ประเพณีรับขวัญแม่โพสพ บ้านไผ่ขอน้ำ (1)


ประเพณีรับขวัญแม่โพสพ ของบ้านไผ่ขอน้ำ ต. มะตูม อ. พรหมพิราม พิษณุโลก มีคู่กับหมู่บ้านมาช้านาน คุณพ่อของผู้ใหญ่ชวนอายุ 107 ปี เล่าว่า มีมาตั้งแต่เกิด

             ประเพณีรับขวัญแม่โพสพ ของบ้านไผ่ขอน้ำ ต. มะตูม อ. พรหมพิราม พิษณุโลก มีคู่กับหมู่บ้านมาช้านาน คุณพ่อของผู้ใหญ่ชวนอายุ 107 ปี เล่าว่า มีมาตั้งแต่เกิด เป็นประเพณีที่คู่กับชาวนาไทยเรามานานกว่าชั่วอายุคนแล้ว โดยกำหนดให้จัดงานตามประเพณีนี้ขึ้นในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปีไม่เคยเว้น ในขณะที่หมู่บ้านอื่นๆ รอบบ้านไผ่ขอน้ำทำเพียงการทำบุญลานง่ายๆ ด้วยการเรี่ยรายข้าวเปลือกเข้าวัดเท่านั้น

             การรับขวัญแม่โพสพ กำหนดให้เฉพาะผู้หญิงที่ผ่านการแต่งงานแล้วเท่านั้นเข้าร่วมพิธี เนื่องจากความเชื่อว่าในอดีตแม่โพสพเคยปรากฎกายให้ผู้คนพบเห็นอยู่เนืองๆ  แต่มีครั้งหนึ่ง ด้วยความสวยงามของแม่โพสพจึงถูกชายหนุ่มในหมู่บ้านเกี๊ยวพาราสีและลวนลาม จึงโกรธมากและไม่เคยปรากฎกายให้ใครเห็นอีกเลย หลังจากนั้นมาจึงกำหนดให้เฉพาะผู้หญิงที่ผ่านการครองเรือนแล้วเท่านั้น สามารถรับขวัญแม่โพสพกลับบ้าน (เข้ายุ้ง) ประเพณีนี้จึงเปรียบเสมือนการยกย่องสตรีให้เคียงบ่าเคียงไหล่กับบุรุษในประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากิน แต่เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวโยงกับศาสนา จึงมีบางส่วนของงานที่ต้องอาศัยผู้ชายเข้าร่วมงานบ้าง เช่น การนำไหว้พระ การเวียนเทียน การเล่นกลองมังคละและวงปี่พาทย์ให้จังหวะการรำของแม่โพสพ เป็นต้น

              การรับขวัญแม่โพสพ ทุกบ้านจะทำบายศรี (นมแมว) ประดับประดาตกแต่งด้วยดอกไม้สด ดอกไม้แห้ง ด้ายและผ้าแดง-ขาว ธูป ขันใส่น้ำเล็กๆ ข้าวสุก ข้าวเปลือก ไข่ต้ม พรมน้ำอบ น้ำหอม และนำบายศรีใส่ลงในขันเงินแทนพาน ท้ายที่สุดหุ้มด้วยผ้าสไบสีสวยงาม มีบ้างบางขันที่พบว่ามีบุหรี่ใส่ลงไปด้วย

เตรียมบายศรีรับขวัญแม่โพสพ

              ตอนเช้าของวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 6 กลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นผู้หญิงจะไปช่วยกันเตรียมสถานที่สำหรับทำพิธีรับขวัญแม่โพสพที่วัด เป็นการเตรียมต้นบายศรีใหญ่ ซึ่งนำเอาบายศรีขนาดใหญ่มาทำเสาบายศรีโดยนำมาวางหงาย-คว่ำบนเสาไม้ มีเครื่องประดับพวกแก้วแหวนที่ผู้หญิงชอบห้อยประดับบ้าง

บายศรีใหญ่สำหรับทำต้นบายศรี

              เตรียมบายศรีสำหรับทำต้นบายศรี

ประกอบต้นบายศรี

            ทำต้นบายศรีจากบายศรีที่เตรียมไว้ นำมาใส่ไว้ที่เสาไม้ ประดับด้วยเครื่องประดับ

ต้นบายศรีที่สมบูรณ์แล้ว

            ต้นบายศรีที่สมบูรณ์แล้วจะหุ้มด้วยผ้าลายลูกไม้โปร่ง สีเหลืองเป็นสีที่แม่โพสพชอบมากที่สุด (ข้าวเปลือกมีสีเหลือง) พร้อมแล้วสำหรับการทำพิธีในตอนบ่าย

             พิธีรับขวัญแม่โพสพของบ้านไผ่ขอน้ำจะเริ่มตั้งขบวนจากบ้านเลขที่ 1 ของหมู่บ้านในบ่ายที่อากาศร้อนสุดๆ เวลาประมาณ บ่าย 2 ให้จังหวะขบวนด้วยกลองมังคละที่เสียงดังฮึกเหิม (กลุ่มกลองนี้จะอยู่ท้ายขบวนเสมอ) ในบ้านแรกๆ ขบวนจะมีขนาดสั้นๆ และขยายกลุ่มผู้เข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยผ่านถนนเส้นที่ติดกับแม่น้ำน่าน และตลอดเส้นทางจะมีผู้หญิงแต่งตัวสวยงามอุ้มขันบายศรีทีผ่านการตกแต่งสวยงามเข้าร่วมขบวนเรื่อยๆ มากขึ้น มากขึ้น โดยคนที่อาศัยอยู่ไกลถนนออกไปจะเดินออกมารอขบวนตามจุดต่างๆ ของถนน โดยไม่ต้องนัดหมาย (น่าจะอาศัยเสียงกลองบอกความใกล้ไกลของขบวน) ขณะเคลื่อนขบวนก็มีการรำ ฟ้อนไปตลอดเส้นทาง จนถึงวัด

            กลองมังคละแห่ตามขบวนแม่โพสพจากบ้านเลขที่ 1 จนถึงวัด

        กลองมังคละทำหน้าที่ เตือนคนเข้าร่วมขบวนที่อยู่ที่บ้านและให้จังหวะการรำของแม่โพสพในขบวน  

 มาพบกันแล้วเข้าร่วมขบวนตามจุดต่างๆ ที่ขบวนผ่าน

            มีผู้มารอร่วมขบวนเป็นระยะ ๆ ตลอดทาง 

 ขบวนผ่านถนนที่ติดกับแม่น้ำน่าน

  แม่น้ำน่าน หล่อเลี้ยงชีวิตชาวไผ่ขอน้ำและชาวพิษณุโลก

              ก่อนนำขันบายศรีขึ้นไปบนศาลา ต้องแห่ขบวนวนซ้ายรอบโบสถ์ 3 รอบ จากนั้นนำขันบายศรีขึ้นศาลาไปวางรวมกันไว้ บนตั่งกลางโถงศาลาแต่ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่ามีการวางรวมกันเป็นกลุ่มๆ ให้พอรู้ว่าของใครอยู่กับกลุ่มไหน เมื่อวางเสร็จแล้ว มีการนำน้ำหอมมาประพรมไปทั่วขันบายศรีทั้งหมด เป็นระยะ โดยคนที่ทำ คือคนที่เป็นร่างทรงของแม่โพสพ ที่มีมากมายหลายคน ทั้งสาวและแก่ แต่คนส่วนใหญ่จะออกไปนั่งล้อมรอบตั่งที่วางขันบายศรีไว้ โดยมีแม่โพสพที่เข้าทรงแล้วร่ายรำตามจังหวะเพลงไปเรื่อยๆ เพื่อรอขบวนของอีก 2 หมู่บ้านที่เข้าร่วมประเพณีเดียวกันเสมอมา

            บ้านกับวัดขาดกันไม่ได้

               พอมาถึงวัดก็เริ่มรายการร่ายรำทันที ทั้งสาวทั้งชรา ไม่มีใครยอมใคร

มังคละส่งต่อภาระให้กับวงปี่พาทย์

              วงมังคละส่งภาระต่อมาให้วงปี่พาทย์ทำหน้าที่ต่อ

              ยังไม่จบค่ะ น่าจะยืดเยื้อไปอีก 2 ตอน สำหรับประเพณีรับขวัญ อยากใส่รูปให้ดูเยอะๆ ค่ะ          

            *** หมายเหตุตบท้าย หนึ่ง  ผู้ร่วมขบวนหลายคนยืนยันว่า ไม่เคยมีการเป็นลมหน้ามืดเกิดขึ้นในขบวนเลย เพราะเหตุผลสั้นๆ ง่ายๆ แม่โพสพประคองไว้

           *** หมายเหตุตบท้าย สอง  ผู้ชายในหมู่บ้าน บอกว่า เป็นงานของผู้หญิงที่ผู้ชายในหมู่บ้านส่วนใหญ่ได้แต่นั่งทำตาปริบๆ เพราะไม่มีโอกาสเข้าร่วมงาน



ความเห็น (12)

เก็บรายละเอียดได้ดีเช่นเคยนะวันเพ็ญ 

ผู้ชายห้ามรำร่วม แต่ถ้าเป็นตุ๊ด แม่โพสพ จะห้ามไหมหนอ

เวลาอยู่ร่วมในพิธีรู้สึก ขนลุก ทุกครั้ง

คงเป็นความขลังและความเชื่อที่มีมานาน

มีโอกาสอยากชวนทุกคนไปร่วมด้วยจัง

เพราะเราทุกคนมีข้าวกินเพราะแม่โพสพและชาวนา

  • ขอบคุณพี่โหน่งค่ะ ที่มาร่วมแสดงความคิดเห็น
  • ถ้าสังเกตให้ดีแม้แต่ผู้ชายใจผู้หญิงก็ไม่มีเข้าร่วมงานนี้ค่ะ แต่แอบถามน้องก๊อตบอกว่า สมาชิกกลุ่มนี้ของหมู่บ้านมีบทบาทในการทำบายศรี (นมแมว) ที่สวยงามในงานพิธีค่ะ
  • สังคมมนุษย์ต่างพึ่งพาและเกื้อกูลกันค่ะ ไม่ว่าเพศไหน วัยใดก็มีส่วนร่วมในประเพณีเดียวกันได้ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังค่ะ
  • พี่โหน่งไม่โดนแม่โพสพหยิกตอนเดินถ่ายทำใกล้ๆ เหมือนพี่คนองและน้องก๊อตเหรอคะ ทั้ง 2 คนนั่นโดนฤทธิ์แม่โพสพกันมาแล้วววว
  • เห็นด้วยค่ะว่า เราชาวไทยอยู่มาได้ยาวนานด้วยบุญคุณของแม่โพสพและชาวนา
  • ขอบคุณน้องก๊อตที่มาร่วมแสดงความเห็นค่ะ
  • ว่าแต่ว่า ไปร่วมในงานประเพณีเขาทุกครั้งได้ยังไงจ๊ะ เป็นผู้ชายไม่ใช่เหรอ ตัวเอง

เก็บรายละเอียดได้เยี่ยมเลยพี่ ...  อีกอย่าง บรรยายได้ละเอียดมากเลยครับ ใครอ่านแล้วเหมือนกับไปอยู่ในพิธีด้วยเลยงะ   พี่ๆๆ แต่ขอบอกอีกอย่างนะมุมกล้องพี่นี่ แจ๋วๆ จริงๆ  สายมากๆ 

แต่ก็ยังสงสัยอยู่ดีว่า พี่วันเพ็ญ แอบไปนั่งคุยกับพ่อผู้ใหญ่ชวนตอนไหนเนี๊ยะ   ส่วนอีกเรื่องนึงก็  ......  งานนี้พี่วันเพ็ญหมดสิทธิ อุ้มขันข้าวเลย 55555555555    เพราะยังไม่เคยผ่านการครองเรือนมาก่อน แม่โพสพ ห้าม อิๆๆๆ    .......  อะล้อเล่นนนน

  • ขวัญจ๊ะ พี่ตัวลอย พี่ตัวลอย
  • แอบไปคุยกับลูกชายท่านมาตะหาก ผู้ใหญ่ชวนท่านเล่าว่า พ่อเล่าให้ฟังอีกทีนึง
  • เสียดายมากกกที่ไม่ได้อุ้มขันและไม่ได้รำด้วย อดโชว์รำสวยเลยเรา 55
  • ขอบคุณมากค่ะ ที่มาร่วมแสดงความคิดเห็น

สวัสดีครับ แวะมาทักทาย มาอ่าน มาชมเอาความรู้พัฒนาสมองครับ

  • สวัสดีค่ะ อาจารย์นิเวศน์
  • ตามไปอ่านประวัติอาจารย์มา จากบ้านไปไกลน่าดูเลยนะคะ เกือบเหนือสุดไปอยู่เกือบใต้สุด
  • ขอบคุณที่แวะมาทักทายกันค่ะ
  • กำลังจะเขียนตอนต่อไป รบกวนอาจารย์มาอ่านอีกนะคะ
  • ขอบคุณค่ะ
รูปสวย จริงๆเลยค่ะ....เมื่อคืนดูพิธีกวนข้าวทิพย์ ให้สาวพรหมจรรย์ไปขูดมะพร้าว แต่งานนี้ให้หญิงที่แต่งงานแล้วร่วมพิธี หลากหลายดีนะคะ
  • ขอบคุณน้องแก่นที่แวะมาเยี่ยมค่ะ
  • ข้อดีของประเพณีค่ะ รองรับทุกคนในสังคม ให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่ม เสมอภาคเนอะ

อ่านแล้วเหมือนได้ไปร่วมในเหตุการณ์ เลยครับ ว่าแต่ว่าวิดีโอที่ถ่ายทำมาเสร็จหรือยังไม่รู้ครับ

อยากได้รูป บายศรีหลวง และบายศรีนมแมว ครับผมใครมี อนุเคราะห์หน่อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท