รูปแบบการจัดการใหม่ของเมืองโบราณอยุธยา


ถ้าเอาเหตุการณ์เหล่านั้นมาเรียงจัดลำดับเวลาให้ดี เราก็จะสามารถเติมรอยต่อของประวัติศาสตร์ของอยุธยาให้ได้เห็นเป็นยุคๆ อย่างต่อเนื่อง เห็นเอกภาพของประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาได้เป็นอย่างดี

ผมมีโอกาสสัมผัสกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในช่วงขวบปีที่ผ่านมาคือได้มีโอกาสทั้งไปสอนหนังสือและไปเที่ยวชมความงามของเมืองที่ร่ำรวยความเป็นมาในด้านประวัติศาสตร์ จากความรู้พื้นๆ ที่ว่าอยุธยาเคยเป็นราชธานีอันยิ่งใหญ่ของไทยมายาวนานถึง 417 ปี มีพระมหากษัตริย์ปกครองสืบเนื่องกันมาถึง 5 ราชวงค์ รวม 33 พระองค์ พื้นที่ตั้งเป็นที่ลุ่มซึ่งเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมในการเพาะปลูก ตัวพระนครเองก็ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่าเป็นเกาะ คือมีแม่น้ำและคูคลองปิดล้อมโดยรอบทำให้เป็นการยากที่จะให้ข้าศึกเข้าโจมตี หากไม่มีแผนยุทธศาสตร์การรุกที่ดีแล้ว การยกทัพเข้าประชิดพระนครในฤดูน้ำหลากก็คือการฆ่าตัวตายดีๆ นั่นเอง 

นอกเหนือจากปราสาทราชวังและโบราณสถานแล้ว อยุธยายังเป็นแหล่งเพาะบ่มความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเขตเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ เห็นได้จาก มีการที่เมืองมีวัดทั้งเก่าและใหญ่นับเป็นร้อยๆ แห่ง ตั้งอยู่ในเขตพระนครและเมืองโดยรอบ บางแห่งก็อยู่ในสภาพที่ดี บางแห่งก็พอจะมองเห็นเค้าลางของความยิ่งใหญ่ได้เนื่องจากได้รับการบรูณะปฏิสังขรณ์จากหน่วยงานหลายฝ่าย แต่บางแห่งก็น่าเสียดายที่เหลือแต่คำบอกเล่าให้เรานึกวาดภาพเอากันเองว่า พุทธสถานเหล่านั้นจะยิ่งใหญ่ขนาดไหนในยามนั้น  

ผมได้เห็นภาพอีกมุมของอยุธยาที่เปลี่ยนแปลงไปนั่นคือการไหล่บ่าเข้ามาของภาคอุตสาหกรรม ด้วยความหวังที่ว่าการนำโรงงานอุตสาหกรรมเข้าตั้งในจังหวัด จะก่อให้เกิดงาน สร้างรายได้ ให้คนในพื้นที่รวมถึงปลุกสภาพเศรษฐกิจของอยุธยาให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง มีการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ นำอุตสาหกรรมไฮเทคต่างๆ เข้ามาตั้งและทำการผลิตสินค้ามากมายเพื่อการส่งออก ซึ่งคิดว่าน่าจะทำรายได้ให้กับจังหวัดเป็นจำนวนมาก  สำหรับมุมมองของผมต่อเรื่องการอุตสาหกรรมนั้นผมคิดว่า นิคมอุตสาหกรรมนั้นตั้งที่ไหนก็ได้หากว่าสถานตั้งนั้นมีทรัพยากรที่นิคมต้องการใช้อย่างเพียงพอ เราอาจเห็นมีนิคมอุตสาหกรรมอยู่หลายแห่งไม่ว่าจะเป็นที่ลำพูน ฉะเชิงเทรา หรือที่พระนครศรีอยุธยา แต่นิคมเหล่านั้นมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ต่างกันตรงไหนบ้างครับ ซึ่งผิดกับเมืองโบราณของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะคุณค่าทางประวัติศาสตร์ประการสำคัญนั้นถูกกำหนดโดยตำแหน่งที่ตั้ง ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ อยู่ตรงไหนก็ต้องอยู่ตรงนั้น

นอกจากนี้ยังมีความยั่งยืน แตกต่างกันมากกับนิคมอุตสาหกรรมที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เปิดหรือปิดได้ตามแต่ความต้องการของบริษัทที่อยู่ในนิคมนั้น ลองวาดภาพซิครับถ้าจะเราจะไปเยี่ยมชมเมืองโบราณอยุธยาแต่ต้องไปดูที่จังหวัดลำพูน จะได้อารมณ์เป็นในลักษณะใด ภาพการจัดการเมืองโบราณของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาของผมมองต่างออกไปครับ  หากท่านเชื่อในเรื่องของการวางตำแหน่งการรับรู้ในใจคนแล้ว (Positioning)   ผมเชื่อว่าหลายคนอาจเกิดความขัดแย้งต่อการรับรู้ในใจตัวเองคือเมื่อพูดถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เราจะคิดถึงภาพอะไรกันแน่ ระหว่าง  ราชธานีเก่าที่รุ่มรวยไปด้วยศิลปะวัฒนธรรม หรือ ภาพของจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมใหม่นำสมัย ทำการผลิตเพื่อการส่งออก  ซึ่งภาพของอยุธยาในฐานะราชธานีเก่าในตอนนี้นั้นก็เริ่มจืดจางลงเมื่อมีการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมกันอย่างต่อเนื่อง ต่อไปความยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ก็อาจจะเหลือเป็นแค่เพียงแรงเฉื่อยของความยิ่งใหญ่ที่นับวันก็จะอ่อนแรงลงไปเรื่อยๆ  

ผมอยากให้อยุธยาได้ตอกย้ำภาพของราชธานีเก่าให้ชัดเจนมากกว่านี้ เพราะผมเชื่อจะทำให้เกิดการรับรู้ในใจผู้คนได้อย่างมีเอกภาพ (Single minded) มากขึ้น  คือเมื่อเราได้ยินคำว่าพระนครศรีอยุธยาก็จะเกิดภาพเดียวในใจขึ้นทันที ไม่ขัดแย้งว่าที่นี่คือที่ไหนกันแน่ และเป็นอะไรกันแน่  และก็ผมเชื่อว่าหากเราวางตำแหน่งหลักของจังหวัดไวัที่ราชธานีเก่านั้นน่าจะเป็นจุดที่เหมาะสมมาก เพราะความที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเองนั้นได้สะสมความรุ่มรวยทางประวัติศาสตร์มาเป็นเวลาอันยาวนาน (Heritage)  ความรุ่มรวยทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดนั้น ไม่ต้องซื้อหาหรือสร้างขึ้นมาครับ เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่มีใครสามารถมาแย่งเอาไปได้ ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม มีมูลค่า เป็นจุดขายของจังหวัดให้แก่นักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ทั้งยังสร้างงาน  สร้างรายได้  ได้ไม่แพ้นิคมอุตสาหกรรม อย่างเดียวยังต้องทำคือสะสมสิ่งเหล่านี้เพิ่มเติมโดยคงรักษาความคุณค่าเหล่านี้ไว้อย่างให้สูญหาย เท่านี้มูลค่าของสิ่งที่มีอยู่ก็จะกลายเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าอย่างมหาศาลทั้งทางด้านจิตใจและด้านทรัพย์สินเงินทอง     

สิ่งที่ยังขาดอยู่ในการจัดการเท่าที่ผมเห็นก็คือจังหวัดยังไม่สามารถจัดการโบราณทรัพย์สินที่เรามีอยู่ให้มีมูลค่าเพิ่มอย่างสูงสุด ผมสังเกตจากการเข้าเยี่ยมชมโบราณสถานและพิพิฑภัณท์ต่างๆ นั้น ยังมีผู้เข้าเยี่ยมชมน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงวันธรรมดา เท่าที่เห็นก็มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไปดูบ้าง แต่ดูหงอยเหงาซึมเซา บรรยากาศในพิพิภัณฑ์ก็ไม่น่าตื่นเต้นอะไร ไม่ได้มีการโปรโมทและประชาสัมพันธ์ซักเท่าใด ที่ได้ทำบ้างก็แกนๆ ไม่สามารถจุดกระแสได้  เจ้าหน้าที่เองก็ไม่ได้กระตือรือร้นที่จะให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวมากนัก ชุดแต่งกายก็ยังน่ากลัวเหมือนเดิมคือชุดสีกากี ติดบั้ง หน้าบึ้ง เหมือนกับจะบอกว่า ถ้าคุณมีแรงก็เดินดูกันไป แต่ถ้าหมดแรงก็กลับบ้านได้หรือไปดูที่อื่นต่อได้แล้ว ไม่มีความรู้สึกอยากให้อยู่ศึกษาหรือให้หลงไหลเอาเสียเลย ผมว่างานพิพิภัณฑ์ของบ้านเราก็น่าจะมีการปรับปรุงกันครั้งใหญ่นะครับ  

สำหรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติที่เข้าไปเที่ยวชมเมืองโบราณอยุธยานั้นก็คงต้องวาดฝันหรือจินตนาการเอาเองว่าอยุธยาในอดีตนั้นรุ่งเรืองกันอย่างไร คนไทยในสมัยนั้นมีชีวิตความเป็นอยู่กันแบบไหน ช่วงเวลาออกศึกสงครามพวกเขาแต่งกายกันอย่างไร หากเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยแล้วพวกเขาอาจจะวาดภาพในอดีตได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากกว่าชาวต่างชาติเพราะเคยเห็นภาพเหล่านั้นผ่านตาจากทาง ภาพยนตร์หรือละครอิงประวัติศาสตร์ทางโทรทัศน์มาแล้ว  แต่ที่ลำบากคือภาพในใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติครับ เพราะคนเหล่านั้น บางคนก็เป็นครั้งแรกที่มาเที่ยวอยุธยา พวกเขามีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับเรื่องของชาติเรา ดังนั้นภาพจินตนาการของเขาที่วาดขึ้นนั้นคงผิดเพี้ยนไปมากจากความเป็นจริง  อาจเป็นเพราะกรอบที่เขาจินตนาการถึงก็คือภาพประวัติศาสตร์ในอดีตของชาติเขาก่อน แล้วก็นำมาสวมทับกับภาพร่องรอยของประวัติศาสตร์ประเทศเราที่เขาเห็น แล้วก็คิดเอาเองว่าจะเป็นอย่างไร เขาก็คงไม่ได้คิดหรอกนะครับว่า คนไทยเราสมัยก่อนก็ไม่ได้ใส่เสื้อกันตลอดเวลา เนื่องเพราะอากาศในบ้านเราร้อน หรือคนไทยสมัยก่อนก็ไม่ได้นุ่งกางเกงอย่างที่บ้านเขาใส่กันแต่เป็นการนุ่งกางเกงโดยใช้ผ้าผืนมาพันเป็นแบบโจงกระเบน ที่นักท่องเที่ยวไม่คิดได้อย่างเราก็อาจเป็นเพราะในบ้านเมืองของเขาไม่ได้มีวัฒนธรรมการแต่งกายแบบนี้อยู่  ที่คิดถูกอาจมีบ้างแต่ที่คิดผิดหรือคิดไม่ออกก็อาจจะมีอีกเยอะ    

ผมเชื่อว่าภาพเมืองโบราณอยุธยาที่ขาดหายไปในใจนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือแม้แต่เยาวชนของเรานั้นสามารถเติมให้เต็มได้ครับ โดยทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ และเห็นสิ่งที่จับต้องได้มากขึ้น ซึ่งหากจะทำอย่างนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินกำลังของเราไป ผมว่าจังหวัดน่าจะจัดสถานท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติมเข้าไป  

ถ้าเป็นไปได้ผมจะเช่าหรือซื้อฉากประวัติศาสตร์จากผู้ผลิตภาพยนต์และผู้ผลิตละครอิงประวัติศาสตร์มาตั้งแสดงให้เหล่านักท่องเที่ยวนั้นเห็นถึงความยิ่งใหญ่ของพระนครศรีอยุธยา ให้พวกเขาเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของเราโดยไม่ต้องจินตนาการให้สับสนอีกต่อไป ตัวอย่างเช่นฉากในภาพยนต์เรื่องสุริโยทัยของท่านมุ้ยหรือละครอิงประวัติศาสตร์เรื่องกษัตริยานั้นมีความยิ่งใหญ่อลังการมาก

ผมรู้สึกเสียดายที่ฉากหรือองค์ประกอบต่างๆ นั้นต้องมลายหายสูญไปเมื่อภาพยนตร์หรือละครนั้นลาโรงไปแล้ว  เอาแค่ฉากท้องพระโรงในเรื่องสุริโยทัยก็สามารถทำให้นักท่องเที่ยวเดินชมกันได้เป็นชั่วโมงๆ แล้วครับ ไม่ว่าจะเป็นลวดลายไทยในท้องพระโรงที่ถูกเนรนิตขึ้นอย่างงดงาม งานแกะสลักเครื่องใช้ต่างๆ ที่มีความประณีต มีลวดลายอันวิจิตรบรรจง ความสง่างามขององค์พระที่นั่งที่พระมหากษัตริย์ใช้ออกว่าราชการ ชุดเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ ชุดเครื่องแต่งกายของอำมาตย์ ขุนนาง พราหมณ์ หรือศาสตราวุธและอาวุธที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ นอกเหนือจากฉากปราสาทราชวังแล้วยังมีฉากวัดวาอาราม  ฉากตลาด ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจผมว่าแค่นี้ก็เกินคุ้มแล้วครับกับการมาเยี่ยมอยุธยา   

แต่ยังไม่หมดเท่านั้นนะครับ เพราะสิ่งที่ยิ่งใหญ่เหล่านั้น เราสามารถทำจำลองและนำออกเสนอขายให้ผู้ที่เข้าชมได้ ไม่ว่าจะเป็นชุดนักรบอโยธยา มีให้เห็นทั้งเสื้อเกราะ หมวก เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับร่างกายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ตุ้มหู สร้อย หรือแม้กระทั่งเครื่องใช้ไม้สอยในครัวเรือนชนิดต่างๆ

นอกจากสินค้าที่ปรากฏเห็นอยู่ในภาพยนต์หรือละครประวัติศาสตร์แล้วยังมีสินค้าประกอบที่จะช่วยเตือนความทรงจำของนักท่องเที่ยวอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเทปเพลง เทปเสียงเห่เรือ หุ่น ตุ๊กตาจำลอง หรือหนังสือต่างๆ ทำกันออกมาได้มากมายจริงๆ ครับ และถ้าจังหวัดให้ความสำคัญกับการทำการตลาดในเรื่องของตราสินค้า (Branding) ให้มากขึ้น สินค้าเหล่านี้ก็จะมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ  สินค้าเหล่านี้อาจมีคนลอกเลียนแบบออกขายได้ครับ แต่ก็ไม่ใช่ของแท้หากต้องการของแท้ก็ต้องมาที่ซื้อที่อยุธยาเท่านั้น ถ้าจังหวัดเห็นด้วยก็น่าจะรีบนำแนวความคิดเหล่านี้ไปปรับใช้เพื่อกระตุ้นพื่อเพิ่มศักยภาพของการท่องเที่ยวในจังหวัดให้สูงขึ้น

นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นการให้การศึกษาให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ของเราด้วยครับ ยิ่งสนุกเท่าไร เด็กๆ ก็อยากไปมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งเด็กเหล่านี้มาเยี่ยมชมเมืองโบราณที่ว่า  พวกเขาก็จะเรียนรู้ความยิ่งใหญ่ของชนชาติเรามากขึ้น ความภูมิใจในความเป็นไทยก็จะถูกสร้างขึ้นในตัวของเยาวชน โดยไม่ต้องไปคิดแต่งเพลงปลุกใจอะไรให้มากมาย แต่ถ้าหากภาครัฐเคลื่อนไหวช้า เอกชนก็จะเริ่มเข้ามาทำก่อนครับและต้องไม่ลืมนะครับว่าสิ่งเหล่านี้มีแค่ที่เดียวเท่านั้น คือหากใครเริ่มก่อน (First Mover Strategy) แห่งที่สองก็แทบไม่มีโอกาสเกิดได้เลย

ลองคิดดูซิครับถ้าหากมีคนบอกท่านว่าเรามีสถานที่ประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งคือเมืองอยุธยาแห่งที่สอง เราจะเชื่อเมืองโบราณแห่งไหนกันแน่  เพราะสุริโยทัยของแท้ก็น่าจะมีอยู่ที่เดียวครับ หากมีแห่งที่สอง ความขลังก็จะหมดไป แถมแห่งที่สองนั้นก็ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ เพราะอย่างนั้นผมถึงบอกว่า ใครเริ่มก่อน  คนนั้นจะสามารถครองตลาดได้แทบทั้งหมด 

หากท่านคิดว่าแนวคิดดังกล่าวนั้นเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยากแล้วก็ลองดูตัวอย่างง่ายๆ ซักตัวอย่างนะครับ  อย่างเช่นภาพยนตร์เรื่องสตาร์วอร์ที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมภาพยนตร์ทั่วโลก สร้างออกมาหลายภาคหลายตอนจนทำให้ดูเหมือนว่าสตาร์วอร์นั้นเป็นเรื่องเสมือนจริง

หากท่านผู้อ่านเคยไปเยี่ยมชมโรงถ่ายภาพยนตร์ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ คงเห็นเขากันพื้นที่ให้ส่วนหนึ่งไว้เป็นสถานที่โชว์ภาพยนตร์เรื่องสตาร์วอร์โดยเฉพาะ จัดได้ยิ่งใหญ่มาก สมจริงสมจัง มีการแสดงต่างมากมาย พอผู้เข้าชมเข้าเยี่ยมชมเสร็จ ยามเดินออกมาก็จะมีตุ๊กตุ่น ตุ๊กตา เครื่องบิน ยานรบ หนังสือ วิดีโอเทป สติ๊กเกอร์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้วางขายอยู่เต็มไปหมด เอาแค่หน้ากากตัวร้ายที่ชื่อ ดาร์ทเวเดอร์ ก็ชิ้นละสองสามพันบาทเข้าไปแล้ว นี่เอาแค่ราคาหน้ากากนะครับยังไม่รวมชุดแต่งกาย และดาบเลเซอร์ ของลอร์ด ดาร์ท เวเดอร์เองหรือของตัวละครอื่นๆ ที่วางขายอยู่ที่ร้านขายของชำร่วยอยู่เต็มไปหมด ลองคิดดูซิครับเขาทำรายได้ต่อหัวกับนักท่องเที่ยวได้มากเท่าไร

ที่สำคัญคือตัวละครและเรื่องราวเหล่านั้นไม่มีตัวตนจริง หรือเป็นเรื่องจริงเลย เป็นการขายจินตนาการแทบทั้งสิ้น ขนาดอย่างนี้ยังขายได้มากมายมหาศาล แถมขายยาวต่อเนื่องนับตั้งแต่ภาพยนตร์ได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว แล้วของเราละครับ มีทั้งของจริง สถานที่จริง พร้อมหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์เรียกกันว่าความเก่านั้นเป็นต่ออยู่หลายขุม แต่ที่เราสู้เขาไม่ได้คือการตลาดครับที่เขาเป็นต่อเราอยู่ทุกขุมเหมือนกัน 

ผมเชื่อว่าไม่ใช่แค่ฉากหรือเครื่องใช้ไม้สอยในเฉพาะในภาพยนตร์เรื่องสุริโยทัยนะครับที่เช่าเอามาจัดให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจเยี่ยมชมได้ แต่ยังมีภาพยนต์และละครย้อนยุคที่ทั้งอิงและไม่อิงประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับอยุธยาอีกหลายเรื่อง ซึ่งก่อนสร้างนั้นผู้เขียนก็ได้ศึกประวัติศาสตร์ เครื่องแต่งกายและชีวิตความเป็นอยู่เป็นอย่างดี จนสามารถนำมาสร้างเป็นเรื่องราวในภาพยนต์หรือละครประวัติศาสตร์ได้ อีกทั้งหากสามารถที่จะทำสถานที่ประวัติศาสตร์จำลองเพิ่มขึ้นมาอีกก็จะทำให้เมืองจำลองประวัตินั้นยิ่งน่าชมและน่าศึกษามากยิ่งขึ้น และถ้าเอาเหตุการณ์เหล่านั้นมาเรียงจัดลำดับเวลาให้ดี เราก็จะสามารถเติมรอยต่อของประวัติศาสตร์ของอยุธยาให้ได้เห็นเป็นยุคๆ อย่างต่อเนื่อง เห็นเอกภาพของประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาได้เป็นอย่างดี  รอยต่อของประวัติศาสตร์นั้นเราสามารารถเติมได้ครับหากมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติม เหมือนกับนักประวัติศาสตร์ที่ค้นหาร่องรอยของไดโนเสาร์ ครั้งแรกก็ไม่ได้เต็มตัวหรอกครับ แต่ก็พอเห็นแค่โครงร่างคร่าวๆ แต่เมื่อหาชิ้นส่วนมาได้ก็ติดเติมเข้าไปท้ายที่สุดก็จะเห็นไดโนเสาร์เต็มตัว สถานที่ท่องเที่ยวเช่น 'เมืองโบราณ' ที่สร้างขึ้นมาก็เหมือนกันครับเพราะถึงแม้จะเก่าโบราณแต่ก็ยังเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดอยู่กับที่ อาจเรียกได้ว่า มาแค่ครั้งเดียวไม่พอหรอกครับ ต้องแวะมาเยี่ยมเยือนเรื่อยๆ เพราะจะมีอะไรให้เห็นเพิ่มเติมอยู่เสมอ  

ผมหวังว่าบทความนี้อย่างน้อยก็จะช่วยจุดประกายให้ท่านผู้อ่านบางท่านให้เห็นภาพการกำหนดตำแหน่งของจังหวัดให้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งยังกล่าวถึงแนวคิดการทำตลาดเชิงรุกให้กับจังหวัดให้สามารถดำรงรักษาความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของสยามประเทศเอาไว้นะครับ

บุริม โอทกานนท์

หมายเลขบันทึก: 97076เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2007 21:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2012 21:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท