ไปพิษณุโลก


ทำอย่างไรมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่นกับผู้ทีทำกิจกรรมอยู่กับชุมชน..จะสามารถมาช่วยกันสร้างความรู้ พัฒนางานที่มีผลกระทบต่อชุมชน และสร้างบัณฑิตที่ตระหนักและรับรู้ปัญหา.
จัดการภารกิจติดค้างและเริ่มกิจกรรมใหม่อย่างไม่ทันตั้งตัว

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมามีภารกิจทางวิชาการติดค้างที่มหาวิทยาลัยนเรศวร เคยไปช่วยคณะวิทยาศาสตร์ (สมัยดร.คนึงนิจ ภู่พัฒน์วิบูลย์ เป็นคณบดี 3-4ปีมาแล้ว ปัจจุบันท่านเป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย) ทำหลักสูตรปริญญาโทด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ และช่วยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้นักศึกษารุ่นแรกด้วย ต้องบอกว่ามน. เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดหลักสูตรปริญญาโทด้านนี้ป็นแห่งแรกของประเทศไทย น่าชื่นชมบรรดาอาจารย์ที่เห็นความสำคัญของวิชาการด้านนี้และช่วยกันผลักดันจนเกิดได้ ไปเที่ยวนี้ก็ไปเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ ไม่กี่ชั่วโมงก็เสร็จ

ตอนสายๆระหว่างที่นั่งรอการสอบ ทางสคส.โดยคุณแอนน์-ชุติมาได้ประสานกับอาจารย์วัลลา แม่ข่ายคนสำคัญแห่งเครือข่ายKM เบาหวานให้ได้คุยกันถึงงานที่อาจารย์คิดว่าเราน่าจะช่วยได้ อาจารย์ดีใจที่ทราบว่ากำลังอยู่ที่พิษณุโลกบอกว่าอยากให้ได้ไปดูงานกลุ่มที่ทำงานเรื่องKMเบาหวานที่โรงพยาบาลพระพุทธชินราช อาจารย์กรุณาประสานให้คุณอ้อมารับ-ส่งถึงที่ที่บัณฑิตวิทยาลัย

ยอมรับว่าไปแบบงงๆ ไม่เคยรู้เรื่องงานโรงพยาบาล ไม่เคยสนใจหาความรู้เรื่องโรคเบาหวาน ทีสำคัญนึกไม่ออกว่าตัวเองจะทำอะไรให้อาจารย์ได้ตรงตามความต้องการหรือเปล่า แต่ชั่วระยะเวลานั่งรถไปเกือบยี่สิบนาทีคุยกับคุณอ้อและอีกไม่ถึงชั่วโมงที่ได้พบปะพูดคุยกับคุณหมอนิพัทธ และทีมงานพยาบาลวิชาชีพอีกสองสามคน รู้สึกว่าได้ความรู้มากและเข้าใจเลยว่าโรคนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมไทยต้องตระหนักและเรียนรู้ทั้งคนที่ป่วยอยู่ คนที่ไม่รู้ตัวว่าเป็น และคนที่ยังไม่เป็น เลยปวารณาตัวไปแล้วว่าหากตัวเองทำอะไรที่จะเป็นประโยชน์ได้ในเรื่องนี้ขอโหนบุญไปด้วยคน

ระหว่างรอเครื่องบินกลับมีเวลานั่งคิด คิดไปถึงการทำวิทยานิพนธ์ด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ของนักศึกษาที่จะมีขึ้นต่อๆไป น่าจะคิดถึงโจทย์ในระดับท้องถิ่นที่เป็นปัญหาจริงๆ ทำแล้วเกิดประโยชน์ต่อสังคม-ชุมชน ไม่ใช่เอาตัวรอดแค่ได้ทำงานวิจัยเพื่อจบ อย่างกลุ่มที่ทำเรื่องKMเบาหวานนี้ มีประเด็นของการสื่อสารวิทยาศาสตร์อยู่หลายประเด็นและ ในท้องถิ่นไม่เพียงมีแต่เรื่องด้านสุขภาพเท่านั้น เรื่องการเกษตร สิ่งแวดล้อม หัตถกรรม อุตสาหกรรมครัวเรือน และวิสาหกิจชุมชนก็ยังมีประเด็นปัญหาให้วิจัยค้นคว้ามากมาย

สิ่งสำคัญก็คือต้องมีการสื่อสารบอกกล่าวประเด็นปัญหาในท้องถิ่นที่งานวิจัยสามารถช่วยได้ แล้วมีสายวิชาการนำเข้าสู่การหาความรู้ด้วยกระบวนการวิจัย ทำอย่างไรมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่นกับผู้ทีทำกิจกรรมอยู่กับชุมชนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานไหนจะสามารถมาช่วยกันสร้างความรู้ พัฒนางานที่มีผลกระทบต่อชุมชน และสร้างบัณฑิตที่ตระหนักและรับรู้ปัญหาดังกล่าว ให้หนุ่มสาวเหล่านี้มีความภาคภูมิใจในตนเองที่สามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ ไม่เป็นเพียงบัณฑิตทีหลงทาง จบมาแล้วก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ หรืออาจเป็นบัณฑิตหลงตนและถือตนว่ามีความรู้เหนือคนอื่นเพราะมีใบปริญญา

หมายเลขบันทึก: 87763เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2007 17:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
   น่าทำวิจัยนะครับอาจารย์ ว่า บัณฑิตหลงตน กับ บัณฑิตทีหลงทาง  อย่างไหนจะมีมากกว่ากัน
   หวังอยู่ลึกๆว่า ผลการสำรวจตรวจสอบ คงไม่ออกมาว่า จำนวนของทั้งสองกลุ่มเมื่อรวมกันแล้ว เท่ากับ 100 % ของบัณฑิตที่เราผลิตออกมาครับ
  • อยากได้งานวิจัยที่บัณฑิตที่ไม่ทิ้งถิ่นฐานของตนเองครับ
  • สนใจว่าทำอย่างไม่ให้บัณฑิตไม่ตกงานและไม่ทิ้งถิ่นฐานของตนเอง
หมอวีรพัฒน์ รพ หาดใหญ่

มีพยาบาลอาวุโส ท่านหนึ่ง ที่หาดใหญ่  เล่าให้ฟังว่า   มีญาติ อยู่ กทม เป็นเบาหวาน และ ไตวาย  จนแพทย์แนะนำให้ล้างไต

แต่ผู้ป่วยไปกิน ใบไม้อะไรสักอย่าง เป็นประจำ ต่อมา ตรวจติดตามแพทย์บอกว่า  คงไม่ต้องล้างไตแล้ว  ผู้ป่วยอาการก็ค่อนข้างดี แม้ยังคงไตวายอยู่บ้าง

นิทานเรื่องนี้  เราฉุกคิดอะไรได้บ้าง

นักวิจัยชุมชน วิจัยท้องถิ่น เห็นประโยชน์อะไร จากข่าวทำนองนี้บ้างไหม

ผมพอรู้ความหมาย และเดาเรื่องบ้าง  บังเอิญ แนวคิดผม   ชอบให้ชาวบ้านเป็นหมอเบาหวาน แนวของภูมิปัญญา  มากกว่า เอาวิชาเบาหวานของเราไปให้ชาวบ้านเรียนด้านเดียว

เราควรค้นหาว่า ได้ผลแบบชาวบ้าน มีคำอธิบายอะไร

ขอบคุณในความเห็นของทุกท่านค่ะ เราคงต้องช่วยกันคิดหาแนวทางและคำตอบ

ประเด็นของคุณหมอวีรพัฒน์นั้นตรงใจมากๆเลยค่ะ ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ทำในแนวทางที่คุณหมอกล่าวมายาวนาน ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถทำให้ตัวอย่างวิธีคิดในแนวนี้แพร่หลาย ให้บ้านเมืองเราอยู่กันแบบใช้ความรู้ที่หลากหลาย ไม่ใช่ได้ความรู้ใหม่ก็ทิ้งของเดิม ดีใจมากที่คุณหมอสมัยใหม่ยังให้การยอมรับภูมิปัญญาไทยค่ะ

  • ตามมาแสดงตน
  • ว่าถูกใจจริง เพราะตัวเองก็สนใจ IK มานานแล้ว

ตามจนเจอ blog ของอาจารย์นะครับ รูปกับตัวจริงสวยเหมือนกันเลย

ตามจีบ อาจารย์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆมาช่วยทำการศึกษาวิจัยที่เป็นประโยชน์กับท้องถิ่นมาตลอด  ได้มั่งไม่ได้มั่ง อิอิ

Pขอบคุณพี่บางทราย ตามไปตอบที่บล็อกของพี่แล้วนะคะ
Pสวัสดีค่ะคุณหมอ ขอบคุณที่วิ่งตามมาเยี่ยม
ตัวจริงคุณหมอหล่อกว่าในรูปค่ะ(จริงๆนะนี่)
ขอบคุณอีกครั้งที่เลี้ยงอาหารเย็นที่แสนอร่อยนะคะ ยังนึกถึงปลาเค้าทอด ตัวใหญ่ อาหารด้านปลาที่พิษณุโลกขึ้นชื่อ ดีสมคำเล่าลือค่ะ
สนใจสิ่งที่คุณหมอทำด้านขยะของเมืองมากค่ะ เรายังต้องแก้ปัญหานี้ในแทบทุกชุมชน โดยเฉพาะชุมชนริมน้ำ
เรื่อง หลักสูตรCBM น่าสนใจครับ  เพราะจะเน้นเรื่องของ modern management กับ public participation  ( เอาประชาชนมาช่วยทำน่ะครับ )   
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท