เด็กยุคนี้...ไฉนจึงเสียคนได้ง่าย


วันนี้คุณ...รู้เท่า เข้าถึง ลูกหรือลูกศิษย์ของคุณมากพอหรือยัง?

           อีกแล้วบ้านนี้...ขายควายส่งควายเรียนเป็นคำพูดที่ชาวบ้านย่านนี้ชอบพูดกัน และก้องอยู่ในหูของเด็กชายคนหนึ่งตลอดมา ขณะนั้นเขากำลังเรียนอยู่ชั้น ม.ศ.3 ที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในตัวจังหวัด แต่ ณ วันนี้ เขาเป็นผู้เข้าประชุมท่านหนึ่ง ซึ่งเข้าร่วมประชุมสัมมนาในหัวข้อ แนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ระหว่างวันที่ 22-25 มีนาคม 2550 ณ โรงแรมเอสดี อเวนิว กรุงเทพฯ ซึ่งดิฉันเองได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมสัมมนาในครั้งนี้ด้วย

             อาจารย์ท่านนี้ ท่านเป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดยโสธร ท่านเล่าให้ฟังว่าชีวิตของท่านในสมัยนั้น ลำบากมาก ฐานะทางบ้านยากจน ครอบครัวมีอาชีพทำนา มีกำลังทุนทรัพย์ส่งลูกเรียนแบบลุ่ม ๆ ดอน ๆ  โดยขณะที่ท่านกำลังจะเรียนจบ ม.ศ.
3 นั้น ต้องนำเงินไปจ่ายค่าเทอมก่อนจึงจะได้เข้าสอบปลายภาค

             เพราะไม่มีเงิน จึงกลับไปบ้านเพื่อขอเงินแม่ แม่บอกว่าจะรอขายควายเอาเงินมาให้ ซึ่งในสมัยนั้นดูแล้วคงจะขายได้ไม่เร็วนัก เห็นทีจะไม่ทันกาล ท่านจึงตัดใจไปบอกครูใหญ่ว่าให้ช่วยไปบอกผู้อำนวยการโรงเรียนให้หน่อยว่า ท่านจะขออนุญาตเข้าสอบก่อน เมื่อจบแล้ว ก็จะออกไปหาเงินมาชดใช้ค่าเทอมให้

             ปรากฏว่าผู้อำนวยการอนุญาตให้ท่านเข้าสอบได้ แต่บอกครูใหญ่ว่าถ้าเด็กคนนี้เบี้ยวไม่มาจ่ายเงิน ผู้อำนวยการจะหักค่าเทอมของเด็กจากเงินเดือนของครูใหญ่....ซึ่งต่อมา ผู้อำนวยการก็ไม่ได้ทำเช่นนั้น แถมยังให้ครูใหญ่เรียกเด็กคนนี้เข้าไปหา และยังให้ทุนจำนวนหนึ่งไปเรียนต่อ ม.ศ.
4 ที่โรงเรียนอีกแห่งหนึ่งด้วย ส่วนค่าเทอมที่ติดค้างกันอยู่ ผู้อำนวยการให้ใช้หนี้ด้วยการไปถางหญ้าที่สวนน้อยหน่าของท่าน...จวบจนทุกวันนี้ผู้เล่าก็ยังไม่ลืมบุญคุณของผู้อำนวยการและครูใหญ่ของท่าน และยอมรับว่าตัวเองประสบความสำเร็จในชีวิตได้ก็เพราะการดูแลของคุณครูทั้งสองท่าน

              สบโอกาสในเวลาเบรกของช่วงการประชุม ดิฉันได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมกับเจ้าของเรื่องเล่านี้ โดยดิฉันได้สอบถามข้อมูลที่ยังอยากรู้ต่อว่าเพราะเหตุใดท่านจึงผ่านร่องหลุมของชีวิตในช่วงนั้นมาได้ ทั้งที่ท่านบอกว่ายากลำบากเหลือเกิน ท่านตอบว่า เพราะคำพูดว่า
ขายควายส่งควายเรียน ของเพื่อนบ้านนั่นแหละ ที่เป็นแรงผลักดัน ให้ท่านฮึดสู้ เอาชนะคำสบประมาทให้ได้ และคิดอยู่เสมอว่า ต้องเอาดีให้ได้

              ดิฉันถามว่า ที่ท่านยืนหยัด ยึดมั่น
ต้องเอาดีให้ได้ พ่อแม่มีส่วนในการปลูกฝังหรือสั่งสอนท่านไหม ท่านกลับบอกว่า ตอนเด็ก ๆ พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลามาอบรมสั่งสอนมากนัก เพราะมัวแต่ยุ่งเรื่องการหาเลี้ยงชีพ เพราะมีลูกหลายคน ดิฉันก็นึกแปลกใจว่าแล้วอะไรที่ทำให้ท่านมีจิตใจใฝ่ดีอย่างแรงกล้าได้

              ท่านบอกว่า
ครู นี่แหละมีส่วนช่วยผมมาก ๆ ใครจะบอกว่าเด็กจะดีได้ต้องพ่อแม่สอนมาดี อย่างเดียว อาจไม่ใช่ ผมไม่ได้ว่าแม่ไม่ดี แต่ก็ไม่ได้สอนอะไรมากนัก ครูเป็นคนสอนมากกว่า ผมจึงไม่เสียคน ...

               เราคุยกันไม่นานนัก ก็หมดเวลาพัก ต้องแยกย้ายกันไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแต่ละฐานที่กำหนดไว้กันต่อ จากการพูดคุยกันนี้ ทำให้ดิฉันนึกถึงเรื่องของตัวเองขึ้นมาบ้าง สมัยเด็ก ๆ เดิมพ่อของดิฉันมีอาชีพขับรถหกล้อรับจ้างบรรทุกของ ซึ่งแม่จะต้องตามไปช่วยด้วยเสมอ และจะทิ้งลูก ๆ ไว้ให้ย่าคอยดูแล ต่อมาเปลี่ยนอาชีพมาเปิดร้านชำค้าขายอยู่กับบ้าน วัน ๆ ไม่ค่อยมีเวลาว่าง เนื่องจากหมดไปกับการทำมาค้าขาย

               ตอนเด็ก ๆ ดิฉันถูกแม่ตีบ่อยครั้งนับไม่ถ้วน ความรักของแม่ถูกถ่ายทอดผ่านไม้เรียวเสมอ ความห่วงใยผ่านเสียงบ่นและดุว่าบ่อยครั้ง จำได้ว่ามีคำพูดนุ่มนวลอ่อนหวานไม่เท่าไหร่ สมัยเรียนมัธยมฯ มีเพื่อนผู้ชายมาแอบชอบ และเขียนจดหมายส่งมาที่บ้าน โดยที่ดิฉันไม่รู้เรื่องเลย พอแม่รับจากบุรุษไปรษณีย์ปั๊บก็เปิดอ่านปุ๊บ เสียงเขียวขึ้นมาทันควัน ต่อว่าดิฉันมากมาย ไม่เชื่อว่าดิฉันไม่รู้เรื่องอะไรด้วย รวมทั้งพ่อก็ไม่เชื่อด้วย ดิฉันได้แต่ร้องไห้เสียใจ

               ช่วงเรียนชั้นมัธยมฯ ปลาย ดิฉันชอบการเข้าร่วมทำกิจกรรมกับโรงเรียน อยู่ชมรมฝึกพูดและการแสดงของโรงเรียน หลายครั้งที่โรงเรียนมีกิจกรรมและต้องขออนุญาตแม่ไปซ้อมการแสดงอยู่หลายครั้ง หลัง ๆ แม่เริ่มบ่น ดิฉันได้ยินพ่อกับแม่คุยกันโดยบังเอิญว่าระแวงดิฉันจะไปมีอะไรกับครู (ผู้ชาย) ที่ปรึกษาของชมรม .... ดิฉันรู้สึกแย่มาก ๆ ที่พ่อกับแม่ไม่เคยไว้ใจและมองลูกตัวเองในแง่ร้าย

               เคยเสียใจที่พ่อแม่ไม่ให้ในบางเรื่อง เช่น ตอนเด็ก ๆ ชั้นประถมฯ (น่าจะเป็นซัก ป.
3) ขอเงินแม่ไปซื้อหนังสือการ์ตูนมาอ่าน แม่ไม่ให้ก็เลยแอบขโมยเงินแม่ไปซื้อ ถูกจับได้ โดนตีซะยับเลย อีกทีคือตอนอยู่ ป.6 ขอเงินซื้อไม้แบดมินตัน เพราะอยากเล่นแบบเพื่อนข้างบ้านที่เขามีบ้าง แต่แม่ก็ไม่ให้ แถมบอกว่า มีของเล่นแล้วจะไม่ช่วยแม่ขายของ จำได้ว่าช่วงเด็ก ๆ ก็ไม่ได้เล่นสนุกมากนัก เพราะเป็นลูกตนโตต้องช่วยแม่ขายของ น้อง ๆ ก็ยังเล็กอยู่ช่วยไม่ได้มากนัก

               ตอนจบ ป.
6 เกือบไม่ได้เรียนต่อ เพราะปู่กับย่า (อากง-อาม่า) บอกว่าให้ช่วยพ่อแม่ขายของ เป็นผู้หญิงไม่ต้องเรียนสูงเดี๋ยวก็ต้องแต่งงานมีครอบครัวออกไป ดิฉันร้องไห้ยกใหญ่กลัวไม่ได้เรียนต่อ แต่ยังดีที่พ่อกับแม่บอกว่า ให้ไปสอบดูถ้าติดก็ให้เรียน สอบไม่ติดต้องออกมาช่วยกันขายของ โชคดีที่สอบติด และไม่ใช่ครั้งนั้นครั้งเดียวทุกครั้งที่เรียนจบ และต้องไปสอบเรียนต่อ พ่อกับแม่จะพูดอย่างนี้เสมอว่า สอบติดให้เรียน ไม่ติดออกมาช่วยขายของ ดิฉันคงมีดวงเรื่องเรียน จึงสอบติดทุกครั้งไป

               เรื่องราวเหล่านี้ ในสมัยนั้นดิฉันคิดว่าพ่อแม่ ปู่ย่า ไม่รักเรา บางครั้งเห็นพวกเขาเป็นศัตรูอยู่เหมือนกันนะ น้อยใจก็บ่อย บางทีก็คิดว่า ตกลงตัวเราเป็นลูกเขาจริงมั๊ยเนี่ย เคยนึกอยากจะกระโดดจากที่สูงให้แข้งขาหักไปเลย แต่ก็ไม่ได้ทำเพราะกลัวเจ็บ....ซึ่งต่อมาดิฉันโชคดีที่สามารถถอดรหัสความรัก ความห่วงใยของพ่อแม่ตัวเองได้ จึงผ่านช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อมาได้

               มาถึงวันนี้ดิฉันเข้าใจว่าพฤติกรรมการแสดงออกของพ่อแม่ที่แสดงความรักต่อลูกของแต่ละครอบครัวนั้นไม่เหมือนกัน อย่างหนึ่งที่มีส่วนช่วยดิฉันได้มาก คือ
หนังสือ ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยที่ดิฉันศึกษาอยู่ในช่วงปริญญาตรี แม่ยอมให้ดิฉันมาอยู่หอพัก เพราะต้องการให้เรียนได้เต็มที่ และเป็นช่วงที่น้อง ๆ โต ๆ ช่วยงานขายของได้บ้างแล้ว

               สมัยนั้น ห้องสมุดเปิดตั้งแต่ แปดโมงเช้าถึงสี่ทุ่ม หอปิดสี่ทุ่มครึ่ง ดิฉันจึงมีเวลาขลุกอยู่ในห้องสมุดได้นานมาก ชอบอ่านหนังสือแนวจิตวิทยาประยุกต์ จึงทำให้ได้เรียนรู้พฤติกรรมของคน รู้และเข้าใจผู้คนได้มากขึ้นจากหนังสือไปด้วย ถ้าจะเปรียบกันไปแล้ว ดิฉันเองก็มีผู้ชี้แนะแนวทางไม่ให้เดินทางผิด หรือเข้าใจพ่อแม่ผิด ๆ ก็เพราะมี
หนังสือเป็นครู ของดิฉันนั่นเอง

               แต่เด็กสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน เขามีเวลาในการอ่านหนังสือน้อย ส่วนใหญ่จะหนักไปทางดูทีวี เล่นเกมส์ คุยโทรศัพท์กับเพื่อน หรือเลือกที่จะสื่อสารกับคนแปลกหน้าผ่านทางอินเตอร์เน็ต สังคมเปลี่ยนไป อันตรายมีมากขึ้น หนังสือที่ไม่ดีก็มีมากขึ้น การ์ตูนลามก ยั่วยุทางเพศ รวมถึงสื่อ-เครื่องเล่นทั้งหลาย ที่ถูกใช้เป็นช่องทางถ่ายทอดการแสดงออกทางเพศที่ผิด ๆ และถ้ายิ่งไปเจอพ่อแม่หรือครูที่ยังนิยมแสดงออกความรักความห่วงใยผ่านไม้เรียว เสียงบ่น ดุว่า ประชดประชันด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นแรงผลักให้เด็ก ๆ จมลงสู่ปลักโคลนของชีวิตได้ง่าย

               ทุกวันนี้ทั้งพ่อแม่ และคุณครู
รู้เท่า เข้าถึง สื่อเหล่านี้และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปรเหล่านี้ไปมากน้อยแค่ไหน ตามยุคสมัยไม่ทันก็ไม่อาจดูแลลูกหรือลูกศิษย์ให้รอดพ้นปากเหยี่ยวปากกาไปได้ง่ายนัก ลองถามตัวเองดูซิว่า วันนี้ท่านจะ กอด ลูกของท่านก่อนที่จะปล่อยให้เขาวิ่งไปให้คนอื่น กอด หรือไม่


หมายเลขบันทึก: 87474เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2007 07:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 03:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)
ณรงค์ เพ็ชร์ทอง (เอ)

ผมอ่านแล้วสะท้อนมาในความรู้สึกหลายช่วงของตัวอักษร ขอชมนะครับ ไม่รู้เรียนมาทางอักษรศาตร์หรือไม่ แต่ข้อเขียนอ่านแล้วราบรื่นมาก  เขียนหนังสือขายได้สบายเลย ขอชมด้วยใจจริง  ถ้ามีข้อความดีๆผมรบกวนส่งมา mail ให้ด้วยนะครับ ไม่รู้รบกวนมากไปไหม

 ขอบคุณครับ

 

ชมด้วยค่ะ นับถือๆ

อ ปวีณาเขียนได้ลึกซึ้ง ชัดเจนและน่าอ่าน ดีจริงๆ

อ่านแล้วรู้สึกดี อยากให้คนท้อถอย รู้สึกว่าชีวิตตัวเองลำบาก มาอ่าน

เป็นตัวอย่างชีวิตที่ดี

กว่าจะผ่านชีวิตแต่ละขั้นตอน ต้องสู้ ชนะ แล้วเดินอย่างภาคภูมิ ต่อ เพื่อชนะ ทำได้ แล้วทำต่อ สู้ต่อ ไม่ถอย

 

  • มาทักทายพี่สาว
  • ที่บ้านเรียกว่าขายวัวส่งความเรียนครับผม
  • ขอบคุณมากครับผม
  • มีคำถามครับที่
  • สอบถาม ปวีณา ธิติวรนันท์
  • ขอบคุณมากครับ
  • ขอบคุณ คุณณรงค์ค่ะ
  • วิเคราะห์ตัวเองดูแล้วว่า ที่สามารถเล่าเรื่องได้ลื่นไหลจนคุณณรงค์ออกปากชมนั้น ก็น่าจะเป็นเพราะในสมัยที่ดิฉันเรียนอยู่ในระดับมัธยมฯ ชอบเรียนวิชาภาษาไทย ได้เกรด 4 ตลอด จนครูเห็นแววว่ามีทักษะในการสื่อสาร ชวนให้เข้าชมรมฝึกพูดและการแสดงของโรงเรียน
  • ตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็จะชอบอ่านหนังสือ ชอบเข้าร่วมการเสวนาตามรายการต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยเขาจัด สิ่งเหล่านี้คงทำให้ตัวเองมีโอกาสได้ฝึกฝนเรื่องทักษะการฟัง-พูด-อ่าน-เขียนอยู่ได้พอควรค่ะ
  • เรื่องถึงขั้นเขียนหนังสือขายนั้น ยังไม่กล้าหวังค่ะ คงยังห่างชั้นอยู่มาก แต่ถ้าเป็นไปได้จริง ๆ คงมีความสุขที่สามารถทำได้ค่ะ
  • ขอบคุณที่ร่วมแลกเปลี่ยน แต่ดิฉันไม่สามารถติดต่อกับคุณณรงค์ได้ ไม่ทราบว่าคุณณรงค์เป็นสมาชิกของ Gotoknow แล้วหรือยัง หรือเป็นแล้วแต่ตอนก่อนเข้ามาแลกเปลี่ยนนั้นไม่ได้เข้าระบบด้วย Usesernam และ Password ของคุณณรงค์ก่อนคะ
  • ดิฉันยินดีแลกเปลี่ยนกับคุณณรงค์ในโอกาสต่อไปค่ะ ติดอยู่ที่ดิฉันไม่สามารถติดต่อคุณณรงค์ได้นั่นเอง
P
  • ขออนุญาตเรียกอาจารย์หมอหน่อยนะคะ
  • ขอบพระคุณอารย์หมอมากค่ะ ขอน้อมรับในคำชื่นชม เพราะถือเป็นสิริมงคล และมีคุณค่าในการเสริมกำลังใจให้กับตัวเองค่ะ
  • หากจะมองว่าชีวิตในวัยเด็กที่ผ่านมานั้น ดูแย่และลำบากลำบน ก็คงจะไม่ใช่ ถ้าเปรียบกับคนที่เขาย่ำแย่กว่าเรา
  • เวลามีปัญหา หากเคิดว่าเราต้องมีปัญหาตามนั้น เราก็จะกลายเป็น "เด็กมีปัญหา" ในที่สุด ถ้าเราไม่รับปัญหาพวกนั้นมาเป็นของเรา แล้วลองคิดถึงมุมมองด้านอื่นดูบ้างว่าทำไม เหตุใด จึงเป็นเช่นนั้น เมื่อเราเข้าใจ ก็ไม่มีปัญหา 
  • เช่น ทำไมแม่จึงไม่ยอมให้เงินเราไปซื้อหนังสืออ่าน ก็เพราะแม่เราเขาไม่เข้าใจว่าหนังสือนั้นเป็นอาหารสมอง เขาเข้าใจว่าหนังสือการ์ตูนเป็นหนังสืออ่านเล่น เป็นของสิ้นเปลือง และตอนนั้นแม่ต้องประหยัด ค้าขายก็ไม่ใช่กำไรจะมากมาย เลี้ยงลูกเล็ก ๆ ตั้ง 6 คน แค่จะกินก็แย่แล้ว
  • พอเราเข้าใจ เราก็ไม่น้อยใจ ไม่เสียใจ ไม่คิดว่าแม่ไม่เข้าใจหรือไม่รักเรา และที่ตีเราตอนขโมยเงินไปซื้อหนังสือการ์ตูน แม่ก็ทำถูกแล้ว เพราะแม่ไม่อยากให้เรามีนิสัยขี้ขโมย ตีเจ็บ ๆ เราจะได้เข็ด ไม่ขโมยเงินแม่อีก
  • ทุกวันนี้รักแม่และป๊า (พ่อ) มากที่สุดในชีวิต เพราะเรารู้แล้วว่าที่ผ่านมา ทั้งสองรักและหวังดีกับเราอย่างแท้จริง
  • ขอบคุณสำหรับกำลังใจที่อาจารย์หมอมอบให้ต่อสู้ชีวิตต่อไปค่ะ
P
  • ขอบคุณคุณน้องขจิต ในไมตรีจิตที่มอบให้กับคุณครูชาวสุพรรณฯ เขต 2 ค่ะ
  • คนเรานั้น จะมีคำพูดที่เป็นแรงผลักดันชีวิตไม่เหมือนกัน รองผอ.รร.ท่านนี้มีประโยค "ขายควายส่งควายเรียน" เป็นคำพูดให้เขาอยากเอาชนะและเอาดีให้ได้
  • ส่วนตัวพี่เองก็จะมีประโยคที่ว่า "เป็นลูกผู้หญิงเรียนไปสูง ๆ ก็เท่านั้น เดี๋ยวก็ต้องแต่งงานมีครอบครัว" ประมาณว่าให้สามีเขาเลี้ยง หรือไม่ก็ส่งเรียนไปเสียเงินปล่า ๆ อะไรทำนองนั้น พี่ก็เลยฮึดสู้ต้องเอาดีให้ได้ เพื่อลบคำสบประมาทที่ว่า
  • ทุกวันนี้ภูมิใจที่ร่ำเรียนมา จนสามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้ และสามารถเลี้ยงดูพ่อแม่ได้ค่ะ เสียดายที่ปู่ย่า (อากงอาม่า) ไปสวรรค์หมดแล้ว เลยไม่ทันเห็นว่าเราก็ทำได้

สวัสดีค่ะคุณครูกุ้ง,

บางทีการที่เรามีแรงฮึดอาจมาจากความรู้สึกว่าถูกกดดันและท้าทายอยู่จากคนรอบข้าง...หลายคนยอมแพ้แรงกดดันนี้ไปในอีกทาง(ยอมแพ้และท้อถอย/ทำเด่นในทางลบ)แต่บางคน(ซึ่งมักประสบความสำเร็จต่อไปในชีวิต)ก็รู้จักพลิกวิกฤติเป็นโอกาส(เป็นแรงจูงใจที่มาจากภายในตนเอง)...ตอนเด็ก/วัยรุ่นขวัญก็มีครูเป็นหนังสือเหมือนกันแต่เป็นนิยายค่ะ..ชอบอ่านนิยายของคุณกฤษณา อโศกสิน,โบตั๋น,ชาติ กอบจิตติและ ,สุวรรณี สุคนธามากเป็นพิเศษ...

เด็กสมัยหลังๆพ่อแม่บางส่วนอาจจะอยากชดเชยความทุกข์ยาก/ใช้ลูกสานความหวังในอดีตของตนจึงไม่ค่อยได้ฝึกหัดการเผชิญความลำบาก/ทักษะแห่งการอดทนต่อสิ่งยั่วยุทางลบ,มุ่งเน้นแต่ผลสำเร็จด้านเรียน...เด็กเรียนดีจึงมีความหมายหรือพ้องกับความเป็นเด็กดี/คนดีของสังคม แต่จริงๆแล้วมันคนละเรื่องกันเลย...จะทวนกระแสความเชื่อเกี่ยวกับคุณค่า/ศีลธรรมที่บิดพริ้วไปนี้ได้คงต้องอาศัยหลายภาคส่วนที่เราเคยย่อๆกันว่า"บ ว ร"หรือ แม้แต่"บ ว ช(ชุมชน)"และคงต้องใช้เวลาต่อสู้กันอย่างยาวนานทีเดียวแต่เป็นหวังที่มีอยู่ในใจที่ทำแล้วมีความสุขและปลื้มใจที่นึกถึง

  • ขอบคุณคุณขวัญมกค่ะ ที่นำแง่คิด...ที่น่าคิดนำมาแลกเปลี่ยนกัน
  • ที่จริงแล้วสมัยนั้นตัวเองก็ชอบอ่านนิยายเหมือนคุณขวัญเช่นกัน แต่มักจะอ่านตอนช่วงปิดเทอม เพราะจะพอว่างจากเรื่องเรียนบ้าง อีกอย่างคือ มีอะไรทำตอนเฝ้าหน้าร้านขายของให้แม่ช่วงกลางวัน อ่านเป็นวรรคเป็นเวรเหมือนกันแหละค่ะ อาศัยว่าสามารถยืมจากห้องสมุดประชาชนแถวบ้านนำมาอ่านได้ฟรี ไม่มีสตางค์หาซื้อมาเป็นของตัวเองหรอกค่ะ
  • ชอบ "อยู่กับก๋ง" เพราะทำให้เรียนรู้วิถีชีวิตประมาณครอบครัวที่มีเสื้อชายชาวจีน (พ้องกับชีวิตเราบ้าง) อีกเรื่องที่โปรดมากคือ "ลอดลายมังกร" เพราะได้แนวทางและแง่คิดในการต่อสู้ชีวิต และการตั้งหลักปักฐานได้ดีทีเดียว
  • ประมาณเรื่องพ่อแง่แม่งอนก็ชอบค่ะ อ่านทีไรชอบคิดว่าตัวเองเป็นนางเอกซะทุกที... หลัง ๆ เริ่มรู้สึกว่าเราจะอินมากไป ก็ไม่ค่อยได้หยิบประเภทนี้มาอ่านเท่าไร บางทีรับไม่ค่อยได้ รู้สึกว่าสิ่งที่พระเอก นางเอก ทำแบบนั้นไม่ค่อยสมเหตุสมผล ที่เขาเรียกว่าน้ำเน่าน่ะค่ะ
  • แต่ทั้งหลายทั้งปวง การอ่านนิยายทุกเรื่องทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิตของผู้คนได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจด้านจิตวิทยาสอดแทรกหรือซ่อนอยู่ด้วย
  • เรื่องการชดเชยความทุกข์ยาก หรือสานความหวังในอดีตของพ่อแม่นั้น พาลทำให้ลูกไม่ได้เผชิญต่อสถานการณ์ที่บ่มเพาะให้เขามีความอดทนและเข้มแข็งในการดำรงตนอยู่ในสังคม ซึ่งคุณขวัญพูดถึงนั้น เป็นเรื่องที่น่าคิดมาก ๆ ค่ะ
  • เพราะช่วงหนึ่งที่สังคมให้ความหมายว่า "เด็กเรียนดี" มีความหมายพ้องกับ "ความเป็นเด็กดี/คนดีของสังคม" ณ วันนี้สังคมถึงได้รู้สึกว่าต้องฟื้นฟูเรื่องการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมกัน
  • เมื่อไรที่มีกลางวันก็ต้องมีกลางคืน มีขาวก็ต้องมีดำ หากมีดีจะมีชั่ว ก็เป็นเรื่องธรรมดา คงเป็นไปไม่ได้หากจะทำให้เหลือแต่สิ่งที่เราคิดว่าดีแล้วเหลือเพียงอย่างเดียว แต่เราจะช่วยกันทำอย่างไรให้สิ่งที่ไม่ดีนั้นไม่มากเกินกว่าสิ่งดี ๆ หรือทำให้สิ่งที่ไม่ดีนั้นลดน้อยลงไป...
  • พี่กุ้งครับ
  • อยากได้รายละเอียดการอบรมครับผม
  • ส่งมาที่ [email protected] ก็ได้ครับ
  • ขอบคุณครับผม
  • อ่านแล้วได้นึกถึงตนเองสมัยเด็ก ๆ ค่ะว่า กว่าเราจะผ่านมรสุมมาได้จนทุกวันนี้  พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ มีส่วนช่วยกันฟูมฟักเราอย่างมาก ๆๆๆๆ
  • การสอนให้คนเป็นคนดีเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเป็นเรื่องที่ยากเหมือนกันนะคะ   เพราะแต่ละคนมาจากพื้นฐานที่แตกต่างกัน อย่างไรเสียก็ควรจะเริ่มจากครอบครัว เพราะครอบครัวสำคัญที่สุดค่ะ   แม้การเลี้ยงดู การปลูกฝังแต่ละครอบครัวจะใช้วิธีการที่แตกต่างกัน แต่ดิฉันเชื่อว่า  ทุกครอบครัว  หวังจะให้ลูกเป็นคนดีค่ะ
  • ขอบคุณสำหรับบันทึกดี ๆ นี้ ค่ะ

สวัสดีค่ะ...อ.ปวีณา

หนูอ่านแล้วรู้สึกสะท้อนใจนึกถึงภาพของตัวเองตอนเป็นเด็ก กับคำดูถูกเหยียดหยามกับเพื่อนบ้านที่ว่า จะส่งมันเรียนทำไม เรียนไปก็มีผัว ตอนน้นความรู้สึกแย่มากๆ ส่งสารพ่อแม่ที่อุตส่าห์ส่งเสียให้เรียนทั้งที่ที่บ้านก็ลำบากมาก เห็นด้วยคะที่ ครูมีส่วนทำให้เด็กได้ดี ใฝ่ดี เพราะหนูไม่ได้อยู่กับพ่อแม่เลยอยู่โรงเรียนประจำตั้งแต่ ม.1-6 แม่ไปหา 2 ครั้งคือไปส่งวันแรกกับวันไปรับกลับตอนจบม.6  ทุกวันนี้เด็กๆไม่เคยเจอความทุกข์ยากลำบาก เลยไม่รู้สำนึก สงสารแต่พ่อแม่นะคะ

P
  • พี่ต้องขอโทษคุณน้องขจิตอย่างแรง ที่เสียมารยาทไม่ได้โทรศัพท์ติดต่อไปหาเลย แถมหายเงียบไปอีกต่างหาก
  • พอดีช่วงสัปดาห์นี้ ติดภารกิจเรื่องการจัดพิธีบรรพชาสามเณร บริเวณวัดซึ่งเป็นสถานที่การจัดงานนั้น ไม่มีสัญญาณทางโทรศัพท์ ต่อมาอีก 2 วัน (4-5 เม.ย.) นั้นมีภารกิจต้องเดินทางไปพร้อมกับคณะวิจัยฯ นำโดย ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ ออกไปยังโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการวิจัยฯ (EdKM) ยอมรับว่าไม่ได้เปิดเข้ามาใน G2K เลย
  • พี่จะส่งข้อมูลไปให้ตามเมล์นะคะ
  • ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ
  • สวัสดีครับ พี่ปวีณา ขอเข้ามาแลกเปลี่ยนด้วยครับ
  • จากที่พี่ว่า "เป็นลูกผู้หญิงเรียนไปสูง ๆ ก็เท่านั้น เดี๋ยวก็ต้องแต่งงานมีครอบครัว"
  • เพราะคนที่เจอแบบนี้คือ แม่ผม กับ คุณยาย คุณยายจะพูดคล้ายๆ ทำนองนี้ประจำ จนแม่ได้เรียนแค่ จบ ป หนึ่ง เท่านั้น แต่ละวันตอนเช้า แม่จะไปโรงเรียน แต่เจอคุณยายท่าน บอกว่า เอ ข้าวสารในไหก็จะหมด ต้นกล้าในนาก็กำลังจะเน่า แม่ก็ต้องเจอสภาพตลอด เลยต้องเป็นอย่างที่ท่านต้องการ
  • จนมาวันนี้ แม่ก็พยายามจะสนับสนุนให้ลูกๆ ทุกคนพยายามให้เรียนให้จนได้ เท่าที่ลูกจะทำได้ และเรียนในสิ่งที่ลูกชอบกันครับ
  • แม่บอกว่า แม่เกิดมาแล้วโง่แล้ว (จริงๆ ไม่ได้โง่หรอกครับ แค่ไม่ได้เรียน) ก็เลยอยากให้ลูกๆ ได้เรียนให้มากที่สุด จะได้ได้ดีกว่าที่แม่เป็น
  • แต่ผมเองประทับใจมากๆ ที่ได้เกิดมาเป็นลูกของคุณแม่คุณพ่อ เพราะทุกอย่างลงตัวและสมดุล ครับ เราถึงไม่มีปัญหาอะไรมากมาย
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ
P
  • ขอบคุณคุณอ้อ - สุชานาถ มากค่ะ
  • ที่ว่าสอนให้เด็ก ๆ เป็นคนดีเป็นเรื่องที่ยากนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะผู้ใหญ่เรายังเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กไม่ได้ทุกคน ในขณะที่ผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งปลูกฝังให้กระทำดี ประพฤติปฏิบัติตนดี ก็ยังมีผู้ใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งที่มีภาพตรงกันข้าม
  • ทำให้เด็กเกิดความสับสน และอาจทำให้เด็กส่วนหนึ่งพลัดหลงโน้มเอียงไปในทางที่ไม่ดีได้
  • ครอบครัวจึงเป็นปราการด่านสำคัญในการดูแลเด็ก ๆ ค่ะ ... ใช่เลยค่ะว่า เจตนาของพ่อแม่ทุกคนย่อมมีจิตมุ่งหวังให้ลูกเป็นคนดีด้วยกันทั้งสิ้น หากแต่พฤติกรรมการเลี้ยงดูต่างกัน บางครอบครัวมีจิตวิทยาในการเลี้ยงลูก แต่บางครอบครัวเลี้ยงลูกตามความเคยชินที่ถูกพ่อแม่ของตนเองเลี้ยงมาเมื่อในอดีต ด้วยเหตุว่าภาวะและสภาพสังคมเปลี่ยนไป บางครั้งเจตนาดีที่ต้องอาศัยการถอดรหัสความรักของพ่อแม่จากไม้เรียวบ้าง จากเสียงบ่นว่าบ้าง เด็กบางคนคงไม่โชคดีที่จะพบคำอธิบายนั้นได้ทันกับบางช่วงชีวิตของเขา เราจึงเห็นเด็กบางคนในกลุ่มนั้น ต้องหลงทางไปในที่สุด
  • คุณครูเราจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยแนะนำให้ผู้ปกครอง โดยเฉพาะผู้ปกครองที่ยังขาดความเข้าใจในการเลี้ยงดูบุตรหลาน ให้เรียนรู้วิธีการเลี้ยงดูและการดูแลที่เหมาะสมค่ะ
  • ขอบคุณสำหรับการแลกเปลี่ยนมากค่ะ
P
  • สวัสดีค่ะคุณมะขามอ่อน
  • เด็กผู้หญิงสมัยก่อน โดยเฉพาะในครอบครัวคนที่มีเชื้อสายจีน มักตกอยู่ในสภาพนี้ค่ะ นั่นก็เป็นเพราะวัฒนธรรมประเพณีและความเชื่อของชาวจีนนั่นเอง
  • เขานิยมให้ลูกผู้หญิงทำงานช่วยพ่อแม่ตอนยังเด็ก เพราะเมื่อเติบโตถึงอายุที่ต้องมีครอบครัวได้แล้ว หากทางผู้ชายมาสู่ขอไปเป็นสะใภ้บ้านเขานั้น เมื่อแต่งงานมีครอบครัวไปแล้ว ก็เท่ากับว่าตัดขาดเดินออกจากบ้านพ่อแม่ของตัวเองไป เพื่อไปทำหน้าที่ดูแลพ่อแม่ของสามีนั่นเอง เมื่อเป็นอย่างนี้พ่อแม่คนจีนจึงไม่นิยมส่งลูกเรียนสูง ๆ เพราะเขาคิดว่าจะไม่ได้พึ่งลูกสาวเมื่อมีครอบครัวไปแล้ว
  • แต่สมัยนี้ไม่ใช่แล้ว และโชคดีที่พ่อแม่ของดิฉันไม่ใช่พ่อแม่ในรุ่นโบราณมากนัก ยังยอมรับกับสภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ แม้ว่าทั้งสองท่านจะเรียนจบแค่ ป.4 เท่านั้นค่ะ
  • นึกทบทวนแล้วดิฉันมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจเกี่ยวกับทั้งสองท่านอีกมากมายเหลือเกิน น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเลี้ยงดูบุตรหลานได้บ้าง และคงจะได้นำมาเล่าในโอกาสต่อ ๆ ไปค่ะ
P
  • ดีใจมากจริง ๆ นะคะ ที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับคุณ เม้ง สมพร ช่วยอารีย์ ในบันทึกของตัวเอง
  • หลายคนเอ่ยถึง...ชื่นชม...คุณเม้ง ในบันทึกต่าง ๆ ที่พี่เข้าไปอ่าน บ้างก็บอกว่าคุณเม้งเป็นบล็อกเกอร์ในดวงใจของเขา  ส่วนตัวของพี่เองนั้นก็ชื่นชม และนับถือความสามารถของคุณเม้งเช่นเดียวกันค่ะ
  • คุณแม่ของพี่ท่านก็เรียนมาน้อยเหมือนกัน เพราะเป็นลูกคนโต เตี่ยเสียชีวิตตั้งแต่อายุ 11 ปี ต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยแม่ทำงานหาเงินเลี้ยงน้อง ๆ อีก 4 คน ทั้งที่ยังไม่จบ ป.4 ดี
  • ชีวิตของแม่ลำบากมาก แม่จะชอบเล่าให้ลูก ๆ ฟังเสมอ เพราะอยากให้เห็นถึงความลำบากลำบนของแม่ที่มากกว่าพวกเราหลายเท่านัก
  • คนเป็นแม่มักชอบบอกให้ลูกตั้งใจเรียน จะได้ได้ดีกว่าที่แม่เป็น แต่แท้ที่จริงอย่างที่แม่เป็นนี่แหละที่ดีที่สุดแล้ว....จริงมั๊ยคะ
  • พี่เองก็สุขใจและภูมิใจที่เกิดเป็นลูกของแม่และป๊า (พ่อ) ของตัวเองเช่นเดียวกันค่ะ
  • ขอบคุณคุณเม้งมากนะคะ สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

สวัสดีค่ะพี่ปวีณา

   ช่วงนี้ปิดเทอมแล้วค่ะ กลับบ้านไปหลายวัน พอดีช่วงนี้ขึ้นมาจ่ายค่าห้องพักที่กรุงเทพ ฯ จึงมีเวลาเข้ามาอ่านค่ะ

  บางทีคำพูดบางคำก็สร้างพลังและแรงใจในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เหมือนกัน โดยเฉพาะคำพูดของผู้เป็นพ่อแม่ด้วยแล้ว  ยิ่งทำให้เราต้องคิดต่อไปอีกว่า ความจริงแล้วท่านหมายถึงอะไร แต่หนูเชื่อค่ะว่าทุกคำของท่านนั้นหมายถึงความรักและความห่วงใย หนูเองยังไม่เคยได้ยินพ่อแม่พูดอย่างนั้น แต่หนูก็รู้ว่าท่านตั้งความหวังกับหนูมาก และหนูก็จะสานความฝันและความหวังของท่านให้เป็นจริงให้ได้ค่ะ  อีกอย่างหนูก็เห็นด้วยกับคำที่พี่บอกว่า  เด็กสมัยก่อนกับสมัยนี้ไม่เหมือนกัน อย่างเช่นสมัยก่อนผู้หญิงจะต้องรักนวลสงวนตัว แต่ปัจจุบันนี้มีน้อยมาก โดยเฉพาะรุ่นน้อง ๆของหนูเองไม่ได้เจอกันไม่กี่ปีโตเร็วมาก และก็เริ่มมีสามีมีลูกกันจนจะหมดแล้ว น้อยมากที่หามีคนที่เรียนหนังสือ หนูจึงคิดว่าพ่อแม่ คนรอบข้างโดยเฉพาะเพื่อนมีส่วนในชีวิตของเราถ้าเรารุจักคิดและแก้ไขอย่างถูกต้องและทันเวลาก็จะไม่ไม่มีคำว่าพลาด จริงไหมค่ะ 

     คิดถึงนะคะ พี่สาวคนสวย

  • คิดถึงน้องวาสนา เช่นกันค่ะ
  • ขอเบอร์โทรศัพท์หนูจากท่านอ.พินิจ ไว้หลายวันแล้ว เคยโทรไปไม่มีใครรับสาย เอาไว้จะลองโทรใหม่ค่ะ
  • ที่บอกว่าไม่เคยยินคำว่ารักและห่วงใยจากปากของคุณพ่อคุณแม่ตรง ๆ นั้น ... พี่ก็ด้วยค่ะ แต่เราสัมผัสได้จากการกระทำ และการดูแลที่ท่านมีต่อเรา เชื่อว่าน้องวาสนา ก็รู้สึกเช่นนี้เหมือนกัน
  • ดีมากค่ะ ที่เราเก็บมุมมองในชีวิตของคนอื่น มาเป็นแง่คิดในการดำเนินชีวิตของเรา และพี่มีความเชื่อมั่นว่าหนูรู้จักคิดและระมัดระวังที่จะไม่ผิดพลาด
  • อยากบอกว่าเกิดผิดพลาดขึ้นมาแม้จะระวังแล้วก็ตาม ก็เป็นเรื่องธรรมดา ผิดได้...พลาดได้ ... แต่ต้องรู้จักแก้ไขอย่างถูกต้องนั่นล่ะค่ะ....ใช่เลย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท