แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร..ที่ใช้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนเป็นตัวตั้ง


แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่ใช้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนเป็นตัวตั้งและชุมชนเป็นเจ้าของ

         ผมนำบันทึกประสบการณ์ การเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agrotourism) ของชุมชนในตำบลเรือง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน มาถ่ายทอด เนื่องจากเห็นว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการพัฒนา หรือการส่งเสริมการเกษตร ที่ใช้วัฒนธรรมเป็นตัวตั้ง โดยการมีส่วนร่วม คิด ตัดสินใจ และรับผิดชอบดำเนินการ ไม่ใช่การนำเข้าเทคโนโลยีจากภายนอก เข้าไปเปลี่ยนแปลงชุมชน

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร..การพัฒนาที่ใช้วิถีชุมชนเป็นตัวตั้ง
            ผมได้มีโอกาสไปเยือนจังหวัดน่านเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 21 – 24  พฤศจิกายน 2548 เพื่อเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การสร้างนักวิจัยชุมชน และการจัดการความรู้ กับทางสำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน  โดยได้รับการประสานจากเครือข่ายคุณอำนวย (วิทยากรกระบวนการ) คือคุณพะยอม วุฒิสวัสดิ์  ระหว่างการสังเกตและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การสร้างนักวิจัยชุมชน  ซึ่งสถานที่การอบรมใช้สถานที่ของแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agrotourism)  ตั้งอยู่ ณ บ้านศรีนาป่าน ตำบลเรือง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน  ออกจากตัวเมืองน่านไปประมาณ 10 กิโลเมตร เท่านั้นเอง
           แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ของตำบลเรือง เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ชุมชนเป็นเจ้าของและดำเนินการเอง มีการกำหนดบทบาทหน้าที่และช่วยกันดำเนินการจัดการท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานเกษตรอำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบลเรือง และหน่วยงานและองค์กรอื่นๆ  มีกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่หลากหลาย  เช่น  เขตการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ  ซึ่งตั้งอยู่หลังศูนย์การท่องเที่ยว เป็นบริเวณป่าเมี่ยงของชุมชน  มีทางเดินที่สามารถเดินศึกษาสภาพของธรรมชาติ ที่ยังคงสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์  ที่ได้รับการอนุรักษ์จาก ชุมชน มีการจัดทำฝายแม้วเป็นระยะๆ ตามลำห้วย  มีน้ำขังและมีสัตว์เล็กๆ อาศัยอยู่ เป็นภาพที่ประทับใจหากท่านได้มาเยือน
          ใกล้กับศูนย์การท่องเที่ยว  มีแหล่งการศึกษากระบวนการทำเมี่ยงของชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน ได้เห็นอุปกรณ์และวิธีการทำเมี่ยง และประวัติการปลูกเมี่ยงของชุมชน ซึ่งมีประวัติอันยาวนานกว่า 400 ปี ที่ได้มีการนำต้นเมี่ยงมาปลูกโดยเจ้าหลวงป่าเมี่ยง ที่ชุมชนยังให้ความเคารพนับถือเสมอมา
          อีกกิจกรรมหนึ่งที่คณะผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรการสร้างนักวิจัยชุมชน ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมหลังจากการอบรมเรียบร้อยในวันแรกก็คือ กิจกรรมการเดินศึกษาธรรมชาติในป่าเมี่ยง เริ่มต้นด้วยการนั่งรถจากตัวศูนย์บริการการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ผ่านบริเวณหมู่บ้าน  และบริเวณไร่ข้าวโพดของชาวบ้านไปตามทางไหล่เขาเข้าสู่บริเวณป่าเมี่ยงของชุมชน  ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร

                               
           เดินตามทางไปอย่างไม่รีบร้อน ชมนกชมไม้ไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ก็เดินมาถึงที่พักแรม บริเวณชั้นที่1 เรียกว่าท่าหินฝนพร้า ซึ่งเป็นบริเวณที่ราบใกล้ๆ กับลำห้วยซึ่งชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า ที่นี่เป็นถิ่นที่อยู่ของเต่าปูลู เป็นเต่าที่มีลักษณะพิเศษและหายาก หางยาวกว่าเต่าทั่วๆ ไป   อีกฟากหนึ่งของท่าหินฝนพร้า ติดกับภูเขา มีซุ้มที่นั่งพักผ่อน  สถานที่กางเต็นท์พักแรม และห้องน้ำสำหรับไว้บริการแก่นักท่องเที่ยว
           การพักค้างแรมในป่า  ก็เป็นอีกบริการหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของตำบลเรือง   ชุมชนมีเต็นท์บริการ  พร้อมทั้งช่วยกางและเก็บให้เสร็จเรียบร้อย  นักท่องเที่ยวอย่างพวกเราส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เตรียมเต้นท์มาด้วยได้รับความสะดวกสบายเป็นอย่างมาก    พอพลบค่ำชุมชนยังมีบริการอาหารเย็นที่รสชาดเป็นเลิศ  ผมรับรองว่าในชีวิตบางท่านอาจไม่เคยได้รับประทานมาก่อน  สิ่งที่ทำให้ทุกคนมีความประทับใจ ก็คือ  “ หลาม
          “ หลาม ที่ผมได้มีโอกาสรับประทาน เป็นวิธีการประกอบอาหารที่ใช้ลำกระบอกไม้ไผ่ลำโตๆ มาใช้แทนหม้อแกงอย่างที่พวกเราเคยพบเห็น  หลามที่ชุมชนจัดให้เรารับประทานในเย็นวันนี้ก็คือ หลามหยวกกล้วย เป็นอาหารเย็นที่ถูกปากของพวกเราทุกคน 

                              
           เช้าวันใหม่ตื่นนอนตั้งแต่ตอนตี 5 จัดเก็บข้างของส่วนตัว ก็ออกเดินทางจากที่พักตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อเดินทางกลับ ขณะที่เดินทางกลับ พวกเรายังได้มีโอกาสเดินชมธรรมชาติในยามเช้า บรรยากาศก็แตกต่างไปจากตอนเย็นที่เราเดินผ่านมา เพราะมี  น้ำค้างเปียกพื้นทางเดิน  อากาศก็เย็นกว่า  ขากลับยังได้มีโอกาสเห็นต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่มาก ป้ายบอกว่าขนาด 12 คนโอบ เสียดายที่กล้องถ่ายรูปแบตเตอรี่หมดเสียก่อนเลยเก็บภาพมาฝากไม่ได้  แต่เท่าที่เก็บภาพมาได้ก็มีความประทับใจเป็นอย่างมาก
            แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของตำบลเรือง  ทำให้พวกเราทุกคนล้วนประทับใจในการได้มาเยี่ยมชมและพักแรมในครั้งนี้   น้อยคนนักที่จะมีโอกาสดีอย่างพวกเรา ได้มีโอกาสเห็นป่าเมี่ยง ซึ่งเป็นระบบการปลูกพืชแบบผสมผสานที่ดีที่สุดในการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  เพราะชุมชนทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของ  เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและผู้ที่สนใจที่อยากจะเรียนรู้ธรรมชาติ เป็นรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาที่เอาวิถีชีวิต  ชุมชน  หรือที่เรียกว่าการพัฒนาที่เอาวัฒนธรรมเป็นตัวตั้ง นั่นเอง                                                                        
             ติดต่อและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
·        สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองน่าน                     โทร 0-547-5234 . 09-8535389  หรือ
·        ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลเรือง            โทร 0-5470-1033 , 01-9502220
                                                                          

วีรยุทธ  สมป่าสัก
                                                                

หมายเลขบันทึก: 9159เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2005 13:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ชุมชนอย่างนี้ น่าจะเปิดให้นักเรียน นักศึกษาได้เข้าไปเรียนรู้ธรรมชาติด้วย ก็ดีนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท