พรหมวิหาร ๔


พรหมวิหาร ๔

 ผมเขียนเรื่องนี้เพราะรู้สึกว่าเวลาที่เราใช้หลักพรหมวิหาร ๔ มักจะใช้กันทีละข้อ ทั้งที่ในความจริงควรใช้ทุกข้อพร้อมๆกัน ในการช่วยผู้ป่วยติดยาเสพติด จำเป็นมากที่ต้องทำอย่างนั้นเลยเอามาใส่ไว้ในบล๊อกนี้ครับ


พรหมวิหาร 4

   พรหมวิหาร 4 เป็นหลักปฏิบัติ ของพรหมหรือของท่านผู้เป็นใหญ่ พรหมวิหารเป็นหลักธรรมสำหรับทุกคน เป็นหลักธรรมประจำใจที่จะช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างประเสริฐ ถ้าถามว่าพรหมวิหาร 4 ประกอบด้วย ข้อธรรมใดบ้าง ผู้อ่านส่วนใหญ่ คงจะพอบอกได้ว่า ประกอบด้วย

เมตตา ความต้องการให้ผู้อื่นเป็นสุข

กรุณา ความต้องการให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

มุทิตา การยินดีเมื่อผู้อื่นมีความสุข

อุเบกขา การไม่ทุกข์ใจเมื่อผู้อื่นมีทุกข์

   

หลายท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ก็อาจคิดว่า เรื่องที่ผู้เขียนเขียนป็นเรื่องที่รู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว พรหมวิหาร 4 ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร ครับไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจคือ "4" ไม่ใช่คำว่า พรหมวิหาร คนส่วนใหญ่นึกถึง พรหมวิหาร 1 4 ข้อ ไม่ใช่พรหมวิหาร 4 พูดอย่างนี้อาจจะงง อธิบายให้ชัดๆ ก็คือ คนส่วนใหญ่จะนึกถึงพรหมวิหาร เป็น ข้อๆ แยกกัน เวลาใช้ก็เอามาปฏิบัติกันทีละข้อ ตอนอยากให้คนอื่นเป็นสุขก็ใช้เมตตา พออยากให้เขาพ้นทุกข์ก็ใช้กรุณา พอเห็นเขามีความสุขก็ใช้มุทิตา พอช่วยให้เขาพ้นทุกข์ไม่ได้ก็ใช้อุเบกขา ในความเป็นจริง พระพุทธเจ้าท่านรวมเรียกหลักธรรมทั้งสี่นี้ว่า พรหมวิหาร 4 เพราะเป็นหลักธรรมที่จำต้องปฏิบัติ พร้อมๆกันทั้งสี่ข้อ จะละทิ้งข้อหนึ่งข้อใดไปไม่ได้ ทำไมต้องเป็นอย่างนั้น ลองคิดตามดูนะครับ ไล่ตั้งแต่ข้อแรกก่อน เมตตา ต้องการให้ผู้อื่นเป็นสุข ถ้าเขายังมีความทุกข์อยู่ ก็คงจะสุขลำบาก ดังนั้น ถ้าอยากจะให้เขามีความสุข คงต้องช่วยให้เขาพ้นทุกข์ไปพร้อมๆกันด้วย อันนี้เข้าใจไม่ยาก ถ้าช่วยให้เขาหมดทุกข์เขาก็คงพบสุขเอง หรือ ถ้าช่วยให้มีสุข ทุกข์ก็คงจะบรรเทาลง ดังนั้นเมตตาต้องมาคู่กับกรุณาเสมอ ทีนี้ข้อที่สาม มุทิตา ยินดีเมื่อผู้อื่นเป็นสุข ข้อนี้มีผลทั้งกับตัวเราและผู้อื่น สำหรับตัวเราเมื่อช่วยให้ผู้อื่น พ้นทุกข์ พบสุขได้แล้ว การร่วมยินดีกับเขาจะทำให้เรามีใจเป็นปิติ มีเมตตา มีกรุณามากขึ้น อยากช่วยผู้อื่นต่อ ส่วนผลของมุทิตาสำหรับผู้อื่นนั้น การที่เราแสดงความยินดีที่เขามีความสุข เป็นการช่วยให้เขามองเห็น ความสุขในชีวิตของตนได้ พูดอย่างนี้อาจเห็นไม่ชัด คงต้องขอให้ผู้อ่านนึกว่า เวลาที่เราทุกข์มากๆนั้น เรามักไม่สนใจเรื่องดีๆที่เกิดขึ้นในชีวิต จะสนใจแต่ปัญหาที่ทำให้ทุกข์ใจ ซึ่งก็ยิ่งทำให้ยิ่งทุกข์มากขึ้น การที่มีคนมาชี้ให้เห็น ข้อดีในชีวิต และร่วมยินดีกับสิ่งเหล่านั้น ทำให้คนที่กำลังทุกข์มองเห็นด้านดีของชีวิตตนมากขึ้น มีกำลังใจที่จะสู้ชีวิตต่อ ช่วยให้ลดความทุกข์ลงได้ ดังนั้นเมื่อมี เมตตาและกรุณาแล้ว จำต้องมีมุทิตาร่วมด้วย ข้อสุดท้ายคือ อุเบกขา คือการทำใจให้เห็นว่าทุกๆคนล้วนได้รับผลจากกรรม หรือ การกระทำของตนเอง ข้ออุเบกขานี้ มักจะเป็นข้อที่ เอามาใช้เดี่ยวๆ มากที่สุด กล่าวคือ พอทั้ง เมตตา กรุณา มุทิตา แล้วไม่เป็นผล ก็จะบอกว่า ช่างเขาเถอะปล่อยไปตามเวรตามกรรม ซึ่งการกระทำอย่างนั้นไม่ได้เรียกว่า ใช้พรหมวิหาร 4 และ ไม่ใช่อุเบกขา แต่เป็น การไม่ใส่ใจ อุเบกขาที่แท้ คือการที่เราไม่ไปทุกข์ใจกับ ทุกข์ของผู้อื่น รู้ว่าการที่เขาเป็นอย่างนั้นเป็นเพราะการกระทำ หรือ กรรมของเขา ทุกข์ก็เป็นทุกข์ของเขา แต่เรายังคงมีเมตตา ยังอยากให้เขามีความสุข ยังมีกรุณาอยากให้เขาพ้นทุกข์ และมีมุทิตายินดีถ้าเขามีความสุขอยู่ ทำไมเรื่องนี้สำคัญ เพราะถ้าเราไปทุกข์กับเขาด้วย เราจะช่วยให้เขาพ้นทุกข์ไม่ได้ คนที่มีความทุกข์มาอยู่ด้วยกันยิ่งรังแต่จะทำให้พลอยทุกข์กันไปมากขึ้น การที่เราละทุกข์ที่เกิดจากการช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ไม่ได้จะช่วยให้เรายังสามารถ ช่วยเขาต่อได้โดยไม่รู้สึกท้อแท้เสียก่อน เตี้ยอุ้มค่อมไม่ได้ฉันใด คนที่กำลังทุกข์ก็ไม่สามารถช่วยคนที่มีทุกข์ได้ฉันนั้น นอกเหนือจากผลของอุเบกขาที่มีต่อตนเองแล้ว อุเบกขายังมีผลต่อผู้ที่ต้องการช่วยด้วย การที่เราทำตัวอย่างให้ผู้ที่เราต้องการช่วยให้เห็นวิธีพ้นทุกข์ ปล่อยวางให้เขาดู เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการชี้ทางปลดทุกข์ หลายคนที่เคยแนะนำให้คนที่กำลังทุกข์ปล่อยวาง อาจเคยเจอคำพูดย้อนว่า คนที่แนะนำนั้นทำได้ตามที่พูดหรือเปล่า การที่เรามีอุเบกขาเป็นการแสดงให้ดูว่าเราทำอย่างที่พูดได้ และทำแล้วหายทุกข์ได้จริง การทำให้ดูนี้มีความหมายมากกว่าการพูดแนะนำเฉยๆมากนัก ดังนั้นยิ่งเรามีกรุณาอยากให้เขาหายทุกข์มากเท่าไร เรายิ่งต้องมีอุเบกขามากเท่านั้น ในทำนองเดียวกันกับการที่ ยิ่งเรามีเมตตามากเท่าไร ยิ่งต้องมีมุทิตามากเท่านั้น ถ้าเข้าใจตามนี้จะเห็นว่า พรหมวิหาร 4 เป็นข้อธรรมที่ต้องมี พร้อมๆกันทุกข้อ การเจริญพรหมวิหาร 4 จึงจำเป็นต้องเจริญ ทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาไปพร้อมๆ กัน จะแยกเจริญเป็นข้อๆไม่ได้

อย่างที่กล่าวในตอนต้น ผู้ที่มีพรหมวิหาร4 คือ ผู้ที่เป็นใหญ่ ใหญ่ในที่นี้มิใช่เป็นใหญ่ด้วยอำนาจ แต่เป็นใหญ่ด้วยการที่มีผู้คนรักใคร่ เป็นผู้ที่ช่วยให้สังคมมีความสุขมากขึ้น เป็นผู้ที่ได้เสวยผลบุญเป็น เทวดาในชั้น พรหม เมื่อจากโลกนี้ไป เนื่องในโอกาสปีสำคัญของคนไทยผู้เขียนจึงอยากเชิญชวนให้ผู้อ่านทุกท่าน ร่วนกันเจริญ พรหมวิหาร 4 นี้ เพื่อความสุข ความสงบ ความสมานฉันท์ของสังคม ดังพระปณิธานขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเป็นที่รักยิ่งของเราทุกคน

หมายเลขบันทึก: 97471เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2007 07:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 09:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
ตามมาอ่าน พรมวิหาร 4 กำกับด้วยปัญญา

ดีจังคะ  อ่านแล้ว เตือนตน ว่าเราคิดเป็นใช้เป็นลำดับ

อย่างไร 

อาจารย์อรรถพล ครับ บันทึกนี้ดีจริงๆ ครับ  ที่ผ่านมาผมก็ยังเข้าใจผิดว่าเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นลำดับขั้น นี่เป็นการตีความที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น  เลยเกิดความคิดขึ้นมาว่าจริงๆ แล้วการแยกย่อยและการจัดสิ่งต่างๆ เป็นขั้นเป็นตอนอาจทำให้เข้าใจสิ่งที่ต้องการนำเสนอได้ง่าย แต่มักจะไม่ตรงกับสภาพที่เป็นจริงในชีวิตเรา เพราะชีวิตหรือการรับรู้ของคนเราไม่ได้เป็นระเบียบเสมอไป หากแต่เรามักจะรับรู้อะไรแบบภาพรวมเสียมากกว่า

แต่ด้วยความที่แนวคิดตะวันตกยังยึดติดอยู่กับตัวผมไม่มากก็น้อย ผมเลยมีข้อสงสัยว่า ถ้ามองในแง่มุมของพัฒนาการ จะเป็นไปได้ไหมที่การพัฒนาของคนเราจะยังเป็นขั้นตอน โดยมองได้กว้างขึ้นๆ (ลึกขึ้นๆ) เช่น ถ้าถึงขั้น 2 (กรุณา) ก็จะมีทั้งเมตตาและกรุณา ถ้าไม่ผ่านขั้น 3 ก็ยากที่จะรับรู้ถึงขั้น 4 (อุเบกขา) ด้วยใจได้

* บันทึกของอาจารย์ให้ข้อคิดที่ดีๆ ที่การจัดอยู่ในหัวข้อสารเสพติด ทำให้คนมองข้ามไปอย่างน่าเสียดายครับ

เป็นไปได้หรือเปล่าที่เป็นขั้นๆ ก็ คงเป็นไปได้ครับ แต่ผมคิดว่าก็เป็นไปได้เช่นกันที่จัพัฒนาจากอุเบกขามาก่อน อย่างไรก็ตามถ้าลองคิดดูดีๆจะพบว่า อุเบขาอาจจะเป็นเรื่องที่ยากกว่า เลยทำให้พัฒนามาทีหลัง แต่ก็มีนะครับที หลวงพ่อบางรูปท่าน ปลีกวิเวก ปฏิบัติจนท่าน ปล่อยวางได้ (มีอุเบกขา) แล้วพอออกมาสอนโปรดญาติโยม เราก็จะรู้สึกว่าท่านมีเมตตามากด้วย เพราะอย่างนี้ผมจึงคิดว่า ไม่ควรที่จะแยกกันพัฒนา ควรตั้งใจเจริญไปพร้อมๆกัน เพราะแต่ละข้อที่เราพัฒนามากขึ้นจะเอื้อให้พัฒนาข้ออื่นมากขึ้นตามมาครับ

ที่นำมาใส่ในเรื่องยาเสพติด เพราะผมคิดว่าเป็นหลักธรรมที่สำคัญสำหรับคนที่สนใจเรื่องนี้ครับ อีกทั้งอยากเชิญชวนให้หันมาสนใจคนกลุ่มนี้มากๆครับ จากประสบการณ์ที่ผมทำด้านี้ทำให้ผมเรียนรู้เรื่องดีๆมากมาย เรื่องพรหมวิหารก็ได้มาจากการทำงานกับผู้ป่วยกลุ่มนี้แหละครับ ก็เลยเอามาใส่ในหัวข้อนี้เผื่อจะช่วยให้ผู้อ่านสนใจอยากทำเรื่องยาเสพติดบ้างครับ

ผู้ดำรงในพรหมวิหาร ย่อมช่วยเหลือมนุษย์สัตว์ทั้งหลายด้วยเมตตากรุณา และย่อมรักษาธรรมไว้ได้ด้วยอุเบกขา ดังนั้น แม้จะมีกรุณาที่จะช่วยเหลือปวงสัตว์แต่ก็ต้องมีอุเบกขาด้วยที่จะมิให้เสียธรรม
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท