กรณีศึกษา : ข้อพิพาทลิขสิทธิ์ ห้องเรียนออนไลน์


มูเดิล (Moodle) เป็นโปรแกรมแจกฟรีสำหรับสร้างห้องเรียนออนไลน์ คู่มือก็แจกฟรีให้ศึกษาโดยไม่คิดมูลค่า แต่ไม่ใช่นำคู่มือแจกฟรีไปซื้อขายหรือหาผลประโยชน์ได้ ข้อพิพาทลิขสิทธิ์จึงเป็นเรื่องปัญหาน่าศึกษาอย่างยิ่ง

การละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา  เป็นปัญหาใหญ่ของการพัฒนาเทคโนโลยี  โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  เนื่องจากการละเมิดลิขสิทธิ์และได้รับการละเลยหรือใส่ใจแก้ปัญหา  จะทำให้เกิดปัญหาซ้ำ ๆ กันตลอดเวลา   แต่สิ่งที่สิ่งผลใหญ่หลวงตลอดมากับประเทศชาติก็คือ ทำให้คนไทยไม่อยากคิด ไม่อยากพัฒนาเทคโนโลยี   เพราะมีแต่คนลอกเลียนแบบและหาผลประโยชน์จากความคิดของคนอื่น ๆ   ขณะที่คนคิด คนสร้าง คนพัฒนา ไม่ได้อะไรจากสิ่งที่ทำและเจ็บใจที่ถูกเอาไปหาผลประโยชน์    ประเทศชาติก็เสียหายเพราะไม่มีใครคิดจะสร้างสรรค์และพัฒนาเทคโนโลยี

กรณีศึกษา  การละเมิดลิขสิทธิ์คู่มือมูเดิลของ ดร.วิมลลักษณ์ สิงหนาท  เป็นอีกกรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เบาบาง แม้ว่าคู่มือจะทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ใช้งานได้ฟรี  แต่ไม่ได้หมายความว่าจะนำไปหาผลประโยชน์ได้

โดยส่วนตัวผมรู้จัก ดร.วิมลลักษณ์ สิงหนาท และยอมรับในความสามารถของท่านเป็นอย่างยิ่ง   ขอสนับสนุนการปกป้องลิขสิทธิ์และป้องกันการละเมิด  จึงนำข้อมูล "ข้อพิพาทลิขสิทธิ์ ห้องเรียนออนไลน์" มาเป็นกรณีศึกษา

มติชน  วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10624

ข้อพิพาทลิขสิทธิ"ห้องเรียนออนไลน์"

คอลัมน์ Active Opinion

ปัญหาลิขสิทธิ์ทางปัญญาในเมืองไทย โดยเฉพาะลิขสิทธิ์ด้านซอฟต์แวร์ คงไม่มีวันหมดไป แม้บางช่วงเวลาจะเบาบางไปบ้าง ขึ้นกับความเข้มงวด

ที่พูดเรื่องลิขสิทธิ์ทางปัญญานี้ ด้วยเกิดเหตุการกระทำอันเรียกว่า "ละเมิด" ขึ้นมา กลายเป็นหัวข้อทอล์คในหมู่นักวิชาการ ข้าราชการ ด้านลิขสิทธิ์, อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ, ผู้ผลิตและจัดทำซอฟต์แวร์ รวมถึงนักการศึกษา และสื่อมวลชนด้านไอทีขึ้นมา

กลายเป็นคดีความที่ถูกหยิบยกมาเป็นตัวอย่าง นั่นคือ การละเมิดลิขสิทธิ์ การจัดทำหนังสือคู่มือโปรแกรมมูเดิล (Moodle) ภาคภาษาไทย

โปรแกรมมูเดิลเป็นระบบสำหรับการสร้างห้องเรียนออนไลน์ เดิมทีเป็นโปรแกรมที่ชาวออสเตรเลียเขียนขึ้นก่อนเป็นภาษาอังกฤษ แล้วเผยแพร่เป็นโปรแกรมแบบเสรี (Open Source) ในระบบยูนิกซ์ (Unix) ผู้ที่ได้นำมาจัดทำเป็นระบบภาษาไทย คนแรกนำโดย ดร.วิมลลักษณ์ สิงหนาท ที่ปรึกษาชมรม Moodle E-Learning แห่งประเทศไทย

"มูเดิลพัฒนามาตั้งแต่ปี ค.ศ.1999 ออกมาหลายเวอร์ชั่นจนถึงปัจจุบัน เพราะเป็นโปรแกรมที่ช่วยจัดกิจกรรมต่างๆ ในระบบการเรียนออนไลน์ ให้มีบรรยากาศเหมือนนั่งเรียนในห้องเรียน ในเมืองไทยมีการนำไปใช้ในโครงการโรงเรียนในฝันและโครงการ Secondary Education Quality Improvement Project-SEQI ที่ธนาคารโลกให้การสนับสนุน ทำให้โปรแกรมนี้แพร่หลายอย่างมากในประเทศไทย" ดร.วิมลลักษณ์บอกเล่าที่มาของโปรแกรม

เมื่อถูกถามถึงรายละเอียดในการละเมิดลิขสิทธิ์ ดร.วิมลลักษณ์เล่าว่า ตัวเธอเป็นผู้พัฒนาให้โปรแกรมนี้ทำงานได้ดีในระบบภาษาไทย และได้จัดทำคู่มือการใช้งานเป็นภาษาไทยออกมา พร้อมให้ผู้ต้องการใช้สามารถเข้าไปดาวโหลดได้ผ่านทางอินเตอร์เน็ต โดยระบุไว้ว่าหากจะนำไปใช้เพื่อกิจการใด ให้แจ้งให้ตนทราบก่อนซึ่งทุกรายจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แจ้งความประสงค์และขออนุญาตเสมอมา

"จนเมื่อกระทรวงศึกษาฯร่วมมือกับธนาคารโลก จัดทำโครงการ SEQI นำเอามูเดิลไปใช้กับห้องเรียนออนไลน์ พร้อมเปิดประมูล ปรากฏว่าบริษัทผู้ได้งานไปตามสัญญาที่ทำไว้กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อ 21 กรกฎาคม 2547 ได้นำเอาคู่มือการใช้งานมูเดิลที่ทำไว้ไปใช้ ส่งเป็นผลงานของตน มอบให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ และผู้ที่เคยใช้โปรแกรมนี้มาก่อนก็ทราบดีว่า เป็นผลงานของใคร จึงส่งอี-เมลมาบอกให้ทราบ" เจ้าของลิขสิทธิ์เล่าความ

ดร.วิมลลักษณ์จึงได้พยายามติดต่อสอบถามไปยังบริษัทผู้รับงานประมูลนี้ ในเบื้องต้น ทางบริษัทยอมรับว่าได้กระทำไปจริง และขอชดใช้ค่าเสียหาย แต่ก็ถูกประวิงเวลา และยังไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหายใดจนถึงปัจจุบัน

"แม้จะลดค่าชดเชยลงเหลือแค่ ให้เขาบริจาคเงินให้โรงเรียนในชนบทกับบริจาคคอมพิวเตอร์สัก 3 เครื่อง แต่ก็ยังเพิกเฉย และยังมีความพยายามไปติดต่อขอรับเงินจากงานประมูลนี้กับทางกระทรวงศึกษาธิการ ในส่วนที่ยังค้างชำระอยู่" ดร.วิมลลักษณ์กล่าว และบอกว่า ทางกระทรวงศึกษาฯเองก็ไม่นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ ได้สอบถามไปยังกรมบัญชีกลาง, สำนักงานอัยการสูงสุด และทบทวนเรื่องนี้ ถึงผู้บริหารระดับรัฐมนตรี จนงดจ่ายเงินในส่วนค้าง จนกว่าคดีนี้จะถึงที่สุด และให้เรียกร้องส่วนที่ชำระไปเบื้องต้นคืนก่อนด้วย

นักวิชาการและข้าราชการด้านลิขสิทธิ์ที่ร่วมวงสนทนา ต่างให้ความเห็นตรงกันว่า หากเป็นเรื่องวรรณกรรมแล้ว ถือเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียนทันทีที่เผยแพร่ ไม่จำเป็นต้องไปจดลิขสิทธิ์ใดๆ การนำไปใช้ หากไม่ได้รับอนุญาตก็ถือว่าผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ในทันที ไม่ว่านักกฎหมายระดับใดก็ควรรู้ความในข้อนี้

"รับรองได้ เรื่องแบบนี้นักกฎหมาย ผู้ถือกฎหมาย ผู้ใช้กฎหมาย คนไหนๆ ก็ทราบหลักการดี คดีแบบนี้ไม่มีใครกล้าบิดพลิ้วจากตัวบทที่มีอยู่แน่นอน ต่อให้เขาอำนาจหรือเงินไปง้างก็ไม่ไหว ใครเผลอรับไป เจอคุกง่ายๆ" ข้าราชการนักกฎหมายตอบ เมื่อถามว่า คดีในลักษณะนี้จะมีโอกาสพลิกได้หรือไม่

ด้านอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีฯให้ความเห็นว่า การกระทำแบบนี้ ถือว่าเป็นเรื่องของจิตสำนึกของคน โดยเฉพาะคนไทยที่ถูกตำหนิเสมอมาว่าไม่เคารพสิทธิของผู้อื่นลักลอบใช้โปแกรมคอมพิวเตอร์กันแบบง่ายๆ จนกลายเป็นเรื่องโด่งดังไปทั่วโลกทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านซอฟต์แวร์ไม่อยากเข้ามาลงทุนผลิต หรือว่าจ้างโปรแกรมเมอร์ของไทย ยิ่งข่าวโปรแกรมมูเดิลแพร่ออกไป แม้แต่โปรแกรมเปิด หรือ Open Source ยังโดนลอกเอาไปใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ของบริษัทโดยไม่คำนึงถึงเจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่แม้แต่จะขออนุญาตหรือรับผิดชอบ ผลเสียยิ่งมากขึ้นไปอีก

ขณะนี้ในแวดวงโปรแกรมเมอร์ ร่วมสนทนาวงเดียวกันเสริมว่า ข่าวคราวเรื่องการคัดลอกคู่มือมูเดิลในเมืองไทยกระจายไปแทบจะทั่วโลก ผ่านเว็บไซต์ มูเดิล จนโปรแกรมเมอร์ของมูเดิลที่มีทั่วโลกเขาพูดถึงและออกเสียงประณามกันไปหมดยิ่งมารู้ว่ามีการลดหย่อนค่าเสียหายนี่ มีแต่คนตำหนิเจ้าของลิขสิทธิ์ว่าไม่สมควร จะทำให้คนลักลอบใช้ได้ใจและทำซ้ำอีก

"ถ้ามองว่าแค่เรื่องหนังสือคู่มือเป็นเรื่องเล็กน้อย ก็อยากให้รู้ว่าเรื่องเล็กน้อยนี้ได้ทำลายชื่อเสียงประเทศชาติไปด้วยแล้ว คนขโมยไม่ได้แค่ขโมยผลงานเขียนจากเจ้าของตัวจริงไปเท่านั้น ยังเหยียบย่ำทำลายชื่อเสียงประเทศไปพร้อมๆ กันด้วยเขาหาว่าเรายังขโมยของพวกเรากันเอง แล้วของคนอื่นจะไม่หนักกว่านี้เหรอโกรธนะที่ได้อ่านอี-เมลของเพื่อนๆ แต่ไม่รู้จะโต้เถียงอย่างไรเหมือนกัน" นักวิชาการด้านคอมพิวเตอร์อีกคนหนึ่งกล่าวเสริม

อย่างไรก็ตาม ดร.วิมลลักษณ์ทิ้งท้ายว่า เธอไม่ต้องการให้เรื่องนี้เป็นชนวนของความเสียหายต่างๆ ได้พยายามประนีประนอมถึงที่สุดแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากอีกฝ่าย จึงจำเป็นต้องปกป้องสิทธิของตน

นี่เป็นเพียงยกแรกของการสนทนาในปัญหาลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ไทย เพราะเมื่อล้วงลงไปในรายละเอียดของข้อพิพาท ยิ่งพบบาดแผลลึกที่กระทำย่ำยีต่อลิขสิทธิ์อื่นๆรวมถึงผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในภาคเอกชนที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านคอมพิวเตอร์อีกด้วย

มูเดิลจึงไม่เพียงแค่ข้อพิพาทของคนไทย ที่ไม่ยอมเคารพสิทธิคนไทยด้วยกันเท่านั้น เมื่อไทยไม่เคารพสิทธิไทยด้วยกัน แล้วจะหวังให้ใครมาเคารพตนเอง

หน้า 32

 

หมายเลขบันทึก: 89869เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2007 04:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)
สมศักดิ์ จังตระกุล
แบบที่ในบทความเอ่ยเอาไว้ว่า ในเมื่อมันเป็นของฟรีแล้วทำไมผู้ที่คิดค้นไม่ทำใจไว้ละครับ ในเมื่อตอนแรกเจ้าของ(ผู้คิดค้น)ก็แสดงความปรารถนาดีที่จะให้คนใช้ทั่วไปอยู่แล้ว  เมื่อเขาเอาไปใช้ก็ไม่ควรไปตีโพยตีพายครับ แต่หากว่าในการเผยแพร่ครั้งแรกได้สงวนสิทธิ์และบอกกล่าวไว้ว่าหากนำไปใช้ในทางพาณิชย์จะคิดค่าลิขสิทธิ์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทางที่ดีผู้คิดค้นควรจะถามใจตัวเองก่อนว่าอยากจะให้เป็นวิทยาทานจริงหรือไม่ ถ้ายังมีความคิดว่าถ้าได้ตังค์บ้างก็ดีก็ให้ใส่รหัส password บางอย่างหรือใส่ไวรัสไว้ก่อนแล้วขายโปรแกรมแก้ไวรัสให้ที่หลังเหมือนยาสั่งหรือการวางยาแบบหนังจีนกำลังภายในก็ได้นะครับ

"การกระทำแบบนี้ ถือว่าเป็นเรื่องของจิตสำนึกของคน โดยเฉพาะคนไทยที่ถูกตำหนิเสมอมาว่าไม่เคารพสิทธิของผู้อื่นลักลอบใช้โปแกรมคอมพิวเตอร์กันแบบง่ายๆ จนกลายเป็นเรื่องโด่งดังไปทั่วโลกทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านซอฟต์แวร์ไม่อยากเข้ามาลงทุนผลิต"

เกือบจะเป็นวัฒนธรรมไปแล้วสำหรับการละเมิดลิขสิทธ์หรือcopyความคิดเพื่อผลประโยชน์  จนต่างชาติขึ้นชื่อประเทศไทยว่าเป็นนักcopy  ตราบใดที่ผู้เกี่ยวข้องยังไม่มีการเอาจริงในเรื่องนี้ คงเป็นเรื่องยากที่จะปราบปราม  เพราะทุกวันนี้การปราบเรื่องละเมิดลิขสิทธ์มักจะทำเหมือนไฟไหม้ฟาง  จริยธรรมทางธุรกิจของผู้ทำธุรกิจของเรายังมีค่อนข้างน้อย  จากบทความขนาดผู้ใหญ่รับรู้แต่ยังทำอะไรไม่ได้  ต่อไปอย่าว่าลงทุนเลยครับ  ขายให้ใช้คงต้องคิดหนักเลย

สรรชัย กิติยานันท์

"การกระทำแบบนี้ ถือว่าเป็นเรื่องของจิตสำนึกของคน โดยเฉพาะคนไทยที่ถูกตำหนิเสมอมาว่าไม่เคารพสิทธิของผู้อื่นลักลอบใช้โปแกรมคอมพิวเตอร์กันแบบง่ายๆ จนกลายเป็นเรื่องโด่งดังไปทั่วโลกทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านซอฟต์แวร์ไม่อยากเข้ามาลงทุนผลิต"

เกือบจะเป็นวัฒนธรรมไปแล้วสำหรับการละเมิดลิขสิทธ์หรือcopyความคิดเพื่อผลประโยชน์  จนต่างชาติขึ้นชื่อประเทศไทยว่าเป็นนักcopy  ตราบใดที่ผู้เกี่ยวข้องยังไม่มีการเอาจริงในเรื่องนี้ คงเป็นเรื่องยากที่จะปราบปราม  เพราะทุกวันนี้การปราบเรื่องละเมิดลิขสิทธ์มักจะทำเหมือนไฟไหม้ฟาง  จริยธรรมทางธุรกิจของผู้ทำธุรกิจของเรายังมีค่อนข้างน้อย  จากบทความขนาดผู้ใหญ่รับรู้แต่ยังทำอะไรไม่ได้  ต่อไปอย่าว่าลงทุนเลยครับ  ขายให้ใช้คงต้องคิดหนักเลย

วิมลวรรณ ตันติวงศ์

ประเทศไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องลิขสิทธิ์ทางปัญญามากนัก ผู้รู้จริงในเรื่องนี้ก็มีไม่มาก ตัวผู้รักษากฏหมายหรือมีหน้าที่ป้องปรามหรือปราบปรามก็ยังอ่อน มีความเห็นว่าการแก้ไขปัญหานี้ที่สำคัญคือเรื่องของกฏหมาย การลงโทษอย่างจริงจัง อีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญคือ ควรปลูกฝังจิตสำนึกให้แก่เด็กรุ่นหลังๆตั้งแต่เดี๋ยวนี้ รวมทั้งผู้ใหญ่เองก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีด้วย "ทำดีให้เด็กดู"

      นอกจากนี้ ต่อไปนี้ จะทำอะไร หรือคิดอะไรใหม่ๆได้ ก็ต้องรีบจดลิขสิทธิ์ให้หมด อย่าช้า ของที่เราคิดจะได้เป็นของเรา เป็นของประเทศไทย อย่าให้ใครมาเอาเปรียบ เมื่อมีผู้ละเมิด หรือทำผิด ก็ต้องลงโทษให้ถึงที่สุด กฏหมายต้องเข้มแข็ง

     วิมลวรรณ ตันติวงศ์

นพ.สุวินัย บุษราคัมวงษ์ 495022
กรณีดังกล่าวคงพบเห็นได้ทั่วไปในสังคมไทย เพราะคนไทยไม่ค่อยมีจิตสำนึกในเรื่องลิขสิทธิ์ การลอกเลียนแบบ การนำสิ่งที่ผู้อื่นคิดไว้มาเป็นของตัวเองพบได้ตั้งแต่ในสินค้าอุปโภคบริโภค ไปจนถึงเทคโนโลยีชั้นสูง หากมองผลกระทบกับสังคมคงมองได้ 2 มุม คือในแง่บวกคือคนธรรมดามีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น หรือพุดง่ายๆคือคนจนก็สามารถใช้ของแพงได้ ในแง่ลบก็น่าเห็นใจเจ้าของผลงาน สู้อุตส่าห์เค้นสมองคิดแทบแย่ กลับถูกมือดีมาฮุบไปเสีย ในอนาคตก็จะทำให้ขาดกำลังใจในการรังสรรค์สิ่งใหม่ๆ และอาจเสียโอกาสทางเศรษฐกิจไปด้วย ถ้ามองทางด้านจริยธรรมก็คงผิดเต็มประตูที่เอาของที่ไม่ได้เป็นเจ้าของมาทำประโยชน์ ถึงแม้ของนั้นโดยเบื้องแรกเจ้าของให้เป็นสาธารณะประโยชน์ก็ตาม ออกจะผิดมารยาทไปหน่อย โดยทั่วไปเรามักขออนุญาติหรือกล่าวอ้างถึงผู้คิดผู้ประดิษฐ์ เพื่อเป็นการให้เกียรติ ยกย่องตามสมควร

ผมเข้าไปหาดูคู่มือสำหรับผู้สอนระบบ Moodle ของดร.วิมลลักษณ์ สิงหนาท ในอินเตอร์เน็ต ยังไม่เห็นข้อความการสงวนลิขสิทธิ์ หรือเงื่อนไขการใช้หนังสือดังกล่าว จึงไม่แน่ใจว่าหนังสือคู่มือที่เป็นข้อพิพาทเป็นเล่มเดียวกับที่ผมเข้าไปดูหรือไม่

อย่างไรก็ตาม จากการอ่านข้อความในข่าวข้างต้น ก็ต้องตำหนิบริษัทผู้เข้ารับงานโครงการ SEQI ที่นำเอาคู่มือการใช้งานมูเดิลของดร.วิมลลักษณ์ สิงหนาท ไปใช้ ส่งเป็นผลงานของตน มอบให้แก่กระทรวงศึกษาธิการโดยไม่บอกกล่าวเจ้าของหนังสือ

แต่ที่ไม่เข้าใจคือทำไมบริษัทต้องทำเช่นนั้น เพราะหนังสือของ ดร.วิมลลักษณ์ สิงหนาท ดังกล่าวทุกคนสามารถเข้าเน็ตไปอ่านได้อยู่แล้ว เพียงแต่แจ้งกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ว่าจ้างโครงการว่า จะหาอ่านคู่มือได้จากที่ไหนเท่านั้นเอง

เพื่อให้ความยุติธรรมกับข้างบริษัทฯ เราน่าจะฟังความทั้งสองข้าง จึงขอเชิญชวนให้บริษัทฯช่วยชี้แจงด้วย

หากบริษัทไม่สามารถชี้แจงได้ ก็เป็นเรื่องทางกฎหมายที่จะฟ้องร้องกัน แต่ผมไม่เห็นว่าเรื่องนี้จะทำให้ประเทศไทยเสียชื่ออะไรมากมาย การละเมิดลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตรเกิดขึ้นเสมอๆ แม้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่มีชื่อเสียงอย่างเช่นบริษัทไมโครซอฟท์ ซึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ถูกศาลสั่งให้จ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัท Alcatel-Lucent ถึง 1.52 พันล้านเหรียญสหรัฐที่ไปละเมิดสิทธิบัตรเกี่ยวกับเทคโนโลยี MP3 เป็นต้น

 

 

 

อีกรายแล้วสำหรับการถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา  พูดกันมาเป็นปีๆแล้ว  รัฐบาลก็ไม่เห็นจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร  การละเมิดลิขสิทธิ์ก็ยังมีให้เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  คนนู้นลอกงานของนี้   คนโน้นลอกงานของคนนี้  จนบางครั้งผู้เขียนรู้สึกว่าคนในสังคมรู้สึกว่าการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเรื่องธรรมดา  เทป ผี ซีดีเถื่อนวางขายกัยเกลื่อนเมืองคนเดินผ่านไปมาหยุดซื้อกันได้เป็นเรื่องธรรมดา  บางแห่งยังเห็นตำรวจยืนซื้อเองด้วยซ้ำ... 

        ผู้เขียนเห็นว่าถ้าจะแก้ปัญหาในเรื่องนี้โดยใช้กฎข้อบังคับหรือกฎหมายนั้นอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด     ตราบใดก็ตามที่คนยังไม่มีจิตสำนึกถึงความควร ไม่ควรก็จะไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้  คนที่ละเมิดลิขสิทธิ์ยังได้รับผลประโยชน์มหาศาล   ส่วนคนคิดก็คงได้แค่ฟ้องแพ่งเรียกค่าชดเชย  แต่ในด้านของความรู้สึก ความเสียใจที่สูญเสียไปเงินเท่าใดก็คงไม่สามารถทดแทนได้.... ซึ่งผลที่ตามมาก็อาจเป็นเช่นอาจารย์เขียนไว้ก็คือคนที่มีความรู้ความสามารถก็ไม่คิด ไม่อยากทำอะไร.....ประเทศชาติก็ไม่เกิดการพัฒนา.....

ปัจจุบันคนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องของสิทธิมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิทธิส่วนบุคคล หรือสิทธิที่ตนเองในพึงได้ โดยที่ไม่สนใจว่าการได้มาซึ่งสิทธิของตนเองนั้นจะเป็นการละเมิดซึ่งสิทธิของผู้อื่นหรือไม่ หากจะตัดสินกันด้วยกฎหมาย การกระทำใดๆก็ตามที่เป็นการละเมิดซึ่งสิทธิของบุคคลอื่นนั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้ในทางกับกันการดำเนินการดังกล่าวกับถูกละเลยจากผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ จึงเกิดพฤติกรรมละเมิดสิทธิของผู้อื่นซ้ำๆอยู่เรื่อยๆ

      สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างทั้งสองฝ่ายนั้น เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพียงแต่อาจจะค่อยๆลดลงและเปลี่ยนพฤติกรรมการละเมิดสิทธิบุคคลได้ในอนาคต หากเริ่มต้นจากการสร้างจริยธรรมให้เกิดขึ้นก่อน โดยเริ่มจากการมีจริยธรรมในตนเองก่อน ซึ่งต่อมาเมื่อบุคคลมารวมตัวกันในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งก็น่าจะเริ่มต้นด้วยการมีจริยธรรมทางธุรกิจ เพื่อใช้เป็นแนวทางดำเนินการที่จะไม่ไปละเมิดสิทธฺของบุคคลอื่น

ผมขอเปรียบเทียบผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิว่าเป็นโจร ไม่ควรปล่อยให้ลอยนวลครับ เพื่อไห้เป็นเยี่ยงอย่างที่ทำให้เกิดความเสียหาย ให้กำลังใจ ดร.วิมลลักษณ์ครับ

หนังสือคู่มือนี้ ว่าไปแล้วก็เป็นเล่มที่คัดลอกแปลมาจากของฝรั่งทั้งดุ้นครับ ไหงมาอ้างลิขสิทธิ์ได้เต็มปากเต็มคำ งงครับ
ชาตจุมพล ยุธานหัส - Christian University - class Seminar in Information, Knowledge and Technology Management
โดยทั่วไปคนไทยไม่ค่อยคำนึงถึงเรื่องลิขสิทธิ์ อาจเป็นเพาะไม่ห็นถึงคุณค่า ความพยายาม เวลาและเงินทุนที่เจ้าของลิขสิทธิ์ที่ต้องเสียไปในการประดิษฐ์คิดค้น  เจ้าหน้าที่รับผิดชอบต้องช่วยปกป้องสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย เพื่อเป็นส่งเสริมคนไทยมีการจดลิขสิทธิ์ให้มากขึ้น และมีการประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมยกย่องผู้คิดผู้ประดิษฐ์  และจัดให้มีมาตราฐานในการประเมินค่าของสิ่งประดิษฐ์และส่งเสริมให้นำไปใช้ในเชิงพานิชย์ให้มากขึ้น

การละเมิดลิขสิทธิ์เป็นสิ่งที่อยู่คู่บ้านเมืองเรามานานตั้งแต่มีการมีสินค้าที่มีตราเป็นที่นิยมไม่ว่าจะเป็นสินค้าใดก็ตามตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า กระเป๋า เพลง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หนังต่างประเทศ และหนังไทย และสินค้าเกือบทุกชนิดจะมีการ copy เลียนแบบ ซึ่งเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งสิ้น คนไทยรู้สึกเคยชินกับการใช้สินค้าเหล่านี้ตั้งแต่เด็กจนโต จึงไม่เกิดความสำนึกว่าการใช้สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์จะเป็นความผิดแต่อย่างใด และกลับคิดว่าคนใช้ของจริงกลับเป็นคนโง่ไม่รู้จักใช้เงินอีกด้วย และรู้สึกว่าเจ้าของลิขสิทธิ์ เอาเปรียบด้วยการตั้งราคาสินค้าของตนแพงกว่า ดังนั้นการละเมิดลิขสิทธิ์ กลับเป็นเรื่องที่ถูกต้องในสังคมบางกลุ่ม การแก้ปัญหาเรื่องนี้จะต้องทำด้วยการวางแผนในระยะยาวในการสร้างจิตสำนึกใหม่ ควรให้ความสำคัญและจริงจังต่อการจับกุมผู้กระทำผิด และมีการส่งเสริมความเข้าใจกับต้นทุนของผู้ผลิตสินค้าหรืองานที่ใช้ความคิดว่าจะต้องมีต้นทุนต่างๆมากขนาดไหนและต้องใช้เวลาคิดค้นงานนานเท่าไหร่

ในความเป็นจริง ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชนโดยไม่หวังผลกำไรน่าจะถือว่าเป็นประโยชน์ ซึ่งลักษณะสังคมไทยน่าจะเป็นการเผยแพร่ มากกว่าที่จะยึดติดว่าเป็นลิขสิทธิ์ของตัวเองนะ

เรื่องเกี่ยวกับลิขสิทธิ์นี้ เป็นเรื่องของผลประโยชน์หลาย ๆ ฝ่าย เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ประเทศไทยปลอมหรือเลียนแบบกันทุกรูปแบบอยู่แล้ว ตั้งแต่ของเล็ก ๆ จนถึงของใหญ่ ๆ ประเทศจีนไม่ต้องพูดถึง ถึงกับว่า ถ้าจับให้หมด จะกระทบถึงเศรษฐกิจของประเทศอย่างมากทีเดียว จับอย่างไรก็ไม่มีหมดหรอกครับ แต่คงต้องควบคุมกันพอสมควร ให้เกิดความยุติธรรมกับคนที่ออกแรงคิดบ้างนะครับ

มีความคิดเห็นว่าผู้ที่ให้ความรู้แก่คนทั่วไป เป้นสิ่งที่ดีมาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องระบบห้องเรียนออนไลน์ ซึ่งถือว่าเป็นเกียรติประวัติและชื่อเสียงของผู้นั้น หากมีการลอกเลียนจากที่ใดก็ตาม ผู้นั้นถ้าทำในลักษณะเผยแพร่ ก็ควรยกย่องผู้ที่เป็นต้นฉบับเพื่อสร้างสังคมให้มีจริยธรรม คุณธรรม ตรงไปตรงมาได้เป็นอย่างดี หากนำไปใช้เป็นการส่วนตัวก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ถ้านำไปเผยแพร่และสร้างเกียรติประวัติแล้วควรให้แก่ผู้ที่คิดค้นคนแรกด้วย

กรณีตัวอย่างนี้ ดิฉันเห็นด้วยว่าmoodle E learningเป็นลิขสิทธิของดร.วิมลลักษณ์ เพราะพัฒนาโปรแกรมมาจากopen source บริษัทที่ประมูลละเมิดสิทธิแน่นอน และถ้าเจตนาดีจริงก็น่าจะแจ้งดร.วิมลลักษณ์ตั้งแต่แรก ไม่เข้าใจว่าทำไมผู้รับผิดชอบโครงการSEQIประมาทมากที่ไม่ตรวจสอบความถูกต้องของโปรแกรม โครงการระดับประเทศไม่น่าจะพลาดเลยนะคะ  ขอเป็นกำลังใจให้ดร.วิมลลักษณ์ชนะคดีนะคะ  สำหรับนักวิชาการบ้านเรามีปัญหามากเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ   เป็นการเอาเปรียบและทำร้ายจิตใจมากเลยคะ  กฎหมายต้องชัดเจนและบทลงโทษที่เหมาะสมมากกว่านี้ โดยส่วนตัวเคยโดนละเมิดลิขสิทธิมาแล้วคะ ตอนนี้ได้พยายามแก้ไขปัญหานี้ด้วยการพยายามเขียนreferenceทุกครั้งเพื่อให้เกียรติเจ้าของผลงานคะ      .........สุภาณี แก้วธำรงค์                                                                                 

open source เป็นโปรแกรมหรืออะไรก้อได้ ที่แจกจ่ายให้ใช้ฟรีโดยไม่เกี่่ยวข้องกับ การพานิชย์ใดๆ

และทุกคนสามารถทาขึ้นหรือดัดแปลง ก้อต้องบอกด้วยว่าเอามาจากต้นฉบับตัวไหนและต้องเปิดเผยและเผยแพร่ ต้นฉบับนั้นด้วย

เพราะฉะนั้นถ้า บริษัทเอาคู่มือนี้มาเป็นส่วนหนึ่งในสัญญา ถือว่า ผิดนะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท