สุนทรียวาจาจากการฟังบรรยายเรื่องการเขียนบทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ


     วันนี้ (23 มีนาคม 2550) ถือเป็นอีกวันหนึ่งที่โชคดีได้มีโอกาสไปฟังบรรยาย เรื่อง การเขียนบทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ บรรยายโดยศาสตราจารย์อำนวย  ถิฐาพันธ์ อาจารย์ประจำอยู่ที่งานบริการวิชาการและวิจัย คณะแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อาจารย์เป็น 1 ใน 6 ของนักเรียนทุนโคลัมโบ ที่ศาสตราจารย์สตางค์  มงคลสุข ส่งไปเรียนต่อต่างประเทศ และนักเรียนทุนเหล่านี้ถือเป็นเหล่ายอดฝีมือที่กลับมาและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไทยในเวลาต่อมาในหลายๆด้าน ทั้งในแวดวงราชการและเอกชน   

 

      ผมก็เลยขอเริ่มต้นด้วยการนำสุนทรียวาจา จากที่ได้ฟังอาจารย์มาเล่าสู่กันฟังครับ ก่อนที่จะสรุปเรื่องราวจากการฟังอาจารย์มาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง  

  

      1. ระบบในประเทศไทย ไม่ได้เอื้ออำนวยให้คนได้ตำแหน่งวิชาการ หากอยากได้ ต้องทำเอง ต้องช่วยตัวเอง ทุกคนที่ประสบความสำเร็จในแวดวงการทำวิจัย ต่างก็เริ่มต้นด้วยตัวเอง ทำเองด้วยกันทั้งสิ้น สิ่งที่เราขาด หรือการมีลูกพี่ที่ดี ที่เก่ง หากเรามีลูกพี่ที่ดีแล้ว จะช่วยให้การพัฒนางานวิจัยและการเขียนผลงานวิจัยเผยแพร่เป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งลูกพี่ในที่นี่ คือคนที่ให้คำปรึกษาทั้งในเรื่อง การออกแบบการวิจัย การให้คำปรึกษาด้านสถิติ การแนะนำด้านการเขียน การแก้ไขบทความ และแนวทางในการเขียนบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศที่มี Impact factor สูง ในความเห็นของอาจารย์อำนวย อาจารย์เชื่อว่าในประเทศไทย เรามีคนเก่งมากมาย แต่ในระบบราชการในมหาวิทยาลัย เราไม่ได้นำคนเก่งเหล่านี้มาใช้ให้เต็มประสิทธิภาพ ยังปล่อยให้ต่างคนต่างทำ ไม่ช่วยเหลือกัน ทำให้ความก้าวหน้าทางวิชาการและการวิจัยเป็นไปได้อย่างล่าช้า   

 

      2. Research brings about the best of knowledge  งานวิจัยนำมาซึ่งสุดยอดของความรู้ เป็นการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ การสอนหนังสือหรือการบรรยายเป็นเพียงการไปค้นคว้านำความรู้ที่คนอื่นได้ศึกษาไว้แล้ว เอามาสอนให้ฟัง ซึ่งถือเป็นความรู้เก่า อาจารย์ในมหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องทำงานวิจัยเพื่อค้นหาองค์ความรู้ใหม่ แล้วสอนความรู้ใหม่ที่ตัวเองค้นพบ จึงจะเป็นอาจารย์ที่สมภาคภูมิ    

 

      3. มาตรฐานการทำงานของอาจารย์อำนวย ขณะที่เรียนอยู่ต่างประเทศ คือ ทำงานวันละ 16 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นการทำงานที่หนักมาก สิ่งที่ได้ตอบแทนการทำงานไม่ใช่ตัวเงิน แต่เป็นคำพูดที่ว่า  You will be born academicly. หมายถึง หากเราทำงานวิจัยหนักขนาดนี้ สิ่งที่ตอบแทนการทำงานหนักก็คือ เราก็จะเกิดใหม่ในแวดวงวิชาการอย่างยั่งยืน  

  

      4. ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน ค่าของอาจารย์อยู่ที่งานวิจัย อาจารย์ที่ไม่ทำงานวิจัย ถือเป็นผู้ที่มีคุณค่าน้อย แม้ว่าจะเป็นผู้สอนหรือผู้บรรยายที่ดี    

 

       5. If you are on the right tract but not moving, you will be run over by the next train. (Stephen R Covey) หากเราอยู่ในสถาบันการศึกษาที่ดีแล้วแต่เราเลือกที่จะอยู่เฉย (หมายถึงการที่เราได้มีโอกาสเป็นอาจารย์ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีมาก และอาจารย์ต้องทำวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ แต่เรายังเลือกที่จะไม่ทำวิจัย) สุดท้ายก็จะถูกแซงโดยเด็กรุ่นใหม่ ไฟแรง ที่มีความสามารถสูง

 

     6. The research work has little value if it cannot be published. (Frank S Gonzalez) คนเราทำงานวิจัยมาแม้จะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด แต่หากไม่ตีพิมพ์เผยแพร่ ก็ถือว่างานวิจัยนั้นมีคุณค่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ ผมเคยได้ยินอาจารย์ท่านหนึ่งในภาควิชาพยาธิวิทยา เคยกล่าวไว้ว่า ผู้ที่รับทุนมาทำวิจัย แล้วไม่ตีพิมพ์เผยแพร่ความรู้ที่ต้วเองค้นพบ นับว่าผิดจริยธรรม ดังนั้นเส้นทางสุดท้ายที่เป็นบทสรุปของการทำวิจัย ไม่ใช่การบรรยาย ไม่ใช่การทำโปสเตอร์ แต่เป็นการตีพิมพ์เผยแพร่ความรู้ของเราออกไปในวารสารวิชาการ

หมายเลขบันทึก: 85995เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2007 21:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
ฉันขอเข้ามาสวัสดีคุณก่อนใครค่ะ..คุณไมโต
สวัสดีครับ ขอกล่าวคำทักทายเพื่อนฝูง หลังจากที่ห่างหายจาก g2k กันไปเป็นเดือน
ฉันเข้ามาอีกรอบเพื่อขอบคุณบันทึกดีๆชิ้นนี้..มันทำให้ฉันรู้สึกและเข้าใจถึงความสำคัญของงานวิจัย..ฉันเสียดายโอกาสที่มาถึงฉันแต่ฉันไม่ขว้าเอาไว้...ด้วยความกลัว....มีการอนุญาตให้เรียนระบาดวิทยาได้ 3 เดือนแต่เมื่อมาถึงคิวฉัน...ฉันไม่รับครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยคิดว่า...งานพัฒนาคุณภาพบริการไม่ต้องการคุณภาพงานขนาดที่เป็นวิจัย...แต่ ณ ตอนนี้ถ้าให้โอกาส..ฉันก็ชักอยากจะรู้เพราะฉันสงสัยว่า...ทำไมถึงทำวิจัยในงานบริการที่เป็นการพัฒนาคุณภาพอย่างง่ายๆ ..ใกล้ตัว..เอาไปใช้ได้จริงในเวลาอันสั้น....และเกิดประโยชน์กับผู้ป่วยในเร็ววันไม่ได้...ขอบคุณและดีใจค่ะที่คุณเล่าให้ฟัง
ฉันเคยจัดทำโครงการอบรมเชิงปกิบัติการเรื่อง "การวิจัยทางการพยาบาล"ให้กับวิสัญญีพยาบาลและพยาบาลห้องผ่าตัด...มีตำราเป็นเล่ม...การบรรยายใช้หลักสูตรที่สามารถขอ CNEได้ตั้ง 27 หน่วยมั้ง...แต่เน้นทฤษฏีการพยาบาลซึ่งวิสัญญีพยาบาลห่างหายตั้งแต่เรียนวิสัญญี...จึงยากที่จะนำมาดัดแปลงใช้ แต่ก้ยังทราบแนวคิด ..เคยมีการคิดกันในกลุ่มวิสัญญีพยาบาลที่เก่งวิจัยว่า ในแต่ละหัวข้อที่คุณกล่าวถึงในข้อที่ 1.น่าจะมีคนรับเป็นที่ปรึกษาคือเก่งเป็นเรื่องๆไปเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่น้องๆ...น่าสนใจไหมคะ....
  • น่าสนใจมากครับ คุณกฤษณา ในการที่จะมีที่ปรึกษาที่ดี ที่สนใจเรา และไม่แช่เรื่องที่เราขอปรึกษาให้ขึ้นรา
  • การสร้าง network เป็นเรื่องสำคัญครับในการทำงานวิจัยในสมัยนี้ เพื่อที่เราจะได้ไม่ทำเรื่องซ้ำกับคนอื่น แบ่งกันทำคนละหัวข้อ แล้วเอามารวมกันเพื่อให้เรื่องที่ทำใหญ่ขึ้น เขียนลงวารสารที่มี impact factor ที่สูงขึ้น
  • การเรียน ระบาดวิทยา เป็นหลักสูตรที่ดีมากสำหรับการเตรียมตัวเป็นนักวิจัย หรือผู้ที่สนใจงานเชิงพัฒนา เพราะจะช่วยให้เราได้มุมมองในเรื่องการออกแบบการทดลอง และทำให้เราเข้าใจการใช้สถิติ และเข้าใจการทำวิจัยอย่างเป็นระบบ เราจึงหลีกเลี่ยงจุดอ่อนที่อาจมีผลกระทบต่อการทำให้งานวิจัยของเราไม่น่าเชื่อถือได้ น่าเสียดายเหมือนกันที่ผมไม่ได้มีโอกาสได้เรียนหลักสูตรนี้ อย่างไรก็ตามผมก็หวังว่าคุณกฤษณาคงจะได้มีโอกาสไปเรียนหลักสูตรนี้แทนผมนะครับ

อรุณสวัสดิ์ค่ะ คุณไมโต

  •  ชอบมากค่ะ..."ไม่แช่เรื่องที่เราปรึกษาให้ขึ้นรา"...จริงด้วยค่ะ....ถ้าเรารู้เองหมด  พยายามทำเองทุกเรื่องท่าจะดีกว่า  ไวกว่าจริงๆ.....ฉันลืมนึกไป...
  • หลักสูตรนี้ตอนนี้...น้องพยาบาลในภาคเรียนกัน 3 คนแล้ว...ปีที่แล้วไม่มีใครเรียน...ถ้าปีนี้จะเรียน  ก็น่าคิดค่ะเพราะไม่ได้ยุ่งเรื่องบริหารแล้ว...
  • ขอบคุณที่แนะนำค่ะ
  • ชอบจังเลยครับ
  • พยายามเขียนบทความมากๆๆครับ
  • ของวารสารไทยมีไม่ต่ำกว่า 10 เรื่อง
  • แต่วารสารต่างประเทศมีน้อยมากครับ
  • พยายามหาคนแนะนำให้อยู่
  • ดีใจที่ได้อ่านเรื่องนี้ ต่อไปจะมี นักวิชาการเพิ่มมากขึ้นก็ได้ครับ

เห็นด้วยกับทุกข้อเลยค่ะ เพราะเจอกับตัวเองเหมือนกัน โดยเฉพาะข้อที่ 1 ค่ะ แต่ก็ต้องพยายามต่อไปค่ะ เพราะเห็นว่าประเทศไทยยังขาดการสร้างความรู้ (แล้วเผยแพร่) เป็นอย่างมาก ทั้งๆ ที่คนไทยเก่งไม่ต่างจากคนต่างชาติ ก็ต้องสู้กันต่อไปค่ะ

สวัสดีครับ คุณกฤษณา
  • หวังว่าคงได้รับข่าวดี เรื่องที่คุณกฤษณาเรียนหลักสูตรระบาดวิทยานะครับ หลักสูตรนี้ เป็นหลักสูตรหนึ่งที่อยู่ในใจผม ผมเคยคิดว่าหากมีโอกาสจะเรียนต่อหลักสูตรนี้ให้ได้ ทุกวันนี้การทำวิจัย การออกแบบงานวิจัย ยังเป็นแบบครูพักลักจำ หรือไม่ก็ค้นงานวิจัยเก่าๆ ว่าเขาทำอะไรกันอย่างไร แล้วลอกเลียนแบบการออกแบบงานวิจัยของเขา เพียงแต่พยายามหาคำตอบให้ได้ว่า ทำไมเขาจึงออกแบบงานวิจัยอย่างนั้น ทำไมจึงเลือกกลุ่มตัวอย่างอย่างนั้น ถ้าไม่เลือกอย่างเขาได้ไหม แล้วถ้าไม่เลือกอย่างเขาแล้วเราจะเลือกแบบไหน อย่างไหนดีกว่ากัน มีจุดแข็ง จุดอ่อนต่างจากเขาอย่างไร ฯลฯ ซึ่งถ้าจะให้ดี หลักสูตรระบาดวิทยานี่แหละจะเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งในการหาคำตอบเรื่องเหล่านี้
สวัสดีครับคุณลุงขจิต
  • ไม่ค่อยได้ทักทายกันสักเท่าไร นะครับ อาจจะเนื่องด้วยข้อจำกัดทางเวลาของผมเอง
  • ในเรื่องวารสารเหล่านี้ คนที่อยู่ใน field นั้นๆจะทราบครับ ว่าเรื่องราวใน field นั้นมีวารสารอะไรบ้าง เป็นวารสารภาษาไทยกี่ฉบับ และเป็นวารสารต่างประเทศกี่ฉบับ คุณภาพของวารสารแต่ละฉบับเป็นอย่างไร
  • ผมเองก็เห็นด้วยกับข้อแรกเช่นกันครับ ว่าระบบในบ้านเรานั้นไม่ได้ช่วยอำนวยให้นักวิจัยได้ตำแหน่งทางวิชาการ การได้มานั้นเป็นไปจากการช่วยเหลือตัวเองจริงๆ
  • ดังนั้นเราจึงควรมีพี่เลี้ยงที่ดี ซึ่งระบบพี่เลี้ยงช่วยให้เราเรียนรู้ประสบการณ์จากพี่เลี้ยง และช่วยชี้ทางสว่าง ทำให้นักวิจัยปัจจุบันเรียนรู้การทำงานวิจัยอย่างมีคุณภาพได้เร็วขึ้น ดีกว่าการทดลองเรียนรู้ด้วยตัวเอง
  • นอกจากนั้น ทิศทางการทำวิจัยต่อไปในอนาคต ว่าเป็นการรวมกลุ่มเครือข่าย ที่ทำงานวิจัยในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกัน เพื่อช่วยเหลือกัน หาทางแก้ปัญหาด้วยกัน ไม่ทำงานซ้ำซ้อนกัน และอีกสารพัดครับ ซึ่งคงแตกต่างจากสิ่งที่นักวิจัยหลายท่าน ที่คุ้นเคยกับการทำงานคนเดียว ทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ แล้วเก็บข้อมูลอยู่กับตัวให้มากที่สุดด้วยความภาคภูมิใจ ก่อนที่จะพบว่าตัวเองกำลังทำงานซ้ำซ้อน หรือทำงานวิจัยในเรื่องราวที่คนอื่นเขากำลังทำอยู่เช่นกัน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท