การฟังอย่างตั้งใจ


นักวิชาการด้านวาทนิเทศพบว่า ความล้มเหลวของการสื่อสารด้วยถ้อยคำ (Verbal communication) นั้น เกิดจากความล้มเหลวในการฟังมากที่สุด

นับวันก๊วนลูกศิษย์ของพระอาจารย์วิปัสนากรรมฐาน ที่ดิฉันร่วมวงศึกษาและปฏิบัติ ที่วัดจุฬามณี  จ.พิษณุโลก ก็ทยอยหดหายลงตามลำดับ จากประเดิม 50  กว่าคนในวันวิสาขบูชา เป็น 10 กว่าคนใน 2 - 3 อาทิตย์ถัดมา  และจากนั้นก็เหลือเพียง 5 คน ล่าสุดอาทิตย์ที่ผ่านมาเหลือเพียง 3 คน

ท่านอาจารย์วิปัสนาท่านนี้ยังหนุ่มแน่น ไม่ได้เป็นนักเทศน์ที่ฉกาจ  คำเทศนาของท่านคนทั่วไป (รวมดิฉันด้วย) อาจรู้สึกว่าไม่ค่อยรู้เรื่อง จะว่าง่ายก็ใช่ จะว่ายากก็ใช่  แต่หากฟังให้ดีจะทราบว่าเป็นการถ่ายทอด Tacit Knowledge โดยตรง ไม่ได้จำจากตำราหรือพระคัมภีร์มาสอน  ทุกเย็นวันอาทิตย์ เราจะเริ่มด้วยการสวดมนตร์แปล  ต่อด้วยการฟังธรรม ตามด้วยฝึกเดินจงกรม และฝึกนั่งสมาธิวิปัสนาตามลำดับ

มีบางครั้งเหมือนกัน ที่ท่านพยายามใช้เทคโนโลยีทันสมัย ด้วยการเตรียมบทเทศน์ด้วย Note Book แต่ดูเหมือนว่าจะไม่สำเร็จ เพราะท่านจะรู้สึกว่า มันไม่ใช่  มันไม่คล่องเท่าเทศน์แบบสดๆ ในที่สุดก็ต้องเก็บ Note Book กลับเข้ากุฏิตามระเบียบ     

ครั้งหนึ่ง ท่านเคยเขียนเรื่องปรัชญาให้อ่าน อ่านแล้วงงกว่าฟังอีกเป็น 100 เท่า (อ่านไม่รู้เรื่องเลย) แต่ไม่กล้าให้ความเห็นอย่างที่ใจคิด  ปกติดิฉันจึงก็ไม่ค่อยได้ถามอะไรท่านมากนัก เพราะรู้สึกว่า ถามทีไรท่านก็ตอบไม่ค่อยจะตรงประเด็น  ก็เลยได้แต่ฟังอย่างตั้งใจ

ดิฉันไม่เคยเห็นท่านอาจารย์แสดงออกถึงความรู้สึกผิดหวังใดใด  แม้เมื่อลูกศิษย์ลดน้อยลง  มีกี่คนท่านก็สอนอย่างตั้งอกตั้งใจทุกครั้ง  เมื่อคนน้อยลงท่านก็ยิ่งตั้งใจเทศน์ ตั้งใจสอนปฏิบัติ และประเมินผล  โดยการถามว่าเป็นยังไงบ้าง  ฝึกมาถึงวันนี้  รู้สึกอย่างไร  ระยะหลังเมื่อคนน้อยลง ดิฉันจึงมีโอกาสถามมากขึ้น  คราวนี้ ดิฉันค่อยๆ รู้สึกปิ๊งแว๊บจากคำตอบง่ายๆ ของท่านได้บ้าง ดิฉันถามว่า  การปฏิบัติเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จะทราบได้อย่างไรค่ะว่าเราไปถึงจุดที่เข้าใจแล้ว ถูกต้องแล้ว  พัฒนาแล้ว ท่านบอกว่าไม่มีใครทราบ  เราเองจะเป็นผู้ที่ทราบด้วยตนเอง (บอกแล้ว ไม่รู้เรื่องใช่มั้ย)  ถ้ารู้สึกว่าบังคับกาย  บังคับใจได้  นับว่าไม่พัฒนา  แต่ถ้ากำหนดรู้ได้เองโดยไม่ต้องบังคับ ตามรู้  ตามดู ให้ทัน  เท่านี้ถือได้ว่าพัฒนา  ถ้านั่งสมาธิได้รู้สึกสงบดี  และเป็นเช่นนี้ทุกครั้ง ถือว่าไม่พัฒนา  แต่ถ้ารู้ว่านั่งสมาธิทุกครั้ง จิตใจเปลี่ยนแปลงทุกครั้ง ถือว่าพัฒนาแล้ว  ดิฉันเองอธิบายไม่ได้แต่คิดว่าพอจะเริ่มเข้าใจบ้าง 

การฟังอย่างตั้งใจ  ดิฉันจึงคิดว่า เป็นเรื่องสำคัญมาก  นักวิชาการด้านวาทนิเทศพบว่า  ความล้มเหลวของการสื่อสารด้วยถ้อยคำ (Verbal communication) นั้น  เกิดจากความล้มเหลวในการฟังมากที่สุด  เปอร์เซ็นต์ของความล้มเหลวของการสื่อสารด้วยถ้อยคำของมนุษย์เรียงลำดับจากสูงสุดถึงต่ำสุดมีดังนี้ คือ

  • เกิดขึ้นจาก   การฟัง      42%
  • เกิดขึ้นจาก  การพูด      32%
  • เกิดขึ้นจาก  การอ่าน     15%
  • เกิดขึ้นจาก  การเขียน    11%


ในเรื่อง KM ระหว่างที่เราสร้างปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มด้วยการเล่าเรื่อง (Story telling) ผู้ฟังต้องฟังอย่างตั้งใจ (Deep Listening) ด้วย การฟังอย่างตั้งใจ ตามที่ดิฉันได้เรียนรู้จากกระบวนการ KM และจากประสบการณ์ต่างๆ ดิฉันพอจะประมวลได้ดังนี้

  1. ฟังอย่างตั้งใจ ไม่คิดหาคำตอบ ไม่ต้องตอบโต้  ไม่ตัดสินประเด็นความ ไม่ตัดสินผู้อื่น
  2. ฟังอย่างวิเคราะห์ เข้าให้ถึงเจตนาของผู้พูด จับประเด็นที่เป็นสาระหลัก (major idea) และสรุปเป็นความคิดรวบยอด (concept) ในเรื่องนั้นได้
  3. เคารพ ความแตกต่าง ให้ความเท่าเทียม ไม่เอาเรื่องคุณวุฒิวัยวุฒิ หรือตำแหน่งมาขวางกั้น
  4. หลีกเลี่ยง  การจับผิดผู้พูด  เช่นกิริยาท่าทางของผู้พูด  การแต่งกายของผู้พูด  หรือคอยจับผิดคำพูดบางคำของผู้พูด
  5. สนใจ  ให้เกียรติ ผู้พูด  ไม่ควรนั่งคุยกัน  หรือหันไปสนใจสิ่งอื่น  ขณะที่ผู้พูดกำลังพูด  ไม่ควรถามสอดขึ้นกลางคัน
  6. มีทัศนคติที่ดี  ต่อผู้พูด เพราะจะทำให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อเรื่องที่ผู้พูดพูดด้วยโดยปริยาย ทำให้ฟังได้อย่างราบรื่นและเข้าใจ
  7. ให้กำลังใจ แก่ผู้พูดตามสมควร  เช่น  แสดงความชื่นชมด้วยสีหน้า  แววตา เมื่อผู้พูดพูดได้อย่างน่าประทับใจ

เรื่อง ฟังให้เป็น เป็นเรื่องที่ดิฉันยังต้องฝึกฝนอีกมาก ดูอย่างง่ายๆ ก็คือ ลูกๆของดิฉันเอง มักจะบ่นว่า " ทำไมบางทีแม่ก็ถามซ้ำอยู่ได้  หนูเล่าให้ฟังหลายครั้งแล้วนะ  แม่ไม่ตั้งใจฟังหรือยังไง  ถามแล้วถามอีก ชักโมโหแล้วนะ  !!! "

ท่านมีเทคนิควิธีฟังอย่างตั้งใจ อย่างอื่นอีกบ้างไหมค่ะ ได้โปรดถ่ายทอดเป็นวิทยาทานด้วย 

คำสำคัญ (Tags): #การฟัง
หมายเลขบันทึก: 9485เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2005 21:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ขอบคุณค่ะ อ่านแล้วเตือนตัวเองได้หลายเรื่องเลยค่ะ 
การฟังอย่างตั้งใจ เป็นการฟังอย่างพินิจพิจารณา จะใช้คำว่า Critical Listening ได้ไหมครับ

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากป้าส้มและคุณหมอพิเชฐ  ดิฉันก็ว่าเพราะดีนะค่ะ Critical Listening ขอยืมไปใช้บ้างนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท