สิทธิมนุษยชนสำคัญไฉนหนอ?


ยุคสมัยนี้มักจะได้ยินใครหลายคนอ้างขึ้นมาเสมอ...แล้วสิทธิมนุษยชนสำคัญต่อคนเราอย่างไร?? ลองติดตามอ่านกันค่ะ

          มนุษย์ทุกรูปทุกนามมีสิทธิตามธรรมชาติที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิดที่ไม่อาจจำหน่ายจ่ายโอนให้แก่ผู้ใดได้ และไม่อาจถูกลิดรอนหรือถูกทำลายด้วยอำนาจใดๆ จากแนวคิดดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มนุษย์ในสังคมต่างมีเจตจำนงร่วมกันเพื่อให้ตนได้รับการรับรองสิทธิธรรมชาติ(Natural Rights) [1]ดังกล่าวให้เกิดความแน่นอน โดยการเรียกร้องความชอบธรรมของผู้ที่อยู่ใต้ปกครองในฐานะผู้ได้รับสิทธิต่อผู้ปกครองในฐานะเป็นผู้มีอำนาจให้สิทธิอย่างแท้จริง[2] ผลที่เกิดขึ้นคือ รัฐต่างๆ ต่างนำแนวคิดเชิงปรัชญาอันเกี่ยวกับเรื่องสิทธิตามธรรมชาติมาบัญญัติเป็นกฎหมายภายในของรัฐเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิให้แก่พลเมืองของตน  อย่างไรก็ตามการรับรองสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ในลักษณะดังกล่าวยังไม่เพียงพอ เพราะปรากฏว่าในบางรัฐยังไม่มีหลักเกณฑ์ในการรับรองหรือมีการรับรองแต่มาตรฐานในแต่ละรัฐไม่เท่าเทียมกันอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาค  ดังนั้นเพื่อพัฒนาสิทธิธรรมชาติ(Natural Rights) ดังกล่าวให้มีลักษณะสากลและได้รับการยอมรับจากรัฐต่างๆมากที่สุด  กฎหมายระหว่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ คือ องค์การสหประชาชาติ จึงมีส่วนช่วยการคุ้มครองสิทธิดังกล่าวมากยิ่งขึ้นโดยการสร้างแนวทางเพื่อให้รัฐต่างๆนำไปปรับใช้บังคับเป็นทางปฏิบัติภายในเป็นมาตรฐานเดียวกันว่าอะไรบ้างคือสิทธิตามธรรมชาติที่มนุษย์พึงมีพึงได้โดยใช้คำศัพท์ใหม่เรียกสิทธิดังกล่าวว่า สิทธิมนุษยชน ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948[3] 

          แม้สิทธิมนุษยชนจะมีต้นกำเนิดมาจากสังคมตะวันตก แต่ประเทศไทยซึ่งอยู่ในสังคมตะวันออกก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องของสังคมโลก เนื่องจากสิทธิมนุษยชนยังเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยให้มนุษย์ดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุขและมีคุณค่าในสังคม ทั้งสังคมโลกในปัจจุบันยังเผชิญหน้ากับความรุนแรงที่เกิดจากมนุษย์ด้วยกัน การเอารัดเอาเปรียบ และการถูกข่มเหงจากผู้มีมีอำนาจ กล่าวคือมีการละเมิดสิทธิของมนุษย์ที่เขาพึงมีพึงได้  ดังนั้นจึงมีการพัฒนาแนวคิดทางปรัชญาวิวัฒนาการมาสู่กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่เป็นทางปฏิบัติและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ เพื่อให้เป็นกลไกที่สำคัญในการส่งเสริม คุ้มครอง และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในสังคมโลกอันเกิดจากความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะสร้างกฎเกณฑ์และจิตสำนึกของสังคมต่อคุณค่าของความเป็นมนุษย์และประโยชน์ที่เขาพึงได้รับจากรัฐในฐานะผู้มีพันธกรณีในทางระหว่างประเทศที่ต้องดูแล ส่งเสริมและให้ความคุ้มครองบุคคลที่อาศัยในดินแดนของตนไม่ว่าจะเป็นคนชาติตนหรือไม่ก็ตาม

          นอกจากนี้ประเทศไทยในฐานะรัฐสมาชิกหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการอ้างหรือเรียกร้องสิทธิมนุษยชน  สิทธิใดบ้างเป็นสิทธิมนุษยชนและสิทธิใดบ้างเป็นสิทธิตามกฎหมาย และหากเป็นสิทธิมนุษยชน มีกฎหมายภายในรองรับหรือไม่เพียงใด ตลอดจนกลไกในการให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศมีหรือไม่ เพียงใด ยังคงไม่เป็นที่รับรู้และสร้างความสับสนแก่สังคมไทยพอสมควร จึงเป็นปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไขโดยเฉพาะ เนื่องจากสังคมไทยในอดีตเรื่องสิทธิ ซึ่งรวมถึงสิทธิมนุษยชนนั้น เป็นประโยชน์อันพึงได้รับจากพระมหากษัตริย์ โดยพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้หลักทศพิศราชธรรม ดังนั้นเรื่องสิทธิต่างๆจึงไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนสามารถเรียกร้องได้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิตามธรรมชาติที่มนุษย์รับรู้ได้เอง แต่หากจะให้เกิดความชัดเจนต้องมีการรับรองและบัญญัติสิทธิมนุษยชนในฐานะกฎหมายลายลักษณ์อักษรนั่นคือกฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของบ้านเมือง เพื่อมีผลบังคับใช้ได้ในทางปฏิบัติในฐานะกฎหมายภายในของแต่ละรัฐ ดังนั้นรัฐจึงมีหน้าที่โดยตรงตามกฎหมายระหว่างประเทศในการรับรองสิทธิมนุษยชนของปัจเจกบุคคลทุกคนที่อยู่ในภายในดินแดนของตน เพื่อป้องกันและเยียวยาต่อผู้เสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิ

          เพราะฉะนั้นการศึกษาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยจึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้ผู้ศึกษาได้ทราบและมีความรู้เกี่ยวกับขอบเขตและความหมายของสิทธิมนุษยชน กระบวนการ ตลอดจนกลไกในการให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับระหว่างประเทศ ในฐานะที่รัฐได้ผูกพันตนตามสนธิสัญญาที่เกี่ยวเนื่องกับองค์การสหประชาชาติ และในระดับภายในประเทศโดยการส่งเสริมและให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ อีกทั้งกระบวนการที่จะบังคับให้เป็นไปตามสิทธิผ่านกลไกของศาลเช่น และองค์กรระดับชาติที่จัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เป็นต้น



[1] ซึ่งต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 องค์การสหประชาชาติ ได้ใช้คำใหม่ว่า สิทธิมนุษยชน Human Rights) แทน โดยบัญญัติไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนค.ศ. 1948 ( Universal Declaration of Human Rights ,1948) เพื่อไม่ให้มิให้เป็นคำที่ดูเลื่อนลอย
[2] กุลพล พลวัน, สิทธิมนุษยชนในสังคมโลก,(สำนักพิมพ์นิติธรรม:  พฤศจิกายน 2547) หน้า 1.
[3] ม่มีสถานะเป็นสนธิสัญญาและไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นเพียงข้อแนะนำ(Recommendations) ที่ออกโดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่(General Assembly) เพื่อเป็นแนวทางคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้กลายเป็นสิทธิตามกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศต่อไปในภายหน้า

หมายเลขบันทึก: 87436เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2007 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 21:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • ตามมาอ่าน
  • หายไปนานมากเลย
  • คิดถึงเนอะ
  • หวังว่าจะมาให้อ่านบ่อยๆๆนะครับ
  • ขอบคุณค่ะคุณขจิต
  • ช่วงนี้งานยุ่งมากค่ะเพิ่งจะปลีกตัวเขียนได้
  • ขอบคุณมากค่ะที่ติดตามอ่าน
บางคนพยายามจะ claim ว่า สิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ของคนไทย และคนไทยควรถูกกดขี่อยู่เรื่อยไป :-P ซึ่งดูเป็นเรื่องแปลกๆ ของชาตินิยมไทยของคนบางกลุ่ม -_-!

มาเยี่ยม และมาอ่านด้วยคนค่ะ

  • ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นค่ะ
  • ส่วนตัวดิฉันเองเห็นว่าไม่ว่าสิทธิมนุษยชนจะเกิดจากที่ใด แต่หลักการที่ว่าด้วยสิทธิธรรมชาติของคนเราก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไป..รวมทั้งวัฒนธรรมไทยเองซึ่งเป็นเมืองพุทธด้วย รวมทั้งหลักการดังกล่าวยังซ่อนอยู่ในทุกๆศาสนาอีกด้วย แสดงของความแพร่หลายและเป็นสากลของสิทธิมนุษยชนอีกด้วย
  • เพียงแค่ข้ออ้างดังกล่าวคงฟังไม่ขึ้นนักนะคะ จริงไหม เพราะทุกคนมีสิทธิธรรมชาติติดตัวเรามา...
  • ขอบคุณค่ะอ.แหวว
  • หนูคิดว่าหนูยังใช้ความรู้ที่อ.มอบให้อย่างเต็มที่ค่ะ ... ยังคงทำตามที่อ.สอนมาคือค่อยๆสะสมผลงานในgo to know ค่ะ

ประเทศไทยยังขาดเรื่องสิทธิในการแสดงออกทางความคิดอยู่คับจารย์ยังคงถูกกันไว้ด้วย ปอ 112

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท