การเปลี่ยนแปลงการบริหาร (Managing Change)


การบริหารเป็นทั้งศาสตร์ และศิลปะ

อะไรคือความแตกต่างระหว่างการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) กับการเปลี่ยนแปลงการบริหาร (Managing Change) คล้ายกันจนแทบแยกไม่ออกสำหรับ 2 คำนี้

คำว่าแทบแยกไม่ออก  แปลว่า แยกออกยาก
แต่ก็แยกออก  ใช่ไหม?
ลองแยกดูนะครับ

การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) น่าจะหมายถึง  เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น  จะบริหารอย่างไร?

มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง?

1.  การเปลี่ยนแปลงภายนอกองค์กร  อาทิ
     1.1  การเปลี่ยนแปลงของโลก  Alvin Toffler เขียนไว้ในหนังสือ คลื่นลูกที่สาม (The Third Wave) ว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลง  ดังนี้
     คลื่นลูกที่หนึ่ง (The First Wave) โลกยุคสังคมเกษตรกรรม  เริ่มเมื่อหมื่นกว่าปีก่อน  ค.ศ. 1650
     คลื่นลูกที่สอง (The Second Wave) โลกยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม  เกิดขึ้นเมื่อราวปี ค.ศ. 1650-1955  เป็นยุคอุตสาหกรรมเฟื่องฟู
     คลื่นลูกที่สาม (The Third Wave)  ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ยุคแห่งคอมพิวเตอร์  เครื่องบินเจ็ท  ยาเม็ดคุมกำเนิด  ฯลฯ  เมื่อราวปี ค.ศ. 1955-ปัจจุบัน
     1.2  การเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย  ดร.สุรเกียรติ์  เสถียรไทย  กล่าวสรุปการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย  ในปาฐกถาพิเศษเรื่อง “กฎหมายเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับสังคมไทยในอนาคต”  เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2541  ไว้ดังนี้
           1)  ต่างชาติจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในภาคการเงิน  การบริการ  การผลิต  เศรษฐกิจไทยจะมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น
           2)  เป็นสังคมที่เน้นประชาธิปไตยมากขึ้น  สังคมเห็นความสำคัญของการพัฒนาการเมืองยิ่งขึ้น
           3)  ชุมชนจะมีความสำคัญมากขึ้น  ในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน  หรือเศรษฐกิจพอเพียง
           4)  ต่างชาติและองค์กรระหว่างประเทศจะเพิ่มแรงกดดันประเทศไทยมากขึ้น  ทั้งองค์การค้าโลก  และกลุ่มเอ็นจีโอ
           5)  มีการแข่งขันทางธุรกิจมากขึ้น  ต่างชาติที่มีทั้งกำลังทุน  การจัดการและเทคโนโลยีจะเข้ามาดำเนินการธุรกิจทั้งภาคอุตสาหกรรม  และบริหาร

การเปลี่ยนแปลงภายนอกองค์กรข้างต้น  ที่ต้องบริหารการเปลี่ยนแปลง  (Change Management)  ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการบริหาร (Managing Change) ด้วย

2.  การเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร
     มีการเปลี่ยนแปลงองค์กรภายในเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงภายนอก  เช่น  การพัฒนาองค์กรด้วยการปรับปรุงคุณภาพ  เปลี่ยนโครงสร้างองค์กร  การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้  มีการดำเนินการที่ทันกับกระแสโลก ฯลฯ

การเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรข้างต้น  จำเป็นต้องบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการบริหาร (Managing Change) ด้วย

การเปลี่ยนแปลงการบริหาร (Managing Change)   นอกจากจะต้องเปลี่ยนแปลงการบริหารไปตามกระแสที่เกิดขึ้นทั้งกระแสโลก  ประเทศไทย  และภายในองค์กรแล้ว  ตัวศาสตร์ของการบริหารก็จะต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กันด้วย  เพื่อให้การบริหารเกิดประสิทธิภาพ  และมีประสิทธิผลสูงสุด

นั่นคือ  มีการพัฒนาทฤษฎีบริหารต่างๆ ให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลง

ผมสงสัยมานานแล้ว  ว่าทำไมโลกนี้จึงมีทฤษฎีเยอะเหลือเกิน  ถ้าเรามีทฤษฎีน้อยกว่านี้  โดยเฉพาะทฤษฎีบริหาร  โลกก็คงไม่วุ่นวายมากขนาดนี้

แล้ว ทฤษฎีคืออะไรล่ะ?  นี่คือคำถาม  คำถามที่ต้องพึ่งพจนานุกรมอีกแล้วครับท่าน

“ทฤษฎี” หมายถึง  ลักษณะที่คิดคาดเอาตามหลักวิชา  เพื่อเสริมเหตุผลและรากฐานให้แก่ปรากฏการณ์หรือข้อมูลในภาคปฏิบัติ  ซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างมีระเบียบ

ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ เช่น  การบริหารจัดการน่าจะเกิดจากการทดลองกระทำซ้ำๆ จนเห็นว่าดี มีความเหมาะสม  และเกิดประโยชน์  อธิบายได้  จึงกำหนดเป็น “ทฤษฎี” ให้เป็นหลักวิชา  และเมื่อนำทฤษฎีดังกล่าวไปปฏิบัติซ้ำๆ แล้ว  อาจพบว่ายังมีจุดบกพร่อง  ยังขาดประสิทธิภาพ  ผู้นำทฤษฎีไปใช้ก็จะกำหนดทฤษฎีใหม่ขึ้นมา  ซึ่งอาจเป็นการปรับปรุงข้อบกพร่อง  หรือเป็นทฤษฎีตรงกันข้าม  ดังนั้นจึงมีทฤษฎีเกิดขึ้นใหม่เรื่อยๆ และมากมาย

การบริหารเป็นทั้งศาสตร์  และศิลปะ  ศาสตร์ คือ  เป็นระบบวิชาความรู้  มีทฤษฎี  มีเหตุมีผล  มีระบบ  ฯลฯ  ส่วนศิลปะ คือ  ฝีมือ  ซึ่งอาจเกิดจากประสบการณ์  ทักษะ  การเรียนรู้  ฯลฯ  การบริหารจึงต้องใช้ทั้งความรู้และฝีมือ

มีความรู้แต่ไม่มีฝีมือ  ไม่ประสบความสำเร็จในการบริหาร

มีฝีมือแต่ไม่มีความรู้  บริหารไม่ประสบความสำเร็จ

มีทั้งความรู้และฝีมือ  อาจประสบความสำเร็จ  แต่อย่าชะล่าใจ

หมายเลขบันทึก: 95591เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2007 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • ขอบคุณท่านคณบดี ผมเคยอ่านมาหนังสืออัศวินคลื่นลูกที่สามบ้าง จะรับมือคลื่นลูกที่สามได้อย่างไรบ้าง บางเล่มเขียนไปถึงคลื่นลูกสี่ ที่ห้า ที่หก ก็เลยพอเข้าใจ(บ้าง)ว่าคลื่นแต่ละลูกนั้นเป็นอย่างไร
  • แต่ผลกระทบที่ตามมาเป็นอย่างไรนั้น ยังไม่ค่อยได้สนใจ (อาจใฝ่รู้น้อยไป) พอดีอาจารย์มาเขียนจึงได้พิจารณา
  • ขอบคุณครับ

บีเวอร์

เราเรียนรู้อดีต เพื่อเข้าใจปัจจุบัน และมองอนาคต

บีเวอร์ ลองเดาดูว่า คลื่นลูกที่สี่ ควรเป็นอะไร?

  • ยุคหุ่นยนต์ (มองอนาคตของเทคโนโลยี)
  • ยุคเศรษฐกิจพอเพียง (เข้าใจคลื่นทั้งสามลูก แล้วประยุกต์ความรู้ที่หลากหลาย)
  • ฯลฯ

ขอให้บีเวอร์โชคดี

  • เดาแล้วครับ แต่มันไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่ และกังวลว่าคงต้องรอถึงลูกที่หก กว่าบ้านเมืองจะวนกลับมาสงบสุขอีกครัง
  • ขอบคุณอาจารย์มากครับ แล้วจะมาเรียนปรึกษาใหม่
คลื่นลูกที่เท่าไหร่

เรียนท่าน รองศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ นพรัก

ผมคิดถึง การตื่นตัวของชาวโลก ในเรื่องของมลภาวะที่เป็นพิษ รวมทั้งสารพิษ สารก่อ

มะเร็ง ที่ปนเปื้อนในอาหาร โดยเฉพาะในอาหาร

จะถือกำเนิดอาหารเม็ดที่สะอาดบริสุทธิ์ และมีโภชนาการทางอาหารครบครัน

และในที่สุดศิลปะการทำอาหาร จะสิ้นสลายไป

ขอร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยคนนะครับ

ชยานนท์ คุมมานนท์

เรียนคุณครูที่เคารพ (รศ.ดร สมบัติ นพรัก)

ดิฉันขอขอบพระคุณ คุณครูอย่างสูงค่ะ ที่ได้เขียนบทความอันทรงคุณค่าให้กับนิสิตได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท