การบริหารโดยใช้ ACT


คนไทยต่างคนก็ต่างเก่งครับ และบางทีก็ยอมกันไม่ได้ รับแต่ชอบ ไม่รับผิด บางทีคิดไม่เหมือนกันนิดเดียวก็กลายเป็นทะเลาะกันและขัดแย้งกันบานปลายไปเลย ให้อภัยกันไม่เป็น น่าเสียดายมาก

เมื่อตอนรับงานใหม่ ๆ ผมสังเกตพบว่างานในกลุ่มงานที่รับผิดชอบมีปัญหาในหลายๆด้าน เพราะความที่เรายังใหม่ คำว่าใหม่ผมหมายถึงใหม่ต่อสถานที่ ใหม่ต่องาน ที่สำคัญคือใหม่ต่อวัฒนธรรมขององค์กร ซึ่งก็คือวัฒนธรรมของคนในองค์กรที่มีวิธีคิด วิธีปฏิบัติ ต่อเนื่องกันมา บางอย่างก็ดี บางอย่างก็มีปัญหา หลายอย่างก็บอกไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดีเพราะเราเองก็ยังมีข้อมูลไม่พอ   ผมโชคดีอยู่บ้างที่ได้ทีมงานที่เก่ง และมีประสบการณ์สูง ทำงานกันมาเป็นเวลานาน  หลายคนมีวิทยฐานะสูงกว่าผมเสียอีก เพื่อนผู้บริหารหลายคนก็เป็นห่วงผมว่าจะไปรอดหรือเปล่า ผมทำอย่างไรหรือครับ ผมใช้ความอ่อนน้อมถ่อมตนครับ รับฟังความคิดเห็น ยกย่องให้กำลังใจ ขณะเดียวกันก็ใช้เวลาในการเรียนรู้ทำความรู้จักทุกคนให้เร็วที่สุดและมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

มีหลักการที่ผมใช้ง่ายๆ อยู่ 3 ข้อครับที่ผมเห็นว่าพอจะนำมาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ผู้อ่านก็คือ หลัก ACT ครับ

  1. A  หมายถึง ATTITUDE คือทัศนคติ ต้องพยายามปรับทัศนคติ ปรับความเชื่อ ซึ่งผมไม่ได้ไปสั่งให้ทีมงานเขาปรับหรอกนะครับ ผมนี่แหละครับปรับทัศนคติของตนเองก่อน  ให้มีทัศนคติที่ดี คิดเป็นบวกเสมอ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทีมงานทำให้ทุกคนมีแนวโน้มที่จะเชื่อมั่นในแนวทางเดียวกัน ภายใต้เหตุผลความเหมาะสมและการมีส่วนร่วมของทุกคนครับ
  2. C หมายถึง COMMUNICATION ได้แก่การสื่อสารกันภายในทีมงานและภายในองค์กร ผมพบว่าปัญหาหลายอย่างเกิดจากการสื่อสารของคนภายในองค์กร และมักจะสื่อสารกันในทางลบมากกว่าทางบวก นับเป็นปัญหาที่พบมากในทุกองค์กรนะครับ ผมต้องใช้การประชุม การบันทึกข้อความเป็นหนังสือเวียนเพื่อแจ้งให้ทราบอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ขณะเดียวกันก็พยายามใช้การสื่อสารอย่างไม่เป็นทางการอีกทางหนึ่งด้วย ในการประชุมจะต้องบันทึกมติที่ประชุมในทุกประเด็นและก่อนจบการประชุมทุกครั้งจะให้เลขานุการอ่านทบทวนมติที่ประชุมให้สมาชิกฟังอีกครั้ง ข้อสำคัญสำหรับหลักการในข้อนี้ก็คือ พึงใช้การสื่อสารทางบวกเสมอครับ
  3. T หมายถึงTEAMWORK ครับ ผมให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างทีมในการทำงานครับ แม้จะพบความจริงว่า  แต่ละคนก็เก่ง และมีความสามารถเฉพาะตนสูง รับผิดชอบงานของตนดีมาก แต่ค่อนข้างชัดเจนว่ายังขาดสิ่งที่เราเรียกกันว่า TEAM SPIRIT งานนี้ไม่ง่ายครับ ต้องค่อยๆ สร้างและต้องใช้ความจริงใจ ความเอื้ออาทร ความเป็นเอกภาพ และความรับผิดชอบร่วมกัน คนไทยต่างคนก็ต่างเก่งครับ และบางทีก็ยอมกันไม่ได้ รับแต่ชอบ ไม่รับผิด บางทีคิดไม่เหมือนกันนิดเดียวก็กลายเป็นทะเลาะกันและขัดแย้งกันบานปลายไปเลย ให้อภัยกันไม่เป็น น่าเสียดายมาก   ที่น่าเสียดายกว่านี้ก็คือมักตัดสินใจโดยลืมนึกถึงส่วนรวมเป็นสำคัญ เพราะเขามักจะมองว่า เรื่องส่วนรวมเป็นหน้าที่ของผู้บริหาร เขาทำเท่าที่เขามีหน้าที่โดยตรงเท่านั้น

หลักการทั้ง 3 อย่างที่ผมเล่ามานี้ข้อที่ 3 จึงทำยากกว่าเพื่อนครับ   แต่เพื่อนผู้บริหารก็ไม่ต้องท้อนะครับ ไม่มีปัญหาอะไรที่ผู้บริหารแก้ไขไม่ได้จริงไหมครับ  ...

คำสำคัญ (Tags): #หลักการบริหาร
หมายเลขบันทึก: 90510เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2007 22:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ชอบบันทึกนี้จังค่ะ แสดงจุดยืนของตัวเองได้อย่างน่านิยม รวมทั้งคิดได้รอบด้าน ขอเป็นกำลังใจให้ทำงานได้อย่างราบรื่น และนำพาองค์กรเดินหน้าไปได้อย่างดีนะคะ คิดว่าบันทึกในบล็อก ถนน KM ของคุณเอื้อของชาวพยา-ธิอาจจะเป็นประโยชน์กับท่านรองจบนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท