จับภาพ KM กรมอุตุนิยมวิทยา


นี่เองที่เป็นความยั่งยืน หลังจากที่กระบวนการ “การจัดการความรู้” ได้หยั่งรากลงไปที่สำนักพยากรณ์อากาศ เป็นวิถีวัฒนธรรมที่พวกเขาสร้างขึ้นมาใหม่ร่วมกัน

ประวัติคววามเป็นมา

            เมื่อปีพ.ศ. 2443นายพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เป็นผู้ก่อตั้งกรมอุตุนิยมวิทยาไทย ขึ้น และเริ่มดำเนินงานครั้งแรกในกรมทดน้ำ กระทรวงเกษตราธิการเมื่อปี 2466 เป็นการโอนย้ายข้าราชการทหารเรือมาสังกัดในส่วนนี้ทั้งหมด และต่อมาปลายปีได้จัดตั้งเป็นแผนกอุตุนิยมศาสตร์ และสถิติกองรักษาน้ำ กรมทดน้ำ ได้รับการยกฐานะเป็นกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2485 และเคยได้รับย้ายโอนไปสังกัดหลายกระทรวง ทั้งสำนักนายกรัฐมนตรี, กระทรวงคมนาคม และล่าสุด โอนมาสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

การจัดการความรู้

            กรมอุตุนิยมวิทยา มีวัฒนธรรมในการถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์อันเกิดจากกระบวนการทำงานและการพยากรณ์ตั้งแต่ยุคแรกซึ่งข้าราชการทั้งหมดล้วนเป็นทหารเรือ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ และชำนาญการในการพยากรณ์อากาศ อันเกิดจากการศึกษาและการพยากรณ์เพื่อการรบ การถ่ายทอดความรู้เป็นแบบรุ่นพี่สอนรุ่นน้อง แต่ในระยะต่อมา เมื่อข้าราชทหารทยอยเกษียณอายุราชการออกไป บุคคลากในกรมอุตุนิยมวิทยายุคใหม่ จึงเริ่มมีบัณฑิตที่ผ่านการสอบคัดเลือกเข้ามาเป็นข้าราชการพลเรือน ในสังกัดกรมอุตุนิยมวิทยา กระทั่งปัจจุบันข้าราชการทหารเรือได้เกษียณอายุราชการออกไปทั้งหมด ตลอดระยะเวลาเปลี่ยนผ่านจากข้าราชการทหารเรือเป็นข้าราชการพลเรือนเต็มร้อย แม้ความรู้ประสบการณ์จะถูกถ่ายทอดจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง แต่ก็ยังพบว่า มีความรู้ฝังลึกบางส่วนที่ตกหล่นไปพร้อมๆ กับการเกษียณอายุราชการไปของทหารเรือเก่า

                การตระหนักถึงคุณค่าแห่งความรู้อันเป็นประสบการณ์ตรงที่เกิดจากการทำงานและหามิได้จากในตำราหรือห้องเรียนใดๆ นี้เอง ทำให้กรมอุตุนิยมวิทยา หันมาให้ความสำคัญกับความรู้ที่ฝังแน่นอยู่ในตัวบุคคล ที่สำคัญเอกสารทางวิชาการเพื่อการอบรม และเป็นคู่มือในการปฏิบัติงานของข้าราชการกรมอุตุนิยมวิทยานั้น ก็เป็นตำราต่างประเทศ ไม่มีตำราที่เป็นของไทยเอง ดังนั้นความรู้ที่จะมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน จึงต้องอาศัยความรู้ประสบการณ์ตรงจากการลงมือปฏิบัติจริงเป็นสำคัญ กรมอุตุนิยมวิทยาจึง พยายามคิดหากระบวนการในการดึงเอาความรู้ออกจากผู้ปฏิบัติงานโดยหวังว่า ในอนาคตกรมอุตุจะต้องมีตำราในการพยากรณ์อากาศที่เหมาะสมกับประเทศไทยในที่สุด

                กระทั่งปี พ.ศ. 2548 กรมอุตุเริ่มดำเนินการ การจัดการความรู้ ตามนโยบายของสำนักงานพัฒนาระบบข้าราชการ หรือ (กพร.) โดยมีการตั้งคณะทำงานKM ขึ้นมาโดยม่ นายต่อศักดิ์  วานิชขจร รองอธิบดีด้านวิชาการ เป็นประธานคณะทำงาน โดยมีสำนักเฝ้าระวังและเตือนสภาวะอากาศ เป็นศูนย์นำร่อง

                ในปี 2549 กรมอุตุนิยมวิทยาได้เริ่มนำกระบวนการการจัดการความรู้ไปใช้กับงานในส่วนของ สำนักพยากรณ์อากาศ ในเรื่องการตรวจอุตุนิยมวิทยา เป็นหน่วยงานแรก ซึ่งประกอบด้วย ชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Communities of Practice:CoP) 5 ชุมชน ได้แก่ เรื่องเทคนิคการพยากรณ์ฝนจากอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ สมาชิกCoP ทั้งหมดล้วนมาจาก ความสมัครใจ ไม่บังคับให้เข้าเป็นสมาชิก CoP โดยมีคณะทำงาน KM ทำหน้า คุณอำนวย กระตุ้นหนุนเสริมให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ซึ่งตลอดทั้งปี 2549 สำนักพยายากรณ์อากาศได้ตั้งเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กันทุกๆ เดือน ในประเด็นต่างๆ 

                ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทุกครั้ง จะได้ความรู้เด็ดที่นำมาสรุปไว้บนระบบIntranet ซึ่งบุคคลากรในกรมอุตุนิยมวิทยาทุกคนสามารถเข้าไปอ่านและให้ความเห็นได้ในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับผู้เล่า

                และจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นการพยากรณ์อากาศ เมื่อปี 2549 นี้เอง ทำให้กรมอุตุนิยมวิทยา สามารถรวบรวมความรู้ประสบการณ์ของบุคคลากรออกมาเป็น ตำราเพื่อการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นเทคนิคในการวิเคราะห์เรื่องพายุหมุนเขตร้อน ซึ่งมีเทคนิคหลายๆ อย่างในการวิเคราะห์การเคลื่อนที่ของพายุ หรือการวิเคราะห์ตัวแปรต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้แต่เดิมกรมอุตุนิยมวิทยาอาจจะมีวิธีการวิเคราะห์ 1-2 อย่าง แต่เมื่อมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้วก็พบว่ามีเทคนิคดีๆ บางอย่างที่น่าจะนำมาวิเคราะห์ร่วม โดยเมื่อออกมาเป็นตำราแล้วก็จะแจกจ่ายไปยังศูนย์อุตุนิยมวิทยาในภูมิภาคต่างๆ เพื่อทดลองใช้ตำราอันเกิดจากการดึงความรู้ฝังลึกของผู้ปฏิบัติงาน เมื่อตำรานี้ถูกนำไปใช้จริงก็เท่ากับเป็นการตรวจทานความรู้จากตำรา ที่สามารถบอกได้ว่า นำมาใช้พยากรณ์ได้แม่นยำเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศที่มีความปรวนแปรสูงอย่างประเทศไทยได้หรือไม่ เพื่อพัฒนาปรับปรุงตำราให้ถูกต้องแม่นยำต่อๆ ไป

        

                ในปี 2550 แม้ว่าในส่วนของสำนักพยากรณ์อากาศ จะไม่ได้อยู่ในแผน KM ก็ตามแต่กระบวนการ การจัดการความรู้ ยังมีอยู่ให้เห็นในสำนัก เวทีที่เป็นทางการทุกๆ เดือนสลายไปเป็นเวทีอย่างไม่เป็นทางการใครมีความรู้ใหม่และว่างเมื่อใดก็จะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเป็นวงย่อยเล็กๆ ไม่ต้องแจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการ ในหน่วยย่อยลงไปเช่นนี้ ทำให้เห็นบทบาทของนายสมชาย ใบม่วง ผอ.สำนักพยากรณ์อากาศ ที่ทำหน้าที่เปรียบเสมือน คุณอำนวย ในสำนัก เมื่อมีประเด็นน่าสนใจ หรือมีใครไปเรียนรู้วิชาการใหม่ๆ มาก็จะนัดกันถ่ายทอดความรู้โดยมีผอ.สำนักทำหน้าที่กระตุ้น โดยใช้คำไม่เป็นทางการ เช่น ใครว่างบ้าง เรามาคุยกันหน่อยน่ะ

                ตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมก็คือ เมื่อมีผู้ไปเรียนรู้วิชาการพยากรณ์ใหม่ๆ จากต่างประเทศ โดยปกติเมื่อกลับมาแล้วผู้นั้นจะต้องมารายงานต่อกรมในที่ประชุมใหญ่ประจำเดือน ทุกครั้ง แต่หลังจากที่บุคคลากรในสำนักพยากรณ์อากาศ ได้เรียนรู้และลองปฏิบัติจริงทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ร่วมกัน จึงเปิดเวทีวงย่อยก่อนการนำเสนอต่อกรมในที่ประชุมใหญ่ ทั้งนี้เพื่อให้ทุกคนในสำนักฯ ได้เรียนรู้จากผู้ไปต่างประเทศก่อน อีกทั้งยังเป็นการสอบทานความเข้าใจของผู้ที่ไปศึกษามาจากต่างประเทศว่าความรู้ความเข้าใจที่ตนมีนั้น ถูกต้องหรือไม่ บรรยากาศเต็มไปด้วยความเป็นกัลยาณมิตร ล้อมวงเป็นวงเล็กๆ ยืนบ้าง นั่งบ้าง รับประทานไอศครีมกันไปเพื่อความผ่อนคลาย  บ้างก็แต่งกายลำลองเพราะออกจากเวณแล้ว แต่ก็มาเพราะเห็นว่าความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้ร่วมกัน

            นอกจากนี้สิ่งที่เปลี่ยนไปจากเดิมคือการจดบันทึก ที่หลายคนเริ่มมีสมุดส่วนตัวคอยจดประเด็นความรู้ที่เก็บได้จากการทำงานและการร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการ อีกด้วย                 นี่เองที่เป็นความยั่งยืน หลังจากที่กระบวนการ การจัดการความรู้ ได้หยั่งรากลงไปที่สำนักพยากรณ์อากาศ เป็นวิถีวัฒนธรรมที่พวกเขาสร้างขึ้นมาใหม่ร่วมกัน 

 ประเด็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในปี 2550                เป็นเรื่องสารประกอบทางอุตุนิยมวิทยาและการบำรุงรักษา มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นประจำทุกเดือน  แต่ละครั้งจะมีทีมเลขาฯ ของคณะทำงาน KM เข้าไปร่วมรับฟังและถอดความรู้ออกมาเพื่อสรุปใส่ไว้ในระบบIntranet เพื่อให้นักวิชาการและนักพยากรณ์ที่อยู่ตามศูนย์อุตุนิยมวิทยาและสถานีภาคพื้นต่างๆ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทุกๆ ครั้ง เป็นการเปิดกว้างและตรวจสอบความรู้ที่เกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ถูกต้องชัดเจนเป็นที่เข้าใจร่วมกันมากขึ้น  

รูปแบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อื่นๆ

                นอกจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่าน ระบบIntranet  เช่น กรณีของหน่วยงานสายสนับสนุนของกองการเจ้าหน้าที่ ที่ต้องรับผิดชอบในการเบิกจ่ายต่างๆ ของสถานีย่อยต่างๆ ซึ่งแต่เดิมเป็นภารกิจของศูนย์อุตุนิยมวิทยาประจำภาคต่างๆ เมื่อมีการโอนภารกิจไปให้ระดับสถานีได้รับผิดชอบในการเบิกจ่าย อาทิ พัสดุ และการเงิน เช่น ค่าเดินทาง ค่าเบี้ยเลี้ยง หรือค่ารักษาพยาบาล บางครั้งทำให้เกิดความสับสนและไม่เข้าใจกันบ้าง เนื่องจากไม่ใช่ภารกิจหลักของบุคคลากรในสถานีย่อย แต่ด้วยความที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ทำให้พวกเขาต้องเรียนรู้ขั้นตอนและกระบวนการซึ่งยุ่งยากพอสมควร ทั้งนี้เมื่อเกิดปัญหาติดขัดขึ้น พวกเขาก็จะเข้ามาในเว็บบอร์ด เพื่อตั้งกระทู้ถามเจ้าหน้าที่การเงินที่อยู่ประจำศูนย์อุตุนิยมวิทยาประภาคและส่วนกลาง ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิค และการทำงานอีกรูปแบบหนึ่งในส่วนของเจ้าหน้าที่สายสนับสนุนกองการเจ้าหน้าที่

                ที่สำคัญไม่กรมอุตุนิยมวิทยายังมีแนวคิดที่จะดึงเอาความรู้ประสบการณ์ที่ติดตัวไปกับครูทหารเรือที่เกษียณอายุราชการไปแล้วให้กลับมานั่งเป็นที่ปรึกษาและถ่ายทอดความรู้ให้กับข้าราชการนักวิชาการของกรมอุตุนิยมวิทยาในรุ่นปัจจุบันอีกด้วย 

 สิ่งที่ CKO ได้เรียนรู้ จากการจัดเวที             นายต่อศักดิ์ วานิชขจร รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวในฐานะที่เป็นประธานคณะทำงานจัดการความรู้กรมอุตุนิยมวิทยา ถึงสิ่งที่ตนได้เรียนรู้จากการนำการจัดการความรู้มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนางานและบุคคลากรว่า ตนได้เรียนรู้เทคนิคในการโน้มน้าวให้คนกล้าถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ภายในออกมา เพราะตนเชื่อว่า การจัดให้มีห้องสำหรับการให้คนมาคุยกันเรื่องานเท่านั้นยังไม่พอที่จะดึงความรู้ในตัวคนออกมาได้  แต่จะต้องสร้างความตระหนัก สร้างคุณค่าของความรู้ให้คนเกิดศรัทธาต่อกันและก่อน จึงจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพขึ้นได้                 รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวด้วยว่า เวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบวงย่อยๆ และไม่เป็นทางการนี้ช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลากรกรมอุตุนิยมวิทยาแน่นแฟ้นมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นเวทีวิชาการเท่านั้นแต่ยังเป็นวงพูดคุยที่กำลังเคลื่อนตัวไปสู่เวทีปรับทุกข์ แลกเปลี่ยนสุขทั้งที่บ้านและที่ทำงานอีกด้วย 

 คลังความรู้

                1.ระบบ Intranet

                                การจัดเก็บความรู้ของกรมอุตุนิยมวิทยา อยู่ในรูปของระบบIntranet ภายในกรม

                2.สมุดปูมหลัง

                                ซึ่งเป็นวิธีในการถ่ายทอดความรู้แบบหนึ่งของทหารเรือ ที่ยังหลงเหลือ ให้เห็นและปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน โดยระหว่างการผลัดเปลี่ยนเวณทุกๆ 8 ชั่วโมง ผู้ที่จะออกเวณจะต้องเขียนบันทึกรายงานสภาพอากาศที่น่าสนใจ และต้องจับตามองเป็นพิเศษ หรือกรณีมีปัญหาก็จะต้องบันทึกปัญหาหรือถ้าเป็นผู้รู้หรือเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ก็จะบันทึกขั้นตอนการแก้ไขปัญหาไว้อย่างชัดเจน ทำให้ผู้ที่รับช่วงต่อในการทำงานกะต่อไป มีความสะดวก และได้เรียนรู้จาก สมุดปูมหลังผ่านการถ่ายทอดเป็นลายลักษณ์อักษรอีกบุคคลากรรุ่นใหม่ๆ ยังสามารถค้นคว้า หาความรู้ได้จากสมุดปูมหลังนี้ได้อีกด้วย

                3.สารKM

                        เป็นดึงเอาความรู้ที่กระจัดกระจายอยู่ในระบบสารสนเทศของประเทศทั้งเว็บไซด์ บทความหนังสือพิมพ์ ตำรา ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพของบุคคลากรมารวมไว้และส่งไปตาม E-Mailของบุคคลากรกรมอุตุนิยมวิทยาทุกคน เป็นการกระตุ้นให้คนเข้ามาอ่าน 

                ประเด็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา กรมอุตุได้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของกรมทั้งในเรื่องการทำงานเป็นทีม และการสนุบสนุนการสร้างทีมวิชาการเพื่อทำงานวิจัย อาทิ เรื่องโลกร้อน น้ำท่วม ภัยแล้ง ภายใต้วิสัยทัศน์เดียวกันคือ เป็นองค์กรชำนาญการด้านอุตุนิยมวิทยาที่ประชาชนมีความพึงพอใจในบริการ พร้อมสนองตอบการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

(ขอสงวนสิทธิในการเผยแพร่ค่ะ ถ้าจะเอาไปเผยแพร่ต่อ บอกก่อนน่ะค่ะ )

หมายเลขบันทึก: 95051เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2007 18:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท