การทำงาน & การปฏิบัติธรรม ??


การทำงานต้องเป็นการปฏิบัติธรรม & การปฏิบัติธรรมเป็นการทำงาน : สิ่งที่เหมือนกันในสองทิฏฐินี้คืออัตถะ (ประโยชน์ที่มุ่ง) สิ่งที่ต่างคือพยัญชนะ มีอธิษฐานเป็นเบื้องต้น มีสัจจะเป็นที่สุด. พยัญชนะที่ต่าง บ่งบอกสภาวธรรมของบุคคลนั้นในขณะนั้น.

...ขมนิยัง อาวุโส นฤมล ,


1. การทำงานต้องเป็นการปฏิบัติธรรม = นฤมล  

2. การปฏิบัติธรรมเป็นการทำงาน = ผม

  
ถามว่า : ในสองทิฏฐินี้ มีอะไรเหมือน มีอะไรต่าง มีอะไรเป็นเบื้องต้น มีอะไรเป็นที่สุดแห่งทิฏฐิ?

  
สิ่งที่เหมือนกันในสองทิฏฐินี้คืออัตถะ  (ประโยชน์ที่มุ่ง) สิ่งที่ต่างคือพยัญชนะ  มีอธิษฐานเป็นเบื้องต้น มีสัจจะเป็นที่สุด.  พยัญชนะที่ต่าง บ่งบอกสภาวธรรมของบุคคลนั้นในขณะนั้น.


การทำงานต้องเป็นการปฏิบัติธรรม  สภาวธรรมในถ้อยคำนี้ถืออาชีวะว่าคือการงาน การประกอบอาชีพเป็นส่วนหนึ่งของมรรค. บุคคลใด ไม่พิจารณาอาชีวะว่าคือการปฏิบัติธรรม(มรรค) บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้เผลอสติในขณะประกอบศิลปะในอาชีพของตน บุคคลนั้นนับว่าประมาท แม้สามารถกล่าวถ้อยคำพลิกแพลงได้มากหลายรูปแบบ ก็ยังนับว่าเป็นพาล. บุคคลใดก้าวล่วงทิฏฐิอันไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นผู้เล็งเห็นว่า อาชีวะคือส่วนหนึ่งของมรรค แล้วตั้งใจประกอบอาชีวะให้ตรง ให้ไม่บกพร่อง แม้ไม่อาจสาธยายถ้อยคำใดๆได้ ก็นับว่าเป็นบัณฑิต กรรมที่ประกอบตนไว้ในมรรค ย่อมส่งบุคคลนั้นให้ปลอดจากภัยอันเกิดแต่อาชีพได้.


การปฏิบัติธรรมเป็นการทำงานสภาวธรรมในถ้อยคำนี้ ถือมรรคว่าเป็นการงาน. การงานคือกิจที่ควรทำ. กิจที่ควรทำ เรียกว่ามรรค. กิจทีควรทำมีถ้อยคำเรียกอีกอย่างว่า การปฏิบัติธรรม. คำว่าการงานในที่นี้จึงรวมทั้ง ทิฏฐิ+สังกัปปะ+วาจา+อาชีวะ+กัมมันตะ+วายามะ+สติ+สมาธิ. เมื่อใดจิตมีอารมณ์อยู่ในหมวดใดแห่งมรรค เมื่อนั้นก็กระทำกิจอันสมควรแก่ธรรมนั้นในขณะนั้น. เพราะเหตุที่อารัมมณปัจจัย ก็เป็นอนิจจัง แปรปรวนอยู่เนืองๆตามเหตุปัจจัย อารมณ์ที่ปรากฏแก่จิตจึงมีความไม่คงที่ การพยายามทำสิ่งที่ไม่คงที่เพื่อให้เป็นสิ่งที่คงที่ เป็นความ ขวนขวายก่อทุกข์แก่ตน นี่ชื่อว่า มีทิฏฐิยังไม่ตรง.


คำว่า ต้องในประโยคแรก บ่งบอกอัตตภาวะ ขัดกับธรรมลักษณะที่ว่า สัพเพธรรมาอนัตตา ทิฏฐิที่มี ต้องมาประกอบจึงเป็นทิฏฐิที่จะก่อทุกข์ให้ในภายหน้าได้อยู่. แต่เมื่อมองที่อัตถะแล้ว อัตถะของประโยคแรกจะเป็นเครื่องลบล้างความผิดพลาดในถ้อยคำได้เองภายหลัง.  เพราะอย่างนี้


ถ้อยคำของคุณมนต์เองก็ประกอบด้วยประโยชน์ พอดีแก่ตัวคุณมนต์

ถ้อยคำของผมก็ประกอบด้วยประโยชน์ พอดีแก่ตัวผม.

 

ความพอดีนี้ ขึ้นอยู่กับอัธยาศัย

 

ผมกำหนดรู้แล้ว แสดงอรรถแห่งถ้อยคำที่ต่างไป ก็เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่การเพิ่มพูนปัญญา.

 

บางที ถ้อยคำอย่างนี้คุณมนต์อาจไม่เคยได้ยินจากคนทั่วไป

ผมแสดงไว้ เพื่อเป็นพยานว่า คนอย่างนี้ก็มีในโลกครับ
คำสำคัญ (Tags): #ธรรมะ
หมายเลขบันทึก: 85169เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2007 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท