การแลกเปลี่ยนเรียนรู้: การฟื้นฟูสภาพจิตใจ


การฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ประสบภัยสึนามิ ด้วยเทคนิค EMDR (Eye Movement Desensitization and Reprocessing) 

   เมื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งยิ่งใหญ่ 26 ธันวาคม 2547 ที่ผ่านมา แม้ว่าจะเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายแต่ภายใต้สถานการณ์ครั้งนั้น เราเรียนรู้และได้รับประสบการณ์มากมาย ได้พบกับน้ำใจของมวลมนุษยชาติที่หลั่งไหลให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยมิได้แบ่งแยกเชื้อชาติ เผ่าพันธ์  ในส่วนของประเทศไทยการช่วยเหลือผู้ประสบภัย สึนามิก็เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจจากหลายหน่วยงาน ทั้งในภาครัฐและเอกชน และในจำนวนนั้นก็ได้มีองค์กรเอกชน หน่วยงานหนึ่งที่ได้เข้าไปมีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ณ หมู่บ้าน บางนียง ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ภายใต้โครงการ Making Waves  ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยได้ช่วยเหลือคนไทยด้วยกันเอง โดยการสร้างองค์ความรู้ให้กับบุคลากรอาสาสมัครที่ทำงานด้านสุขภาพจิต
เพื่อสามารถนำความรู้ไปช่วยเหลือประชาชนโดยให้การฟื้นฟูสภาพจิตใจจากภัยสึนามิ
  โครงการ Making Waves ในระยะแรกมี Dr. Jane Lopacka เป็นผู้อำนวยการโครงการ โดยได้รับความสนับสนุนจาก EMDR Humanitarian Assistance Programs, Jane Lopacka - Counselling and Mediation Serves และกรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุข  การดำเนินพันธกิจของโครงการ Making Waves ประกอบด้วย 3 ประการ  ประการแรกได้แก่ การฝึกอบรมผู้ที่ปฏิบัติงานทางด้านสุขภาพจิตในเรื่อง กระบวนการบำบัดทางด้านจิตใจด้วย EMDR (Eye Movement Desensitization and Reprocessing) แล้วสนับสนุนให้ผู้ผ่านการอบรมได้เสียสละเวลาและใช้ความพยายามในการบำบัด ฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ประสบภัยสึนามิ ประการที่สอง คือ การส่งเสริมให้ผู้บำบัดได้ให้บริการทางด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ และประการสุดท้าย คือ การพัฒนาโครงการระยะยาว เพื่อติดตามผลและให้การสนับสนุนผู้ประสบภัยสึนามิ
  กระบวนการ EMDR เป็นนวตกรรมที่ใช้ในการบำบัดทางคลินิค ซึ่งถูกค้นพบโดย Dr. Francine Shapiro  ในปี ค.ศ. 1987 โดยหลักการของความเชื่อมโยงระหว่างการเคลื่อนไหวของลูกตากับการลดความคิดในด้านลบ ต่อมาได้นำมาใช้อย่างได้ผลกับการบาดเจ็บทางด้านจิตใจ (Trauma)   EMDR โดยได้นำไปใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยกว่า สองล้านคนนับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1988  ซึ่ง ดร.เฮอร์เบอร์ท เฟ็นสเตอร์  เฮม จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล กล่าวว่า  “ EMDR คือ การปฏิวัติสูงสุด
ในวิธีการที่สำคัญของการบำบัดทางจิตที่ปรากฎในศตวรรษนี้” และได้มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัย 14 เรื่อง ที่ศึกษาเปรียบเทียบเกี่ยวกับสมรรถนะของ EMDR ซึ่งจากการวิจัยพบว่า EMDR มีสมรรถนะสูงสุดในการบำบัดการบาดเจ็บทางด้านจิตใจ   ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการบำบัดปัญหาทางด้านจิตใจในปัญหาเดียว และพบว่าสามารถลดอาการ PTSD (Posttraumatic Stress Disorder) ได้จากการการบำบัดด้วย EMDR 3-4 ครั้ง 
 วิธีการบำบัด EMDR ประกอบด้วย 8 ขั้นตอน ดังนี้
 ขั้นที่ 1  ผู้บำบัดศึกษาประวัติของผู้ป่วย และออกแบบ แผนการบำบัด
 ขั้นที่ 2  ผู้ป่วยถูกสอนเทคนิคการผ่อนคลายและเทคนิคการทำให้ตนเองสงบ
 ขั้นที่ 3  ผู้ป่วยถูกถามเพื่อให้อธิบายถึงภาพที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บทางด้านจิตใจ โดยเชื่อมโยงกับความรู้สึกและความคิดในด้านลบ และให้ผู้ป่วยระบุความคิดในด้านบวกที่ตรงกันข้ามกับความคิดในด้านลบ พร้อมทั้งให้คะแนนความคิดในด้านบวก โดยคะแนนอยู่ในช่วง 1-7 คือถ้าความคิดนั้นเป็นเท็จแน่นอนให้ 1 คะแนน  ถ้าความคิดนั้นเป็นจริงแน่นอนให้ 7 คะแนน กระบวนการนี้ช่วยสร้างเป้าหมายสำหรับการบำบัด ต่อมาให้ผู้ป่วยผสมผสานภาพที่มองเห็นในเหตุการณ์ที่ทำให้บาดเจ็บทางด้านจิตใจกับความเชื่อในด้านลบและความรู้สึกที่รุนแรง แล้วประเมิน โดยคะแนนอยู่ในช่วง 0-10 คือ 0 หมายถึง ไม่มีผลกระทบ  จนกระทั่งถึง 10 หมายถึงมีผลกระทบมากที่สุด  ขณะเดียวกันให้ผู้ป่วยนึกถึงภาพและผสมผสานกับความคิดด้านลบ พร้อมทั้งให้ผู้ป่วยมองตามมือที่เคลื่อนไหวของผู้บำบัดในรูปแบบต่างๆ ที่จะทำให้ผู้ป่วยได้มีการเคลื่อนไหวลูกตา บางทีอาจใช้แสงกระพริบ การเคาะที่เข่า หรือ มองตามเสียงแทนการเคลื่อนไหวของลูกตา หลังจากการดำเนินการไปแต่ละชุดผู้ป่วยจะถูกถามถึงความรู้สึกและการผ่อนคลาย  ซึ่งอาจต้องทำหลายๆชุดต่อการทำ EMDR แต่ละครั้ง
 ขั้นที่ 4  เป็นระยะที่เข้าสู่การลดระดับความรู้สึกอย่างเป็นระบบต่อภาพและความคิดในด้านลบ ผู้ป่วยถูกสอนให้นึกถึงภาพที่ทำให้บาดเจ็บทางด้านจิตใจ ความเชื่อในด้านลบที่มีอยู่ และความรู้สึกตามอวัยวะของร่างกายที่เป็นเหตุให้วิตกกังวลในขณะที่มองตามนิ้วมือที่เคลื่อนไหวของผู้บำบัด  ผู้ป่วยจะถูกถามถึงการผ่อนคลายอีกครั้ง และพิจารณาถึงภาพใหม่ ตลอดจนความคิด หรือความรู้สึกภายหลังการทำ EMDR ในแต่ละชุด และดำเนินต่อไปจนกระทั่งประเมินภาพที่มองเห็นในเหตุการณ์ที่ทำให้บาดเจ็บทางด้านจิตใจกับความเชื่อในด้านลบและความรู้สึกที่รุนแรงแล้วมีค่าเป็น 0
 ขั้นที่ 5  ขั้นตอนนี้เน้นการสร้างความคิดในด้านบวก ขณะที่มีการเคลื่อนไหวของลูกตา ขั้นตอนนี้นำไปสู่ความเชื่อในด้านบวกเกี่ยวกับตนเอง โดยดำเนินการไปจนกระทั่ง ประเมินคะแนนความคิดในด้านบวกมีคะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 7
 ขั้นที่ 6  ผู้ป่วยถูกถามถึงความรู้สึกตามร่างกายที่ไม่ปกติ  โดย EMDR จะไม่สมบูรณ์จนกว่าผู้ป่วยจะสามารถคิดถึงเหตุการณ์ที่ทำให้บาดเจ็บทางด้านจิตใจโดยปราศจากประสบการณ์ความรู้สึกตามร่างกายในด้านลบ
 ขั้นที่ 7  ผู้บำบัดพิจารณาว่าความจำได้ดำเนินการไปเพียงพอหรือยัง ถ้ายังไม่เพียงพอถือว่ายังไม่สมบูรณ์  ก็ยุติการทำ EMDR โดยให้ผู้ป่วยใช้เทคนิคผ่อนคลายที่ได้เรียนรู้ในขั้นตอนที่ 2 และนัดทำ EMDR ในครั้งต่อไป
 ขั้นที่ 8  ประเมินอีกครั้ง และเริ่มทำ EMDR อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้ทำไปแล้วในครั้งแรก
ขั้นตอน EMDR ทั้ง 8 ขั้นตอน อาจสมบูรณ์ภายใน 1-2 ครั้ง หรืออาจมากกว่า ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของผู้ป่วย
   สรุป  EMDR มีหลักการพื้นฐานหรือความเชื่อว่า ความจำเกี่ยวกับการบาดเจ็บทางด้านจิตใจ ที่ไม่สามารถดำเนินต่อไปอย่างเหมาะสมเป็นเหตุให้เกิดการหยุดชงักและนำไปสู่ความผิดปกติเช่น PTSD  ดังนั้นการบำบัด EMDR จึงใช้เพื่อช่วยให้บุคคลดำเนินกระบวนการจำไปอย่างเหมาะสม และพัฒนาการเปลี่ยนแปลงในทางปรับตัวด้านความคิด  EMDR   จึงเป็นวิธีการบำบัดรูปแบบหนึ่งที่มีความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยวิตกกังวล  เครียด บาดเจ็บทางด้านจิตใจ และ PTSD เป็นต้น ในปัจจุบันการช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ โดยการบำบัดด้วย EMDR ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการ Making Waves  และมีแผนจะขยายผลในระยะยาวต่อไป
********************************************************************************
บรรณานุกรม
Shapiro, F. (2001).  Eye Movement Desensitization and Reprocessing:Basic Principles, Protocols, and
 Procedures (2nd edition).New York: Guilford Press.

www.healthplace.com
www.emdr.com

คำสำคัญ (Tags): #emdr
หมายเลขบันทึก: 92748เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2007 00:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 21:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

           การฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ประสบภัยสึนามิ ด้วยเทคนิค EMDR (Eye Movement Desensitization and Reprocessing) เป็นสิ่งที่ดีมากเพราะถึงแม้ว่าบาดแผลทางร่างกายจะหมดไปแต่บาดแผลทางจิตใจนั้นยังคงอยู่แต่ถ้าหากเรามีความพยายามที่จะฟื้นฟูสภาพจิตใจของเค้าด้วยความเต็มใจมีการบำบัดเเละติดตามผลเชื่อได้ว่าบาดแผลในจิตใจของพวกเค้าจะจางหายลงไปได้บ้างข้าพเจ้าอยากให้โครงการนี้มียังอยู่ต่อไปและรู้สึกดีที่โครงการนี้มีแผนที่จะขยายผลผลระยะยาวต่อไปเพราะสุขภาพจิตเป็นสิ่งสำคัญต่อมนุษย์ไม่แพ้สุขภาพกาย.         

           จากการไปเข้าร่วมงานวันส่งเสริมสุขภาพจิต ที่กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขจัดขึ้นรู้สึกเพลิดเพลินและได้ความรู้กลับมามากมายได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆเช่น วัดสายตา วัดความดันโลหิต วัดไขมัน เล่นเกมส์ต่างๆที่จัดขึ้นเช่น ปาลูกโป่งโยนห่วง ถึงแม้จะเป็นกิจกรรมเล็กๆน้อยๆ แต่ก็ช่วยผ่อนคลายความเครียดให้กับผู้คนในงานเป็นอย่างดี  ภายในงานจะมีซุ้มต่างๆที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิต เช่น การดูเเลเด็กวัยเรียน ที่มีสื่อที่ดีมากๆ คือมีการทำเป็นหนังสือการ์ตูนทำให้มีความน่าอ่าน น่าสนใจยิ่งขึ้น เป็นสิ่งที่ควรนำมาเป็นเเบบอย่างในการทำสื่อต่างๆที่จะดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน มีซุ้มที่เเจกแบบทดสอบความเครียดเพื่อให้ผู้ที่เข้าชมได้ประเมินระดับความเครียดของตนเองและบอกแนวทางการจัดการกับความเครียดและยังมีอีกมากมายหลายซุ้มที่น่าสนใจเช่นซุ้มที่ให้เล่นเกมส์โยนห่วงเมื่อเล่นเกมส์ชนะแล้วก็จะได้ CD รวมเว็บไซต์เกี่ยวกับสุขภาพจิต เป็นต้น รู้สึกดีใจมากที่ได้ไปร่วมกิจกรรมครั้งนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท