บันทึกจากการสัมมนาเข้มระดับปริญญาเอกชุดวิชาสัมมนนาประเด็นและปัญหาเพื่อการวิจัยทางบริหารการศึกษา (2)


การสัมมนาเข้มระดับปริญญาเอก ชุดวิชา สัมมนนาประเด็นและปัญหาเพื่อการวิจัยทางบริหารการศึกษา ครั้งที่ 2 ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ มาเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในหัวข้อ แนวคิดเกี่ยวกับการทำวิทยานิพนธ์ (ดุษฎีนิพนธ์) พอสรุปได้ว่า เราควรจะพิจารณาใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ

  1. วิทยานิพนธ์ เป็นงานหรือผลงานของใคร ระหว่าง นักศึกษา กับ อาจารย์ที่ปรึกษา วิทยากรท่านได้ขยายความว่า เรื่องนี้จะเป็นตัวชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมการทำงานของทั้งนักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษา เช่น หากเชื่อว่า วิทยานิพนธ์ เป็น(ผล)งานของนักศึกษา ในการสอบหัวข้อ และสอบปกป้อง นักศึกษาจะต้องทำหน้าตอบคำถามโดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ แต่หากเชื่อว่า เป็นงานของอาจารย์ที่ปรึกษา ในการสอบต่างๆ เราก็มักจะเห็นอาจารย์ที่ปรึกษาทำหน้าที่ defence งานแทนนักศึกษา และมักจะไม่พอใจหากงานนั้นถูกปรับปรุงหรือแก้ไขมาก เป็นต้น
  2. สมดุลระหว่างคำว่า "คุณภาพ" กับ "มาตรฐาน" ของงานวิทยานิพนธ์ มีเพียงใด ซึ่งวิทยากรท่านให้ดูในเรื่องขององค์ความรู้ หรือพูดให้ชัดก็คือ ดูในวรรณกรรมต่างๆที่นำมาใช้อ้างอิงประกอบในรายงาน ถึงประเด็นบางประเด็น เช่น ความทันสมัย ซึ่งจะพบว่า งานบางชิ้นก็ยังคงอ้างอิงแหล่งความรู้เก่าๆ เช่น อาจอ้างจากตำราที่เป็น edition เก่าๆ ทั้งๆ ที่ มี edition ใหม่ออกมาแล้ว และอาจมีการเปลี่ยนแปลงองค์ความรู้ในเรื่องนั้นๆ หรือมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นแล้ว ซึ่งก็ส่งผลทำให้สิ่งที่ปรากฏอยู่ใน edition เก่าไม่ valid ไปแล้ว หรืออาจเป็นการอ้างอิงจากแหล่งความรู้ที่ไม่เป็นแหล่งปฐมภูมิ ทำให้เกิดการผิดเพี้ยงในเรื่องของการใช้คำ หรือการตีความไปให้คลาดเคลื่อนไปจากแหล่งปฐมภูมิ งานวิทยานิพนธ์ดังกล่าวจึงอาจด้อยในเรื่องของความถูกต้องลงไป นอกจากนี้ วิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกควรเป็นการสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ หากไม่มีการสร้างองค์ความรู้ใหม่ แม้จะว่างานจะได้มาตรฐาน แต่ก็อาจจะด้อยในเรื่องของคุณภาพไป
  3. จริยธรรมนักวิจัย ปัจจุบันปัญหาจริยธรรมนักวิจัยกำลังเป็นปัญหาใหญ่ มีการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์กันอย่างแพร่หลาย และหลายมหาวิทยาลัยก็ยังไม่ตระหนักในเรื่องนี้ หรือให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก นอกจากนี้ การคัดลอกงานหรือวรรณกรรมของผู้อื่นมาลงโดยไม่มีการอ้างอิงอย่างถูกต้องตามหลักการอ้างอิง ก็สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในงานวิทยานิพนธ์ในปัจจุบัน ทำให้เข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่นทั้งโดยรู้หรือไม่รู้เท่าทันก็ตาม

สำหรับรูปแบบของการทำวิทยานิพนธ์ (ในระดับปริญญาเอก) ทางการบริหารการศึกษาในปัจจุบัน สามารถทำได้หลายแบบ เช่น

  1. การวิเคราะห์พหุระดับ เช่น ระดับนักเรียน ระดับห้องเรียน ระดับโรงเรียน ฯลฯ ซึ่งการวิจัยแบบนี้ มักมีการวิเคราะห์สถิติด้วย multiple regression, Path Analysis, LISREL, HLM ฯลฯ
  2. การวิเคราะห์จำแนก โดยการทำ discriminant analysis
  3. การพัฒนาตัวบ่งชี้
  4. การพัฒนารูปแบบ วิทยากรกล่าวว่า ปัญหาประการหนึ่งของการวิจัยพัฒนารูปแบบก็คือ มักไม่ได้มีการนิยามคำว่า รูปแบบ หรือ Model ไว้ให้ชัดเจน ทำให้การวิจัยหลงทาง
  5. การพัฒนาหลักสูตร ซึ่งเรื่องนี้ อย่ามองเพียงหลักสูตรในชั้นเรียน แต่หมายรวมถึง หลักสูตรเสริมอื่นๆ เช่น หลักสูตรการฝึกอบรมด้วย ซึ่งจะพบว่า หลักสูตรการฝึกอบรมในบ้านเราส่วนใหญ่ ไม่มีการวิจัยรองรับ
  6. การประเมิน

วิทยากรเสริมว่า มักมีคำถามว่า เรื่องใดควรทำวิจัย เรื่องใดไม่จำเป็นต้องทำวิจัย ซึ่งวิทยากรให้แนวคิดง่ายๆ ดังนี้

ปัญหา -------> ทดสอบได้ ---------> ทำวิจัย

ปัญหา -------> วิพากษ์ได้ ---------> เขียนเป็นบทความ

สำหรับคำถามที่ว่า อย่างไรจึงเป็นงานวิจัยระดับปริญญาเอก และอย่างไรจึงเป็นเพียงงานวิจัยระดับปริญญาโท วิทยากรให้แนวคิดว่า ให้มองที่ key word 3 ตัว คือ what how และ why

  • หากงานวิจัยตอบได้เพียง what กับ how ก็น่าจะเป็นเพียงงานในระดับปริญญาโท
  • หากงานวิจัยตอบคำถามได้ทั้ง 3 ระดับ คือ what how และ why งานชิ้นก็สมควรทำในระดับปริญญาเอก
หมายเลขบันทึก: 89311เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2007 16:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 18:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท