BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ปรัชญามงคลสูตร ๘ : เตรียมตัวเองเพื่อครองเรือน (ต่อ)


ปรัชญามงคลสูตร

ความเป็นผู้มีการศึกษามาก (พหุสูต) ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานทั่วๆ ไป จัดเป็นมงคลในเบื้องต้น (ดู  ปรัชญามงคลสูตร ๗ : เตรียมตัวเองเพื่อครองเรือน (ต่อ) ) นั่นคือ ใครมีความรู้พื้นฐานมากก็ย่อมได้เปรียบเพื่อจะเลือกเส้นทางในการดำเนินชีวิต... แต่เพียงมีความรู้พื้นฐานแบบถังเก็บของ (ข้อมูลมาก) และแบบไฟฉาย (วิพากษ์วิจารณ์) ได้ ...ถ้าไม่สามารถกระทำสิ่งนั้นๆ ให้สำเร็จเป็นจริงได้ ก็จัดว่าไม่เป็นมงคล ดังนั้น ในมงคลสูตรจึงมี ศิลปะ เป็นข้อต่อมาเพื่อสนับสนุนเรื่องนี้ ( ผู้สนใจความหมายของคำนี้ ดู ศิลปะ)

คัมภีร์มงคลัตถทีปนีได้ประมวลความเห็นทั่วไปมาว่า ศิลปะ นี้คือวิชาช่างนั่นเอง ซึ่งจะต้องกระทำให้สำเร็จได้ก็ด้วยวิธีการนั้นๆ... แต่ศิลปะหรือวิชาช่างเหล่านั้น ใช่ว่าจะเป็นมงคลทั้งหมด ท่านขยายความต่อว่า ศิลปะใดที่ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ไม่ประกอบด้วยอกุศล ศิลปะนั้นจึงจะจัดว่าเป็นมงคล...จะยกนิทานตัวอย่างในประเด็นที่ว่าศิลปะนั้นเป็นมงคลหรือไม่ดังต่อไปนี้...

มีคนง่อยเปลี้ยเสียขาและเดินไม่ได้คนหนึ่ง เค้าคนนี้มีศิลปะในการดีดก้อนกรวด สามารถดีดก้อนกรวดไปที่ใบไม้ให้เป็นรูหรือช่อง แล้วพอมีแสงอาทิตย์สอดส่องลงมาก็ปรากฎเป็นรูปช้างรูปม้าได้อย่างสวยงาม น่าอัศจรรย์... ตอนเช้าๆ เด็กๆ ก็มักจะยกเค้าไปยังที่ใกล้ต้นไทรแล้วให้ดีดกรวดไปที่ใบไทรเพื่อเป็นรูปสัตว์ต่างๆ แล้วก็ให้รางวัลเป็นเงินบ้างสิ่งของบ้างตามสมควร....

วันหนึ่งพระราชาเสด็จผ่าน ทอดพระเนตรเห็น ก็ตรัสเรียกมาเข้าเฝ้าแล้วตรัสถามว่า ปุโรหิตของเราพูดมาก เจ้าสามารถทำให้เค้าเงียบเสียงได้หรือไม่...คนง่อยเปลี้ยก็ทูลว่า ถ้าหม่อมฉันได้มูลแพะสักทะนานก็อาจกระทำได้พระเจ้าข้า

พระราชาจึงพาเค้าเข้าวัง ให้ซ่อนอยู่หลังม่านแล้วเจาะรู้เล็กๆ ไว้พร้อมทั้งรับสั่งให้หามูลแพะมาตามคำขอ... ครั้นเริ่มมีการประชุมเหล่ามุขมนตรีก็เข้าเฝ้า เมื่อปุโรหิตจะพูด เค้าก็ใช้มูลแพะดีดเข้าไปในปากปุโรหิต เป็นดังนี้จนสิ้นการประชุม สรุปว่า วันนั้น ปุโรหิตไม่มีโอกาสได้พูด มุขมนตรีอื่นๆ จึงได้มีโอกาสกราบทูลข้อราชการตามที่ประสงค์...

ครั้นจะเลิกประชุม พระราชาก็ตรัสเตือนสติปุโรหิตเรื่องการพูดแล้วก็มอบส่วยหรือภาษีของหมู่บ้านใน๔ ตำบล ให้เป็นรางวัลของคนง่อยเปลี้ยคนนี้...

ต่อมา มีชายคนหนึ่งมาเรียนวิธีการดีดก้อนกรวดจากเค้า โดยกำชับว่า เมื่อเจ้าจะลองวิชา เจ้าจะต้องพิจารณาคนที่ไม่มีพ่อแม่ เพราะถ้าฆ่าแม่โค จะต้องถูกปรับเท่านั้น ถ้าฆ่าคนก็จะต้องถูกปรับเท่านี้...เป็นต้น

ชายคนนี้เรียนสำเร็จแล้วก็ท่องเที่ยวไป วันหนึ่งพบพระปัจเจกพุทธเจ้ากำลังบิณฑบาตก็สำคัญว่า คนนี้ไม่มีพ่อแม่ จึงใช้ก้อนกรวดดีดใส่หูข้างขวาพระปัจเจกพุทธเจ้า ก้อนกรวดเข้าไปทางช่องหูข้างขวาทะลุออกไปทางช่องหูข้างซ้าย...พระปัจเจกพุทธเจ้าเกิดทุกขเวทนากล้า  จึงเหาะกลับไปยังบรรณศาลาแล้วก็นิพพาน...

พวกชาวบ้านไม่เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าออกมาบิณฑบาตตามปรกติ จึงสืบหาเรื่องราว ทราบความจริงแล้ว จึงรุมกันทุบชายคนนี้ตาย...หลังจากตายแล้วเค้าก็ไปเกิดเป็นเปรต...

จากนิทานเรื่องนี้ สรุปได้ว่า วิชาดีดก้อนกรวด แม้สามารถกระทำได้จริงก็จัดเป็นศิลปะ แต่ถ้าใช้ไม่ถูกต้องก็ไม่จัดว่าเป็นมงคลโดยประการฉะนี้

.....

อนึ่ง ในมงคลัตถทีปนี ท่านได้จำแนกออกเป็นศิลปะของบรรพชิตและคฤหัสถ์ นิทานข้างต้นจัดเป็นศิลปะของคฤหัสถ์... ส่วนศิลปะของบรรพชิตนั้น พระพุทธเจ้าทรงยกย่องท่านพระอานนท์ว่ามีศิลปะ ซึ่งมีนิทานดังต่อไปนี้...

สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าพร้อมพระอานนท์จาริกผ่านไร่นาของชาวแคว้นมคธ พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอสามารถจัดจีวรให้เป็นอย่างนี้ได้หรือไม่ ? ...พระอานนท์ก็ทูลว่า ได้พระเจ้าข้า..

ต่อมา พระอานนท์ได้ตัดและเย็บจีวรตามแบบนาของชาวมคธแล้วก็นำไปถวายพระพุทธเจ้า...นั่นคือที่มาของรูปแบบจีวรซึ่งใช้มาจนกระทั้งปัจจุบัน...

.....

โดยสรุป ศิลปะ ก็คือความสามารถที่จะกระทำสิ่งที่เป็นความรู้ให้สำเร็จตามอุบายนั้นๆ ซึ่งในสมัยก่อนอาจหมายเพียงวิชาช่างเท่านั้น แต่สมัยนี้ก็รวมไปถึงสิ่งต่างๆ ที่เราสามารถกระทำให้สำเร็จได้ เช่น การพิมพ์ดีดสัมผัส เรารู้กันว่าแป้นเหย้าคือ ฟอ หอ กอ ดอ เอก อา สอ วอ แต่บางคนก็ไม่สามารถพิมพ์สัมผัสได้ ซึ่งผู้สามารถพิมพ์สัมผัสได้นั้นจัดว่าเป็นผู้มีศิลปะ ...ส่วนผู้เพียงแต่รู้วิธีการแต่ไม่สามารถพิมพ์สัมผัสได้ก็ถือว่ารู้แต่เพียงทฤษฎี...

ดังนั้น การเตรียมตัวเพื่อครองเรือน จึงต้องมีทั้งความรู้ซึ่งเป็นส่วนของทฤษฎี ถ้ารู้มากอย่างมากเรื่องก็จัดเป็น พหุสูต โดยความเป็นผู้รู้มากนี้เองจัดว่าเป็นมงคล ..   และถ้าสามารถปฏิบัติคือกระทำได้ในสิ่งนั้นๆ ก็จัดว่ามี ศิลปะ โดยศิลปะที่ไม่เบียดเบียดผู้อื่น และไม่ประกอบด้วยอกุศลจัดว่าเป็นมงคล โดยประการฉะนี้

    

คำสำคัญ (Tags): #มงคลสูตร
หมายเลขบันทึก: 85793เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2007 23:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 17:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาอ่านชาดกก่อนนอนครับ

นมัสการครับพระอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท