PTOT Meeting ครั้งที่สอง


การดูแลวัยรุ่นที่มีความบกพร่องทางร่างกายและจิตสังคม...ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมและการแยกปัญหาที่ถูกต้องชัดเจน

บรรยากาศเช้าวันศุกร์ดูมีพลังสำหรับทุกท่านที่สร้างคลินิกกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด ม.มหิดล ทุกท่าน

ผู้เข้าฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้จำนวน 16 ท่าน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก PTOT Meeting ครั้งแรก ทำให้บรรยากาศดูน่าสนใจมากขึ้น

เริ่มด้วยการแนะนำกระบวนการรักษาร่วมกันระหว่าง PTOT ใน Young Stroke (Right hemiparesis) ได้แก่ การฝึกการเคลื่อนไหวแขนขา การเดิน และการให้กำลังใจ จากคลินิกกายภาพบำบัด จากนั้นมีการส่งปรึกษาคลินิกกิจกรรมบำบัดในด้านปัญหาการทำกิจกรรมด้วยการใช้มือและปัญหาอารมณ์ที่หงุดหงิดง่าย

เป้าหมายระยะยาวร่วมกันระหว่างสองวิชาชีพ คือ การให้น้องกลับไปเรียนหนังสือได้

ประเด็นที่พูดคุยกันคือ การรับทราบบทบาทที่ทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งร่างกาย (ทักษะการเคลื่อนไหวเพื่อทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต) และจิตสังคม (ทักษะการทำงานของจิตใจในสภาพสังคมที่ผู้ป่วยกำลังดำเนินชีวิต)

นอกจากนี้ การปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาในกรณีที่ผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่แย่ลง เช่น โกรธหงุดหงิดง่าย มองคุณค่าของตนเองต่ำ มองคุณค่าของกิจกรรมการรักษาต่ำ ไม่เข้าใจการสนับสนุนจากผู้ปกครอง สูบบุหรี่ ทำกิจกรรมที่ไม่สร้างสรรค์กับกลุ่มเพื่อน เป็นต้น

พฤติกรรมของผู้ป่วยที่เปลี่ยนแปลงขณะรับการรักษา ควรได้รับการวิเคราะห์ปัญหาที่ชัดเจนระหว่าง Organic Behaviour หรือ Adaptive behaviour โดยขอคำปรึกษาจาก Neurologist หรือ Neuropsychologist

ปัญหาการสื่อความหมายเพื่อนำไปสู่การฝึกทักษะทางการเรียนของกิจกรรมบำบัด น่าจะได้รับการตรวจประเมินเฉพาะถึง Stressful emotion related Aphasia จาก Speech pathologist ด้วย

จะเห็นว่าการบริการกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัดในกรณีศึกษานี้ ไม่ได้เน้นรักษาผู้ป่วยอย่างเดียว แต่ต้องมีเทคนิคการให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่อยู่รอบข้างผู้ป่วยด้วย เช่น คุณแม่และคุณพ่อที่พยายามปรับเปลี่ยนวิธีการพูดคุยและสร้างกำลังใจให้ลูกของเค้าไปเรียนต่อให้จงได้ ทั้งๆที่ก่อนหน้าที่จะเกิดอุบัติเหตุจนแขนขาอ่อนแรง ผู้ป่วยวัยรุ่นท่านนี้มีความไม่สนใจการเรียนและมีพฤติกรรมที่ปล่อยตัวให้อยู่ว่าง (Passive activity and participation) เช่น นั่งเล่นคอมทั้งวันทั้งคืน ไม่ช่วยเหลืองานบ้าน ไม่เรียนหนังสือ เที่ยวเตร่ ติดแฟน

จริงอยู่ที่ผู้ป่วยได้รับการให้คำปรึกษาทางจิตสังคม จนเข้าใจสภาพของการเคลื่อนไหวที่ไม่คืนกลับมา 100% แต่ต้องดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมีคุณค่าและมีความสุข ปัญหาที่ยังคงต้องติดตามต่อไปคือ เมื่อผู้ป่วยท่านนี้กำลังประสบปัญหาในขณะเรียนมหาวิทยาลัย เขาจะแก้ไขปัญหาอย่างไร จะล้มเลิกการเรียนและปล่อยตัวให้มีพฤติกรรมที่ไม่เห็นคุณค่าระหว่างการทำกิจกรรมที่มีเป้าหมายกับชีวิตที่มีความสุขหรือไม่

ปล. หากทุกท่านมีกรณีศึกษาอื่นที่ต้องการสร้างบันทึกเพิ่มเติม ขอให้กลับไปที่หน้า Blog แล้วคลิกที่มุมบนขวาสุดตรง Login ใส่ username:  ptot-meeting และ password: ptotmahidol จากนั้นคลิกที่ เพิ่มบันทึก แล้วเล่าเรื่องราวหรือประเด็นที่น่าสนใจให้เราและบุคคลทั่วไปได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อไปครับ

แล้วพบกันใหม่ใน PTOT Meeting ครั้งที่สาม ในวันศุกร์ที่ 25 พ.ค. เวลา 7.30-8.30 น.

ขอบคุณสำหรับพลังแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาระบบการบริการทางสุขภาพของคนไทยร่วมกันครับ

 

หมายเลขบันทึก: 92817เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2007 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอชื่นชมมากๆ เราสามารถก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ผมเชื่อว่าจุดเริ่มเล็ก ๆ ครั้งที่ 1 และ 2 จะต่อยอดให้มีการตระหนักและเข้าใจการทำงานเป็นทีมมากขึ้นในคลินิกของเรา การแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ

ผมมี case คล้ายกันนี้วัยก็ใกล้เคียงกัน และเคยเกเร เหมือนกัน จากประสบการณ์ที่สอน neurobiology และการทำวิจัยทางระบบประสาท และอ่าน journal มา โดยปกติแล้วสมองแต่ละซีกทำงานต่างกัน โดยพบว่าสมองข้างซ้ายนั้นจะทำงานด้าน คำนวณ, วิทยาศาสตร์ และภาษา ที่เด่นชัด สำหรับสมองข้างขวานั้นจะทำงานด้านอารมณ์ และด้านศิลปะ 

สำหรับประสบการณ์นั้นพบว่าเมื่อมีผู้ประสบอันตรายต่อสมอง ไม่ว่า stroke หรือ CVD และ Head injury นั้น พบว่า ถ้าผู้ป่วยมีพยาธิข้างซ้ายที่สมองแล้ว ต่อมาต้องมีการฟื้นฟูสภาพ โดยร่างกายด้านที่มีปัญหาคือด้านซีกขวา ทำให้ช่วงระยะ ของการเรียนรู้นั้นผู้ป่วยมักใช้ข้างที่ดี คือด้านซ้ายของร่างกายเป็นหลัก ผมสังเกตุ เหตุว่า คนไข้ของผมหลังจากประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ และมีพยาธิสภาพที่สมองข้างซ้าย และกลับมาใช้สมองขวาทำงาน นั้น จากเขาเป็นคนที่เรียนเรื่องบริหาร มีการคิดคำนวณทางบัญชี พบว่าเขามีปัญหาในการคิดวิเคราะห์ เป็นอย่างมาก แต่กลับพบว่าเขามีพัฒนาการทางศิลปะมากขึ้น ชื่นชอบดนตรี และการวาดภาพ มองอะไรเป็น art มากขึ้น

แต่นี้ก็ เป็นเพียงประสบการณ์ที่เจอมา  แต่ในทางการทดลองนั้น พบว่าระบบประสาทของมนุษย์นั้นมีคุณสมบัติดังนี้

1. Plasticity of Neural Function : หมายถึงความสามารถในการปรับเปลี่ยนการทำงานและการงอกใหม่ของใยประสาท การเกิด neural plasticity เกิดขึ้นได้ทั้งระดับของการปรับเปลี่ยนหน้าที่ โครงสร้างการทำงานของเซลล์ในระยะแรกจนถึงระยะยาว หรือเพื่อให้เข้าใจอย่างง่ายขึ้นก็คือเมื่อเซลล์สมองหนึ่งสูญเสียหน้าที่ไป เซลล์สมองข้างเคียงจะปรับหน้าที่การทำงานในระยะแรก (shortterm) ตลอดจนการเปลี่ยนโครงสร้างในระยะยาว (long term)

2. สมองทำงานติดต่อกับสมองด้วยกัน : สมองส่วนต่างๆ จะไม่ทำงานเป็นอิสระ แต่จะทำงานขึ้นต่อกันและกัน ผลของการทำงานที่ขึ้นต่อกันและไม่ได้หมายความว่า ถ้าหน้าที่บางอย่างของสมองเสียไป จะทำให้หน้าที่อีกอย่างของสมองเสียไปด้ายแต่หมายความว่า ถ้าหน้าที่อย่างด้อยคุณภาพไป ความสามารถของสมองจะทำงานร่วมกันมากขึ้น เป็นผลให้มีความสามารถด้านการปรับตัวเพิ่มขึ้นด้ยว

3. สมองมีกลไกเฉพาะ (brain mechanism concept) :  เกี่ยวกับการแปลผลของสิ่งเร้าที่ส่งมาในรูปของสัญญาณประสาท หมายความว่า ขบวนการที่จะแปลผลของสิ่งเร้าที่มากระตุ้นร่างกายเพื่อส่งสัญญาณตอบสนองที่เหมาะสมตามที่สมองแปลผลชองสมองนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นในการที่จะให้สมองมีโอกาสได้แปลผลตามที่เราต้องการ จึงจำเป็นต้องทราบถึงสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมด้วยจึงจะได้ผล

4. Neural Synapse : รอยต่อระหว่าง neuron กับ neuron หรือ neuron กับ เซลล์อื่น ๆ โดยพลังประสาทที่เกิดขึ้นในใยประสาทจะถูกส่งจาก neuron ตัวหนึ่งไปยังเซลล์อีกตัวหนึ่งโดยผ่านรอยต่อหรือจุดประสานนี้ ทำให้บริเวณนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี ดังนั้นเพื่อเชื่อมโยงข่วสารข้อมูลระหว่างเซลล์ต่อเซลล์ให้เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการติดต่อประสานงานกันของเส้นใยประสาท ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีบ่อย ๆ ครั้งขึ้น ซี่งหมายความว่าถ้ามีสิ่งเร้าและการนำประสาทบ่อยขึ้นความสามารถในการปรับตัวติดต่อกับส่วนอื่นของสมองย่อมทำได้ดี หน้าที่การทำงานของร่างกายก็จะมีประสิทธิภาพเหมาะสมมากขึ้น

5. ความสามารถในการรับสิ่งเร้า (Sensory stimulation) : การรับสัญญาณประสาทจากทางเดินมาช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีของเซลล์ประสาทสั่งการให้เพิ่มสัญญาณประสาทมากขึ้น ซึ่งถ้าประสาทสั่งการทำงานได้มากขึ้น ก็จะทำให้มีโอกาสรับรู้ได้มากขึ้น

5. ความสามารถในการรับรู้สิ่งเร้าภายนอก : ต้องอาศัยอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมภายนอก การที่จัดให้มีการรับเอาสิ่งเร้าเข้าไปอย่างเหมาะสม และตรงตามตามต้องการบุคคลที่รับนั้น จะทำให้สมองมีการพัฒนาได้มากขึ้น

ดังนั้น ทีม PT, OT, Speech Language Pathologist และนักบำบัด อื่น ๆ จำเป็นต้อง take action ในการเข้าถึงปัญหาของผู้ป่วยไม่ว่าทางร่างกาย และจิตสังคม ซึ่งจะทำให้เราครอบคลุมและบูรณาการความรู้ของความหลากหลายแห่งวิชาชีพที่มุ่งเป้าไปสู่ผลประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลักชัย

เป็นการนำเสนอเนื้อหาและแสดงความคิดเห็นเสริมกับบันทึกนี้ได้ดีมากๆครับ

ขอบคุณครับอาจารย์เอก

จะเห็นว่า การดูแลรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยหนึ่งคน ทั้งนักกายภาพบำบัดและนักกิจกรรมบำบัดต้องใช้เวลาในการรักษานานมากๆ ดังนั้นคุณภาพของการบริการน่าจะเกิดจากความพึงพอใจของการบริการจากผู้ป่วยและญาติ

สถิติผู้ป่วยที่เรากำลังคาดว่าน่าจะเพิ่มขึ้น ก็ควรมีพื้นฐานมาจากคุณภาพของการบริการแก่ผู้ป่วยแต่ละรายมากกว่าเน้นปริมาณผู้ป่วยในแบบหน่วยงานเอกชนหลายๆแห่ง

เราจะสามารถพัฒนาคุณภาพของการบริการได้ เพื่อเป็นตัวอย่างของสถาบันการศึกษาที่ดี ดังพระราชดำริของในหลวงของเราทุกคน คือ "การยอมขาดทุนในวันนี้ เพื่อความยั่งยืนในวันข้างหน้า"

 

ผมได้ update การจัดเสวนาพูดคุย Case นี้กับรุ่นพี่ที่มีสภาพร่างกายอ่อนแรงคล้ายกันแต่มีทักษะจิตสังคมในการเรียนมหาวิทยาลัยได้ดี

ผลของการพูดคุยค่อนข้างน่าสนใจ Case นี้เกิดคำถามและพัฒนาแรงจูงใจในการฝึกเตรียมแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้หลังเริ่มเข้าเรียน เช่น การคบเพื่อน การเข้าหาอาจารย์ การจดบันทึกเรียน การจัดเวลาพักผ่อนกับการเรียน การยอมรับตนเอง และการทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ร่วมกับเพื่อนนักศึกษา

ลองติดตามแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ http://gotoknow.org/blog/otpop ได้ครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท