แนวคิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา (2)


การเปรียบเทียบสื่อเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา

การเปรียบเทียบสื่อ               

           จากการวิจัยสื่อแต่ละชนิดว่ามีผลอย่างไรต่อผู้เรียน  พบว่าผลการวิจัยมีทั้งที่สอดคล้องกัน  และขัดแย้งกัน  ซึ่งหากวิเคราะห์ในเชิงลึกแล้วสื่อแต่ละชนิดโดยตัวของสื่อเองไม่มีผลต่อการเรียนรู้  ถ้าสื่อ ๆ นั้นไม่มีสารเข้าไปบรรจุอยู่  ซึ่งสื่อและสารจะไม่สามารถแยกออกจากกันได้ชัดเจน  ฉะนั้นการที่ได้ทำการวิจัยสื่อแต่ละชนิดนั้นต้องวิเคราะห์ว่าสารที่บรรจุในสื่อนั้นเป็นสารชนิดใดและอย่างไร                เมื่อข้อค้นพบไม่สามารถยุติได้  จึงมีนักการศึกษาได้พยายามทำการวิจัยว่าหากสื่อแต่ละชนิดได้บรรจุสารที่เหมือนกัน  ระหว่างสื่อที่ต่างชนิดกันนั้นจะส่งผลต่อผู้เรียนหรือไม่  อย่างไร  จึงได้มีแนวคิดในการเปรียบเทียบสื่อ  ซึ่งสามารถยกตัวอย่างได้ดังนี้

          1.       การเปรียบเทียบระหว่างสื่อวัสดุกับสื่อวัสดุ  ว่าส่งผลต่อผู้เรียนหรือไม่อย่างไร  เช่นการเปรียบเทียบตำรากับบทเรียนโปรแกรม  การเปรียบเทียบโปสเตอร์กับแผ่นพับ  เป็นต้น

          2.       การเปรียบเทียบระหว่างสื่ออุปกรณ์กับสื่ออุปกรณ์  ว่าส่งผลต่อผู้เรียนหรือไม่อย่างไร  เช่น  การเปรียบเทียบเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ  กับเครื่องนำเสนอสัญญาณภาพ  การเปรียบเทียบคอมพิวเตอร์กับเครื่องวีดิทัศน์  เป็นต้น

        3.       การเปรียบเทียบระหว่างวิธีการกับวิธีการ  ว่าส่งผลต่อผู้เรียนหรือไม่อย่างไร  เช่น  การเปรียบเทียบการสอนกลุ่มเล็กกับการสอนกลุ่มใหญ่  การเปรียบเทียบการสอนแบบอุปมาอุปไมยกับการสอนความคิดรวบยอด  เป็นต้น

        4.       การเปรียบเทียบระหว่างสื่อวัสดุกับสื่ออุปกรณ์  หรือการเปรียบเทียบระหว่างสื่ออุปกรณ์กับวิธีการ  หรือการเปรียบเทียบระหว่างวิธีการกับสื่อวัสดุ  เช่น  การเปรียบเทียบตำรากับเครื่องฉายข้ามศีรษะ  หรือการเปรียบเทียบเครื่องนำเสนอสัญญาณภาพกับการสอนความคิดรวบยอด  หรือการสอนแบบอุปมาอุปไมยกับบทเรียนแบบโปรแกรม

        5.       การเปรียบเทียบระหว่างสื่อวัสดุ  สื่ออุปกรณ์  หรือวิธีการกับการสอนปกติ  เช่น  การเปรียบเทียบบทเรียนโปรแกรมกับการสอนปกติ  การเปรียบเทียบการสอนด้วยความพิวเตอร์กับการสอนแบบปกติ  หรือการเปรียบเทียบการสอนแบบอุปมาอุปไมยกับการสอนแบบปกติ  เป็นต้น

        จากการวิจัยเปรียบเทียบสื่อ  ผลการวิจัยที่ผ่านมามีทั้งที่สอดคล้องกัน  และขัดแย้งกัน  ซึ่งไม่แตกต่างจากผลการวิจัยในสื่อแต่ละชนิด               

        จากการวิเคราะห์เชิงลึกในการวิจัยเปรียบเทียบสื่อ  พบว่า  ถึงแม้ผู้วิจัยได้ควบคุมตัวแปรในเรื่องสารที่ให้เหมือนกัน  แต่เมื่อนำไปบรรจุในสื่อแต่ละชนิดที่มีคุณลักษณะต่างกัน  คุณลักษณะของสารได้บูรณาการเข้ากับคุณลักษณะของสื่อแต่ละชนิด  ผลที่ได้จึงมีทั้งที่แตกต่างกันและไม่แตกต่างกัน                ดังที่ Richard E. Clark ได้กล่าวและให้ความเห็นไว้ในหนังสือ “Media in Instruction : 60 Years of Research” ว่า  ไม่มีสรุปที่แน่ชัดของผลที่สื่อมีต่อการเรียนรู้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่อาจสรุปได้ว่าสื่อประเภทหนึ่งดีกว่าสื่ออีกประเภทหนึ่งในการทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวสื่อเอง  ประหนึ่งผู้วิจัยตั้งสมมติฐานล่วงหน้าไว้แล้วว่าสื่อที่ตนต้องการจะเปรียบเทียบมีความแตกต่างกันในการทำให้เกิดการเรียนรู้  (เปรื่อง  กุมุท  และทิพย์เกสร  บุญอำไพ , 2547)  นอกจากความคาดหมายว่าสื่อที่ตนต้องการเปรียบเทียบแตกต่างกันแล้ว  บางครั้งยังมีการตั้งสมมติฐานที่คาดหวังว่าสื่อใดดีกว่าสื่อใด  ซึ่งคุณลักษณะของสื่อบางชนิดมีข้อได้เปรียบกว่าสื่ออีกชนิดหนึ่ง  เช่น  สื่อวีดิทัศน์  ดีกว่าสื่อแผ่นโปร่งใส  ในการวิจัยเนื้อหากระบวนการ  เป็นต้น  หรือการเปรียบเทียบสื่อบางครั้งไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นที่ทราบอยู่แล้วว่าผลที่ได้จะเป็นอย่างไร  เช่น  การเปรียบเทียบการ์ตูนกับตำรา  ที่ส่งผลต่อความชอบของนักเรียนชั้นประถมศึกษา  เป็นต้น  ซึ่งสอดคล้องกับการปริทัศน์งานวิจัยทางสื่อของ Clark และ Salomon (Clark R , E. and Salomon , G., 1986 อ้างถึงในเปรื่อง  กุมุท  และทิพย์เกสร  บุญอำไพ , 2547)  ที่กล่าวว่า  งานวิจัยทางสื่อเกิดจากการตั้งประเด็นคำถามที่ใช้ในการวิจัยไม่เหมาะสม  และมีผลกระทบไปถึงการตั้งประเด็นคำถามที่โยงไปสู่ความคิดเห็นต่อการเรียนรู้ที่ว่า  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้เกิดจากปฏิสัมพันธ์ของผู้เรียนกับลักษณะเฉพาะของสื่อ  มิได้เกิดจากสื่อโดยตรงพร้อม ๆ กันนี้ก็ก้าวเข้าไปสู่  แนวคิดของการนำเอากระบวนการคิดหรือจิตวิทยาพุทธินิยม  เข้ามาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน  การวิจัยเพื่อหาคำตอบย่อมมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

 

หมายเลขบันทึก: 92189เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2007 13:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 22:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท