เพลงพื้นบ้าน จากการปฏิบัติจริง 2 (เพลงอีแซว)


ด้นกลอนสดไม่มีซ้ำ แต่เพลงท่องปรุงแต่งได้

เพลงพื้นบ้าน

จากการปฏิบัติจริง  

ตอนที่ 2 (เพลงอีแซว)

                         

            คำว่า ครูพักลักจำ เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง (ผู้เรียนเป็นสำคัญ) มีมานานแล้ว ครูเพลงในสมัยก่อนจะให้ลูกศิษย์ที่มาฝึกหัดเพลงติดตามไปดูการแสดงจริงบนเวที โดยฝึกหัดเป็นลูกคู่ไปก่อน รอจนมีโอกาส หรือมีจังหวะ เช่น ผู้แสดงไม่มา (ตัวไม่ครบ) จึงมีโอกาสได้แสดงความสามารถ

                              

            ตอนที่ผมเริ่มฝึกหัดเพลงใหม่ ๆ เพลงที่ฝึกอย่างต่อเนื่องจริงจังมากคือ เพลงอีแซว ป้าอ้นบอกว่า เพลงพื้นบ้านที่ป้าหัด มีหลายอย่าง แต่เพลงที่มีโอกาสเล่น หรือแสดงได้มากกว่าอย่างอื่น คือ เพลงอีแซว ผมมีโอกาสติดตามไปร่วมแสดงกับป้าอ้นไม่มาก เนื่องจากเวลาเล่นเพลงในยุคนั้น เป็นเวลากลางวัน แล้วก็เล่นตามหน้าศาลเจ้าพ่อในหมู่บ้าน ผมต้องทำหน้าที่สอนนักเรียนก็ไปไม่ได้ ยกเว้นงานของส่วนราชการในสำนักงานของเราจัดงานในวันสำคัญได้ไปเล่นเพลงบ้าง เริ่มด้วยการไปเป็นลูกคู่ และผมจะร้องเฉพาะออกตัวบอกเรื่องราวหรือจุดประสงค์ของงานในวันนี้ (ด้นกลอนสดทั้งหมด) บาง ครั้งโดยเฉพาะแถวต่างจังหวัด ผมไปทำขวัญนาค พอทำขวัญนาคเสร็จเขาก็มีมโนราห์แสดง เมื่อจบการแสดงมโนราห์ เจ้าภาพมาขอให้แสดงเพลงอีแซวให้ดูด้วย จึงมีโอกาสได้แสดงเพลงอีแซว 2 คนกับหมอขวัญหญิง หรือในบางโอกาสเมื่อทำขวัญนาคเสร็จ เจ้าภาพขอเพลงฉ่อยอวยพรแขกที่มาทานเลี้ยง ผมได้ขึ้นเวทีแสดงเพลงพื้นบ้าน (แต่งตัวแบบผู้แสดง) ที่ยังจำภาพการแสดงได้ไม่เคยลืมคือที่ ตลาดมาบอำมฤต จังหวัดชุมพร ประมาณปี พ.ศ. 2526-7 นานมากแล้ว ได้ร่วมแสดงเพลงอีแซวกับนักเพลงสุพรรณที่เจ้าภาพเขาติดต่อไปต่างหากจากหมอขวัญ หลังจากเสร็จพิธีทำขวัญนาค ผมเปลี่ยนชุดเป็นนักแสดงขึ้นเวทีโต้เพลงกับพวกเขาได้เลย

                                                                                                                                                

            ในความรู้สึกตอนที่เริ่มต้นการแสดงใหม่ ๆ ผมจะรู้สึกธรรมดา ไม่ตื่นเต้นหรือตกประหม่าแต่อย่างใดทั้งนี้เพระผมผ่านงานแสดง (มีประสบการณ์) ในการร้องเพลงเชียร์รำวง เล่นลิเก ประกวดร้องเพลง เล่นเพลงพื้นบ้าน และชนะเลิศประกวดเพลงอีแซวของจังหวัดมาแล้ว ถึงตรงนี้ขอเล่าถึงเรื่องวันประกวดเพลงอีแซวของจังหวัดสุพรรณบุรีเมื่อ 6 เมษายน 2525 (มีภาพเหลืออยู่ 8 ภาพ จะนำมาประกอบในตอนที่ 2 นี้) วันนั้น ฝนตกตั้งแต่ 18.00 น. จนถึงเวลา 20.00 น. ฝนยังไม่ยอมหยุดตก อากาศก็เย็น บนเวทีมีน้ำเจิ่งนอง พื้นเวทีลื่นยืนเท้าไม่แน่นลื่นไถล เซถลากันหลายวง คืนนั้นผมสวมเสื้อคอกลมสีเหลืองลายดอกไม้ นุ่งโจงกระเบนสีเขียวอ่อน และคาดเอวด้วยผ้าสีเหลือง วงเพลงอีแซวของอำเภอดอนเจดีย์ขึ้นเวทีเป็นคณะที่ 5 ประมาณ 22.00 น. มีผู้แสดง 7 คน ใช้กลองทอมให้จังหวะ มือฉิ่ง และกรับยืนเล่นเป็นลูกคู่ ผู้แสดงประกอบรำทำท่าทางตามถนัด คืนนี้ไม่ค่อยมั่นใจประหม่าเวที (กลัวหกล้มมาก) ผมจับสลากได้เนื้อหายุครัชกาลที่ 8 และ 9 โดยผู้แสดงนำจะต้องด้นกลอนสดตามหัวข้อเรื่องที่ได้รับ ส่วนผู้แสดงประกอบร้องเนื้อหาอะไรก็ได้ เวลาแสดง 30 นาที และผลการประกวดคณะเพลงของอำเภอดอนเจดีย์ได้รับถ้วยรางวัลชนะเลิศ

                            

สำหรับการเล่นกลอนสด ต้องดูว่าโอกาสอำนวยให้มากน้อยเพียงใดทั้งนี้เพราะว่าแต่ละคนมีความสามารถไม่เท่ากันจะต้องประคับประคองให้ไปด้วยกันได้ อาศัยคอยแทรกเวลามีจังหวะว่างจากบทโต้ที่นักเพลงเขาต่อกลอนกัน แต่ถึงตอนติดขัด เราก็สวมไปเลย แล้วหยอดลงด้วยกลอนเดิม ทั้งนี้เพราะกลอนสดใช้อักขระวจีที่ลอยมาในอากาศเป็นคำสด ๆ ออกมาเล่น จึงมีข้อจำกัดในการนำเสนอ ร่วมกับผู้แสดงอื่น ๆ ที่เขาเล่นไม่ได้  สำหรับกลอนเพลงที่ท่องจำมาก็มีข้อดีคือ เป็นเนื้อหาที่ประดิษฐ์ตกแต่งมาแล้ว จะมีความไพเราะ เสนาะกินใจมากกว่า แต่เล่นได้ไม่นานกลอนก็หมดและที่สำคัญคนที่ตามดูเราจะได้ยินได้ฟังซ้ำซาก เล่นเหมือนเดิมหลายงาน (ขาดเสน่ห์ในการแสดง)

                                                     

                                                          

ตัวอย่างบทเพลงอีแซว (หาฟังเสียงสด ๆ โดยผมและลูกศิษย์อีก 2 คนร้องเอาไว้) ในเว็บไซท์ Nairobroo.com -สุพรรณบุรี กับเพลงพื้นบ้าน : www.nairobroo.com/76/modules.php

                                                             

                 เอ๊ย.. ขอลาท่าน วันนี้    คงจะมี  วันหน้า

              ให้วงเพลง ได้มา            แสดง ใหม่

              ถ้าจะให้ เชื่อมั่น            นัดกันไว้  เสียก่อน

              จะได้นั่ง ได้นอน            คอยนับ  วันไว้

              ซาบซึ้ง  ในน้ำใจ           ที่ท่านได้  เกื้อหนุน

              ขอกราบขอบพระคุณ     ท่านผู้ชม  ทั้งหลาย

              เพลงอีแซว สุพรรณ       จากบรรหารฯ หนึ่ง

              จะขอ ตราตรึง              ความทรง จำไว้

              ไม่ว่าจะนาน แค่ไหน      พวกเราจะไม่  เปลี่ยนแนว

              จะขอร้อง เพลงอีแซว     ไปจน วันตาย  

              เสียงที่สั่น เครือ ๆ         เจือ น้ำตา

              เสียดายความ กรุณา      ที่ มอบให้

              ขอปิด บันทึก               ปิดม่าน กั้นเวที  (เอิง เงอ เอ๊ย)  กั้นเวที

              เหลือแต่แสง ริบหรี่      ของดวงดาว ประดับใจ (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) ประดับใจ

                                     

                                             

                                             (พบกันในตอนที่ 3  ชำเลือง มณีวงษ์ / เพลงฉ่อย)

หมายเลขบันทึก: 96439เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2007 19:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท