การระบาดของไข้หวัดใหญ่-ขอบคุณ อ.หมอ ประเสริฐ ทองเจริญ


สถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในไทย
สำหรับในประเทศไทยนั้นเท่าที่ได้มีการบันทึกถึงการระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ เท่าที่ได้รวบรวมไว้มีดังนี้
        พ.ศ. 2461-2462 (21)
        ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับการระบาดใหญ่ทั่วโลกเมื่อปี พ.ศ. 2461 ทำให้ประชากรทั่วโลกต้องล้มตายประมาณ 15-20 ล้านคน โรคนี้ระบาดอยู่ 2 ปีแล้ว ก็ได้ค่อย ๆ สงบลง สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเสียชีวิตเนื่องจากการระบาดครั้งนี้คือ โรคปอดบวม และปรากฏว่าไม่ได้เป็นเฉพาะคนชราหรือเด็กเท่านั้น คนหนุ่มสาวที่แข็งแรงก็เสียชีวิตเป็นอันมาก
        เฉพาะในพระนครและธนบุรี ซึ่งมีประชาชน 5 แสนคน ได้ป่วยเป็นโรคนี้ถึงครึ่งจำนวน ทางราชการถึงกับต้องสร้างสถานพยาบาลพิเศษแจกยาทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณและได้ออกประกาศให้ประชาชนรู้ว่าถ้าใครเป็นโรคนี้ ให้รับไปรับการรักษาพยาบาลอย่างเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้โรคนี้กระจายแพร่หลายไปโดยเร็ว ยิ่งในต่างจังหวัดด้วยแล้ว ประชาชนต้องเสียชีวิตมากกว่าในพระนครเสียอีก ประชากรของประเทศไทยในสมัยนั้นมีอยู่ 8,478,566 คน ป่วยเป็นโรคนี้ 2,317,663 คน เท่ากับร้อยละ 27.32 เสียชีวิต 80,263 คน เท่ากับร้อยละ 0.95 ของประชาชนทั้งหมดหรือร้อยละ 3.46 ของผู้ป่วยทั้งหมด
        ไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดเข้ามาในประเทศไทยครั้งนั้น เข้ามาทางภาคใต้ก่อน เพราะตามรายงานบอกว่า พลโทสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ อุปราชมณฑลปักษ์ใต้ ได้โทรเลขถึงเจ้าพระยาสุรสีห์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยว่า วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2461 ได้เกิดโรคอินฟลูเอ็นซาขึ้นที่ จังหวัดปัตตานี และสงขลา มีคนป่วยเป็นโรคนี้มากมายทั้งข้าราชการและราษฎร ที่จังหวัดปัตตานีมีนักโทษในเรือนจำ 250 คน ป่วยเป็นโรคนี้เสีย 238 คน และแพทย์ประจำจังหวัดก็ป่วยเสียหลายนาย ทางจังหวัดสงขลาเวลานั้น ข้าราชการตลอดจนตำรวจภูธรก็ป่วยเสีย 142 คน และนักโทษในเรือนจำป่วย 150 คน รวมทั้งสิ้น 292 คน ตาย 1 คน เจ้าพระยา สุรสีห์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้นำความกราบบังคมทูล โดยมีหนังสือถึงมหาเสวกเอก พระเจ้าพี่ยาเธอฯ กรมหลวง ปราจิณกิติบดีราชเลขานุการ และยังได้ส่งยาและแพทย์จังหวัดนครปฐมและราชบุรีออกไปช่วยราชการที่มณฑลปักษ์ใต้
        ในเวลาใกล้ ๆ กัน โรคนี้ก็ระบาดขึ้นในกรุงเทพฯ และร้ายแรงมากดังกล่าวแล้ว เจ้าพระยา ยมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาลได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กระทรวงการคลังจ่ายเงินพิเศษ ช่วยเหลือในการนี้เป็นเงิน 1 แสนบาท เพื่อทำการรักษาและป้องกันโรคนี้ไม่ให้ระบาดมากขึ้นและได้จ่ายยาให้แก่ประชาชน มีแอสไพริน และควินิน โดยตั้งที่จ่ายยาตามสถานีตำรวจและศาลาวัด ส่วนประชาชนที่นิยมยาไทยก็จ่ายยาไทยแทน เงินสำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาไข้หวัดใหญ่ครั้งนี้ ได้ใช้เงินในงบกาฬโรค ซึ่งเสนาบดีกระทรวงการคลังมหาสมบัติฯ ได้ตั้งใช้ทุกปี ถ้าปีไหนไม่มีกาฬโรคระบาดก็ตัดงบเสีย ฉะนั้นจึงได้ใช้เงินงบนี้แทนและได้เริ่มจ่ายยาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2461 การระบาดได้รุนแรงมากในเดือนตุลาคมเฉพาะในจังหวัดพระนคร-ธนบุรี มีคนตายวันละหลายสิบคนและตายมากที่สุด คือในวันที่ 15 ตุลาคม มีคนตายถึง 65 คน โรคนี้ได้สงบลงบ้างในกลางเดือนพฤศจิกายน และได้สงบลงโดยเด็ดขาดในเดือนมีนาคม หลังจากการระบาดครั้งนี้ก็ไม่ปรากฏมีบันทึกไว้ในรายงานอื่นใด ที่พอจะสอบค้นได้อีก จนกระทั่งเกิดระบาดขึ้นในปี พ.ศ. 2500
        พ.ศ. 2500 (22)
        การระบาดเกิดขึ้นอีก เมื่อปี พ.ศ. 2500 ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม ซึ่งเชื้อไวรัสที่แยกได้ปรากฏว่าเป็นชนิดเดียวกันกับที่ระบาดอยู่ในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก คือ “เอเชียนฟลู” หรือ Influenza A/Singapore/1/57 (H2N2) นั่นเอง อัตราป่วยหรืออัตราตายไม่ได้มีบันทึกไว้ในรายละเอียดดังเช่นการระบาดเมื่อปี พ.ศ. 2461 ต่อมีก็มีการระบาดเล็ก ๆ น้อย ๆ เกือบทุกปี
         พ.ศ. 2511-2518 (23)
         การระบาดของ Influenza A (H3N2)
         ในปี พ.ศ. 2511 ภายหลังที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในฮ่องกงเมื่อเดือนกรกฎาคม ไข้หวัดใหญ่แพร่ระบาดถึงประเทศไทยในเดือนสิงหาคม และระบาดต่อไปจนถึงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันถึงสงบลง ไวรัสที่แยกได้ที่โรงพยาบาลศิริราช 20 สายพันธุ์ เป็นสายพันธุ์ที่แตกต่างไปจาก Influenza A/Singapore/1/57 (H2N2) แต่ชนิดเดียวกันกับไวรัสที่แยกได้ที่ฮ่องกง คือ Influneza A/Hong Kong/1/68 (H3N2) ในพระนครธนบุรีมีผู้ป่วยประมาณ 150,000 คน โรคระบาดสูงสุดระหว่างสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายนและสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการอ่อนไม่มีภาวะแทรกซ้อนและไม่มีรายงานผู้ป่วยตาย เชื้อชนิดนี้ปรากฏชุกขึ้นอีกตั้งแต่กลางเดือนกันยายน 2512 และสูงสุดในสัปดาห์ที่สองของเดือนตุลาคม สงบลงในเดือนพฤศจิกายนในช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี พ.ศ. 2513, 2514 และจนถึงเดือนมีนาคม 2515 มีการพบโรคไข้หวัดใหญ่โดยยังแยกได้เชื้อ Influenza A/Hong Kong/1/68 (H3N2) นี้อยู่ตลอดเวลา (24,25)
         เชื้อที่แพร่กระจายอยู่ได้เปลี่ยนไปเป็นไวรัสที่คล้ายกับไวรัสที่แพร่ระบาดอยู่ในประเทศอังกฤษ Influenza A/England/42/72 (H3N2) เมื่อเดือนกันยายน 2515 และยังมีรายงานต่อไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ไวรัสสายพันธุ์นี้แพร่ระบาดต่อไปจนถึงปี พ.ศ. 2517 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของไข้หวัดใหญ่ในประเทศช่วงเวลาดังกล่าวนี้ เป็นการระบาดที่ไม่รุนแรง เมื่อถึงปี พ.ศ. 2518 ก็ยังมีการระบาดไม่รุนแรง เพียงแต่เชื้อที่แยกได้เป็นเชื้อที่เปลี่ยนแปลงไปคล้ายกับสายพันธุ์ Influenza A/Victoria/3/75 (H3N2)
         การระบาดของ Influenza B พ.ศ. 2515-2518
         สำหรับ Influenza B นั้น ก่อนปี พ.ศ. 2515 ไม่ปรากฏว่ามีรายงานการแยก ไวรัสบีในประเทศไทย เริ่มปรากฏรายงานการแยกไวรัสบี ในปีพ.ศ. 2515 ไวรัสที่แยกได้เป็นสายพันธุ์คล้าย Influenza B/Hong Kong/5/72 และในปี พ.ศ. 2516 แยกได้สายพันธุ์ที่คล้ายกับ Influenza B/Hong Kong/8/73 ต่อมาในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2516-2518 สายพันธุ์ที่แยกได้จะเป็นสายพันธุ์ที่มีลักษณะแอนติเจนอยู่กึ่งกลาง (intermediate) ระหว่าง Influenza B/Hannover/3/73 และ Influenza B/England/847/73
         พ.ศ. 2521 (26)
         การระบาดของ Influenza A (H1N1)
         ดังได้กล่าวไว้แล้วตั้งแต่ต้นว่ามีรายงานการระบาดของ Influenza A (H1N1) ในสหภาพ โซเวียตเดิม เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2520 สายพันธุ์ที่แยกได้ในสหภาพ โซเวียตคือ Influenza A/USSR/90/77 (H1N1) การสำรวจในกรุงเทพมหานครพบว่า โรคระบาดอยู่ในช่วงสั้น ๆ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2521 ในช่วงที่มีการระบาดนั้น จากการสำรวจพบว่ามีผู้ป่วยในกรุงเทพ- มหานครประมาณสามแสนหกหมื่นราย (อัตราป่วย 75 ต่อประชากรหนึ่งพันคน) ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยต่ำกว่า 20 ปี ลงไป
         หลังจากการระบาดของไวรัส H1N1 ผ่านไปแล้ว ไวรัสที่เพาะได้จากผู้ป่วย จะเป็นไวรัส H3N2 ที่คล้ายคลึงกับ Influenza A/Texas/1/77 (H3N2)
         พ.ศ.2522-2526 (H3N2 และ H1N1) (27,28)
         ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการระบาดประปรายไม่รุนแรง จากการเฝ้าระวังที่โรงพยาบาลศิริราช โดยการเก็บน้ำป้ายคอจากผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ที่ป่วยเป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลันที่ไปขอรับการตรวจรักษาที่ห้องตรวจโรคแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลศิริราช จากตัวอย่างตรวจจำนวนทั้งสิ้น 2,036 ตัวอย่าง เพาะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ทั้งหมด 58 สายพันธุ์ เป็น Influenza A 54 สายพันธุ์ และ Influenza B สายพันธุ์
         ในปี พ.ศ. 2522 แยกได้ไวรัส A (H3N2) ที่มีชื่อเป็นทางการว่า Influenza A/Bangkok/1/1979 (H3N2) แยกได้จากผู้ป่วยเด็กชายอายุ 3 ปี 7 เดือน ที่ได้รับจากวินิจฉัยว่าติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจส่วนต้น เมื่อเดือนสิงหาคม ต่อมาเชื้อนี้ ได้แพร่กระจายออกไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกและแพร่กระจายในปีต่อ ๆ มาด้วย องค์การอนามัยโลกจึงได้กำหนดให้สายพันธุ์นี้เป็นส่วนประกอบในวัคซีนที่จะใช้ในฤดูระบาดปี 2523-2526
         ในปีต่อ ๆ มา ไวรัสที่แยกได้ในประเทศไทยจะเป็นไวรัส Influenza A/Bangkok/1/79 (H3N2) กับไวรัส Influenza A/Texas/1/77 (H3N2) ซึ่งมีลักษณะกึ่งกลางระหว่าง A/USSR/90/77 (H1N1) และ A/England/333/80 (H1N1) สำหรับไวรัส Influenza B ในช่วงนั้นจะแยกได้ไวรัสที่ ใกล้เคียงกับ Influenza B/Singapore/22/79
         สำหรับปี พ.ศ. 2526 เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่แยกได้ในประเทศไทยมีลักษณะแอนติเจนอยู่ กึ่งกลางระหว่าง Influenza A/Hong Kong/2/82 (H1N1) และ A/Chile/1/83 (H1N1) (29)
         พ.ศ. 2527 ไวรัสเริ่ม drift ออกไปเป็นสายพันธุ์กึ่งกลางระหว่าง A/Bangkok/1/79 กับ A/Philippines/2/82 (H3N2) และพบไวรัส B/USSR/100/83 ด้วย
         พ.ศ. 2528 เป็นปีที่ไข้หวัดใหญ่ระบาดค่อนข้างรุนแรง มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศ 92,180 คน หรือ 178.4 ต่อประชากรหนึ่งแสน มีรายงานผู้ที่ตายจากไข้หวัดใหญ่ 40 คน ไวรัสที่แยกได้ในปีนี้จะเริ่ม drift ออกจาก A/Bangkok/1/79 เป็นไวรัส H3N2 ที่คล้ายกับที่แยกได้ในไต้หวัน, ฮ่องกง, สวีเดน, ฝรั่งเศส และนิวซีแลนด์ (30,31)
         พ.ศ. 2529 ไวรัสที่แยกได้จากประเทศไทย จะเป็นไวรัสที่คล้ายคลึงกับ A/Taiwan/1/86 (H1N1) กับ A/Singapore/6/86 (H1N1) ไวรัสสายพันธุ์ไต้หวัน จะแพร่กระจายต่อไปในปี พ.ศ. 2530 และ 2531 ครั้นในปี 2531 จะมีไวรัส H3N2 กลับมาแพร่กระจายอีกคือ A/Shanghai/11/87 (H3N2) ไวรัส H3N2 ระบาดกระจายอยู่ทั่วไปต่อไปอีกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 จนถึงปัจจุบัน
         ระหว่างปี พ.ศ. 2532-2538 ได้มีการศึกษาเฝ้าระวังที่สถาบันวิจัยไวรัส โดยแยกเชื้อไข้หวัดใหญ่กรุงเทพมหานคร (32) จากตัวอย่างตรวจน้ำป้ายคอ 2,733 ตัวอย่าง ที่ได้จากผู้ป่วยโรคติดเชื้อ เฉียบพลันทางระบบหายใจที่ไปตรวจรักษาที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 17 และโรงพยาบาลรามาธิบดี เชื้อที่แยกได้ 588 สายพันธุ์ เป็นไวรัส A 270 สายพันธุ์ โดยแยกเป็น A (H1N1) 62 สายพันธุ์ และเป็น B 318 สายพันธุ์ และสำหรับในปี 2540 แยกได้ 2 ชนิดคือ A/Wuhan/359/95-like (H3N2) และ A/South Africa/1147/96-like (H3N2) ส่วนไวรัส B ที่แยกได้เป็น B/Beijing/184/93-like
         ในปี พ.ศ. 2535 และ พ.ศ. 2536 มีรายงานผู้ป่วยในระดับปานกลางคือ 49,494 คน และ 54,478 คน คิดเป็นอัตรา 86.17 ต่อแสน และ 93.4 ต่อแสนประชากรตามลำดับ ในปี พ.ศ. 2535 ไม่มีรายงานผู้ป่วยตาย ส่วนปี พ.ศ. 2536 มีผู้ป่วยตาย 3 ราย ภาคใต้ เป็นภาคที่มีผู้ป่วยสูงที่สุดทั้ง 2 ปี (33,34)
ตารางแสดง --> ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่แยกได้ในประเทศไทย พ.ศ.2500-2540
YEAR OF FIRST ISOLATION
YEAR OF
PREVALENCE

INFLUENZA A
1957
A/SINGAPORE/1/1957 (H2N2)
1957-1967
1968
A/HONG KONG/1/68 (H3N2)
1968-1972
1972
A/ENGLAND/42/72 (H3N2)
1972-1974
1973
A/PORT CHALMERS/1/73 (H3N2)
1973-1975
1975
A/VICTORIA/3/75 (H3N2)
1975-1977
1978
A/USSR/90/77 (H1N1)
1978-1981
 
A/TEXAS/1/77 (H3N2)
1978-1984
1979
A/BANGKOK/1/79 (H3N2)
1979-1984
1980
INTERMEDIATE BETWEEN
1980-1984
 
A/BANGKOK/1/79 (H3N2)
 
 
AND A/TEXAS/1/77 (H3N2)
 
1981
A/ENGLAND/333/80 (H1N1)
1981-1982
1983
INTERMEDIATE BETWEEN
1981-1984
 
A/HONG KONG/2/82 (H1N1)
 
 
AND A/CHILE/1/83 (H1N1)
 
1984
A/PHILIPPINES/2/82 (H3N2)
1984
 
INTERMEDIATE BETWEEN
 
 
A/BANGKOK/1/79 (H3N2)
 
 
AND A/PHILIPPINES/2/82 (H3N2)
 
1985
A/TAIWAN/16/83 (H3N2)
1985
 
A/HONG KONG/1/84 (H3N2)
1985
 
A/CAEN/1/84 (H3N2)
1985
 
A/WELL/4/85 (H3N2)
1985
 
A/CHRISTCHURCH/4/85 (H3N2)
1985
 
A/ROMA/6/85 (H3N2)
1985
 
A/MISSISSIPP/1/85 (H3N2)
1985-1987
 
A/STOCKHOLM/8/85 (H3N2)
1985
1986
A/TAIWAN/1/86 (H1N1)
1986
 
A/SINGAPORE/6/86 (H1N1)
1986
1987
A/TAIWAN/1/86 (H1N1)
1987-1989,1992, 1995
1988
A/TAIWAN/1/86 (H1N1)
1988-1989
 
A/SHANGHAI/11/87 (H3N2)
 
1989
A/ENGLAND/427/88 (H3N2)
1990-1992
 
A/HOKKAIDO/208/89 (H3N2)
1989
1990
A/BEIJING/353/89 (H3N2)
1991-1993
1991
A/HONG KONG/25/90 (H3N2)
1991-1992
 
A/SHANGHAI/06/90 (H3N2)
 
1992
A/HONG KONG/34/90 (H3N2)
1992
 
A/BRAZIL/02/91 (H3N2)
1992
 
A/WASHINGTON/15/91 (H3N2)
1992
 
A/BEIJING/46/92 (H3N2)
1992
 
A/BEIJING/32/92 (H3N2)
1992-1994
1994
A/SHANGDONG/9/93 (H3N2)
1994
1995
A/JOHANNESBURG/33/94 (H3N2)
1995-1996
 
A/HONG KONG/01/94 (H3N2)
1995
1996
A/JOHANNESBURG/33/94-LIKE (H3N2)
1996
 
A/WUHAN/359/95-LIKE
 
1997
/WUHAN/359/95-LIKE (H3N2)
1997
 
A/SOUTH AFRICA/1147/96-LIKE (H3N2)
 
INFLUENZA B
1981
B/SINGAPORE/222/79
1981
1984
B/USSR/100/83
1984-1985
1988
B/YAMAGATA/16/88
1987-1993
1990
B/HONG KONG/22/89
1991-1995
1991
B/PANAMA/45/90
 
 
B/QINGDAO/102/91
 
1995
B/BEIJING/184/93
1995-1996
1997
B/BEIJING/184/93-LIKE
1997
เอกสารอ้างอิง (21) : สำราญ วงศ์พ่าห์ ไข้หวัดใหญ่ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6. สารศิริราช 2510; 19; 615-20.
เอกสารอ้างอิง (22) : Vardhanabhuri S. An attempt to isolate influenza virus causing the recent epidemic in Thailand. J Med Assoc Thai 1958; 41: 253-61.
เอกสารอ้างอิง (23) : Thongcharoen P, Thepitaksa M, Prakobpol C, Tuchinda U, Maranetra N, Roongpitarangsri. 1968 outbreak of influenza in Thailand. Epidemiolgical and laboratory investigations. J Med Assoc Thai 1969; 57: 724-36.
เอกสารอ้างอิง (24) : Sarasombath S, Panpatana P, Thongchareon P, Tuchinda S, Suntorapoch, Ooonsombath P. Brief note on influenza virus isolation in the year 1970. Siriraj Hosp Gaz 1971; 23: 1061-4.
เอกสารอ้างอิง (25) : สายสุนีย์ วนดุรงค์วรรณ, วิบูลย์ศรี พิมลพันธ์, พิรัช แป้นพัฒน์และคณะ : การศึกษาแยกเชื้อ ไวรัสไข้หวัดใหญ่จากผู้ป่วยโรงพยาบาลศิริราช พ.ศ. 2516-2519, แพทยสภาสาร 2520; 6:171-9.
เอกสารอ้างอิง (26) : Thongcharoen P, Wasi C, Vanadurongwan S, et al. Outbreak of the H1N1 influenza in Thailand 1987. J Med Assoc Thai 1980; 63: 553-9.
เอกสารอ้างอิง (27) : Puthavathana P, Kositanont U, Louisirirotchanakul S, et al. Influenza surveilance at Siriraj Hospitol : 1979-1983. J Med Assoc Thai 1985; 68: 169-73.
เอกสารอ้างอิง (28) : Thongcharoen P. Viral Diseases in Thailand. J Infect Dis Antimicrob Agents 1988; 5: 196-204.
เอกสารอ้างอิง (29) : Reicheldorfer PS, Kendal AP, Shortridge KS, et al. Influenza surveillance in the Pacific Basin. In: Chan YC, Doringsingham S, Ling AF. Current topic in Medical Virology. Singapore, World Scientific Publ Co. 1989: 412-37.
เอกสารอ้างอิง (30) : ไข้หวัดใหญ่. สรุปรายงานการเฝ้าระวังโรค 2528 กองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข 2528: 135.
เอกสารอ้างอิง (31) : ศิริมา ปัทมดิลก, คณึงคิด ประสิทธิเขตร, ไพบูลย์ มณีวงศ์, สุรางค์ สงวนวงศ์. การเฝ้าระวัง ไข้หวัดใหญ่ในกรุงเทพ
มหานคร พ.ศ.2526-2536. วารสารวิชาการสาธารณสุข 2537; 3:329-39.
เอกสารอ้างอิง (32) : ปราณี ธวัชสุภา. การแยกเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531-2538. ติดต่อ ส่วนตัว 2540
เอกสารอ้างอิง (32) : ไข้หวัดใหญ่ สรุปรายงานการเฝ้าระวังโรค 2535 กองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข 2535: 161.
เอกสารอ้างอิง (34) : ไข้หวัดใหญ่ สรุปรายงานการเฝ้าระวังโรค 2536 กองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข 2536: 162.
ข้อมูลจาก : ศูนย์ข้อมูลโรคติดเชื้อและพาหะนำโรค
โดย : ศ.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 8918เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2005 10:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2012 14:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อาจารย์ครับผมอยากได้แบบประเมินความรู้ของ อสม.เรื่องไข้หวัดใหญ่จะหาได้จากี่ไหนครับ

อาจารย์ค่ะหนูอยากได้งานวิจัยที่เกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ อะไรก็ได้สัก2-3เรื่องค่ะ

พอจะมีบ้างไหมค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท