แรงบันดาลใจจากนักโทษประหาร


ถ้าเรือนจำทำตามที่คุณฟิลิปขอก่อนตาย ปรากฏการณ์ทางสังคม ที่ "คนนอกเรือนจำ" พากันทำตามเจตนารมย์ที่จะทำความดีก่อนตายของนักโทษประหารคนหนึ่ง ก็คงจะไม่เกิดขึ้น และสังคมอเมริกัน รวมทั้งสังคมโลก ก็คงจะไม่ได้เรียนรู้เรื่องของแรงบันดาลใจที่มีพลังจากตัวอย่างนี้

คอลัมน์เล็กๆ ชื่อ เกร็ดต่างแดน ในหน้าต่างประเทศ ของ นสพ.มติชน ฉบับวันอังคารที่ ๑๕ พ.ค.๕๐ ลงเรื่อง "อาหารมื้อสุดท้าย"

 

เนื้อหาเป็นเรื่องของนักโทษคนหนึ่งชื่อ ฟิลิป เวิร์คแมน (Philip Workman) อายุ ๕๒ ปี ที่ถูกประหารชีวิตโดยการฉีดยาพิษเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่เรือนจำรัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา ก่อนถูกประหารเขาขอไม่กินอาหาร แต่ขอให้เรือนจำนำพิซซ่าหน้ามังสวิรัติ ไปให้คนจนที่ไร้ที่อยู่อาศัยคนหนึ่งกินแทน แต่เรือนจำจัดให้ไม่ได้เพราะผิดกฎ

เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไป ชาวอเมริกันที่ได้ "แรงบันดาลใจ" จากคุณฟิลิป (ก่อนตาย) ได้โทรศัพท์สั่งพิซซ่าให้ส่งไปเลี้ยงเจ้าหน้าที่กู้ภัยในเมืองแนชวิลล์ถึง ๑๗๐ ถาด นอกจากนี้ยังมีคนโทรศัพท์สั่งพิซซ่าไปให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออื่นๆ ด้วย

 

ผมไม่ทราบว่าคุณฟิลิป คิดไว้ก่อนหรือเปล่าว่าเรือนจำจะปฏิเสธคำขอของแก และจะส่งผลให้เกิด "ปรากฏการณ์ทางสังคม" นี้ขึ้น

ผมสนใจข่าวเล็กๆ ชิ้นนี้เพราะเชื่อในเรื่องพลังของปัจเจกบุคคล และเชื่อในความคิดของคุณหมออัลเบิร์ต ชไวท์เซอร์ (1875-1965) แพทย์ นักดนตรี และนักปรัชญาชาวเยอรมันที่ภายหลังโอนสัญชาติเป็นฝรั่งเศส เจ้าของรางวัลโนเบิลไพรส์สาขาสันติภาพ ปี 1952  ที่กล่าวว่า ตัวอย่างไม่ใช่สิ่งสำคัญที่มีอิทธิพล(ต่อความคิดและการกระทำ)ของคนอื่น แต่เป็นเพียง "สิ่งเดียว" เท่านั้น หรือพูดอีกนัยหนึ่ง ก็คือ ตัวอย่างเองนั่นแหละเป็นทั้งหมด ทั้งหลาย ทั้งปวงที่ส่งผลต่อการคิดการกระทำของคนอื่น

 

ความสนใจผมมีมากถึงขนาดต้องไปค้นดูรายละเอียดในข่าวย้อนหลังของสถานีโทรทัศน์ CNN ของอเมริกา  

 

ข้อมูลที่ทำให้ผมสะดุดใจมากอันหนึ่งจากรายละเอียดในข่าวนี้ คือ เรือนจำไม่สามารถทำตามความประสงค์ของคุณฟิลิปที่ขอบริจาคอาหารมื้อสุดท้ายของแกให้คนจรจัดคนหนึ่งในแนชวิลล์(Nashville) ซึ่งจะเป็นเพื่อนของแกหรือเปล่าผมไม่แน่ใจ แต่คิดว่าเป็นเช่นนั้น เมื่อดูจากภูมิหลังของแกที่ CNN บอกว่าแกเป็น junkie (ขี้ยา) คนหนึ่ง ที่ตัดสินใจควงปืนเข้าไปปล้นร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองนั้นเพื่อจะเอาเงินมาซื้อยา พนักงานในร้านแอบกดสัญญาณแจ้งไปโรงพัก ตำรวจมาแล้วเกิดการยิงกันจนตำรวจตายไปคนหนึ่ง ตัวแกถูกตีหัวจนสลบ แล้วถูกเอาตัวไปดำเนินคดี เหตุเกิดตั้งแต่ปี 1982 คดียืดเยื้อมานานเพราะแกต่อสู้ว่าไม่ได้เจตนาฆ่า แต่ในที่สุดก็แพ้คดีและถูกตัดสินประหารชีวิต

ข้อมูลนี้ทำให้ผมต้องตั้งคำถามว่า

  1. "หัวใจ" ของเจ้าหน้าที่เรือนจำทำด้วยอะไร?
  2. "กฎ" ที่ต้องยึดไว้ก่อนเป็นอันดับแรกเสมอ (ความถูกต้อง-ความดี-ความงามไว้ทีหลังก็ได้) อย่างนั้นหรือ?

ถ้าผมเป็นผู้คุมอยู่ในเรือนจำเทนเนสซี ผมจะยอมควักเองหรือเรี่ยไรให้เพื่อนผู้คุมช่วยกันมีส่วนร่วมสั่งพิซซ่าถาดนั้นให้ร้านไปส่งตามความประสงค์ของคุณฟิลิปเลย ไม่ต้องใช้เงินหลวงก็ได้

ก็น่าสงสัยว่าคนเป็นผู้คุมในเรือนจำจะเป็นประเภทคนลักษณ์หนึ่ง-the perfectionist-คนเนี๊ยบเจ้าระเบียบยึดกฎเกณฑ์ ตามตำรานพลักษณ์ - enneagram แต่ไม่ได้หมายความว่าคนลักษณ์หนึ่งจะเป็นคนไม่ดีนะครับ คนละเรื่องกัน คนทุกลักษณ์พัฒนาตนเองเป็นคนดีได้หมดหากเข้าใจจุดอ่อนจุดแข็งของตน

จากในข่าวของ CNN เจ้าหน้าที่เรือนจำชื่อคุณคาร์เตอร์ แถลงว่า ตามกฎอาหารมื้อสุดท้ายสำหรับนักโทษประหารจะจ่ายเกิน ๒๐ เหรียญไม่ได้ และก็ไม่มีระเบียบว่าให้โอนสิทธิในอาหารนั้นไปให้คนอื่นด้วย เหตุผลที่คุณคาร์เตอร์อ้างก็คือ ประชาชนผู้เสียภาษีจะคิดอย่างไรหากเรือนจำทำตามความประสงค์ของนักโทษรายนี้

 

สำหรับผมและคนนอกคุกทั่วไป(ซึ่งได้พิสูจน์แล้ว)ก็ "อนุโมทนาสาธุ" นะซีครับ หากเรือนจำยอมทำตามคำขอ อภิโธ่...มันจะมากกว่า ๒๐ เหรียญไปอีกสักกีเหรียญเชียว

 

แต่เอาเถอะ เรื่องมันก็แล้วไปแล้ว เพราะ "เรื่องอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นแล้ว เรื่องนั้นย่อมดีเสมอ" ประโยคนี้เอามาจากชื่อหนังสือเล่มหนึ่งที่ลงโฆษณาในมติชนเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งผมเห็นด้วยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สามารถใช้เป็นทัศนะในการมองประวัติศาสตร์ด้วยสายตาที่เข้าใจว่า "มันเกิดขึ้นแล้ว" และ "เราได้เรียนรู้อะไรจากมันบ้าง" 

 

ที่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ดีก็คือ ถ้าเรือนจำทำตามที่คุณฟิลิปขอก่อนตาย ปรากฏการณ์ทางสังคม ที่ "คนนอกเรือนจำ" พากันทำตามเจตนารมย์ที่จะทำความดีก่อนตายของนักโทษประหารคนหนึ่ง ก็คงจะไม่เกิดขึ้น

และสังคมอเมริกัน รวมทั้งสังคมโลก ก็คงจะไม่ได้เรียนรู้เรื่องของแรงบันดาลใจที่มีพลังจากตัวอย่างนี้.


บันทึกการแก้ไขบันทึกนี้

  • ๑๖ พ.ค.๕๐ - เริ่มบันทึก
  • ๑๗ พ.ค.๕๐ - แก้ไขการสะกดคำ และขยายความคำพูดของชไวท์เซอร์
  • ๑๘ พ.ค.๕๐ - แก้ไขการพิมพ์ตก ใส่วงเล็บชื่อภาษาอังกฤษ และเพิ่มคำหลัก "ตัวอย่าง"
  • ๑๙ พ.ค.๕๐ - ใส่ลิงก์สำหรับโยงไปที่ต้นฉบับข่าวมติชน

 

หมายเลขบันทึก: 96684เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2007 23:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ผมก็เคยโดนควบคุมอยู่ที่ศูนย์ฝึกอบรบเด็กและเยาวชนเข 2จังหวัดราชบุรี

เป็นเวลา 6 เดือน นานมาก

และก็ออกมาด้ายกับตัวเป็นคนดีของสังคมของพ่อแม่

กับต้วกับใจได้ใหม่

ที่เคยไม่เชื่อฟังพ่อแม่สอนมา

ตอนนี้กับกายมาเป็นเชื่อฟังที่พ่อแม่สอนและทำตาม

กับมาตั้งใจเรียนอีกครั้ง ว่าจะต่อให้จบ ม.6 ให้ได้

ผมออกได้ประมาณ 3 เดือนแล้ว

คติ ทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน

และคุณล่ะทำยัง

แรงจูงใจตอนผมที่อยู่มาตั้งใจฝึกอาชีพ

คิดส่ะว่าเรามาเรียนไม่ได้มาติดคุก

ยอมรับกับการที่เราเคยทำผิดมา

โดยไม่ได้ตั้งใจหรือตั้งใจก็ตาม

กับเริ่มต้นใหม่

คิดสิ่งดีๆ

เป็นกำลังใจให้นักโทษทุกๆคน

สู้ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

ขอบคุณทุกท่านที่เขียนความเห็นมา
และความตั้งใจที่จะเป็น "คนดี" ของพ่อแม่และสังคม
ผมอยากให้ทุกท่านที่เขียนความเห็นมา อ่านบันทึกเรื่อง
"ทำอย่างไรให้ชีวิตนี้มีแต่จะดีไปข้างหน้า" ด้วยครับ
คลิกลิงก์ไปที่ http://gotoknow.org/blog/inspiring/245395

 

ผมอ่านแล้วมองเห็นถึงความตั้งใจของผู้เขียนในอันที่จะถ่ายทอดความคิดผ่านข่าวชิ้นนี้ ผมก็ขอร่วมสืบสานความปรารถนาดีอันนี้ต่อไปครับ

ขอบคุณครับคุณพุ้งพิ้ง

ผมไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิตหรือการฆ่าทุกรูปแบบ (แม้ผู้กระทำผิด)

ขอบคุณอาจารย์ประพนธ์ที่มาให้กำลังใจครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท