ไทย จะเดินไปทางใด ก็รีบเลือกกันเถิด


อนาคตประเทศขึ้นอยู่กับคนไทย

สังคมทางเลือก เศรษฐกิจทางเลือก..........รีบเลือกกันเถิดรัฐไทยพอล เลอมัง สังคมไทย เมื่อมองจากเวทีระหว่างประเทศและด้วยหัวใจที่เป็นไทย ดูออกจะน่าห่วงเพราะดูเหมือนว่าไทยจะวิ่งตามกระแสโลกาภิวัฒน์ได้เป็นอย่างดี และดีมากจนเกินไป  ทำราวกับว่าเราเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยสูง มีฐานะความเป็นอยู่มาตรฐานแล้วทุกคน.....อันกระแสโลกาภิวัฒน์ ที่กูรูว์ท่านหนึ่งกล่าวว่าไทยกำลังเผชิญกับคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะคลื่นลูกที่สามที่เราต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก ผมจะไม่กล่าวตรงนั้นเพราะได้มีการวิเคราะห์กันแล้วแต่จะขอตั้งข้อสังเกตว่าการที่เรา รัฐไทยตามกระแสไปกับเขาด้วย โดยเชื่อมั่นว่าดีนั้น เราได้เตรียมทางเลือกสำรองเอาไว้บ้างหรือเปล่า หากเกิดวันหนึ่งทางนั้นนำตรงไปยังหลุมบ่อ หรือเหวลึกที่ลาดชันที่แค่คิดจะหยุดก็ล้มกลิ้งตกลงไปกันเป็นแถว เราจะทำอย่างไร......................... ต้องขอยืนยันก่อนว่าผมไม่ได้ค้านโลกาภิวัฒน์ ไม่ได้ค้านการค้าเสรีหรือการเปิดตลาดเสรี เพราะถึงค้านอย่างไรก็ไม่เป็นผล เนื่องจากเป็นกระแสของโลกที่เกิดขึ้นแล้วก็ต้องเป็นไปตามกลไกและเหตุปัจจัยที่มีอยู่ ความจริงสิ่งต่างๆ ที่เอ่ยมาแล้วนั้นก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน รัฐไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกจำเป็นต้องรักษาฐานะในสังคมโลกให้ได้ ก็เหมือนกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันที่ทุกคนทราบดีว่าต้องอยู่ร่วมกัน ต้องติดต่อพึ่งพาอาศัยกัน ได้บ้างเสียบ้างแลกเปลี่ยนกัน เป็นเรื่องธรรมดา ที่ผ่านมาก็ถือว่ารัฐไทยได้รักษาฐานะดังกล่าวและประโยชน์ที่พึงได้รับได้ดีในระดับหนึ่ง......แต่ที่ผมห่วงเป็นพิเศษก็คือเราไปคิดหรือเชื่อว่าการเข้าสังคมโลกและพยายามทำตัวให้ทันสมัยเป็นวิถีทางเลือกเดียวของเราหรือเปล่า ถ้าใช่.......ตรงนี้น่าเป็นห่วง  ลองย้อนดูซิครับว่าที่ผ่านมาไม่นานเราพยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการบริหารงานอย่างมืออาชีพ ผลักดันและกระตุ้นตัวเล่น( Player)ในภาคต่างๆ เกษตร อุตสาหกรรม ธุรกิจ และการเงินของเราให้เร่งเต็มที่เพื่อไข่วคว้าไล่ล่าตัวเลขความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศให้สูง สร้างจีดีพีที่โตพอจะเรียกตัวเองว่าประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งจะว่าไปแล้วประเทศไทยก็มีศักยภาพในสินค้าหลายตัวและในหลายๆ เรื่องที่จะเป็นผู้นำได้ทั้งในระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศ ตรงนี้แม้จะเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่าเราจำเป็นต้องมีบทบาทรักษาฐานะเศรษฐกิจในสังคมระหว่างประเทศเอาไว้ แต่ควรเป็นทางเลือกเดียวหรือ.....เราควรมีทางเลือกอื่นควบคู่กันไปหรือไม่ และทางเลือกนั้นควรเป็นทางใด...................

สังคมทางเลือก-เศรษฐกิจทางเลือก

ถ้าใครพูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในสมัยนี้ ฟังดูเหมือนกับเป็นการสวนกระแสเศรษฐกิจโลก แต่ผมกลับเห็นว่าเป็นการสวนกระแสที่น่าสนใจและมีค่ายิ่งนัก ผมขอเรียนในเบื้องต้นว่าคุณค่าของสิ่งนี้ไม่ได้มีเฉพาะกับสังคมไทยแต่ต่อมนุษย์โลกเลยทีเดียว คลื่นลูกที่สามที่อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์กล่าวถึงแม้เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็จริง แต่ก็น่าคิดว่าการถาโถมเข้ามาของคลื่นลูกที่สาม ประเทศหนึ่งไม่ควรจะปล่อยให้คลื่นพัดพาสิ่งที่ดีงามที่เคยมีอยู่ไปด้วย ควรจะเพียงให้ผ่านไปและเหลือสิ่งที่ยังคงเป็นเราอยู่  เหมือนกับคลื่นที่พัดเข้ามายังหาดทราย หากเราเป็นโขดหิน ก็น่าจะยืนหยัดอยู่ได้ไม่ถูกพัดไปมาเหมือนกับการเป็นเพียงทราย คลื่นลูกที่สามที่นำเอาความคิดใหม่และเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามานั้นไม่สามารถจะแก้ไขความยากจนได้ทั่วถึงอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งทอฟฟ์เลอร์เองบอกว่าไม่เห็นด้วย เพราะทอฟฟ์เลอร์เห็นว่าสิ่งเหล่านี้อย่างน้อยก็ส่งผลให้คนจนมีความเป็นอยู่ดีขึ้นผมเห็นว่าทฤษฎีต่างๆ ที่ชาวต่างชาติคิดออกมานั้นในที่สุดก็เริ่มจากสภาพแวดล้อมในสังคมของผู้คิดเป็นสำคัญ ใยเราจะต้องนำเอาทฤษฎีที่ไม่เหมาะกับสภาพสังคมเรามาใช้ทำให้เราดูด้อยพัฒนาจนต้องไล่ตามกันเช่นนี้  ในขณะที่ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงเกิดมาจากสภาพแวดล้อมของเราเอง เป็นทฤษฎีที่มีความชาญฉลาดล้ำลึกและเหมาะสมที่จะนำมาใช้ด้วยประการทั้งปวงกูรูร์ต่างชาติคนใดจะยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม ผมเชื่อว่าเขาไม่ได้สนใจหรือคิดจะมองเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนักหรอก เพราะสภาพเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของเขานั้นมันเกินคำว่าพอเพียงไปแล้วมากนัก อาจจะใช้คำว่าเศรษฐกิจล้นทะลักก็ได้ รัฐไทยอยากจะเดินรอยตามการนำไปสู่เศรษฐกิจล้นทะลักก็ไม่ว่ากัน ธรรมชาติมักมีอะไรที่เป็นคู่ปรับกันเสมอ ในขณะที่ความคิดของนักคิดส่วนหนึ่งกำลังอย่างเฟื่องฟู มุ่งแต่มองหาวิธีการฉวยประโยชน์โดยอาศัยความฉลาดสร้างทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่จะนำไปสู่การสร้างขยายการผลิต สร้างและเพิ่มมูลค่า สร้างและทวีคูณกำไรจากการขายในรูปการค้าเสรี นักคิดอีกส่วนหนึ่งก็คิดหาวิธีจะแก้ไขความคิดที่เฟื่องฟูอย่างรวดเร็วนั้นให้กลับมาอยู่ในความสมดุลย์สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในสังคม ความคิดดีๆ แบบนี้มีคุณค่าสมควรได้รับการยกย่องและเหมาะสมที่จะได้รับรางวัลโนเบลมากกว่าทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เพื่อเศรษฐกิจล้นทะลักด้วยซ้ำไป รัฐไทยเป็นประเทศพื้นฐานเกษตรกรรม มีธรรมชาติมีวัฒนธรรมท้องถิ่นอันดีงามที่ยาวนาน มีศาสนาที่นุ่มนวลปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตคนที่ราบรื่นสงบรักสันติได้ดี เราไม่มีน้ำมัน เราไม่มีเหล็ก เราไม่มีอะไรอีกหลายอย่างที่จะเป็นวัตถุดิบเป็นฐานการผลิตให้เป็นประเทศมหาอำนาจทางอุตสาหกรรม แต่เรามุ่งพัฒนาประเทศเพื่อจะให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม เป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาค เป็นเมืองที่ทันสมัยทางด้านวัตถุ เป็นเมือง ศูนย์กลางแฟชั่นของโลก สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ด้วยเหตนี้แผนเศรษฐกิจของเราจึงมุ่งหารายได้เข้าประเทศเพื่อให้มีการพัฒนาเมือง มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและเลยพื้นฐานมากมาย ทุกอย่างที่ประเทศพัฒนาแล้วมี เราก็มีทุกอย่างเหมือนกัน อาทิ  อาคารใหญ่ๆ โรงแรมห้าดาวครึ่ง ห้างสรรพสินค้าใหญ่ที่สุด รถไฟลอยฟ้า รถใต้ดิน ......ล้วนแข่งกันให้ทันสมัยและใหญ่ที่สุด.............ถามว่าสิ่งเหล่านี้จำเป็นหรือไม่ ตอบว่าจำเป็นเหมือนกัน แต่ถ้าถามต่อว่าถึงระดับที่เพียงพอหรือยัง ก็ตอบว่าจะพอเพียงหรือไม่ขึ้นอยู่กับนโยบายของเราว่าจะเลือกทางเลือกใด เลือกที่จะเป็นสังคมทันสมัยที่พัฒนาตามเมืองที่ทันสมัยของโลก...ที่เจริญแต่เพียงวัตถุ มีอำนาจเงินตราเป็นตัวนำสังคมหรือว่าเลือกที่จะเจริญแบบเพียงพอตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมของเราเอง ตรงนี้เองที่อยากจะเสนอความคิดว่ารัฐบาลจะวิ่งตามความเจริญของโลกโดยใช้นโยบายเศรษฐกิจก้าวกระโดดก็ไม่ว่ากัน เป็นเรื่องของสังคมคนรวย  แต่ได้เตรียมทางเลือกอื่นเอาไว้บ้างหรือเปล่า เศรษฐกิจพอเพียงน่าจะเป็นคำตอบที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของทอฟฟ์เลอร์ที่ทำนายว่าไทยสามารถเป็นผู้นำสังคมเกษตรอุตสาหกรรมได้ในอนาคต.....มารีบเตรียมทางเลือกนี้ไม่ดีกว่าหรือเศรษฐกิจพอเพียงนี้ผมหมายถึงสำหรับคนในเมืองด้วย ทำอย่างไรให้คนในเมืองสามารถนำทฤษฎีนี้มาปรับใช้กับวิถีชีวิตในเมืองด้วยเป็นเรื่องที่มีคุณค่าที่จะคิด-เราพยายามสนับสนุนภาพที่ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าความเจริญความทันสมัยคือการมีเงินเยอะๆมีสิ่งของวัสดุอุปกรณ์ทันสมัยอย่างนั้นหรือ-เราจำเป็นต้องซื้อรถใหม่ๆวันละหลายร้อยหลายพันคันหรือไม่ ทั้งที่น้ำมันแพงขึ้นทุกวันและส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมด้วย -เราควรจะใช้ของที่ผลิตแต่ในเมืองไทยและที่เกิดจากภูมิปัญญาคนไทยไหม -เราควรจะประหยัดการจับจ่ายใช้สอย ลดความฟุ้งเฟื้อกันไหม-เราควรจะใช้ประโยชน์จากสิ่งของที่เราเคยทิ้งเป็นขยะเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ไหม -เราควรจะหันมาลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวโดยการปลูกพืชสวนครัวไหม-เราควรจะลด ละ เลิกอบายมุขหันมาฟื้นฟูจิตใจกันไหม-เราควรจะรักษาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่มีอยู่แล้วให้ใช้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่และอย่างยั่งยืนไหม-เราควรจะใช้ประโยชน์จากธรรมชาติที่เรามีอยู่ให้ใช้ได้อย่างยั่งยืนไหม-เราควรจะปรับวิถีชีวิตจากที่เคยยึดติดและพึ่งพาเทคโนโลยีทุกลมหายใจกลับมาสู่วิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีความสมดุลย์กับสภาพสิ่งแวดล้อมของไทยไหม........ฯลฯ ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์มาจนถึงปัจจุบันยังคงสภาพเดิม เปลี่ยนไปไม่มากนักคือปัจจัย 4  แต่ที่เปลี่ยนไปมากคือจิตใจของมนุษย์บางกลุ่มที่คิดว่าพื้นฐานดังกล่าวไม่เพียงพอแล้ว จะต้องเพิ่มให้สูงขึ้น มีปัจจัยมากขึ้นจากสี่ เป็นปัจจัยห้า ปัจจัยหก และวิจิตรพิศดารมากขึ้นให้เท่าเทียมต่างชาติจึงพยายามฟุ้งเฟ้อตามเขาทั้งที่จริงปัจจัยเหล่านั้นไม่ได้สำคัญและมีคุณค่าต่อชีวิตมากอย่างที่คิดเลย.......จะมีใครหรือหน่วยไหนไหมที่คิดจะศึกษาวิเคราะห์เศรษฐกิจพอเพียงสำหรับคนในเมือง เพื่อให้คนไทยสามารถมีภูมิคุ้มกันคลื่นลูกที่สามและรักษาวิถีชีวิตที่สมดุลย์และคงที่ไว้ เป็นสังคมทางเลือกเศรษฐกิจทางเลือกที่ไม่จำเป็นต้องตามกระแสโลกาภิวัฒนาเร่งพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดสุดตัวอย่างเดียวเสมอไปบางที หากประชาชนมีทางเลือก มีวิถีชีวิตที่เพียงพอเหมาะสม ไทยอาจเป็นประเทศเดียวที่ไม่ล้มและยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง ท่ามกลางวิกฤตการเมืองเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ.....ในขณะที่ประเทฅอื่นล้มลงเมื่อคลื่นลูกที่สามผ่านไป ทิ้งไว้แต่สิ่งสกปรกบนหาดทรายเช่นในอดีตที่ผ่านมา......รีบหากันเถิดครับ สังคมเศรษฐกิจทางเลือกก่อนที่จะไม่มีโอกาสเลือก...........................................................................

หมายเลขบันทึก: 88430เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2007 05:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 พลเดช วรฉัตร...

อ่านๆ ไปก็นึกถึง ลัทธิเอาอย่าง ของ พระมหาธีรราชเจ้า.. ซึ่งเปรียบเทียบทำนองว่า...

คนไทยที่เลียนแบบฝรั่ง ฝรั่งก็เอ็นดูโปรดปราน... คล้ายๆ กับ สุนัขที่เลียนแบบกิริยาของคน คนก็เอ็นดูโปรดปราน แต่คนก็ไม่ได้สำคัญว่า สุนัขตัวนั้นจะเป็นคน...ดังนั้น คนไทยที่เลียนแบบฝรั้ง ก็เหมือนสุนัขที่เลียนแบบกิริยาของคน...

...

ความเห็นส่วนตัว...สังคมโลกาภิวัฒน์ยุคนี้ เริ่มต้นความฟุ้งเฟ้อจากสังคมชั้นสูง (ไฮโซ) จากผู้มีการศึกษาสูงในระบบ และจากดารานักร้องมีชื่อ... 

ดูลครโทรทัศน์ ยังไม่มีเรื่องราวที่แสดง ถึงบทบาทของตัวลครที่แสดงออกถึงอุดมคติแบบพุทธแท้ๆ เช่น ใช้มือถือ ก็แสดงให้เห็น คุณค่าแท้ของมือถือ.. ใช้สิ่งอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า รถยนต์ ก็พยายามแสดงให้เห็นถึงคุณค่าแท้ๆ ของสิ่งนั้นๆ...

ดูโฆษณา ก็มีแต่เรียกร้องให้เกิดความฟุ้งเฟ้อต่างๆ ...กบว. น่าจะสำรวจประเด็นนี้ ถ้าโฆษณาไหน ชักจูงไปทางฟุ้งเฟ้อก็ให้ตัดออก ไม่ผ่าน...ทำนองนี้...

มีประเด็นอื่นๆ อีกมาก....

เจริญพร

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

ที่ต้องตระหนักก็คือ โลกาภิวัฒน์นี้ไทยเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เป็นการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นไปเช่นนั้นเอง ความหลากหลายของสังคมต่างๆ ในอดีตจึงกลายเป็นสังคมที่ผสมกลมกลืนมากึ้นเรื่อยๆ การเลียนแบบจึงเกิดขึ้นครับ คือต่างคนต่างเลียนแบบกันครับ

จึงอยู่ที่ว่าเราจะตั้งรับกระแสนี้อย่างไร สะกัดกั้นอย่างไร เลือกรับอย่างไร ให้ได้ประโยชน์สุงสุด หรือเสียประโยชน์น้อยที่สุด.......สิ่งที่เกิดกับสังคมไทยทุกวันนี้ คงจะทำให้รู้กันแล้วว่าเรารับมือได้มากน้อยเพียงใด....

สังคมโลกคือประเทศต่างๆ ประมาณ 200 ประเทศที่ต่างพยายามแย่งกันหาประโยชน์  มีคนได้ ก็มีคนเสีย.....ไทยเราถือว่าอยู่กลางๆ ครับ แต่หากไม่รีบปรับปรุงตัวเอง หาความรู้เพื่อให้ทันกระแสโลก ก็อาจจะถอยหลังไปเรื่อยๆ ก็ได้ครับ......ผมเห็นว่าทุกคนมีส่วนร่วมที่จะช่วยกันให้ความรู้แก่คนในสังคมครับ....gotoknow เป็นเว็บหนึ่งที่ได้มีบทบาทช่วยตรงนี้ครับ....

นมัสการมาด้วยความเคารพ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท