อบต.แห่งการเรียนรู้ (The fifth Discipline)


...หากใช้มุมมองว่านายก อบต. เป็นนายกรัฐมนตรีประเทศท่าข้าม ขณะนี้เปรียบเหมือนว่าเรามีคณะรัฐมนตรีกลายๆ มีคนดูยุทธศาสตร์ในแต่ละด้าน แปลงยุทธศาสตร์ไปสู่แผนและกิจกรรม สร้างทีมงานในสายกระทรวงของตัวเอง (วิสัยทัศน์ร่วมในการทำงาน - shared vision)

หากมองภาพอย่างนี้แล้ว ภาพเชิงระบบทั้ง 5 อย่างของการเรียนรู้แบบมีความสุข ที่นำเสนอมา เป็นการใช้ตัวชี้วัดความสุข (GDH) ว่าความสุขของคนตำบลท่าข้ามขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง (ภาพเชิงระบบ/เห็นช้างทั้งตัว - System Thinking) ไม่พ้นไปจากที่เราได้พูดและนำเสนอไปอยู่แล้ว เช่น สุขภาพองค์รวม การไม่มีหนี้สิน จัดการปัญหาตัวเองได้ มีความมั่นคงในเรื่องบุตรหลาน (จัดสวัสดิการเกิด แก่ เจ็บ ตาย) มีการพัฒนาอาชีพอย่างต่อเนื่อง มีกระทรวงคอยฝึกฝนชาวบ้านเรื่องอาชีพอยู่เนืองๆ ทำให้เขามีทางออกเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง

การใฝ่รู้ ใฝ่เรียนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะทำให้เกิดผลหลายข้อที่กล่าวมานี้  หากทำให้ประชาชนของประเทศท่าข้าม เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ แสวงหาความรู้ ชอบเรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนการศึกษา) ที่จะมาวางหลักสูตร กระบวนการออกแบบให้ประชาชนประเทศท่าข้ามสนุกสนาน ชื่นชมกับการเรียนรู้ ซึ่งกระบวนการจัดการความรู้ (KM) จะเข้ามาช่วยได้ (กลุ่มการเรียนรู้ - Team Learning)

คนมักเชื่อว่าการเรียนรู้อยู่เฉพาะชั้นเรียน จริงๆ คนเรียนรู้อยู่ตลอดชีวิต คนแบบนี้ต้องเป็นคนที่เปิดใจ เปิดหู เปิดตา เปิดหัว ตลอดเวลา พอถอยมาจะเริ่มเจอว่าคนมีร่องความคิดของตัวเอง จะพบว่าคนไม่ค่อยฟังกัน หัวใจอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องกลับมาวิเคราะห์ว่าการจะทำให้คนใฝ่รู้เรียนรู้ ให้คนมีฉันทะในการเรียนรู้ได้ อะไรจะเป็นเหตุปัจจัยได้บ้าง เช่น การเรียนรู้ที่กินได้ การฝึกอบรมที่ไม่ใช่เรียนเพื่อใช้ปากไว้ก่อน ต่างจากสมัยก่อนที่เมื่อเรียนแล้วใช้เลย เป็นหัวใจสำคัญของการถอดรหัสว่า ชาวบ้านเรียนรู้แบบไหนจึงจะสนุกกับการเรียนรู้ "กระทรวงศึกษาธิการต้องถอดรหัสการเรียนรู้ของชาวบ้าน เพื่อจะออกแบบการเรียนรู้ของชาวบ้านได้

ชาวบ้านมีวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบต่อเพลง (Learning Culture) ไปทำ แล้วกลับมาทำต่อ มาฝึกใหม่ โรงเรียนเกษตรกรก็ทำแบบนี้ เช่น ถึงเวลาต้องเตรียมดินก็เรียนเรื่องดิน พอต้องใส่ปุ๋ยก็เรียนเรื่องปุ๋ย ชาวบ้านมีความรู้สึกว่าความรู้ใช้ได้เลย มีประโยชน์ การจัดกระบวนการศึกษาเรียนรู้ที่มีผลต่อการใช้จริง ทำให้สนุก น่าเรียน

สิ่งที่ตามมาหากใฝ่รู้เรียนรู้แล้วคือ จะทำให้คนไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ หรือใครก็ตาม เอางานเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตัวเอง เราทำงานไป หากรู้จักมอง รู้จักคิด งานจะสอนและฝึกเราให้อดทน ให้พูดเป็น มีกุศโลบายในการประสานงาน แต่เขาจะรู้ว่างานสอนตัวเองได้ ต้องมีการ "ถอดบทเรียน" (AAR) จากการทำงาน เอาการทำงานมาเป็นอดีต เป็นครูได้ ทำแล้วถอดรหัสการเรียนรู้ออกมาให้ได้ ที่ทำไปแล้วสอน ให้บทเรียน ให้ความรู้อะไรเรา

ซึ่งหากถอดบทเรียนทำเป็นนิสัย เป็นวินัย เมื่อไหร่ ความรักในบทบาท ภูมิใจในบทบาทจะเกิดขึ้นมาเอง แล้วก็จะไปเชื่อมโยงกับคุณธรรมจริยธรรม ความสัมพันธ์ของคน การทำงานเป็นทีมก็จะเกิดขึ้น หากมองว่างานที่ทำมีคุณค่าต่อตัวเอง คนอื่น และเพื่อนมนุษย์ มิได้ทำเพื่อเงินเดือนอย่างเดียว หากทำงานเพื่อเงินเดือน ก็จะทำงานให้น้อย รับเงินให้เยอะ เป็นการวางจิตวางใจในการทำงานที่แคบตั้งแต่แรก ซึ่งการวางจิตวางใจนี้เกี่ยวข้องกับการมองโลก มองชีวิตของเราว่า มองแบบเข้าตัวเองหรือมองแบบเห็นแค่คนอื่นด้วย (โลกทัศน์ ชีวทัศน์ - Mental Model)

คนจัดกระบวนการเรียนรู้ ต้องทำหน้าที่ถอดบทเรียน เราเรียกเขาว่าเป็น "คุณอำนวยการเรียนรู้" (Knowledge Facilitator) คนๆ นี้จะต้องออกแบบการเรียนรู้ เอาชีวิตและงานจริงเป็นการเรียนรู้ เช่น กระทรวงศึกษา ต้องคิดว่าจะไปสร้างครูแบบนี้ได้อย่างไร ซึ่งจะเกี่ยวกับที่นายกๆ พูดถึงเรื่องภาวะผู้นำ (Leadership) แกนนำเหล่านี้ตอ้งไปทำกระบวนการ จะไปพูดเป็นเรื่องๆ ไม่ได้ เพราะชาวบ้านเรียนรู้หลายเรื่องพร้อมๆ กัน หากแกนนำสามารถออกแบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองชีวิตประจำวันของเขาได้ เช่น ทำเรื่องเกษตร ก็คุยเรื่องครอบครัว สุขภาพ ลูก ได้ด้วย เหมือนมีมหาวิทยาลัยชีวิต ที่อยู่รอบตัวเรา  หากสามารถสร้างมหาวิทยาลัยชีวิตในประเทศท่าข้ามได้ การเรียนรู้ก็จะยั่งยืน

เราถูกทำให้คิดแบบแยกส่วน เช่น โรงเรียนทำการสอน วัดก็รับผิดชอบเฉพาะคุณธรรมจริยธรรม  แต่จริงๆ ชีวิตไม่ได้เป็นแบบนั้น การคิดแยกส่วนทำให้เราไม่เห็นช้างทั้งตัว ทำให้เราเห็นมุมใดมุมหนึ่งอยู่อย่างเดียว เป็นปัญหาของการจัดการศึกษา แต่การเรียนรู้ของชาวบ้านไม่ตายตัว การศึกษาแบบนี้ทำลายความคิดเชื่อมโยง

รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ จะเป็นองค์ประกอบของศูนย์บริการร่วม เมื่อบุคคลแห่งการเรียนรู้มารวมเป็นทีม ก็เป็นทีมที่เรียนรู้ หลายๆ มีมาทำงานร่วมกัน ก็เป็นภาพของตำบลแห่งการเรียนรู้ เกิดสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้ มิใช่ผลประโยชน์ ในการทำงาเป็นทีม ต้องมีทักษะและความรู้เช่นกัน คนทำงานเป็นทีมไม่ได้เพราะยึดตัวตน ยึดมุมมองของตัวเองเพราะไม่ได้เปิดใจ เปิดหัว เราไม่เคยถูกฝึกฝนให้เป็นคนใจกว้าง เราถูกสร้างให้เป็นคนเห็นแต่ตัว ให้ตัวเองดีไว้ก่อน จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมปัจจุบันมนุษย์เห็นแก่ตัวมากขึ้น การทำงานเป็นทีมเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน เช่น ก็รู้อยู่ว่าสูบบุหรี่ ไม่ดี แต่ไม่มีทักษะที่จะเลิก

 

 

หมายเลขบันทึก: 92150เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2007 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท