แนวคิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา (3)


การวิจัยสื่อในแนวกว้างและแนวลึก

การวิจัยสื่อในแนวกว้างและแนวลึก 

        เมื่อการวิจัยสื่อแต่ละชนิดและการเปรียบเทียบสื่อยังคงดำเนินไปได้มีนักการศึกษาได้ตั้งคำถาม  และวิจัยหาคำตอบต่อไปว่า

        1.       การใช้สื่อ  หรือการนำเสนอสื่อแต่ละชนิด  หากใช้กับสภาพแวดล้อม  หรือบริบทที่ต่างกัน  จะเกิดผลต่อผู้เรียนต่างกันหรือไม่  หรือหากนำเสนอสื่อโดยวิธีการ  รูปแบบ  ระยะเวลา  ขั้นตอน  หรือเทคนิคที่ต่างกัน  จะส่งผลต่อผู้เรียนด้านต่าง ๆ แตกต่างกันหรือไม่

        2.       คุณลักษณะหรือโครงสร้างภายในสื่อแต่ละชนิด  จะเกิดผลต่อผู้เรียนต่างกันหรือไม่

        3.       การใช้สื่อแต่ละชนิดร่วมกับสื่อชนิดอื่น  ในลักษณะหลายสื่อประสมกัน  มีผลดีกว่าการใช้สื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเพียงชนิดเดียวหรือไม่

        4.       การใช้สื่อแต่ละชนิดร่วมกับคุณลักษณะหรือโครงสร้างภายในสื่อ  จะมีผลดีกว่าการใช้สื่อหรือคุณลักษณะของสื่ออย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่

        5.       สื่อแต่ละชนิดที่มีคุณลักษณะต่างกัน  ชนิดใดเหมาะสมกับลักษณะที่แตกต่างกันของผู้เรียน  ลักษณะใด จะเห็นได้ว่าการวิจัยสื่อได้มีการวิจัยที่ลึกซึ้งลงไปในการใช้  การนำเสนอ  คุณลักษณะ  โครงสร้าง  ตลอดจนการให้ความสนใจในลักษณะของผู้เรียนที่แตกต่างกันด้วย  จึงมีแนวคิดในการวิจัยสื่อที่หลากหลายมากขึ้น  พอสรุปได้ดังนี้

                1.       การวิจัยเพื่อศึกษาผลการใช้สื่อในสภาพแวดล้อมและบริบทที่ต่างกัน  เช่น  การใช้กราฟิกลายเส้นในการสอนเป็นกลุ่มเล็ก  การใช้บัตรคำในการสอนแบบเกม  เป็นต้น  หรือการนำเสนอสื่อด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น  การนำเสนอภาพในระยะเวลาที่ต่างกันจะส่งผลต่อการจำ  การระลึกได้  การรับรู้  หรือการเรียนรู้ต่างกันหรือไม่  การแสดงหัวข้อทีละหัวข้อกับการแสดงหัวข้อทั้งหมดประกอบการบรรยายแบบใดให้ผลดีกว่ากัน  เป็นต้น

                2.       การวิจัยเพื่อศึกษาผลของคุณลักษณะภายในสื่อ (Intra-Medium)  เมื่อการศึกษาที่ผ่านมาได้ศึกษาเพื่อเปรียบเทียบสื่อแต่ละชนิดแล้วผลที่ค้นพบมีทั้งที่สอดคล้องและขัดแย้งกัน  อีกทั้งไม่ได้เกิดจากที่ตัวสื่อโดยตรง  จึงมีความพยายามจะศึกษาลงลึกไปภายในคุณลักษณะของสื่อแต่ละชนิดว่า  คุณลักษณะและโครงสร้างในสื่อนั้นส่งผลต่อผู้เรียนอย่างไร  เช่น  การวางตำแหน่งของภาพบนหน้าจอที่ต่างกัน  รูปแบบและขนาดตัวอักษรบนหน้าจอคอมพิวเตอร์  เป็นต้น

                3.       การวิจัยเพื่อศึกษาผลของการใช้สื่อแต่ละชนิดร่วมกับสื่ออื่น  เช่น  การใช้สื่อกราฟิกประกอบเทปเสียง  การใช้หุ่นจำลองประกอบกับสื่อของจริง  เป็นต้น

                4.       การวิจัยเพื่อศึกษาผลของการใช้สื่อแต่ละชนิดร่วมกับคุณลักษณะหรือโครงสร้างภายในสื่อ  เช่น  การเสนอภาพกราฟิก 2 มิติพร้อมกันที่มีระยะเวลาเสนอภาพต่างกัน  หรือการเสนอภาพอุปมาอุปไมยที่เสนอภาพพร้อมกันกับเสนอทีละลำดับ  เป็นต้น

                5.       การวิจัยเพื่อศึกษาผลของการใช้สื่อแต่ละชนิดกับลักษณะของผู้เรียนที่ต่างกัน  เช่น  การใช้สื่อกับผู้เรียนที่มีเชาวน์ปัญญาต่างกัน  การใช้สื่อกับผู้เรียนที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ต่างกัน  การใช้สื่อกับผู้เรียนที่มีความถนัดทางเรียนต่างกัน  การใช้สื่อกับผู้เรียนที่มีลีลาการเรียนต่างกัน  การใช้สื่อกับผู้เรียนที่มีความคิดสร้างสรรค์ต่างกัน  เป็นต้น 

        จากการวิจัยสื่อที่ผ่านมาตั้งแต่การศึกษาสื่อ  การเปรียบเทียบสื่อ  และการศึกษาสื่อในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น  ทั้งการใช้สื่อ  คุณลักษณะหรือโครงสร้างภายในสื่อ  การใช้ร่วมกับสื่ออื่นหรือคุณลักษณะของสื่อ  ตลอดจนลักษณะของผู้เรียนที่ต่างกัน  เพื่อให้ผลที่ประจักษ์และนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง  นักการศึกษายังไม่หยุดนิ่งในการศึกษาวิจัย  ประกอบกับเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งเทคโนโลยีวัสดุ อุปกรณ์ และวิธีการใหม่ๆ  นักการศึกษาจึงตั้งปัญหาและวิจัยเพื่อค้นหาคำตอบอย่างไม่หยุดนิ่ง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 92190เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2007 13:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 22:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมเป็นนักศึกษา มรภ.พระนคร สาขาครุศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาเทคโนโลยสารสนเทศและสื่อสารการศึกษา  ศูนย์โรงเรียนปทุมวิไล  รุ่นที่ ๑ กลุ่ม ๑ กำลังจะเสนอเรื่องวิทยานิพนธ์  ถ้ามีโอกาสขอความกรุณาช่วยชี้แนะด้วยครับ

ยินดีครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท