การประเมินที่มีรูปแบบ กับการประเมินไร้รูปแบบ


งานที่ควรทำ งานที่อยากทำ และงานที่ต้องทำ จริงๆแล้ว มันแยกกันชัดเจนเอง หรือเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำ มันจึงแยกจากกัน
การประเมินที่มีรูปแบบ กับการประเมินไร้รูปแบบ
การได้ลงไปดูและรับฟัง การดำเนินการพัฒนาการทำงานของ PCU และ CUP ภายใต้กรอบแนวคิดของ TQA ผมได้เรียนรู้เรื่องความแตกต่างของการมีประเมินที่มีรูปแบบ และการประเมินไร้รูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานประเมินครั้งนี้เป็นการประเมินตามแบบ TQA ซึ่งมีรูปแบบที่ค่อนข้างแน่นอน
ผู้ถูกประเมินต้องตอบคำถาม 88-90 ข้อ แล้วว่าจะใช้แบบประเมินตัวเอง ของ TQAฉบับกันเอง หรือ PMQA
ซึ่งมีรากเหง้ามาจาก Malcolm Baldrige National Quality Award ของอเมริกา
ถือเป็นความท้าทายส่วนตัวในการทำงานครั้งนี้
เนื่องการไปติดตามครั้งนี้ เป็นครั้งแรกของผม ผมเองไม่ได้เตรียมคำถามอะไรเลย
เตรียมใช้ญาณทัศนะอย่างเดียว
ส่วนท่านอื่นที่ร่วมไปในทีมเดียวกัน ก็มีการเตรียมตัวไปถามไถ่กันอย่างดี มั้ง (หากสังฆะที่ไปด้วย จะแก้ตัวก็ Post มานะอย่ามัวแต่น้อยใจว่าใครไม่ตอบล่ะ แลบลิ้น)
ผมตั้งใจจะฟังอย่างเดียว ในฐานะที่มีส่วนรับผิดชอบโดยตรง จากการที่มาตรฐานที่ส่งให้เขาได้ดำเนินการนั้น ส่วนหนึ่งผมมีส่วนร่วมในการจัดทำ
จึงต้องการให้พื้นที่ที่นำไปใช้ได้สะท้อนออกมา เราจะได้นำไปพัฒนา หรือปรับให้เข้ากับบริบทของเขาให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
การดำเนินการสืบค้นแบบไร้รูปแบบ ภายใต้การพัฒนาที่มีกรอบแนวปฏิบัติ จึงท้าทายอย่างยิ่ง
เมื่อเริ่มต้นการพูดคุย ผมชี้แจงว่าวันนี้ผมมารับฟัง ขอให้สบายๆ
เล่าทุกเืรื่องที่ท่านทำไป ที่ท่านอยากเล่า
เรื่องเล็ก เรื่องน้อย เรื่องใหญ่ เรื่องโต เรื่องที่สำคัญ ไม่สำคัญ
ผมวันนี้มารับฟัง ไม่มาประเมิน และหากมีอะไรที่ผมเสริมได้ หรือ สงสัย ขออนุญาตพูด
เมื่อผู้คนเริ่มเล่้าให้ฟัง จากทั้งสองสามแห่งที่ไปมา เราได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวในการพัฒนาองค์กรตามแนวทาง TQA
ส่วนหนึ่งของผู้คนในระดับปฏิบัติการ มักพูดถึง ข้อจำกัด มากกว่าโอกาส ทั้งๆที่เรื่องที่เล่ามีโอกาสมากกว่าข้อจำกัดมาก
ข้อจำกัดของเขา เป็นเรื่องกำลังคน เงิน (ฟังดูก็คล้ายที่เกิดในห้องประชุมของรพ.นครพิงค์ เรื่องนี้เป็น coincident เพราะวาระของผมเกิด วันอังคาร พุธ พฤหัส แล้ว มาบังเกิดที่ นครพิงค์ในวันศุกร์)
นโยบายของจังหวัดที่มีตัววัดที่แข็งแรง จนทำให้ต้องชะลองานที่ควรทำ ไปทำงานที่ต้องทำตามสั่งก่อน มั้ง
ผมโยนตัวกวนกลับไปว่า งานที่ควรทำ งานที่อยากทำ และงานที่ต้องทำ จริงๆแล้ว มันแยกกันชัดเจนเอง หรือเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำ มันจึงแยกจากกัน
และไม่เกี่ยวข้องกัน ทั้งที่ เมื่อฟังแล้วเราก็เห็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่
จริงๆแล้วเราต้องแยกกันทำจริงหรือ
การฝากชีวิตและการทำงานของเรา ไว้กับทิศทางที่จังหวัด หรือกระทรวงสั่งมา โดยเทให้หมดหน้าตัก
ไม่ใคร่ครวญว่า บริบทพื้นที่ที่เราดูแลต้องการอะไร มีส่วนไหนทับซ้อนกับ สิ่งที่เบื้องบนสั่งมา
แน่แล้วหรือว่าจะถูกต้อง และยั่งยืน
เพราะเมื่อหลายเดือนก่อนเรายังทุ่มเทให้กับ เมืองไทยแข็งแรงอยู่
ไม่กี่วันผ่านมา มันกลายเป็นอดีต กลายมาเป็นบ้านเมืองร่มเย็น(อะไรทำนองนี้แหละ)
จิตอาสา หลังจากเลือกตั้งใกล้ๆนี้ล่ะ ทุกอย่างจะกลายเป็นสิ่งที่คนไม่เหลียวแลอีก
แต่เรื่อง หลายเรื่องที่เขายกมาให้เราดำเนินการ มันมีรากร่วมของมันอยู่
รากร่วมของมันอยู่ที่ไหน เรามองเห็นหรือเปล่า
สายตาของเรามองหาแต่ข้อจำกัด
พื้นที่ชุมชนที่กาฬสินธุ์ น่ารักมาก ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี
ชนิดที่คนทางนี้ ทางเหนือ ต้องอิจฉา ว่าช่างน่ารักและร่วมมืออะไรดีเช่นนี้
แต่พื้นที่ทางนั้นก็ยังบ่นอยู่ดีว่ายาก และมีข้อจำกัดหลายอย่างที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินงานได้
ผู้คนทางเหนือ ก็มีข้อจำกัดหรือปัญหาของตัวเอง
ผู้คนทางอิสานก็มีข้อจำกัด หรือปัญหาของอิสานเอง
คนมีเงินก็มีปัญหาหรือข้อจำกัดของคนมีเงิน
คนไม่มีเงินก็มีัปัญหาหรือข้อจำกัดของคนไม่มีเงิน
ข้อจำกัดของคนกลุ่มหนึ่ง เป็นโอกาสที่คนอีกกลุ่มใฝ่หาชั่วชีวิต
โอกาสที่เฝ้าหาของคนกลุ่มหนึ่ง ก็เป็นข้อจำกัดของคนอีกกลุ่ม
ลองเทียบข้อจำกัด และ โอกาส ของคนที่แต่งงานแล้ว กับคนโสด ดูเป็นไร
เช่นนี้แล้ว เราควรทำอย่างไร
บนความไร้รูปแบบของผม วิถีในการเปิดช่องทางของคนก็คลี่คลายลงตรงหน้า
เพราะการรับฟังโดยไม่สรุป
ความระหว่างคำ ก็ปรากฏ เรามีหน้าที่ชักนำออกมา
หน้าที่ของผม ก็คือ ให้คำถามสำคัญไปอีกหนึ่งคำถาม
ก่อนจะถามว่าควรทำอย่างไร
ผมคิดว่า ท่านควรตอบคำถามนี้เสียก่อน
ตอบตัวเองด้วยความมั่นใจ ได้หรือเปล่าว่า
คุณเป็นใคร และกำลังทำอะไร
ทันทีที่ทิ้งคำถามนี้ลงไป
ผมเห็นสีหน้าบางคนแล้วนึกถึง
เหมือนเห็นหน่ออ่อนของต้นไม้ แทงทะลุดิน
ตาไม้อ่อนบนไม้แห้งชำแรกออกมา
และ บางคน
มีเครื่องหมายคำถามลอยขึ้นมาเต็มใบหน้า
วินาทีแรกของเสียงถามคำถามสิ้นสุดลง
คำตอบไม่ได้ลอยขึ้นมา
ความสงสัย และ สงสัยว่าทำไมเมื่อก่อนถึงไม่สงสัยว่าเราเป็นใคร กำลังทำอะไร
เป็นคำถามที่ตอบยากสิ้นดี
เพื่อให้เกิด Chaos ในอาลัยวิญญาณหนักขึ้น
ผมโยนลงไปอีกอันหนึ่ง
แล้วแน่ใจได้อย่างไร ว่าขณะนี้เราทำในสิ่งที่ใช่สิ่งที่เราเป็นอยู่
ความเงียบโปรยตัวลงมารอบกาย
แต่ในใจอลหม่าน ดังเซ็งแซ่ รูปเงาบางอันที่เหมือนเห็น เหมือนไม่เห็น วูบไหวในความรู้สึก
ท่าน เชอเกียม ตรุงปะ พูดถึงการถ่ายทอดคำสอน หรือการอภิเสก ใน ภาวนคือชีวิต
ไว้ว่าหน้าที่ครูคือการสร้างสภาวะที่เหมาะสม แล้ว ทางเข้าจะเปิดออกทั้งศิษย์และครู
ผมไม่ทางรู้ล่วงหน้าว่าสภาวะที่เหมาะสมจะมาถึงเมื่อไหร่
แต่ผมรู้ว่ามันมาถึงแน่นอน ผมไม่ร้อนรนใฝ่หา
นิ่งฟังผู้คนพูดถึงสิ่งที่เขาทำได้จนหมดพื้นที่ที่เขามั่นใจแล้ว
เมื่อมาถึงชายขอบที่มีม่านหมอกครอบคลุม
ไม่แน่ใจว่าก้าวไปข้างหน้า จะมีดินรองรับ หรือ มีความว่างเปล่า
บางทีอาจเป็นสภาวะที่เหมาะแก่การร่วมกัน เปิดวิถี ในการก้าวให้พ้นชายขอบของตน
ไปสู่พื้นที่อนันต์ในการค้นหา ก็เป็นได้
การไม่มีรูปแบบ ทำให้ผมไม่อึดอัด ทรมาน ในการไล่ต้อนผู้คนใ้ห้เข้าไปในทางที่ผมคิดไว้ล่วงหน้า
การร่วมสืบค้น และเป็นหนึ่งกับเขา โดยไม่มีความคาดหวัง ไม่ด่วนตัดสิน ไม่อวดตัวเอง
ผมพบว่าเราสามารถใช้คำถามหรือคำพูดไม่กี่ประโยค ที่ผุดขึ้นมา
เปิดทางเข้า ของเขาได้เร็วและฉับพลัน
การทำซุปให้ข้้น ของโยดาวญ ที่เคยเห็น
ผมได้พบกับตัวเองแล้ว และพร้อมกันนั้น
พร้อมกับผู้คนที่ค้นพบตนเอง วิถีของผมเองก็ชัดเจนมาก และโรยตัวอย่างอ่อนโยนลงตรงหน้า เช่นกัน
วิถีของผู้ประเมินพันธุ์ใหม่
ผู้ประุเิมินที่เนี่ยวนำให้ ผู้ถูกประเมิืนค้นพบสิ่งที่ำจำเป็นแก่ตัวเขา ด้วยตัวเขาเอง
เพราะทุกคนมีความเป็นเซียนอยู่ในตัวทุกคนอยู่แล้ว (ตอบโจทย์ท่านนกไฟด้วยนะเนี่ย)
สำคัญที่เราจะเปิดทางเข้าเขาได้หรือเปล่า โดยการเปิดทางเข้าทางเราด้วยจิตว่างที่ตื่นรู้
เช่นนี้ก็เป็นดังที่ ท่านเชอเกียม ตรุงปะกล่าวไว้
"เมื่อสถานการณ์ที่เหมาะสมถูกสร้างขึ้นแล้ว ทันใดนั้นก็ไม่มีครูกับศิษย์อีกต่อไป ครูทำหน้าที่เหมือนประตูทางเข้าทางหนึ่ง และศิษย์เป็นทางเข้าอีกทางหนึ่ง เมื่อประตูทั้งสองบานเปิดออก ก็จะมีความว่างเปล่าที่สมบูรณ์ มีความเป็นหนึ่งเดียวกันที่สมบูรณ์ระหว่างสองสิ่ง"
เป็นความงดงามที่ผู้คนทางกาฬสินธุ์มอบให้
และที่แน่แก่ใจผมก็คือ ความรู้ความเข้าใจไม่ได้มาด้วยการอ่าน หรือวิพากษ์
หากทางเข้าของผมคือการปฏิบัติ และทำเลย นั่นเอง
หมายเลขบันทึก: 93790เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2007 00:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท