ความขัดแย้ง (Conflict) และการจัดการ


ผมเชื่อใน “ควาญของคน” ว่าสามารถจัดการเรื่องปัญหาความขัดแย้งได้

     จากที่บันทึกไว้ 2 เรื่อง คือ ความขัดแย้ง (Conflict) กรณีตัวอย่างที่ 1 และ กรณีตัวอย่างที่ 2 ผมขอลองสรุปจากประเด็นทั้ง 2 นี้ ออกมาดูเพื่อให้เห็นเด่นชัดขึ้น

     ความขัดแย้ง (Conflict) เป็นเรื่องธรรมชาติของตัวบุคคล องค์การ ชุมชน หรือสังคม ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในระดับภายในตัวของเราเอง ตัวเรากับคนอื่น หรือ กลุ่มคณะของเรากับกลุ่มคณะอื่น มองได้ 2 ด้าน มองด้านบวก ก็ได้ว่าเพื่อเป็นเครื่องมือในการปรับปรุงและพัฒนา ตัวอย่างกรณีที่ 2 ที่หลังจากนั้นน้องจนท.ที่จบมาอยู่ที่เดียวกับผม ก็จะพูดอธิบายให้คนไข้เข้าใจมากขึ้น เห็นความสำคัญของการมีปฎิสัมพันธ์กับชุมชน ว่าจะช่วยให้เขาไม่ร้อน แม้จะไม่เข้าใจ แทนที่จะต่อว่า เขาก็จะใช้วิธีการสอบถามแทน (ไม่ใช่ช่วยให้เย็นลงนะ) เราก็จะได้อธิบายต่อ ส่วนมองด้านลบก็จะเป็นการทำลายน้ำใจ ทำลายมิตรไมตรีต่อกัน เกิดความยุ่งเหยิง ไม่มีสันติสุข

     ในทัศนะผมมองว่าเป็นด้านบวก แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับไม่ให้ลุกลามใหญ่โต โดยเชื่อว่าคนนอกไม่ต้องเข้าไปยุ่งมากนัก ขบวนการทางสังคมจะจัดการเรื่องนี้ได้เอง ดังกรณีตัวอย่างที่ 1 และกรณีตัวอย่างที่ 2 และผมเชื่อด้วยว่ามนุษย์จะพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเป็นพื้นฐาน บางเรื่องเมื่อคนนอกกระโดดเข้าไปจัดการเลยก็จะแก้ไขอะไรได้ยากขึ้น คนนอกควรเฝ้ามองเพียงห่าง ๆ

     การจัดการกับปัญหาความขัดแย้ง เป็นศิลปะจึงไม่สามารถนำทฤษฎีมาใช้ได้อย่างสมบูรณ์ หากจะนำมาใช้ก็เป็นเพียงการนำมาเป็นเครื่องปรุง เพื่อให้เกิดรูปแบบการป้องกันปัญหาเท่านั้น ทว่าเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว คนที่เข้าไปจัดการต้องมีสติ เป็นกลาง เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย พระเดชจะใช้ไม่ได้ผล อาจใช้ได้เพียงกลบปัญหาไว้เท่านั้น แต่พระคุณจะใช้ได้ผลกว่า และสามารถลบตัวปัญหาได้ด้วย

     การจัดการกับปัญหาความขัดแย้ง จะใช้เพียงการเจรจาไกล่เกลี่ยอย่างเดียวไม่ได้ ถึงแม้ว่าเทคนิคการเจรจาจะมีความสำคัญมาก คงต้องใช้ภาพลักษณ์ของผู้จัดการเจรจา หรือไกล่เกลี่ยด้วย การจัดการกับปัญหาความขัดแย้งเพื่อไม่ให้ลุกลามใหญ่โต ต้องใช้ความไว (Sentive) ในการตรวจจับ ฉะนั้นสมาชิกขององค์การ ชุมชน หรือสังคม คงต้องมีส่วนร่วมทุกคน และการตัดสินใจจัดการไม่ใช่เรื่องของการบังคับบัญชาตามสายงาน แค่ต้องเป็นสำนึกรับผิดชอบ โดยเฉพาะผมเชื่อใน “ควาญของคน” ว่าสามารถจัดการเรื่องปัญหาความขัดแย้งได้ องค์การ ชุมชน หรือสังคม จึงต้องรู้ว่าใครเป็นควาญใครอย่างไม่เป็นทางการครับ หรือจะใช้ FIRST+S เครื่องมือประหยัดเวลา ร่วมด้วยก็จะดีมากครับ ปัญหาจะได้ไม่เกิด และไม่บานปลายด้วย

หมายเลขบันทึก: 8833เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2005 21:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ไม่ได้บังเอิญผ่านมา แต่ครานี้ตั้งใจมา

ความขัดแย้ง หรืออะไรก็ตาม นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ของความขัดแย้งและการจัดการ

ผมเขียนเรื่องนี้มาตั้งแต่ 13 ธันวาคม เพิ่งได้มีจังหวะมาแปะ เรื่องนี้ที่นี่ อาจจะก้ำกึ่งระหว่าง ความขัดแย้ง และ ฝนตกหนักอีกแล้ว แต่นี่น่าจะเข้าประเด็นมากกว่า

ฝนตก น้ำท่วม คน ทรัพยากร การจัดการ พระเจ้าองค์ใหม่ พระเจ้าองค์เดียว คนเมือง คนชายขอบ เศรษฐกิจ อำนาจรัฐ  ธรรมรัฐ ประชาพิจารณ์ เมืองไทยสะอาด สิทธิ เสมอภาพ ภราดรภาพ อภิสิทธิ์ชน เคารพสิทธิ เสียสละ ละเมิด เงื่อนปมเวลา มือไพล่หลัง ระเบิดเวลา เล่าปี่ โจโฉ ซุนกวน หยาบช้าเพราะขมขื่น ขัอมูล ข้อเท็จ ข้อจริง จัดตั้ง อยากรู้อยากเห็น แอบอ้าง สีข้างเข้าถู เหตุผล สุขภาวะทางจิตวิญญาณ ชุมชน วิถี สันติวิถี ยั่วยุ รุนแรง พวกมาลากไป หน้าที่ จำยอม โลภ A time to kill and justice for all

   น้ำท่วมกับกรณีความขัดแย้งระหว่าง คนเมืองกับคนชายขอบ นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างวิถี ต่างถิ่น ทั้งที่ล้วนคือคนไทย

    จากสภาวะฝนตกหนักถึงหนักมาก เมื่อวันที่ 6-9 ธันวาคม 2548 ในพื้นที่ จังหวัดสงขลา ส่งผลทำให้น้ำท่าไหลหลาก เข้าท่วมพื้นที่บริเวณ รอบเสขตเทศบาลนครหาดใหญ่ เทพา จะนะ นาทวี ทุ่งลุง ควนลัง นาหม่อม บางกล่ำ แม้กระทั่งเขตเทศบาลนครสงขลาเอง สะทิงพระ พื้นที่รอบทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะพื้นที่ นาหม่อม และควนลัง หรือเขตฝั่งตะวันตกของคลองอู่ตะเภา เนื่องจากน้ำล้นคันกั้นน้ำคลองอู่ตะเภาฝั่งตะวันตก ที่ต่ำกว่าคันกันน้ำ ฝั่งตะวันออก ประมาณ 1 เมตร รัฐเลือกที่จะกำหนดให้บ้านใครน้ำท่วม หรือน้ำไม่ท่วม ถ้านับตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2548 เป็นต้นมา ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ที่น้ำท่วมพื้นที่รอบนอกเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ โดยเฉพาะ นาหม่อม พื้นที่ที่ห้อมล้อมด้วยภูเขา และควนลัง พื้นที่ชายขอบ ติดต่อเทศบาลนครหาดใหญ่ กลายเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ประกาศเตือนจากอุตุนิยมวิทยาฯ กับการคาดการณ์ สภาวะอากาศ ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องด่วน และออกแถลงการณ์ เรื่องสภาวะฝนตกหนักและสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำอู่ตะเภา มีความเป็นได้ที่จะเกิดฝนตกหนักเหมือนช่วง วันที่ 6-9 ธันวาคม ในระหว่างวันที่ 13-16 ธันวาคม

       นั่นนำไปสู่ประเด็นความขัดแย้ง ให้รุนแรง และขาดสะบั้นลง นั่นคือกรณี คลอง ร.1 หรือคลองระบายน้ำ หนึ่งในหลายๆ คลองที่สร้างขึ้นเพื่อระบายน้ำ ไม่ให้น้ำจากรอบนอก และต้นน้ำไหลผ่านตัวเมืองหาดใหญ่ คลองระบายน้ำเป็น โครงการขุดคลองชลประทาน หลังจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2543 มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 2545-2548 โดยมีข้อความที่ป้ายโครงการฯ ว่า เพื่อเป็นทางด่วนระบายน้ำยามฉุกเฉิน เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภค บริโภค ยามปกติ เป็นทางด่วนคมนาคม ขนส่ง และการท่องเที่ยว และ เพื่อเพิ่มศักยภาพการประกอบอาชีพ
    น้ำท่วมพื้นที่ชายขอบ ส่วนหนึ่งคาดว่าเกิดจาก การที่น้ำในคลอง ร.1 ไม่สามารถระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลาได้ ทำให้น้ำไหลเอ่อ ย้อนกลับมาท่วม พื้นที่บริเวณรอบๆ คลอง ร.1 ระดับสูงสุดเป็นเมตร ในบางจุด  เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น 2 ครั้งในระยะเวลาที่ห่างกันไม่ถึงเดือน ประกายไฟแห่งความโกรธ ได้เผาไหม้ จุดชนวนแห่งความขัดแย้งให้แตกหักกันไป

     น้ำไม่สามารถระบายจากคลอง ร.1 ได้เนื่องจากการขุดคลองยังไม่แล้วเสร็จ ในขณะที่คลองอื่นๆ (ร. 3,4,5,6) ได้ ดำเนินการแล้วเสร็จ ส่วนหนึ่งเนื่องจาก ราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เวรคืน ไม่ย้ายออกหรือไม่ยินยอมให้ขุดในพื้นที่ เหตุการณ์ยืดเยื้อมาจน กระทั่งวันที่ 12 ธันวาคม เพื่อเตรียมและป้องกันน้ำท่วมที่อาจจะเกิดจากฝนตกในช่วงวันที่ 13-16 ธันวามคม ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ได้สั่งการให้ระดมรถขุด มาทำการขุดคลองร.1 ในพื้นที่ที่มีปัญหาท่ามกลางการระดมเจ้าหน้าที่มาคุ้มกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถระบายน้ำในคลอง ร.1 ลงสู่ทะเลสาบสงขลาได้

      ส่วนหนึ่งเนื่องจาก คูคลองธรรมชาติ ไม่ได้รับการดูแล ให้ทำหน้าที่ระบายน้ำได้เต็มที่ เราจะเห็นสภาพได้ทั่วไป แม้กระทั่งคลองอู่ตะเภาเอง ที่ปัจจุบัน เราไม่สามารถที่จะ ล่องเรือจากปากน้ำ หรือจากทะเลสาบสงขลา เข้ามาตามลำน้ำได้ เหมือนเมื่อครั้งก่อน นั่นไม่ใช่ เหตุของการตื้นเขินของคลองไม่ ภาวะคลองตื้นเขิน อาจเกิดขึ้นเพียงในช่วงหนึ่งของปีเท่านั้น

      ส่วนหนึ่ง การปรับสภาพพื้นที่ลุ่ม เพื่อก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ การก่อสร้างที่กีดขวางทางระบายน้ำตามธรรมชาติ ที่ไม่ได้รับการดูแล

       พื้นที่รับน้ำ พื้นที่ซึมน้ำ ซับน้ำ มีจำนวนลดลง ทำให้น้ำผิวดินไหลบ่า ลงสู่พื้นที่ต่ำกว่าอย่างรวดเร็วกว่าอดีต
   ฯลฯ

น้ำท่วมชายขอบหาดใหญ่ เราได้เห็นความตื่นตัวของคนเมืองอย่างไรบ้าง
เราได้เห็น การช่วยเหลือของคนเมืองต่อคนชายขอบ เพียงใด
เราได้เห็นคนชายขอบ ตื่นตัวเมื่อคราน้ำท่วมคนเมืองเพียงใด
เราได้เห็นคนชายขอบ ให้การช่วยเหลือคนเมือง เมื่อครั้งน้ำท่วมคนเมือง มากน้อยเพียงใด
เราจัดการ จัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด อย่างไรให้ เสมอภาค (Equity) โปร่งใส (transparency)
เราพูดถึง Transparency, accountability ของผู้จัดสรรทรัพยากรอย่างไร
เราประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมกันอย่างไร (Environmental Impact Assessment: EIA)
เราประเมินผลกระทบทางสังคมกันอย่างไร (Social Impact Assessment: SIA)
เราประเมินผลกระทบต่อภาวะสุขภาพกันอย่างไร (Health Impact Assessment: HIA)
เราให้ความสำคัญกับประชาพิจารณ์กันอย่างไร (Public Hearing) ทั้งสามฝ่าย
เราให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบกันอย่างไร ทั้งสามฝ่าย (Community Paticipation)
เราคำนึงถึงสิทธิของผู้อื่นอย่างไร (Human Right, Right to ....)
เรามีธรรมรัฐ (Good Governance) ในสยามประเทศหรือไม่ ในขณะที่คนหนึ่งพูดถึงธรรมรัฐ แต่อีกคนพูดถึง Top Down Rule หรือเพียง Governing
เรามีความชอบธรรม (Legitimacy) ที่จะทำ หรือเราอ้างความชอบธรรมเพื่อกระทำ
เราพูดถึงความเสมอภาคกันอย่างไร (Equity)
เราคุยกันเรื่องใดบ้าง ในการขจัดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหา ใช่เพื่อสร้างปัญหา
เพื่อรักษาสิทธิของคนกลุ่มหนึ่ง เราละเมิดสิทธิของคนอีกกลุ่มหนึ่ง อย่างเฉยชาหรือไม่
เราให้คนที่เสียสิทธิ สละสิทธิของเขาอย่าเต็มใจหรือ เพียงการใช้กำลัง

วันที่ 12 ธันวาคม เราได้บ่มเพาะ "ความหยาบช้าเพราะขมขื่น" ให้เกิดขึ้นในหรือไม่ หรือเราช่วยกันสร้างระเบิดเวลาซุกซ่อนไว้ รอวันที่จุดระเบิด
การแก้ปัญหาจุดหนึ่ง คือการปัดปัญหาไปให้อีกจุดหนึ่ง Blow it away เหมือนเราดูดควันจากการทำอาหารจากบ้านเรา เพื่อที่จะพ่นใส่อีกบ้านนึง เหมือนที่เราเห็นกันดาษดื่น
ถึงเวลาที่จะเป็น A time to kill
หรือเราจะให้เป็น And justice for all

ผมเดินออกมาจากพื้นที่คลอง ร.1 จุดที่เกิดความขัดแย้ง ผมถามตัวเองว่า ผมหลับหรือตื่นอยู่ หรือว่าผมเพิ่งกลับมาจากการเดินทางไกล เดินทางไกลมาจากต่างดวงดาว ดวงดาวที่ผู้คนพูดกันคนละภาษา ไม่สามารถสื่อสารถึงกันได้ ผมอาจจะเพิ่งตื่นจากฝัน มาพบโลกแห่งความจริง ก็เป็นได้

การขุดคลอง ร.1 ในจุดที่มีปัญหา กำลังดำเนินการขุดอย่างเต็มที่ ทั้งวันทั้งคืน เพื่อเร่งให้เสร็จ ก่อนฝนตกหนัก

ความขัดแย้งได้มาถึงจุดแห่งเปราะบาง พร้อมที่จะขาดสะบั้นทุกเวลา

ความไม่พอใจในอำนาจรัฐเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ ในความเงียบ ความมืดดำแห่งราตรีกาล

ฝนเริ่มตกลงมาอีกแล้ว, ได้รับแจ้ง จากจุดต่างๆ ในพื้นที่หาดใหญ่ รอบๆ หาดใหญ่ เมืองสงขลา แม้จะไม่เป็นระดับที่แรงนัก แต่มีแนวโน้มจะหนักขึ้นในช่วงก่อนรุ่งเช้า

ผมได้ยินเสียงฟ้าร้อง มาไกลๆ

หรือเราจะปล่อยให้เวลา เป็นตัวฝังกลบทุกสิ่ง ให้สายน้ำพัดพาสรรพสิ่งไปตามสายน้ำ แล้วทุกคนก็ลืมเรื่องราว ของคนชายขอบ แต่ความสิ้นหวังได้ก่อตัวขึ้นเงียบๆ จะให้เวลาอีกกี่ราตรีกาล จะให้สายน้ำไหลวนอีกกี่รอบ จึงพัดพาความสิ้นหวัง ความสิ้นศรัทธาให้จากไป


November Rain - ฝนที่ตกตลอดเวลา

     ผมได้อ่านก่อนบันทึกต่อท้ายนี้ เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งมักจะเกิดกับผมได้กรณีที่อ่านแล้วกินใจ เห็นด้วย หรือ สะดุดใจ ประมาณนี้

     ผมไม่สามารถเขียนอะไรได้มากนอกจากจะบอกว่า นี่แหละทุกข์ของคนชายขอบที่เกิดขึ้นเสมอ ๆ โดยเฉพาะเขามักจะพูดกับเราดี ๆ ในตอนแรก ๆ เพื่อเอาเปรียบ หากไม่ได้ก็จะเลือกใช้การโกหก การสร้างกระแส ข่มขู่ พวกมากลากเอา หรือท้ายสุดก็ใช้กำลัง แต่ยังไงก็แล้วแต่ผมเชื่อในปัญญาของคนชายขอบว่ามี มีมาก อย่าใช้กำลัง หรือวิธีการที่เขาใช้กับเราโต้กลับเลย ขอให้ใช้ปัญญากันเถอะ ผมยังว่ามีพลังและจะสันติ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท