AAR การประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 6 (3)


AAR การประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ  ครั้งที่ 6 (3)

         ผมได้ลงบันทึกเรื่องนี้ไปแล้ว 2 ครั้ง  คือ ครั้งที่ 1 (click), ครั้งที่ 2 (click)  บันทึกนี้เป็นครั้งที่ 3 และเป็นตอนจบ   โดยจะเล่าเรื่องการนำเสนอผลงานทางวิชาการในหัวข้อเกี่ยวกับ "โลก  รัฐ  ท้องถิ่น  ในศตวรรษที่ 21 : การบริหารจัดการในยุคสังคมฐานความรู้"   โดยมีบทบาทนำเสนอตามห้วข้อที่ได้เล่าแล้ว (click)

         ผศ. ไพรัช  ตระการศิรินันท์  เป็นประธานการประชุมในห้องนี้   ซึ่งตามกำหนดการเป็นช่วงเวลา 15.00 - 16.30 น.   แต่เอาเข้าจริงการประชุมเลิกเวลา 17.50 น.

     - ในภาพใหญ่และเชิงสาระ   ผลงานวิชาการทั้ง 3 หัวข้อเป็นหัวข้อที่ดีมาก   ทั้ง 3 หัวข้อนำไปสู่ประเด็นเชิงนโยบายสาธารณะ   ว่าด้วย (1) ศาสตร์ด้านการศึกษานโยบายสาธารณะ   อันได้แก่ Policy Network Analysis,  Historical Institutionalism และอื่น ๆ   (2) นโยบายสาธารณะว่าด้วยการศึกษาระดับอุดมศึกษาของคนไทยมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้   และ (3) นโยบายสาธารณะว่าด้วยบทบาทของภาครัฐในการสนับสนุนธุรกิจชุมชน
     - ผลงานวิชาการทั้ง 3 หัวข้อ   ได้ข้อสรุปที่ดี  เป็นประโยชน์   เป็นความรู้ที่ดีในระดับที่เรียกว่า "ความรู้ทั่วไป"   แต่เมื่อเอาประเด็นของความแม่นยำทางวิชาการมาจับ   ทั้ง 3 เรื่องมีจุดอ่อนคล้าย ๆ กัน   คืออ่อนด้าน methodology ที่จะทำให้ข้อสรุปมีหลักฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือสนับสนุน
     - เรื่องโรงสีชุมชนที่เป็นวิทยานิพนธ์ของคุณสุนัย  จุลพงศธร  มีข้อสรุป 7 ข้อและข้อเสนอแนะ 6 ข้อที่ชัดเจนงดงามมาก   และรัฐบาลควรเอาไปใช้ประโยชน์เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผลงานของรัฐบาลและต่อชาวบ้าน/ชุมชน   แต่มีข้อแปลก 2 ข้อ
          (1) คุณสุนัยบอกว่าตนเองไม่กล้าเสนอเรื่องนี้ในพรรคไทยรักไทย   ฟังดูแปลก ๆ นะครับ
          (2) ข้อสรุปกับหลักฐานสนับสนุนไม่เชื่อมกัน   คือต่างส่วนต่างอยู่   ซึ่งแปลกมาก   ผมเดาว่าเป็นการสังเคราะห์ด้วยความชำนาญในฐานะนักการเมือง   แต่พอเอามาแยกแยะขั้นตอนทางวิชาการก็จะรู้สึกว่ายังหลวมมาก

          

            คุณสุนัย  จุลพงศธร                           รศ. ศรุติ  สกุลรัตน์


     - รศ. ศรุติ  สกุลรัตน์  ผอ. วิทยาลัยบริหารรัฐกิจ  ม.บูรพา ([email protected]) และ อ. รชตะ  จันทร์น้อย ทีมงานวิจัยได้อ่านคำวิจารณ์ของผมแล้ว   จึงเตรียมเอกสารผลงานวิจัยฉบับเต็มเรื่อง "การศึกษาต่อต่างประเทศของนักศึกษาไทยมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้" มามอบให้ผม 1 ชุด (ขอขอบคุณมากครับ) และบอกว่าโครงการนี้มีเวลาวิจัยสั้นมาก   ผมจำได้ไม่ชัดว่า 3 เดือนหรือกี่เดือน   และทุนวิจัยก็น้อยมาก   ผมขอแนะนำให้ทีมวิจัยกลับไปหากระทรวงการต่างประเทศเจ้าของทุนเจ้าเดิม  เพื่อขายความคิดว่าควรขยายโครงการออกไปตอบคำถามอะไรบ้างในเชิงนโยบาย

                                        

              ผศ. ไพรัช ตระการศิรินนท์ (กลาง), ผศ. ธันยวัฒน์ รัตนสัค (ขวา),

                                   และ อ. รชตะ จันทร์น้อย (ขวา)

         นอกจากเล่าเรื่องการเสนอผลงานด้านการบริหารจัดการในยุคสังคมฐานความรู้แล้ว   ขอบันทึกนำเสนอแนวคิดวิธีการจัดการการประชุมวิชาการแบบนี้ในภาพรวม   ซึ่งผมได้เสนอเป็นการส่วนตัวต่อ ศ. ดร. ติน ปรัชญพฤทธิ์ และ ศ. ดร. ศุภชัย  ยาวะประภาษแล้ว   คือ (1) ควรจะใช้นักศึกษาระดับปริญญาเอก - โท ที่ทำวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์มาเป็นตัวชูโรง   (2) ใช้บล็อกเป็นเครื่องมือให้เกิดการเผยแพร่และ ลปรร. โครงการ/ผลงานวิจัยด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ตลอดปี   นำไปสู่การคัดเลือกนักศึกษาที่ได้รับ scholarship เข้านำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการ

         วิธีการคือ  เปิดชุมชนบล็อก "การวิจัยด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์" ขึ้น   ให้นักศึกษาเข้าไปเขียนบล็อก ลปรร. กัน   และให้อาจารย์เข้าไปให้ความเห็นหรือชักชวนนักศึกษาที่มีหน่วยก้านดีเข้าร่วมทีมวิจัย   รวมทั้งให้คณะกรรมการจัดการประชุมวิชาการเข้าไปดูสถานการณ์การวิจัยด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์   สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการคิด theme ของการประชุมแต่ละปี   แล้วประกาศให้รู้กันภายในชุมชนบล็อก   ประกาศให้ นศ. ส่งบทคัดย่อผลงานของตนความยาวไม่เกิน 5 หน้า   เพื่อคัดเลือกให้  scholarship มานำเสนอผลงาน    scholarship ควรประกอบด้วย  (1) ค่าเดินทาง   (2) ค่าที่พักระหว่างประชุม   (3) ค่าลงทะเบียน   สิ่งที่นักศึกษาจะได้รับคือ (ก) comment จากผู้ฟังและผู้วิพากษ์   (ข) ได้เปิดตัวต่อแวดวงวิชาการ

วิจารณ์  พานิช
 9 ธ.ค.48

หมายเลขบันทึก: 9510เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2005 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 05:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท