนโครงการอื่นๆ ที่ขอเงินไปซื้อกี่ทอผ้า  ต่อท่อเดินน้ำประปา  ซื้ออุปกรณ์เครื่องดนตรีพื้นเมือง  สนับสนุนกลุ่มอาชีพ ฯลฯ เราสื่อเขาผิดไปหรือเปล่า  หรือว่าเขาตั้งใจมาอย่างนั้นจริง ๆ  เราจะปิดประตูบ้านใส่ชุมชน เราจะทำได้หรือ ? จนได้ข้อสรุปที่ชัดเจนบางประการว่า “การปฏิวัติยุคสมัย”  คงมิใช่จะสำเร็จในเวลา 1 หรือ 2 วัน  ชาวบ้านมีทุกข์ร้อยแปด  แต่ก็ไม่ได้ค้นหาว่าเหตุอันใดที่ทำให้เกิดทุกข์นั้น  แต่อยากได้ยาแก้ทุกข์  ที่ทุก ๆ ฝ่ายได้ทำกับชุมชนมาอย่างต่อเนื่องนานนับสิบปี  ที่ให้ยาแก้ทุกข์  อุปกรณ์แก้ทุกข์  ที่เรียกว่างบประมาณ และโครงการหมดเงินไปนับพันล้าน หมื่นล้าน เมื่อมันเป็นเช่นนี้เราจะปิดแผ่นฟ้าอันกว้างใหญ่ด้วยฝ่ามือนะหรือ ?  หรือเราน่าจะเรียนรู้ไปกับเขา  และให้เขาเรียนรู้ไปด้วย  ถ้างานวิจัยชุมชนเหมือนงานอื่น  ก็ยกให้งานอื่นไปเสียจะได้ไม่เสียเวลา  แต่ถ้าจะยืนหยัดก็ต้องทำให้คนเข้าใจความแตกต่าง  และการท้าทายของกระจกอันใหม่ที่ทำให้คนอยากมองตัวเอง   การเรียนรู้ก็ได้เกิดขึ้น  เรารู้อะไรบ้าง? กับเวลาที่ผ่านมาเกือบขวบปี          เราได้เรียนรู้การสื่อสาร  การบอกกล่าว  เราใช้สื่อบุคคลโดยการพูดคุย  การบอกกล่าว  การวานให้บอกต่อ  ได้พบว่าคำว่า  วิจัย  อย่างไรเสียก็เข้าไม่ถึงความรู้สึก  ความเข้าใจของชุมชนได้หมด  มาหวนคำนึงถึงคนในระบบการศึกษาที่กว่าจะรู้ความหมาย  ระเบียบวิธี  (โดยที่ยังไม่พูดถึง การทำได้  ทำเป็น) เราใช้เวลาเรียนปริญญาตรีถึง 4 ปี ปริญญาโท  ไม่น้อยกว่า 2 ปี ชุมชนมานั่งคุยกับเรา  วันสองวันจะรู้ได้หมดหรือ  ทำให้เกิดการสรุปบทเรียน บทแรก ๆ ว่า เรามีเกณฑ์อะไร  ที่จะทำให้หัวข้อผ่าน-ไม่ผ่าน ( 3 โครงการแรกของลำปาง  ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5-8 เดือน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผ่านโดยความชัดเจน) เกณฑ์หรือข้อกำหนดของ สกว.บอกว่าให้มีคำถาม  ให้มีโจทย์ที่ชัดเจนที่มาจากชาวบ้านและชุมชนร่วมกันคิด  มีแผนปฏิบัติการ  ตรงคำถามพออธิบายได้ว่า  อยากรู้อะไร  อยากทำอะไร ก็คือ  อะไร   ทำไม   อย่างไร  ก็ให้เขียนมา  แต่พอพัฒนาให้เป็นโจทย์มันคืออะไร  จะเขียนว่าอย่างไร  นิยามง่าย ๆ ได้ไหม  เขานิยามกันไว้ว่าอย่างไร  เราก็ต้องมานั่งนึกถึงประสบการณ์เดิมสมัยเป็นเด็ก ๆ  ว่า  ไก่มีขา 2 ขา  ถ้าไก่ 10 ตัวมี กี่ ขา ? มานีมีเงิน 50 บาทแบ่งให้น้อง 2 คนคนละเท่า ๆ กัน  จะได้คนละกี่บาท ?   ถามว่าโจทย์มิใช่คำถามเพียงอย่างเดียวหรือไม่ ?  ใน 1 โจทย์มีได้หลายคำถามใช่ไหม?  ในงานวิจัย 1 เรื่อง ตั้งโจทย์ได้กี่โจทย์ (เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องคิดอยู่ตลอดเวลา  ด้านหนึ่งก็คือกลัว โครงการไม่ผ่าน  กลัวชาวบ้านเบื่อหน่าย เห็นว่ามากเรื่อง)  เราจึงใช้เวลากับตรงนี้ค่อนข้างมาก  ชุมชนบางชุมชนก็ล่าถอยไปด้วยความรำคาญ ไม่มาเวทีอีกเลยก็มี  ผู้สนใจมาฟังแล้วเห็นว่ายากไม่มาอีกก็มี  ฟังแล้วไม่รู้เรื่องก็มีหลายที่  แต่การล่าถอยไปก็เป็นปรากฏการณ์ที่รับได้ทั้งสองฝ่าย  ทั้งฝ่ายจัดเวที (ฝ่ายส่งสาร) กับอีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายชุมชนที่เป็นไปอย่างเงียบ ๆ  แต่การถอยออกไปมิได้เป็นไปแบบปฏิเสธว่าไม่ถูก  ไม่ตรง  ไม่รับ เราพยายามให้เกิดการรับรู้ของตัวแทนชุมชนเอง  โดยให้เกิด ความยุ่งยากในเนื้อหา  และง่ายในรูปแบบก็น่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ไม่มีใครถูกผิด  ไม่ปฏิเสธ  แต่ก็ยังไม่ผ่านการเสนอการเซ็นสัญญาต้องปรับนิด  แต่งหน่อย เราก็มานิยามกันเองว่าโจทย์นั้นควรจะเป็นการประมวลข้อมูล  ปัญหาของชุมชนมาจัดเป็นความสัมพันธ์  ทิศทางและการคาดการณ์  ว่าหากลงมือทำจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลง  และตอบปัญหาบางประการของชุมชน  โดยชุมชนต้องร่วมกันคิดได้  เช่นชุมชนหนึ่งมีผักพื้นบ้านมาก  ถ้าได้นำไปขายน่าจะสร้างรายได้ให้กับครอบครัวในชุมชนได้มาก  แต่ปัญหาคือชุมชนอยู่ห่างไกลทางลำบาก  แล้วก็เห็นว่าถ้าขายเฉพาะหมู่บ้านก็คงขายไม่ได้มาก  ขายที่อำเภอ  หมู่บ้านอื่น  ๆ ก็มีพืชผักชนิดเดียวกันนี้ขายอยู่  คงต้องหาแหล่งขายที่ใหญ่ขึ้น  ถ้าจะไปขายที่เชียงใหม่  ก็จะมีคำถามตามมาว่า จะไปอย่างไร  จะรวมผักอย่างไร  ใครจะเป็นคนไปขาย  จะคุ้มหรือไม่  แต่ถ้าจะเขียนเป็นโจทย์วิจัยจะเขียนอย่างไร  เพื่อให้เห็นทิศทางของการหาทางออกร่วมกัน  “ชุมชนจะมีการจัดการ การจำหน่ายพืชผักพื้นบ้านที่มีจำนวนมากให้เกิดเป็นรายได้แก่สมาชิกชุมชน โดยให้ทุกครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ”  อย่างนี้เป็นโจทย์หรือยัง ?  หรือจะเขียนโจทย์ใหม่ว่า  “ชุมชนจะแปรรูปพืชผักพื้นผักพื้นบ้านให้เป็นอาหารสมุนไพรสำเร็จรูปให้เกิดรายได้ที่ยั่งยืนและไม่ทำลายระบบนิเวศน์”

                นี้คือการสื่อสารความหมายในด้านเทคนิคการทำงาน และคำว่าวิจัยเท่านั้น  สรุปได้เพียงว่า สื่อในเวทีให้คนช่วยสะท้อนในเวทีวันที่ 10 ของทุกเดือนอีกทางหนึ่ง  ลงไปในพื้นที่แล้วช่วยกันค้นหาเท่านั้นเอง

                สำหรับการสื่อสารอีกความหมายหนึ่งที่เราได้เรียนรู้  คือการทำให้คนรู้จักโครงการ  ศูนย์ประสานงานวิจัย จ.ลำปาง หลาย ๆ ครั้งในตอนแรกใช้โบชัวร์ (แผ่นพับ )  หรือเอกสาร อธิบายความหมายงานวิจัย  ก็มิวายที่ต้องบอกจำนวนเงิน 3 แสนบาท  กับเงื่อนไขเวลา 2 ปี  ซึ่งจะเป็นรายละเอียดค่าตอบแทน  ค่าใช่จ่าย  ไปในแนวโน้มของงบประมาณ  หรือนิยามของงานวิจัยออกมาในรูปขอสนับสนุนงบประมาณ และการกำหนดค่าตอบแทนของนักวิจัยอย่างตายตัว สร้างความหนักใจให้ทีมงานอยู่มาก เพราะว่าถ้าคนแห่กันมาเสนอโครงการและคาดหวัง การนำเงินไปพัฒนาเป็น ร้อย ๆ โครงการ  เราจะทำอย่างไร  ยิ่งหากมาและเข้าใจโครงการผิดก็ยิ่งลำบากที่จะทำความเข้าใจ  และทำให้ภาพลักษณ์ของศูนย์วิจัยผิดไป    บางโครงการงบประมาณไปหนักที่ค่าตอบแทนนักวิจัยเป็นส่วนใหญ่  ซึ่งจะว่าชุมชนผิดก็ไม่ได้  เพราะมีอัตรากำหนดไว้อย่างนั้น ส่วนของค่าตอบแทนนักวิจัยที่เล่าให้ฟังเพราะระยะแรก ๆ ชุมชนจะใช้เงื่อนไขนี้  ก็เห็นว่าสัดส่วนควรจะจัดใหม่โดยให้ชุมชนรับรู้ทั้งหมดและจัดการกันเอง  ในวงเงินทั้งหมดซึ่งโครงการหลัง ๆ เช่นบ้านสามขาก็ดำเนินได้โดยรับรู้จำนวนเงินทั้งหมด ให้ชุมชนจัดการเอง และเป็นธรรมพอใจทุก ๆ ฝ่าย ซึ่งก็ได้ใช้หลักการนี้มาตลอดมา  ได้ข้อสรุปว่า   “ชุมชนต้องรวมตัวกันตั้งแต่ต้นจนจบ”  จึงจะ “ปลอดภัย  ไร้กังวล”  แต่คำว่าชุมชนเข้าร่วมก็ต้องมาว่ากันอย่างละเอียดอีกที  ความรู้ระหว่างทีมวิจัยต่อทีมวิจัย  และทีมวิจัยต่อคนในชุมชน  เราได้เรียนรู้ว่า ชุมชนได้ส่งผ่านความรู้ให้แก่กันตลอด

6. ปัญหาอุปสรรคในการทำงาน

                สิ่งแรกที่คงจะต้องบอกว่า  การทำงาน สกว. การสนับสนุนการวิจัยชุมชนท้องถิ่น  ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย  และปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นมากมายมีดังนี้

1.                   ผู้ประสานงานหรือผู้ให้คำปรึกษางานวิจัย (RC) ก็เป็นปัญหาอุปสรรคที่สำคัญมองจากทีมลำปาง) โดย RC จะต้องมีความชัดเจนต่อความหมายของการวิจัยชุมชนเพราะว่าการวิจัยชุมชน (การวิจัยแบบ PAR) นั้นมีหน้าที่เฉพาะ มีลักษณะเฉพาะ เพราะ PAR คงจะไปวิจัยแบบมีส่วนร่วมของสงคราม หรือการต่อสู้ ตีรันฟันแทงไม่ได้ แต่ PAR เหมาะสมกับเนื้อหาหรือปัญหางานวิจัยบางลักษณะ หรือต้องการคำตอบบางลักษณะเท่านั้น ถ้าไม่เข้าใจพื้นฐานตรงนี้ ก็จะเอามาตราฐาน หรืองานอื่น มาวัดงานวิจัยของชาวบ้าน ถ้า RC ไม่เข้าใจตรงนี้ก็จะไปไม่ถึงซึ่งความหมายที่แท้จริง ส่งผลต่อการคิด การกระทำบางประการ และสำคัญที่สุด ถ้า RC มีความเข้าใจในการทำงาน หรือวิธีการวิจัยต่างจากกระบวนการที่จะพิจารณา (สกว.ภาค) ก็จะยิ่งเป็นปัญหาหนัก เพราะว่าการได้รับการพิจารณาโครงการก็จะเป็นเรื่องยุ่งยาก เสียเวลาขึ้นมาทันที ปัญหาที่สองของ RC เรื่องการทำงานในพื้นที่เพื่อ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 9780เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2005 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท