แนวคิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา (4)


การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในลักษณะหลายศาสตร์

การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในลักษณะหลายศาสตร์               

        จากความก้าวหน้าของวิทยาการและเทคโนโลยีทำให้ศาสตร์แต่ละศาสตร์มีการอาศัยศาสตร์อื่นเข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในลักษณะหลายศาสตร์ (Multi-disciplinary) และการเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์ (Inter-Disciplinary)  เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาก็เป็นศาสตร์หนึ่งที่ได้มีพัฒนาการของศาสตร์ในลักษณะหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน  การวิจัยจึงมีพัฒนาการอย่างหลากหลายมากขึ้น  ดังนี้

        1.       การวิจัยเพื่อศึกษาความคุ้มค่า  ในการวิจัยลักษณะเช่นนี้  อาจเกิดจากแนวคิดพื้นฐานในการพัฒนาสื่อ  และการเลือกใช้สื่อในเชิงเศรษฐศาสตร์  ที่ให้คำนึงถึงประสิทธิภาพ  ประสิทธิผล  และประหยัด  จึงมีการวิจัยเพื่อศึกษาถึงความคุ้มค่า  ในลักษณะต่าง ๆ ยกตัวอย่างได้ดังนี้

                 1.1    การใช้สื่อการสอนทางไกล  ที่ส่งผลต่อความคุ้มค่า  ในด้านค่าใช้จ่ายในการเดินทาง  ประหยัดเวลา  เรียนที่ใดก็ได้

                1.2    การสอนใช้คอมพิวเตอร์ที่มีต่อเวลาในการเรียนน้อยลง

                1.3    การใช้สื่อในการฝึกอบรมด้วยตัวเอง  ที่ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการจัดสถานที่  เวลาที่ไม่ตรงกันของผู้เข้ารับการอบรม  ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง  ค่าใช้จ่ายในการเตรียมการและบุคลากร

                1.4    สื่อบางชนิดสามารถจัดทำสำเนาได้ทำให้ลดค่าใช้จ่ายลงได้  เช่น  วีดิทัศน์  บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน  เป็นต้น

                1.5    การใช้สื่อสามารถสอนกลุ่มใหญ่ในเวลาเดียวกันได้  เช่น  การสอนใช้คอมพิวเตอร์ขยายผ่านเครื่องฉายสัญญาณภาพเข้าจอขนาดใหญ่ได้  เป็นต้น

                1.6    การใช้สื่อในการเรียนเสริมด้วยตนเอง  เช่น  ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง  การจัดเตรียมสถานที่  การเดินทาง  ครูผู้สอน  เป็นต้น

        2.       การวิจัยโดยอาศัยวิธีการเชิงระบบ  (System Approach)  การวิจัยลักษณะนี้สามารถแบ่งออกได้หลายแบบ  ดังนี้

                2.1    การวิจัยระบบสื่อการเรียนการสอน  เป็นการนำวิธีระบบมาใช้ในการจัดการสื่อให้มีการใช้สื่ออย่างเป็นระบบ  ได้แก่  การวิจัยระบบสื่อการสอนรายบุคคล  การวิจัยระบบชุดการสอน  และการวิจัยระบบสื่อประสม

                2.2    การวิจัยระบบการเรียนการสอน  เป็นการนำวิธีระบบเข้าไปใช้เพื่อจัดระบบขององค์ประกอบต่าง ๆ ในการเรียนการสอน

                2.3    การวิจัยระบบการบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา  เป็นการจัดระบบที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบในการบริหารจัดการทั้งหมด  หรือแยกระบบในองค์ประกอบย่อยเป็นด้านต่างๆ เช่น ด้านแผนและนโยบาย  ด้านงานธุรการ  การเงิน  พัสดุ  ด้านทรัพยากรมนุษย์  ด้านอาคารสถานที่  ด้านสภาพแวดล้อม  ด้านระบบสารสนเทศ  ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  เป็นต้น

                2.4    การวิจัยระบบบริการเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา  เป็นการจัดระบบที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบของการบริการทั้งหมด  หรือแยกระบบเป็นองค์ประกอบย่อยเป็นด้านต่างๆ เช่น  การบริการโสตทัศนูปกรณ์  การบริการสื่อโสตทัศน์  การบริการสื่อสิ่งพิมพ์  การบริการให้คำปรึกษา  และการบริการห้องโสตทัศนศึกษา

                2.5    การวิจัยระบบแหล่งการเรียนรู้  เป็นการจัดระบบและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรการเรียนรู้ทั้งหมดเข้ามารวมกันในแหล่งเดียวกัน  หรือสถานที่เดียวกันเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องที่หลากหลายหรือเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน  เช่น  อุทยานการเรียนรู้  ศูนย์การเรียนรู้  พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้  แหล่งเรียนรู้ชุมชน  ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี  เป็นต้น

                2.6    การวิจัยเชิงประเมิน  เป็นการวิจัยเพื่อการประเมินระบบต่างๆ   การประเมินโครงการ  หรือการประเมินการดำเนินการ  โดยอาศัยรูปแบบการประเมินต่างๆ  เช่น รูปแบบการประเมินตามวัตถุประสงค์  รูปแบบการประเมินแบบตอบสนอง  รูปแบบการประเมินเพื่อการตัดสินใจ  รูปแบบการประเมินโดยผู้ชำนาญ  เป็นต้น

        3.       การวิจัยมาตรฐานและตัวบ่งชี้  เป็นการวิจัยเพื่อกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา  เทคโนโลยี  ผู้บริหาร  ครูอาจารย์และบุคลาการทางการศึกษา  ตลอดจนการบริหารจัดการ  การบริการ  และการวิจัย  เช่น  มาตรฐานหลักสูตร   มาตรฐานสถานศึกษา  มาตรฐานผู้บริหาร  มาตรฐานครู  อาจารย์  บุคลากรทางการศึกษา  มาตรฐานเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา  มาตรฐานการบริหารจัดการการเรียนรู้  มาตรฐานแหล่งเรียนรู้  มาตรฐานสื่อการเรียนรู้  มาตรฐานการบริการการศึกษา  เป็นต้น  ทั้งนี้อาจจะศึกษาในระดับมหภาคหรือลึกลงไปในระดับจุลภาคก็ได้ 

        4.       การวิจัยการประกันคุณภาพการศึกษา  เป็นการวิจัยเพื่อกำหนดระบบการประกันคุณภาพในการศึกษาทั้งระบบ (Total Quality Management) หรือการประกันคุณภาพในด้านต่าง ๆ เช่น  ด้านการบริหาร  ด้านหลักสูตร  ด้านการจัดการเรียนการสอน  ด้านสิ่งสนับสนุนและอำนวยความสะดวก  ด้านสภาพแวดล้อม  ด้านการบริหารจัดการ  ด้านเทคโนโลยี  ด้านแหล่งเรียนรู้  เป็นต้น  ซึ่งการประกันคุณภาพการศึกษา  ต้องเน้นที่ผู้รับบริการเป็นสำคัญ

        5.       การวิจัยการบริหารจัดการสมัยใหม่เข้ากับการศึกษา  เป็นการนำหลักการบริหารจัดการสมัยใหม่เข้ามาบูรณาการกับการศึกษาในองค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อศึกษาผลที่ได้หลาย ๆ แง่มุม  เช่น  ผลการเรียนรู้  กระบวนการเรียนรู้  การรับรู้  เจตคติ  ความพึงพอใจ  ผลผลิต  เป็นต้น  หลักการบริหารจัดการสมัยใหม่  ที่สามารถนำมาวิจัยร่วมได้  เช่น  การบริหารแบบมีส่วนร่วม (Participation Management) ธรรมาภิบาล (Good Governent) การบริหารที่เน้นการปฏิบัติงาน (Performance-Based Management) การบริหารเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) การพัฒนาองค์กรการเรียนรู้ (Learning Organization)  วินัย 5 ประการ (The Fifth Discipline) การเรียนรู้ภาวะผู้นำ (Leadership Learning) การเรียนรู้ความเป็นเจ้าของธุรกิจ (Entrepreneurial Learning)  การจัดการความรู้ (Knowledge Management) Balance Score Card การบริหารความเปลี่ยนแปลง (Change Management) ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) การบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relative Management) เป็นต้นการบริหารจัดการสมัยใหม่  สามารถบูรณาการเข้ากับการศึกษาทั้งในการเรียนการสอน  การเรียนรู้  การฝึกอบรม  การบริหารจัดการ  การบริการ  และการวิจัย

        6.       การวิจัยเชิงนโยบาย  เป็นวิจัยเพื่อใช้นำมากำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา  ในองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น  นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา  นโยบายการใช้อินเทอร์เน็ตสำหรับเด็ก  นโยบายเกมออนไลน์เพื่อการเรียนรู้  นโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ของชุมชน  นโยบายสื่อชุมชน  นโยบายรายการเพื่อการเรียนรู้ในสื่อโทรทัศน์  เป็นต้น

        7.       การวิจัยเพื่อการพัฒนาศักยภาพเพื่อการแข่งขัน  เป็นการวิจัยเพื่อศึกษาองค์ประกอบ  และกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างศักยภาพของประเทศที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านอุปทาน  ปัจจัยด้านอุปสงค์  ความพร้อมของอุตสาหกรรมต่อเนื่องและอุตสาหกรรมสนับสนุน  และความสามารถขององค์กรและบรรยากาศของการแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศ  เช่น  การพัฒนาสื่อมัลติมีเดียอนิเมชั่นการเรียนรู้เพื่อการแข่งขัน  การพัฒนาอุตสาหกรรมคลัสเตอร์ทางอีเลิร์นนิ่งภาคกลางตอนล่าง  เป็นต้น

        8.       การวิจัยเทียบเคียง (Benchmark) เป็นการวิจัยเพื่อศึกษาองค์ประกอบหรือสิ่งที่ต้องการพัฒนาโดยเทียบเคียงกับแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) เทียบเคียงกับเกณฑ์หรือมาตรฐาน  อาจจะดำเนินการเทียบเคียงได้ 3 ระดับ  ได้แก่  การเทียบเคียงระดับโลก/ภูมิภาค (Global Benchmark/Regional Benchmark) การเทียบเคียงระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Benchmark) และการเทียบเคียงระดับปฏิบัติงานหรือการดำเนินการ (Process Benchmark)  เช่น  การเทียบเคียงมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี  การเทียบเคียงยุทธศาสตร์เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา  การเทียบเคียงการจัดการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษา  การเทียบเคียงการจัดการเรียนการสอนทางไกลโดยอีเลิร์นนิงเป็นหลัก  เป็นต้น

        9.       การวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารยุคใหม่  เป็นการวิจัยโดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารยุคใหม่มาประยุกต์ในการเรียนการสอน  การเรียนรู้  และการฝึกอบรม  ตลอดจนการบริหาร  การบริการ  และการวิจัย  ยกตัวอย่างได้ดังนี้

                  9.1    ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) เป็นการวิจัยเพื่อนำระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับการศึกษาในการบริหารจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมในการบริการการศึกษาทให้ทั่วถึง  เช่น  วิเคราะห์ตำแหน่งสถานศึกษาที่ให้บริการในแต่ละภาคหรือชุมชน  กำหนดหรือระบุตำแหน่งโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เป็นต้น  นอกจากนี้การประยุกต์ใช้ในการกำหนดแหล่งเรียนรู้  แหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้  แหล่งโบราณสถานเพื่อการเรียนรู้  ปราชญ์ชุมชน  แหล่งเรียนรู้ผลิตภัณฑ์ชุมชน  หรือแหล่งวัฒนธรรมเพื่อให้สังคมเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

                  9.2    การวิจัยระบบ GPRS เพื่อการศึกษา  เป็นการวิเคราะห์เพื่อนำความสามารถของระบบ GPRS มาใช้เพื่อการศึกษา  เช่น  การติดตามพฤติกรรมการเรียนรู้ผู้เรียนนอกเวลาเรียน  การวิเคราะห์พฤติกรรมการเรียนรู้เป็นทีม  เป็นต้น

                  9.3    การวิจัยระบบ RFID เพื่อการศึกษา  เป็นการนำเทคโนโลยี RFID มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการศึกษา  เช่น  ระบบห้องสมุด  ระบบโสตทัศนวัสดุ  ระบบโสตทัศนูปกรณ์  ระบบพิพิธภัณฑ์  ศูนย์การเรียนรู้  เป็นต้น

                  9.4    การวิจัย Mobile Learning เป็นการนำเทคโนโลยีเครือข่ายและอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแบบเคลื่อนที่หรือแบบไร้สายมาประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งการเรียนการสอน  การฝึกอบรม  การเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน  การบริหารจัดการ  การบริการ  และการวิจัยเช่น  การเรียนรู้ผ่านคอมพิวเตอร์แบบพกพา (PDA) การเรียนรู้ผ่านเครื่องเล่น MP4 การเรียนรู้ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่  การเรียนรู้ด้วยระบบ MMS เป็นต้นนอกจากนี้นักการศึกษาต้องแสวงหาและพัฒนานวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้

        10.    การวิจัยเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อการศึกษา  เป็นการนำเทคโนโลยีมาประดิษฐ์  คิดค้น  หรือประยุกต์ใช้ทางการศึกษา  เช่น  การนำนาโนเทคโนโลยีมาประดิษฐ์อุปกรณ์ทางการศึกษา  การนำระบบ Logistic มาใช้ในระบบบริการทางการศึกษา  เป็นต้น

        11.    การวิจัยแนวพุทธเพื่อการศึกษา  เป็นการนำหลักธรรม  หลักปรัชญา  พุทธสุภาษิต  หรือคำสอนในแนวพุทธ  มาประยุกต์ใช้ในการศึกษา  เช่น  การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามหลักพรหมวิหาร 4  การพัฒนารูปแบบเว็บช่วยสอนตามหลักอริยสัจ 4 เป็นต้น

        12.    การวิจัยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการศึกษา  เป็นการวิจัยที่นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการศึกษา  อาจจะใช้ในการบริหารจัดการ  การบริการการเรียนการสอน  การฝึกอบรม  และการวิจัยโดยการนำไปสอดแทรกในกิจกรรม  การให้ความรู้หรือในการดำเนินการ  เช่น  การใช้สื่อการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ผ่านเว็บตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  การสอดแทรกหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่  เป็นต้น

        13.    การวิจัยภูมิปัญญาเพื่อการศึกษา  เป็นการวิจัยโดยนำภูมิปัญญาที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ของคนไทย  มาประยุกต์ใช้หรือถ่ายทอดเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ  ได้แก่  ด้านเกษตรกรรม  ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม  ด้านการแพทย์แผนใหม่  ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน  ด้านศิลปกรรม  ด้านภาษาและวรรณกรรม  ด้านปรัชญา  ศาสนา  ประเพณี  และด้านโภชนาการ  เช่น  การวิจัยครูภูมิปัญญาไทย  การพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิปัญญาไทย  การพัฒนาการเรียนรู้เชิงอิเลกทรอนิกส์ภูมิปัญญาไทย  เป็นต้น

        14.    การวิจัยเทคโนโลยีเพื่อสังคม  เป็นการวิจัยเพื่อเฝ้าระวังเทคโนโลยีที่มีผลต่อพฤติกรรมการใช้คนในสังคมไปในทางที่เสื่อมเสีย  และการใช้เทคโนโลยีที่มีผลดีต่อส่งเสริมสังคมอยู่ดี  มีสุข  และการเรียนรู้  เช่น  การวิจัยการเฝ้าระวังการใช้อินเทอร์เน็ตของเยาวชน  การวิจัยการเฝ้าระวังการรับรู้ผ่านสื่อโทรทัศน์  การพัฒนาเกมเพื่อส่งเสริมทักษะการใช้ชีวิตในสังคม  เป็นต้น 

        จะเห็นได้ว่าแนวคิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาได้มีการบูรณาการหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน  ทำให้มีการวิจัยในลักษณะที่กว้างขวางขึ้น  นอกจากนี้นักการศึกษา  และนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาจำเป็นต้องแสวงหา  คิดค้น  ทำการวิจัยและพัฒนาเพื่อชี้นำและเป็นแนวทางในการนำไปใช้เพื่อพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม


 

บรรณานุกรม 

เปรื่อง  กุมุท  และทิพย์เกสร  บุญอำไพ. แนวคิดการวิจัยทางเทคโนโลยีและสื่อสาร

        การศึกษา.หน่วยที่ 8. ในประมวลสาระชุดวิชาการวิจัยเทคโนโลยีและสื่อสาร

        การศึกษา  หน่วยที่ 8-10. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช , 2547.

ไชยยศ  เรืองสุวรรณ.  เทคโนโลยีการศึกษา : ทฤษฎีและการวิจัย. กรุงเทพมหา

        นคร : โอ.เอส. พริ้นติ้ง  เฮ้าส์., 2533.

Jonassen , David H.  editor. Handbook of Research on Educational 

        Communications and Technology. 2nd ed. A Project of the Association for

        Educational Communications and Technology. [1]London : Lawrence

        Erlbaum Associates , Publishers , 2004.


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 92193เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2007 13:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับท่านอาจารย์
มาขอเรียนรู้ด้วยนะครับ
ขอบคุณครับ

ยินดีครับ อยากให้ทุกท่านที่อ่านแสดงความเห็นด้วย จะได้แลกเปลี่ยนความเห็นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท