การเปลี่ยนแปลงการบริหาร (3)


ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงการบริหาร  นอกจากจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวการณ์  และวิวัฒนาการแล้ว  การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่งเกิดจากการพัฒนาของศาสตร์บริหารที่ต้องสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในศาสตร์บริหารเอง  และศาสตร์ที่สัมพันธ์กันด้วย

สำหรับการเปลี่ยนแปลงภายในตัวของศาสตร์บริหารนั้น  ผมได้เกริ่นตั้งแต่ต้นว่า  ศาสตร์  คือความรู้  คือทฤษฎี  ที่เกิดจากการทดลองการกระทำซ้ำๆ  จนพบว่าดี  ก็มากำหนดเป็นหลักเกณฑ์  เป็นทฤษฎี  และเมื่อใช้ทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งแล้วพบว่ามีจุดอ่อน  มีสิ่งที่ควรแก้ไขหรือเติมเต็ม  หรือทำตรงกันข้าม  ผู้ใช้ทฤษฎีนั้นๆ ก็กำหนดทฤษฎีใหม่ขึ้นมา 

ด้วยความเชื่อข้างต้น  ผมจึงตั้งสมมติฐานว่า  ทฤษฎีที่เกิดใหม่ (เกิดภายหลัง) ดีกว่าทฤษฎีเก่า (เกิดก่อน)  ซึ่งผมทดลองพิสูจน์ความเชื่อของผม  โดยการวิเคราะห์ทฤษฎี 2 ทฤษฎี  เป็นตัวอย่างดังนี้

การบริหารยุควิทยาศาสตร์ (ค.ศ. 1970 -1935)

Henry Fayol (อังรี  ฟาโยล) (1930) นักธุรกิจชาวฝรั่งเศส  เสนอแนวคิดว่าการบริหารมีหน้าที่ (charge)  5  ประการ  ดังนี้
      1.  Planning (การวางแผน) การกำหนดทิศทางขององค์กร  เป้าหมาย  และแผนงาน
      2.  Organizing  (การจัดองค์กร)  การจัดโครงสร้างและทรัพยากร  ฯลฯ
      3.  Commanding  (การบังคับบัญชา)  การใช้อำนาจการบริหารเพื่อประสิทธิภาพ
      4.  Co ordinating  (การประสานงาน)  การสั่งการ  การทำความเข้าใจ  การจูงใจ  ฯลฯ
      5.  Controlling (การควบคุม)  การติดตามผลการปฏิบัติงาน  การแก้ไข  การปรับปรุง

Luther Gulick & Lyndall Urwick (ลูเธอร์  กูลิค  และลินดอล  เออร์วิค) (1937)  ได้กำหนดแนวคิดการบริหารเป็นหน้าที่ (functions) หรือกิจกรรม (activities)  7 ประการ  ดังนี้
      1.  Planning (การวางแผน)  การกำหนดทิศทางขององค์กร  เป้าหมาย  และแผนงาน
      2.  Organizing  (การจัดองค์กร)  การจัดโครงสร้างและทรัพยากร  ฯลฯ
      3.  Staffing  (การจัดคนเข้าทำงาน)  การจัดหา  พัฒนา  ธำรงรักษาทรัพยากรบุคคล
      4.  Directing  (การกำกับงาน)  การให้คำแนะนำ  การชี้แจง  กำกับ
      5.  Co ordinating  (การประสานงาน)  การสั่งการ  การทำความเข้าใจ  การจูงใจ  ฯลฯ
      6.  Reporting (การรายงาน)  การบันทึก  ติดตามงาน  การปรับแก้ไข
      7.  Budgeting (การงบประมาณ)  การบริหารจัดการการเงิน  การควบคุมตรวจสอบ

จากการวิเคราะห์ความเหมือน  จะพบว่าทั้ง 2 ทฤษฎีข้างต้นมีความเหมือนกัน 3 กิจกรรม  คือ  Planning, Organizing และ Co-ordinating  แสดงว่า 3 กิจกรรมนี้  มีความสำคัญต่อการบริหาร  ดังนั้น  ทฤษฎีที่เกิดภายหลังคือ POSCORB จึงคงไว้ทั้ง 3 กิจกรรม

มี 2 กิจกรรมของทฤษฎีเดิม (Henry Fayol) ที่ขาดหายไป  คือ Commanding และ Controlling  หากวิเคราะห์แนวโน้มของการบริหารที่เริ่มคลี่คลายไปสู่การคิดถึงมนุษยสัมพันธ์ (Human Relation) คือ  คนและสิ่งแวดล้อม  จะพบว่า Commanding  (การบังคับบัญชา)  และ Controlling (การควบคุม)  แข็งเกินไป  มนุษย์ทั่วไปไม่ชอบให้มีการบังคับบัญชาและควบคุม  จึงน่าจะคลี่คลายไปสู่ทฤษฎีของ POSCORB คือ  Directing การกำกับงาน  การชี้แนะ 

หากการวิเคราะห์ของผมถูกต้อง  Commanding และ Controlling  ไม่ได้หายไปไหน  แต่นำไปปรับปรุงให้เหมาะสมกับการบริหารคน  โดยการทำให้อ่อนตัวลง  คือ  Directing  ซึ่งน่าจะมีผลดีมากกว่า

มีอีก 3 กิจกรรมที่เพิ่มเข้ามา  จะเห็นว่ามี 1 กิจกรรม  ที่สอดคล้องกับแนวโน้มการบริหารสู่ยุคมนุษยสัมพันธ์  คือ  Staffing  การจัดคนเข้าทำงานที่เน้นความเหมาะสมและคุณสมบัติของคน  เช่นเดียวกันกับแนวคิดของ Frederic W Talor  (1910) ที่กำหนดแนวคิดการบริหาร Put the right man to the right job

เหลืออีก 2 กิจกรรม  ที่เพิ่มเข้ามาอย่างอิสระคือ  Reporting กับ Budgeting ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทฤษฎีที่เกิดขึ้นภายหลังหลายทฤษฎีนำไปกำหนดไว้  เนื่องจากการจดบันทึก  การรายงาน  จะเป็นหลักฐานของการบริหาร  เพื่อการตรวจสอบภายหลัง  แต่ทฤษฎีที่เกิดภายหลังมีการปรับปรุงให้เข้มข้นขึ้นเป็น Evaluation (การวัดผล) และ Approaching (การประเมิน)  จนถึงทฤษฎี Demming Cycle คือ Check (ตรวจสอบ)

ที่ค่อนข้างโดดเด่นคือ  Budgeting ที่มีความสำคัญต่อการบริหารอย่างมาก  หากไม่วางแผนการใช้เงิน  และควบคุมตรวจสอบ  หรือการคำนึงถึงการงบประมาณแล้ว  การบริหารมีปัญหาแน่นอน  แต่ที่ผมแปลกใจคือ  ทำไมเงิน (งบประมาณ) จึงไปอยู่ขั้นตอนสุดท้าย  หากการบริหารตามแนวคิดนี้ที่ตำราหลายๆ เล่มกำหนด  เป็นกระบวนการบริหารก็น่าจะสายเกินไป

ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ศ.เกียรติคุณ ดร.พนัส  หันนาคินทร์  ท่านบอกว่าผมก็แปลกใจ  เลยไปค้นหาคำตอบว่า POSCORB คืออะไร?  พบว่า  เขาเขียนว่าอย่างนี้ครับ

"POSCORB is made up of the initials and stand for the activities, a made up word designed to call attention to the various functional elements of the work of a chief executive."

เมื่อเป็นกิจกรรม (activities) หรือเป็นหน้าที่ (functions)  จะใส่ไว้ตรงไหนก็ไม่แปลกใช่ไหมครับ  เช่น  การวางแผน  ก็ต้องคิดถึงกิจกรรมหรือหน้าที่ทั้งหมดของการบริหาร

การวางแผนจึงเป็นหัวใจสำคัญของการบริหาร  ข้อสำคัญอย่าให้ Planning เป็น แผนนิ่ง  ก็แล้วกันครับ

หมายเลขบันทึก: 96109เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2007 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แจ๋วดี... คลื่นสี่ คงเหมือนเรื่อง wall e มั้งขอรับ เหมือนลูกแรก+เทคโนฯ+ศกพ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท