การจัดการความรู้กับโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุข (ตอน 1)


KM ช่วยสร้างสุขได้อย่างไร

                บันทึกของพี่ธวัช เรื่องสุขภาวะในสถานศึกษา : เวทีเสวนาเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาวะใน มรภ.  ทำให้อยาก บันทึกเพิ่มเรื่องที่ได้ไปพบมา (จริงๆผมขอตามไปดู พี่ธวัชและพี่หญิงนำกระบวนการ Workshop การสร้างเสริมสุขภาวะในมหาวิทยาลัยราชภัฎ จัดโดย สสส. เมื่อวันที่ 28-29 มีนาคม 2550 ที่ผ่านมา)

                จากการได้พูดคุยกับวิทยากรรับเชิญในวันนั้นคือ ทพ.พิชิต งามวรรณกุล รองคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งท่านได้ใช้การจัดการความรู้ เพื่อช่วยให้มีการจัดการเรียนการสอนที่เป็นสุขของทั้งครูอาจารย์และนิสิต ร่วมทั้งสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างครูและศิษย์อีกด้วย ผมว่าเป็นการใช้การจัดการความรู้ที่เฉียบมาก ชนิดที่เนียนกับเนื้องานโดยไม่รู้ตัว ทพ.พิชิตทำอย่างไรบ้าง....เริ่มเลยดีกว่า
                ท่านเริ่มตรงจากประสบการณ์ที่ท่านมี ทราบว่า นิสิตทันตแพทย์มีความเครียดสูงมากโดยเฉพาะเมื่อขึ้น ชั้นปีที่ 4 – 5 – 6 ทางสถิตพบว่าต้องไปพบแพทย์และออกจากโรงเรียนสูงมาก จึงพยายามหาวิธีการแก้ไข เริ่มจากการสำรวจปัญหาแบบ Focus Group โดยนำนักศึกษามาประชุม เพื่อช่วยกันระดมสมองถึงแนวทางการแก้ปัญหา แต่จากการประชุมดังกล่าวผลปรากฎว่าทุกคนพูดถึงแต่ปัญหาที่ตัวเองพบ และมีปัญหามากมายจนไม่รู้จะเริ่มแก้ที่ปัญหาใดก่อนดีและไม่รู้จะแก้อย่างไรอีกด้วย จนกระทั้งท่านได้เข้าร่วม Workshop การจัดการความรู้ที่ ผศ.ดร. วิบูลย์  วัฒนาธร  จัดขึ้นให้คณะต่างๆใน ม.นเรศวร ท่านเห็นว่า แนวทางนี้น่าจะใช้แก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอนภายในคณะได้ จึงคิดที่จะนำมาใช้

                จึงได้นำเรื่องนี้มาปรึกษากับทางทีมงานที่เป็นอาจารย์ด้วยกัน และทดลองใช้ KM กับทีมงาน 7-8 คน เพื่อดูว่าการจัดการความรู้จะไช้ได้ผลหรือไม่ เป็นการทำให้อาจารย์ที่ไม่ได้เข้าร่วมใน Workshop ได้รับรู้ว่า KM คืออะไร และ จะมีแนวทางการใช้อย่างไรไปในตัวอีกด้วย โดยทดลองให้เล่าเรื่องที่เกี่ยวกับ “ความสุข ความประทับใจสมัยเรียน”

                 ผลจากการทดลองใช้กับกลุ่มอาจารย์ ก็มีความเห็นว่าน่าจะใช้ได้กับนักศึกษา แต่ปัญหายังอยู่ที่ จำนวนนิสิตที่จะแบ่งเข้ากลุ่ม มีจำนวนค่อนข้างมากประมาณ 15-17 คนต่อกลุ่ม ซึ่งอาจทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบ Storytelling จะไม่ได้ผลเท่าที่ควร จึงมีการนำนิสิตมาทดลองเข้าร่วมกิจกรรม ก็เช่นเดียวกัน มีการให้นิสิตเล่าเรื่องเกี่ยวกับ “เหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกมีความสุข รู้สึกดี เกิดความประทับใจ หรือ ความภาคภูมิใจตั้งแต่เข้ามาเรียนที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศว” ผลที่ได้ทำให้ อาจารย์และทีมงานสามารถปรับและออกแบบกระบวนการที่จะสามารถนำไปใช้ให้ได้ผลมากขึ้น จึงได้นำเรื่องเรียนคณบดี เพื่อขอนุมัติจัดทำโครงการทางท่านคณบดี ก็เห็นชอบ ให้จัดกิจกรรมแบบ 2 วัน 2 คืนทีเดียว

               ขั้นนี้ผมเองเห็นว่า ทพ.พิชิตมีการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเริ่มงานค่อนข้างละเอียดที่เดียว มีการทดลองเพื่อกำหนดรายละเอียดต่างๆในการทำกิจกรรมทุกขั้นตอน ละเอียดขนาดที่อาจารย์เล่าว่ามีการขยายเวลาให้กับช่วงทำสมาธิ ให้เวลานึกเรื่องแล้วเขียน ก่อนเล่าเรื่องเป็นต้น รวมทั้งมีการฝึกหัดให้ทีมงานเป็นคุณอำนวยโดยไม่รู้ตัวอีกด้วยรายละเอียดในการทำ Workshop จะถยอยนำมาเล่าต่อนะครับ

 pichit_nu

ทพ.พิชิต งามวรรณกุล

หมายเลขบันทึก: 89256เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2007 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท