ภาษาแห่งความเป็นธรรมดา


ในวิถีของชาวบ้านมิได้มีคำว่า สุภาพ หรือคำว่า หยาบคาย

แต่เดิมดิฉันจะรู้สึกอาย ขัดเขินกันการฟังคำพูดที่ส่อไปในทางสองแง่สามง่าม หรือฟังหมอลำซิ่งที่พูดอะไรโจ่งแจ้งชัดเจนจะจะ ( ที่จริงตอนนี้ฟังก็ยังรู้สึกระคายหู ไม่รู้จะทำหน้าอย่างไรอยู่บ้าง ) ในที่สาธารณะ ย้ำ ในที่สาธารณะ

พ่อแม่พี่น้องในโครงการได้ช่วยสอนให้ดิฉันได้ซาบซึ้งกับสิ่งที่เราเรียกในภาษาของเรา  บริบทของปรากฏการณ์หรือปฏิสัมพันธ์ที่มันไหลลื่นไปในขณะนั้นแล้วสิ่งต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นตามบรรยากาศ อารมณ์ การสื่อสารของชาวบ้าน ให้เราได้เห็นธรรมชาติของการใช้ภาษา เพื่อสื่ออารมณ์ สร้างบรรยากาศ ความรู้สึก อารมณ์ขัน การล้อเลียน เปรียบเปรย ความฉับไวในการคิด การโต้ตอบ ชาวบ้านของเราจะเก่งมีศิลปะแพรวพราว ลุ่มลึกทีเดียวในบางสถานการณ์ เพียงแต่ว่าพวกเขาจะเผยความคมคายของเขาเมื่อรู้สึกมีอิสระ ได้เป็นตัวของตัวเองไม่ต้องเกรงใคร และมีสัมพันธภาพต่อกันระดับหนึ่ง ซึ่งก็เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องย้อมให้มึนเมา

ในวิถีของชาวบ้านมิได้มีคำว่า สุภาพ หรือคำว่า หยาบคาย

ดิฉันได้เห็น การปฏิบัติของฝ่ายชายต่อฝ่ายหญิง นั้น เต็มไปด้วยความเท่าเทียม นับถือ และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่หลุกหลิก ไม่มีมารยา(ท) และมีวิธียกย่องชมเชยกันที่คมเฉียบ

....ครั้งที่เราจัดเวทีประจำปีที่นาพ่อสถาน ตอนท้ายๆ ของงานก็มีช่วงให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ประเมินการทำงานของคณะแม่ครัวของเรา  ดิฉันบอกว่า มีอะไรที่พึงพอใจก็ให้บอก

๒-๓ คนแรกก็ชมเชย คณะแม่ครัว

ต่อมาดิฉันก็บอกว่า ต่อไปนี้จะเป็นการติ จะได้ปรับปรุงใหม่ในการจัดครั้งต่อไป
พ่อวิเชียร แสงสว่าง จัดแจงลุกขึ้น
ผมจะขอติแม่ครัวหน่อย.... (เว้นระยะ)
คณะแม่ครัวฟังกันหูผึ่ง หน้าตาตื่น
แล้วพ่อวิเชียรก็พูดต่อ

ผมขอติว่า พวกผมมางานประชุมคราวนี้กางเกงคับ อึดอัดมาก เพราะคณะแม่ครัวทำอาหารแซบโพด พวกผมกินอิ่มมากเกินไปทุกคาบเลย ติดตะขอกางเกงแทบไม่ได้

ทุกคนเงียบอยู่แป๊บหนึ่ง
แล้วตบมือกันกราวใหญ่แลหัวเราะ ต้อนรับคำติของพ่อวิเชียร

ชาวบ้านไม่รู้จักคำ ติเตียน ตำหนิ เมื่อได้มีส่วนร่วมในการทำงานอย่างเต็มที่ พวกเขารู้ข้อจำกัดที่แต่ละฝ่ายมี
..........

ครั้งที่เราอิ้วน้ำอ้อยกัน มันเป็นงานที่ใช้แรงงานคนล้วน ๆ  หนัก และเหนื่อยกันมาก ชาวบ้านไม่บ่น แถมยังหาเรื่อง คุยกัน ท้าทายกัน เย้ยหยัน ให้เกิดการอยากเอาชนะ เพื่อที่จะได้ทุ่มแรงลงไปในการทำงานให้รวดเร็วขึ้น การพูดคุยกันที่กินความหมายยอกย้อนหมิ่นเหม่ จากการอธิบายกริยาของการทำงานนั้นแหละ ระหว่างผู้ที่สอดลำอ้อยเข้าไปในเครื่องหีบกับผู้ที่รับอ้อยที่หีบแล้วและส่งเข้าเครื่องหีบอีกรอบก็พยายามที่จะหาจังหวะ เทคนิคที่จะทำให้ได้น้ำอ้อยมากที่สุด
เออ นั่นแหละ แดกเข้าไปแบบนั้นแหละ น้ำแตกออก ไหลโจ้น ๆ  เลย
บ้างก็ว่า
ยัดเข้าไปแรง ๆ  บิดมันให้เป็นเกลียวเลย น้ำจะได้ไหลออกมาก แบบนั้นแหละ

พูดกันแบบนี้แล้วก็ทำให้ได้หัวเราะกันกับภาษาที่มันมีความหมายได้หลากหลายตามแต่เราจะคิดไป หรือว่าธรรมชาติมันมีลักษณะร่วมกันบางอย่างจึงอนุญาตให้ภาษาชุดหนึ่งอาจใช้ได้หลายความหมาย หนอ...
.......
เนื่องจากปีนี้เป็นปีที่เราจะเคลื่อนงานกันเรื่องพลังงานทดแทนกันมากเป็นพิเศษ บทเรียนแรกของปีนี้หลังจากการอิ้วน้ำอ้อยกันแล้ว จึงเป็นการอบรมและฝึกทำ เตาเผาถ่านประสิทธิภาพสูง ที่ใช้ถังน้ำมันสองร้อยลิตรเป็นเตาเผา อาจารย์เอ๋ หนุ่มจากเมืองหมอแคน ขอนแก่น ที่มีความรู้ประสบการณ์ไม่หนุ่มเหมือนอายุเลย เป็นผู้ให้ความรู้และฝึกพาทำ พวกเราก็รุมล้อมเตา ที่ช่วยกันสร้าง อธิบายกันไป คุยซักถามกันไป กระเซ้าเย้าแหย่กันไปพลางเมื่อโอกาสเปิด ที่ชายป่าของพ่อสถานอีกตามเคย ก็มีการซักไซ้ตำแหน่งของ ข้องอใยหิน เวลาต่อเข้ากับเตาจะต่ออย่างไร

 

อาจารย์เอ๋อธิบาย  เวลาใส่ข้องอต้องเอาด้านที่เล็กสอดเข้าไปทางดาก (ก้น)
ผู้ฟัง   ดากใคร
อาจารย์  ดากเตา

และตอนที่สำคัญอีกตอนหนึ่งคือ ช่วงปิดเตาแล้วปล่อยให้เตาเย็นลงแล้วจะทำการเปิดต้องมีขั้นตอนตรวจเช็ค พ่อวิเชียรก็นึกสงสัย เนื่องจากครั้งที่มีการสาธิตที่นาพ่อวิเชียรนั้นวางถังแตกต่างจากที่อบรมในคราวนี้
ก่อนจะเปิดเตา ต้องลูบไหม
ไม่ต้องลูบ ให้คลำดู
คลำข้างหน้า หรือ คลำข้างหลัง
คลำข้างหน้าก่อนแล้วจึงเปิดข้างหลัง

ผู้หญิงเหลืออด แม่แก้วก็เลยโพล่งออกมา
พ่อวิเชียร  มีอีกขั้นตอนหนึ่งนะ ก่อนจะคลำน่ะ
อะไร
ให้กราบก่อน ๓ ครั้ง
เพื่อนหัวเราะกันเกรียว เงี่ยหูฟังว่าจะโต้ตอบต่ออย่างไร
พ่อวิเชียร ยังสอยต่อ พึม ๆ พำ ๆ แต่ไม่เบาเลย
กราบใส่ข้างหน้า หรือ กราบใส่ข้างหลัง......เฮ

แปลกมากที่คำพูดที่ใช้อธิบายเรื่องต่างมันก็สอดคล้องกับเรื่องต่าง ๆ ของวิถีมนุษย์เหมือนกัน แต่ไม่รู้ว่าความอายมันเริ่มมาจากไหนที่จะพูดเรื่องพวกนี้
..............
หลัง ๆ มานี้ เวลาร่วมประชุมกับชาวบ้าน ดิฉันฟังเรื่องภาษาแบบนี้ได้อย่างสนุกสนานเป็นธรรมดา มิได้รู้สึกว่าหยาบคาย หรืออายที่จะฟัง หรือร่วมพูดด้วยในบางครั้งตามโอกาส และยังอยากหนุนให้เกิดบรรยากาศตามธรรมชาติที่คำพูดที่สร้างเสียงหัวเราะนี้จะโผล่ออกมา

ดิฉันมองเห็นชุดคำพูดพวกนี้งอกเงยออกมาอย่างมีสถานการณ์ประกอบ ไม่ใช่จู่ๆ ก็พรวดพราดออกมาเหมือน เราดูหมอลำซิ่ง หรือฟัง ดู การเล่นตลก ในแบบที่พยายามแสดงเอา ซึ่งเรื่องนี้พ่อผาย สร้อยสระกลาง เคยตอบคำถามของดิฉันต่อการไปดูหมอลำคณะดัง ว่า
จะเสียเงินไปดูทำไม ดูเขาโกหก ให้เราฟัง ให้เราดู แล้วเรายังเสียเงินให้เขาเพิ่มอีกต่างหาก

ใช่   สิ่งที่ชาวบ้านพูดสื่อสาร ตลก สอย ให้เราฟัง ให้เราดู มันไม่ใช่การแสดง แต่มันเป็นการสะท้อนชีวิตตรง ๆ  เป็นส่วนของชีวิตที่รื่นรมย์อยู่ท่ามกลาง อยู่ใน ความทุกข์ยาก ขาดแคลน เต็มไปด้วยอุปสรรคนานา แต่กระนั้นก็เป็นชีวิตที่เสรีระดับหนึ่ง ที่เงินซื้อหาไม่ได้!!!

 

หมายเลขบันทึก: 93621เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2007 11:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท