มีที่มา


                     คงมีผู้เข้ามาอ่านว่า  เอ  ทำไมเขียนหรือตั้งหัวข้อว่า  " 2 มือ 100 ความคิด หรือ 2 มือ กับ 100 ความคิด "

                      ถือโอกาสนี้เขียนอธิบายความในใจว่า  สืบเนื่องจากรับโทรเมื่อวานนี้โดยครูสุเรียน และ ครูดาม

                      ส่วนแรกเราคิด  ส่วนต่อ ๆ มาท่านอื่น ๆ ก็ย่อมต้องคิด ๆ กันไปต่าง ๆ นา ๆ  ด้วยในชีวิตคนวัน ๆ มีข้อมูลข่าวสารให้ขบคิดมากมาย

                      การทำงานที่อยู่บนพื้นฐานความคิดอย่างเดียว โดยปราศจากข้อมูลใด ๆ แล้วไม่มีการบันทึก คิดว่าจะยุ่งกันใหญ่ แม้ตัวเราเองยังงง  แล้วหากมีผู้คนมากมายเป็น 100 ความคิดแล้ว จะขนาดไหน มัวแต่เถียง  มัวแต่เกี่ยงคนแย่แน่ หากเป็นสถานกาณ์เร่งรีบ

                      การที่ผู้เขียนบล็อคแต่ละท่านจะตั้งชื่อบันทึกของท่านนั้น ก็คงคิดแล้วคิดว่า จะตั้งชื่อบันทึกอย่างไร

                        

                     

คำสำคัญ (Tags): #คมความคิด
หมายเลขบันทึก: 86252เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2007 09:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 02:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
“ตองเหลือง” อยู่อย่างไร? ท่ามกลางโลกาภิวัตน์ - 4/12/2549

 

“ตองเหลือง” อยู่อย่างไร? ท่ามกลางโลกาภิวัตน์

จากน้ำพระทัยในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงห่วงใยการดำรงอยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองมลาบรี หรือ “ตองเหลือง” ทั้งความเป็นตัวตนของชนเผ่า และวัฒนธรรมของมนุษย์ยุคหินชุดสุดท้ายของโลก จะถูกทำลายและสูญสิ้นไม่มีให้เห็นอีกต่อไป

จึงทรงมีพระราชดำริให้ ดร.สุวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน หาแนวทางทำให้ตองเหลืองอยู่กับป่า มีวิถีชีวิตดั้งเดิมอย่างรู้เท่าทันโลก โดยพระองค์ทรงมีความห่วงใยในเรื่องสิทธิของตองเหลืองว่า ได้รับความคุ้มครองแค่ไหน เพราะตองเหลืองก็เป็นคนไทยเหมือนกัน มีสิทธิและเสรีภาพเท่ากับคนไทย อย่าให้ใครมาทำลายขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของชนเผ่าตองเหลือง

ดังนั้นจึงต้องช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนให้ความช่วยเหลือ ให้ความเมตตา ความอบอุ่นและให้การศึกษา และส่งเสริมอาชีพให้เขาพึ่งตนเองได้ ซึ่งหลายหน่วยงานก็รับใส่เกล้าฯ นำมาหารือกับภาคีต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อดำเนินงานตามแนวพระราชดำริต่อไป

...หนึ่งในนั้น คือ “สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน” หรือ “กศน.” ที่รับสนองพระดำริ เกิดเป็น โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชนเผ่าตองเหลือง(มลาบรี) ที่บ้านห้วยหยวก หมู่ 6 ตำบลแม่ขะนิง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน

นายทวีศักดิ์ สีหราช ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดน่าน ผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะทำงาน พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้หนังสือไทย สำหรับกลุ่มเป้าหมายพิเศษชาวไทยชนเผ่าตองเหลือง ได้เล่าให้ฟังว่า

ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดน่าน ได้รับมอบหมายให้ดูแลพัฒนาการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยริเริ่มโครงการชนกลุ่มน้อย หรือชนเผ่าตองเหลือง มาตั้งแต่ต้นปี 2549

“ชนเผ่าตองเหลือง กลายเป็นเป้าสำคัญที่ถูกสังคมมองว่าเป็นผู้ทำลายป่า แต่ที่จริงแล้วเขาเป็นเพียงผู้ที่อาศัยป่าเป็นบ้าน แต่ทุกวันนี้บ้าน รือป่าของเขาถูกทำลาย จึงอยู่ไม่ได้ต้องออกมาเป็นผู้ใช้แรงงาน รับจ้างพวกเผ่าม้งที่มีความเจริญกว่า เพื่อแลกข้าวแลกอาหาร กับแรงงานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด”

...หน่วยงานในพื้นที่ต่างตระหนักถึงปัญหานี้ดี จึงรวมกลุ่มกันเข้ามาช่วยพัฒนาชนเผ่าตองเหลือง ให้สามารถดำรงชีวิต ท่ามกลางกระแสสังคมโลกโลกาภิวัตน์ด้วยตนเอง ซึ่ง กศน.เมืองน่าน ได้รับมอบหมายจาก ดร.สุวัฒน์ ให้ดูแลเรื่องการศึกษาสอนรู้จักหนังสือให้เกิดความคิดเป็นของตัวเองให้ได้ โดยได้ทำหลักสูตรการเรียนรู้หนังสือไทยสำหรับกลุ่มเป้าหมายพิเศษชาวไทยชนเผ่าตองเหลืองขึ้นมา เพื่อเผ่าตองเหลืองโดยเฉพาะ โดยหวังให้เขาได้เรียนรู้ อ่านออกเขียนได้และรู้เท่าทันคน

“...เมื่อก่อนจะมีคนเอาของใช้ในครัวเรือนมาให้ตองเหลือง เช่น สบู่ ยาสีฟัน ซึ่งถ้าเป็นยาสีฟัน เพียงหลอดเดียวเขาต้องใช้แรงงานให้กับพวกนั้นเป็นแรมเดือน ถ้าเอาหมูมาให้ไม่กี่ชิ้นก็ต้องทำงานทำทั้งเดือนก็ไม่หมดหนี้ เพราะพวกเขาไม่รู้หนังสือ แต่เมื่อ กศน.เข้ามาแก้ปัญหา โดยเอาเครื่องใช้ในครัวเรือนมาให้ และสอนให้รู้จักปลูกพืชผักกินในครัวเรือน ขณะเดียวกันหน่วยงานอื่นๆ ก็ยื่นมือมาช่วยเหลือ แต่เวลานี้ก็ยังไม่ถือว่าภารกิจของ กศน.จบลงเพียงเท่านี้ ภารกิจที่สำคัญที่เรายังต้องทำต่อไปคือต้องทำให้เขาเกิดการเรียนรู้และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เพราะตอนนี้ก็ยังมีบางคนเอาเปรียบอยู่แม้จะให้เงินแต่ก็ยังต้องใช้แรงงานเกินกว่าค่าแรงเหมือนเดิม...” ผอ.ทวีศักดิ์ สะท้อน

เรื่องนี้ได้รับการตอกย้ำจาก “สุเรียน วงศ์เป็ง” นักศึกษาปริญญาโท ซึ่งกำลังทำวิทยานิพนธ์ด้านชนเผ่าตองเหลือง และยังอาสามาเป็นครูในศูนย์การเรียนชุมชนแห่งนี้เล่าว่า

เดิมมีศูนย์สงเคราะห์ชาวเข้ามาทำอยู่ก่อนแล้ว ส่วน กศน.ก็เข้ามาให้ความรู้ตาวิถีชีวิตดั้งเดิม เพื่อให้เขาไม่รู้สึกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลง ให้เขาทำในสิ่งที่เขามีอยู่ทำอยู่ เช่น การทำย่าม ทำกล้องยาสูบที่ทำกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ กศน.เพียงแต่เข้ามาสอนให้รู้จักดัดแปลงสิ่งที่เขาทำเป็นอยู่แล้วให้มีค่ามากขึ้น เช่น ทำกล้องยาให้เป็นของที่ระลึก เป็นพวงกุญแจ หรือของระดับบ้าน เป็นต้น

ขณะเดียวกันก็จะสอดแทรกความรู้ให้ด้วย เช่นการดัดแปลงรากไม้ไผ่ที่เขาตัดลำไปใช้แล้วให้เป็นสัตว์ต่างๆ เช่น ม้า แล้วก็สอนเขาว่าเป็นตัวอะไร เขียนหรือสะกดอย่างไร เป็นต้น

“...ชนเผ่าตองเหลือง ไม่มีที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง เพราะต้องย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ วิถีชีวิตประจำวันของพวกเขา คือการออกไปรับจ้างม้งหักข้าวโพด ซึ่งหลายครั้งก็ถูกเอารัดเอาเปรียบ ตอนนี้ กศน.เข้ามาก็พยายามจะสอนให้เขารู้ว่าสิ่งที่เราจะมอบให้เขา คือ สิ่งที่เขาจะต้องเรียนรู้แล้วนะ เพื่อไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากชนเผ่าอื่น เพราะถือว่าเขาเป็นคนไทยเหมือนกัน บางครั้งเวลาที่เขาออกไปขายสินค้า เขาจะนับได้แค่สิบเท่านั้น ซึ่งเราต้องมาสอนให้เขาเริ่มนับสิบเอ็ด สอบสอง ไปเรื่อยๆ เพื่อให้เขาได้รู้จักตัวเลขจะได้ไม่ถูกคนอื่นลวง...”

ถึงตรงนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับตองเหลือง ว่าวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดย “จันทร์ สุชนคีรี” เปิดใจว่า กศน.เข้ามาสอนอาชีพให้ โดยเฉพาะการสอนให้รู้จักหนังสือและค่าของเงิน ถ้าไม่มี กศน.พวกเราก็คิดกันไม่ออก ถ้าไม่มีใครแนะนำพวกเราก็จะออกไปรับจ้างกันเรื่อยๆ โดยจะไม่รู้ว่าค่าแรงที่เขาให้นั้นมีค่าเท่าไหร่ คือเขาให้เท่าไหร่ก็เอา

“...ตอนนี้ก็กำลังหัดดัดแปลงการทำกล้องสูบยาให้เป็นเครื่องประดับในบ้าน และทำเป็นพวงกุญแจ ทำกระเป๋า และอยากให้รัฐบาลหาที่ทำกินให้ เพราะเราไม่มีที่ทำกินเราก็ ต้องออกไปรับจ้างไปเรื่อยๆ เพื่อแลกอาหารเครื่องใช้ในครัวเรือน แต่ถ้าพวกเรามีที่ทำกินก็คงไม่ต้องออกไปรับจ้างพวกม้งอีก...”

ท่ามกลางกระแสสังคมโลกที่ผันแปร “ตองเหลือง” จึงต้องปรับตัวหมุนตามโลก ออกมาเรียนรู้วิถีเพื่อให้ทันเท่าสังคม ฉะนั้น การส่งเสริมให้ตองเหลืองมีความรู้ มีอาชีพทำกิน ก็มิได้หมายความว่า จะผลักดันให้ตองเหลืองทิ้งวิถีหรือวัฒนธรรมการดำรงอยู่ของบรรพบุรุษ

หากแต่ ต้องการให้ตองเหลือง หลุดพ้นจากความเป็นทาสแรงงาน หรือการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้คนในสังคม ที่อ้างตัวว่ามีความศิวิไลซ์ กว่านั้นเอง

ครูสุเรียน สะท้อนปัญหาจุดนี้ว่า “การถูกกดขี่แรงงาน ซึ่งเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนที่เรากำลังพยายามแก้ไข เพราะรายได้ส่วนใหญ่ก็มาจากการรับจ้าง ซึ่ง กศน.ก็พยายามเข้ามาสอนด้านอาชีพให้ เพราะการรับจ้างและการที่เขาไม่รู้หนังสือทำให้เขาถูกโกง จึงต้องพยายาหางานให้เขาทำหาตลาดให้ โดยส่งเสริมสิ่งที่เขามีอยู่โดยไม่ให้เขารู้ว่าเรามาเปลี่ยนแปลงเขา

“...ตอนนี้ประชากรตองเหลืองในจังหวัดน่านมี 19 หลังคาเรือน 25 ครอบครัว 147 ชีวิต พวกเขาจะนุ่งผ้าแบบวิถีชีวิตของเขา เราอาจจะดูว่าเขามีความรู้สึกหนาวมั้ย ที่นุ่งห่มเสื้อผ้าน้อยชิ้นแบบนี้ แต่พอสัมผัสจริงๆ พวกเขามีความเคยชินแบบนี้ เป็นคนที่มีอารมณ์ขันสนุกสนานหยอกล้อกัน ซึ่งเป็นความสุขของเขามากๆ ผมดูแล้วมีความรู้สึกว่าเขามีวิถีชีวิตอยู่อย่างพอเพียงไม่ต้องการอะไรมากมาย ขอแต่มีอาหารให้เขากินเพื่ออยู่รอดไปวันๆ ก็พอเพราะอยู่บนนี้แทบจะไม่มีค่าใช้จ่ายเลย...” ครูสุเรียน ทิ้งท้าย

นี่เป็นเพียงอีกตัวอย่างของชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย ที่ได้รับการดูแลคุณภาพชีวิตและส่งเสริมการศึกษา โดยมีเพื่อนการเรียนรู้อย่าง กศน.อยู่เคียงข้าง

http://www.siamrath.co.th/Education.asp?ReviewID=158753

รอยเกวียนที่ภูซาง

5 กันยายน 2548 09:07 น.

ปลายทางที่จังหวัดน่านอาจฟังดูแสนไกลสำหรับคนผ่านทาง ยิ่งลามเลยไปถึงแหล่งโบราณคดีภูซางด้วยแล้ว หนทางสู่ภูนั้นยิ่งไกลเกิน

 แต่นี่ไม่ใช่หรือที่ทำให้วิถีชีวิตของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ดำรงอยู่มาได้นานกว่าถิ่นอื่น ยุวดี มณีกุล เสนอผลการขุดค้นแหล่งโบราณคดีภูซาง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือหินกะเทาะแหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

แดดจัดจ้าเบื้องบนลามเลียฝุ่นดินจนแห้งผาก ต้นข้าวโพดเสียดยอดอวดใบเขียวอย่างรู้ตัวว่าสีสันของมันสะดุดตาผู้คนที่มาเยือนเนินภูซาง นับจากครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนสถานที่นี้เมื่อสองเดือนก่อน

ด้วยว่าบนเนินแห่งนี้เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์เชื่อมต่อกับสมัยประวัติศาสตร์ ที่เพิ่งมีการขุดค้นอย่างเป็นทางการ โดยสำนักงานศิลปากรที่ 7 น่าน สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ผลการขุดค้นเบื้องต้นพบว่าตลอดพื้นที่อันไพศาลทั่วทั้งเนินไปจนถึงยอดภูซางเป็นแหล่งผลิตเครื่องหินกะเทาะของมนุษย์ยุคหินแหล่งใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบในดินแดนประเทศไทย

การเสด็จฯ ครั้งนั้น ชาวบ้านเตรียมเกวียนพระที่นั่งเทียมวัวคู่ไว้รับเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับนั่งสู่แหล่งโบราณคดีภูซาง ท่ามกลางไร่ข้าวโพดรายรอบ

นี่เองเป็นการจุดประกายความคิดให้กับชาวบ้านว่าหากมีการพัฒนาแหล่งโบราณคดีให้เป็นจุดท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ชาวบ้านน่าจะมีส่วนออกแบบวิธีการเข้าถึงแหล่งโบราณคดีได้ด้วยตนเอง ด้วยการให้บริการพาหนะแบบที่พวกเขาใช้ในชีวิตประจำวัน นั่นคือเกวียนเทียมวัวคู่ แทนรถยนต์

ถือเป็นฤกษ์ดี ที่กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร นำคณะสื่อมวลชนสัญจรไปยังเมืองโบราณพะเยา และน่าน เมื่อวันที่ 29-31 สิงหาคม ที่ผ่านมา ช่วงเวลาของการไปเยือนแหล่งโบราณคดีภูซาง จังหวัดน่าน จึงเป็นโอกาสทดสอบวิธีนำคณะนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กสู่เนินภูซางด้วยเกวียน

อาจเป็นเพราะวัวไม่คุ้นเคยกับคนแปลกหน้า และไม่คุ้นกับการบรรทุกมนุษย์ วัวเทียมเกวียนคู่หนึ่งจึงหยุดเดินกลางคัน แม้ว่าคุณลุงผู้บังคับจะใช้หวายเฆี่ยนเบาๆ เป็นการกระตุ้น มันก็ยังนิ่งไม่ไหวติง ราวกับไม่รับรู้ความเจ็บปวดบนผิวเนื้อแต่อย่างใด

"อย่าไปตีวัวเลยนะจ๊ะ ลองพูดกับเขาดีๆ เผื่อเขาจะเล่นมุขโคนันทวิศาล...เดินนะจ๊ะ คนดี๊ คนดี ไปต่อนะจ๊ะ อย่าดื้อนะจ๊ะ" ผู้โดยสารสาวคนหนึ่ง พูดกับวัวเสียงอ่อนเสียงหวาน แต่วัวยังไม่ยอมขยับ เจ้าของวัวลงหวายเบาๆ อีก 2-3 ครั้ง ในที่สุดต้องตะโกนให้ชาวบ้านอีก 3-4 คน ช่วยกันดันท้ายเกวียนให้เคลื่อนไปข้างหน้า

ครั้นได้แรงหนุน วัวทั้งคู่จึงเดินหน้าต่อ ทุกคนถึงบางอ้อว่าน้ำหนักบรรทุก 5 คน หนักเกินไปสำหรับการลากขึ้นเนินเช่นนี้

ข้อมูลจากการทดสอบพาหนะท้องถิ่นในเบื้องแรกจึงยังไม่ลงตัวนัก ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ชาวบ้านต้องนำไปขบคิดต่อหากยังประสงค์จะใช้วิธีการนี้ต่อไป

-1-

ที่บริเวณหลุมขุดค้นแหล่งโบราณคดีภูซางมีการทำหลังคาฟางคลุมหลุม ด้านหน้ามีบอร์ดนิทรรศการแผนที่แหล่งโบราณคดี ข้อมูลเกี่ยวกับมนุษย์ยุคหิน การทำเครื่องมือหินวิธีต่างๆ แผนภาพเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือหินของมนุษย์โบราณ และตัวอย่างโบราณวัตถุจากหลุมขุดค้น

ชาวบ้านกว่า 10 คน ที่รับจ้างขุดประจำโครงการ นั่งล้อมวงกันอยู่ที่เพิงใกล้ๆ พวกเขาคุ้นชินกับการมาเยือนของผู้คนจากถิ่นอื่น เพราะก่อนหน้าที่จะมีการขุดค้นอย่างเป็นทางการ เคยมีคณะนักวิจัยมาสำรวจแหล่งภูซางก่อนแล้ว

ข้อมูลจากรายงานการขุดค้นแหล่งโบราณคดีภูซาง ให้รายละเอียดว่าเดิมทีชาวบ้านในพื้นที่บ้านก้อด บ้านดอนคีรี บ้านสะไมย์ ตำบลนาซาว อำเภอเมือง และบ้านนาผา ตำบลกองควาย อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน รู้ว่าในพื้นที่บริเวณภูซางและพื้นที่ใกล้เคียงมีเครื่องมือหินหรือ 'เสียมตุ่น' มากมายตามเนินเขา ชาวบ้านเรียกเช่นนั้นเพราะเชื่อว่าเครื่องมือหินในหลุมเป็นของตัวตุ่น และเรียกสะเก็ดหินว่า 'ขี้กากหิน' แต่ไม่มีใครทราบว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร

ปี พ.ศ.2527-2529 โครงการโบราณคดีประเทศไทย ภาคเหนือ ได้สำรวจพื้นที่ใน อ.เมือง-อ.เวียงสา จ.น่าน พบว่าพื้นที่บริเวณดอยหินแก้ว ดอยปู่แก้ว เขาชมพู ดอยภูทอก ซึ่งเป็นแนวเขาที่มีความต่อเนื่องมีร่องรอยหลักฐานว่าเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือหิน กระจายตัวในพื้นที่หลายตารางกิโลเมตร แต่ขณะนั้นยังไม่มีการสำรวจในบริเวณภูซาง

เดือนเมษายน พ.ศ.2545 ผศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร พร้อมด้วย จ.ส.อ.มนัส ติคำ สำรวจพบว่าในพื้นที่ภูซางและบริเวณใกล้เคียงเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีร่องรอยหลักฐานเกี่ยวกับการผลิตเครื่องมือหิน ต่อมาจึงได้ร่วมกับประชาชนในพื้นที่สำรวจแหล่งโบราณคดีภูซาง ตลอดจนพืชพันธุ์ธรรมชาติในพื้นที่หลายครั้ง

ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2546 อ.สายันต์ ร่วมกับชาวบ้านดอนคีรีและบ้านก้อด เลือกพื้นที่บนเนินสูงช่วงกลางของภูซาง จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ศึกษาทางโบราณคดีและธรรมชาติตำบลนาซาว โดยจัดแสดงนิทรรศการและจัดแสดงโบราณวัตถุ และได้จัดทำพิธีบวชดอยภูซางเพื่อประกาศเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีภูซางของชุมชน เมื่อวันที่ 9-10 พฤษภาคม ปีเดียวกัน พร้อมกับเปิดพิพิธภัณฑ์ที่อารามสงฆ์บ้านก้อด อันเป็นที่รวบรวมโบราณวัตถุและเครื่องมือเครื่องใช้ของผู้คนในท้องถิ่นไว้

แหล่งผลิตเครื่องมือหินในบริเวณภูซางได้รับความสนใจจากภาครัฐและเอกชนมากขึ้น ทุกฝ่ายเห็นควรที่จะมีการศึกษาเพิ่มเติมในพื้นที่ มีการรังวัดพื้นที่เพื่อประกาศเขตการอนุรักษ์ซึ่งพื้นที่โดยรอบมีเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ทำถนนรอบบริเวณภูซาง โดยสำนักงานโยธาธิการ จ.น่าน เพื่อป้องกันการขยายพื้นที่การเกษตรไปบนภูซาง

ปี 2548 ดร.สุวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้จัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด โดยมีสำนักงานศิลปากรที่ 7 น่าน และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ร่วมกันดำเนินโครงการ 'เมืองมรดกโลก' ทำการสำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีภูซาง

วันที่ 26 พฤษภาคม ปีนี้ ทุกฝ่ายได้ร่วมกันจัดพิธีบวงสรวงก่อนเริ่มปฏิบัติงาน

-2-

http://www.bangkokbiznews.com/2005/09/06/w006l1_33874.php?news_id=33874

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท