วันสงกรานต์


สาระสำคัญเทศกาลวันสงกรานต์สร้างโอกาสให้เป็นวันแห่งครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ
 สาระสำคัญเทศกาลวันสงกรานต์สร้างโอกาสให้เป็นวันแห่งครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ

                                 
                    วันสงกรานต์ เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ซึ่งพระมหากษัตริย์สิงหยศแห่งพม่า ทรงตั้งขึ้นเมื่อปีกุนวันอาทิตย์ พ.ศ. ๑๑๘๑ โดยกำหนดเอาดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษได้ ๑ องศา ประกอบกับไทยเราเคยนิยมใช้จุลศักราช สงกรานต์จึงเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยอีกด้วย
                    ในปีแรกที่กำหนด เผอิญเป็นวันที่ ๑๓ เมษายน ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่วันที่ ๑๓ เมษายนทุกปี แต่เมื่อเป็นประเพณีก็จำต้องเอาวันนั้นทุกปี เพื่อมิให้การประกอบพิธีซึ่งมิได้รู้โดยละเอียดต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา วันที่ ๑๓ จึงเป็นวันสงกรานต์ของทุกปี ปกติวันสงกรานต์จะมี ๓ วัน คือ เริ่มวันที่ ๑๓ เมษายน ถึงวันที่ ๑๕ เมษายน วันแรกคือวันที่ ๑๓ เป็นวันมหาสงกรานต์ วันที่พระอาทิตย์ต้องสู่ราศีเมษ วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา (พระอาทิตย์คงอยู่ที่ ๐ องศา) วันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศกใหม่ และเริ่มจุลศักราชในวันนี้ เมื่อก่อนจริง ๆ มีถึง ๔ วัน คือ วันที่ ๑๓ – ๑๖ เป็นวันเนาเสีย ๒ วัน (วันเนาเป็นวันอยู่เฉย ๆ ) เป็นวันว่าง พักการงานนอกบ้านชั่วคราว
                    วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่กรุงสุโขทัย จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๓ ทางราชการจึงได้เปลี่ยนใหม่ โดยกำหนดเอาวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้เข้ากับหลักสากลที่นานาประเทศนิยมปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ประชาชนก็ยังยึดถือว่าวันสงกรานต์ให้เป็นวันที่มีความสำคัญ คำว่า “สงกรานต์”  มีความหมายว่า เคลื่อนย้าย ผ่าน ซึ่งหมายถึงพระอาทิตย์ผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไปจักรราศีใดราศีหนึ่ง ก็เรียกว่า วันสงกรานต์ จักรราศี คือ วงกลมเป็นรูปไข่ในท้องฟ้า ซึ่งสมมุติว่าเป็นทางที่พระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาวพระเคราะห์ โคจรผ่านเข้าไป โครจรแปลว่า ทางไปของโค แต่ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าวัว แต่หมายถึงพระอาทิตย์และใช้ตลอดถึงพระจันทร์และดาวพระเคราะห์ด้วย
                    กิจกรรมวันสงกรานต์ประกอบไปด้วย การจัดงานรื่นเริง การแสดงมหรสพต่าง ๆ การทำบุญตักบาตร การปล่อยนกปล่อยปลาเพื่อโปรดสัตว์และเป็นการสงวนพันธุ์ปลา บางแห่งก็อาจจะประกวดเทพีสงกรานต์ และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ การรดน้ำ (น้ำที่ใช้รด ใช้น้ำสะอาดผสมน้ำหอม หรือน้ำอบไทย) สรงน้ำพระ และรดน้ำบิดามารดา ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ หรือประสงค์จะอวยพร โดยรดน้ำที่ฝ่ามือพอสมควร นอกจากนี้จะมีการทำบุญบังสุกุลกระดูกของบรรพบุรุษ เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว หรือแก่ผู้มีพระคุณ ตลอดจนถึงสัตว์ทั้งหลายทั่วหน้ากัน การสรงน้ำพระ แห่พระ ก่อพระเจดีย์ทราย เป็นต้น
                    ความเชื่อเรื่องการทำบุญวันสงกรานต์ เป็นการแสดงความเคารพบูชาต่อสิ่งที่ตนเคารพ ต่อบิดามารดา และผู้ใหญ่ที่นับถือ เป็นการชำระจิตใจและร่างกายให้สะอาด รักษาประเพณีแต่เดิม เป็นการเตือนสติว่าชีวิตมนุษย์นั้นผ่านไป ๑ ปีแล้ว และในรอบปีที่ผ่านมาเราได้ทำอะไรบ้างและควรจะทำอะไรต่อไปในปีที่กำลังจะมาถึง หรือเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร หรือควรจะเป็นอะไร โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อในการทำนายปรากฎการณ์ธรรมชาติที่สามารถนำเป็นเกณฑ์วัดเปรียบเทียบว่า ถ้ามีฝนตกในโลกมนุษย์มาก น้ำก็มาก ถ้าที่ฝนตกน้อย น้ำก็น้อยเพื่อประชาชนจะได                             
เตรียมตัวรับสถานการณ์ และประกอบอาชีพของตนให้เหมาะแก่ภาวะของฝนในปีนั้น ๆ และประการสุดท้ายการสรงน้ำพระถือว่าเป็นโอกาสในการทำความสะอาดพระ โต๊ะบูชา บ้านเรือนทั้งในและนอกบ้าน
                    นอกจากนี้เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๓๒ ได้มีมติคณะรัฐมนตรีสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณเป็นนายกรัฐมนตรี อนุมัติให้วันที่ ๑๓ เมษายนของทุกปีเป็น “วันมหาสงกรานต์และวันผู้สูงอายุแห่งชาติ” วันที่ ๑๔ เมษายน เป็น”วันแห่งครอบครัว” (วันเนา) และวันที่ ๑๕ เมษายน เป็น”วันเถลิงศก”
คำว่า “ครอบครัว” หมายถึง การอยู่ร่วมกันของชายหญิง ในรูปของสามี ภรรยา มีหน้าที่ให้กำเนิดบุตร และเลี้ยงดูบุตร เพื่อสามารถดำนงชีพอยู่ในสังคมได้ สมาชิกในครอบครัวมีการแสดงออกทางพฤติกรรมต่อกันและกัน ในรูปของการปฏิบัติตามสถานภาพและบทบาทอันเป็นหน้าที่ของสมาชิก
ครอบครัวไทยปัจจุบันจะแตกต่างจากครอบครัวในอดีต ครอบครัวปัจจุบันจะมีวิถีชีวิตที่แข่งขันกันทำงาน เพื่อหาเงินเลี้ยงชีพจนขาดความสัมพันธ์ของครอบครัวอันดี เทศกาลวันสงกรานต์เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ครอบครัวจะแสดงถึงความสัมพันธ์ของระบบครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์แบบ หากแบ่งโครงสร้างครอบครัวไทยให้เห็นชัดเจน ในครอบครัวจะประกอบด้วยโครงสร้าง ๗ ประการคือ

  1. พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เปรียบเหมือนเจดีย์หรือเทวดาประจำครอบครัว
  2. สามี ภรรยา เป็นหลักของครอบครัว
  3. ลูก เป็นความหวังของครอบครัว
  4. ญาติพี่น้อง เป็นร่มเงาของครอบครัว
  5. เพื่อนบ้าน เป็นกำแพงข่าวของครอบครัว
  6. อาชีพ เป็นฐานะของครอบครัว
  7. ศีลธรรม เป็นทิศทางที่ถูกต้องของครอบครัว

                     หากสมาชิกในครอบครัวรู้จักบทบาทหน้าที่ของตน และปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างเคร่งครัดแล้ว ก็จะสามารถยึดเหนี่ยวความผูกพันของแต่ละฝ่ายให้จีรังยั่งยืนอยู่ตลอดไป
สำหรับผู้สูงอายุในครอบครัวอันได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นบุคคลที่ต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษ จึงต้องดูแลเอาใจใส่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันผู้สูงอายุจะต้องปฏิบัติตัวให้เหมาะสมกับวัย สภาพแวดล้อมในครอบครัว เช่น ผู้สูงอายุจะมีเวลาว่างมาก ๆ ควรใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ เช่น ทำงานบ้านเล็กๆ   น้อย ๆ  ศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ สังสรรค์กับเพื่อนฝูง ทำบุญ ทำกุศล ฯลฯ ผู้สูงอายุมีประสบการณ์มาก ควรถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ เช่น เขียนหนังสือ เล่าให้ลูกหลานฟัง เป็นที่ปรึกษาปัญหาต่าง ๆ และลูกหลานควรรับฟังด้วยความเคารพ ผู้สูงอายุมักมีร่างกายที่ไม่ค่อยแข็งแรง จึงไม่ควรทำงานแบบ  หักโหม และควรออกกำลังกายเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพราะจิตใจจะแจ่มใส ร่างกายปกติสุขด้วย
                    ฉะนั้น ผู้สูงอายุที่จะมีความสุขได้ต้องมีสุขภาพจิตที่ดี มีการพักผ่อนให้เพียงพอ มองโลกหลาย ๆ แง่มุม รู้จักประมาณตนเอง ทำตัวให้เป็นประโยชน์ มีอารมณ์ขัน มีน้ำใจ ให้อภัย ทำบุญให้ทาน และทำสมาธิ เพราะสมาชิกในครอบครัวที่อยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ คือ เจดีย์หรือเทวดาประจำครอบครัว ดังกล่าวแล้วข้างต้น ให้โอกาสเทศกาลวันสงกรานต์เป็นวันแห่งครอบครัวที่สมบูรณ์แบบอย่างยั่งยืนต่อไป เอกสารอ้างอิง หนังสือสังคมและวัฒนธรรมไทย ค่านิยม ครอบครัว ศาสนา ประเพณี
                    เขียนโดย  รองศาสตราจารย์สุพัตรา  สุภาพ

....................................................................

ที่มา : กฤษณา พันธุ์มวานิช    กลุ่มประชาสัมพันธ์  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (มีนาคม 2550)                     

 

คำสำคัญ (Tags): #บทความ
หมายเลขบันทึก: 87138เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2007 17:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 10:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท