เรื่องเล่า.. จากการเดินทาง ๑


เอกลักษณ์ กับ อัตลักษณ์ ของความเป็นตัวตนคนร่าหมาด

             ผมและพี่น้องจากชุมพร  ประมาณ  40  ชีวิต  เดินทางไปศึกษาเรียนรู้ที่กระบี่ (เมืองดาบ หรือ เมืองลิง ก็ไม่รู้แล้ว)  เมื่อกลางเดือนนี้  พวกเราได้เรียนรู้หลายเรื่อง คงต้องเล่าเป็นตอน ๆ  ................. ตอนที่หนึ่งเรียนรู้ที่บ้านร่าหมาด  ม. 2  ต.เกาะกลาง  อ.เกาะลันตา  จ.กระบี่  ซึ่งเป็นที่ทึ่งของพวกเราที่ได้เห็นและเรียนรู้ความเป็นอยู่ของพี่น้องมุสลิม  ที่มีวิถีพอเพียง  ประการที่หนึ่งคือ  การดำรงชีวิตแบบเรียบง่ายที่คงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงาม  คงความเป็นเอกลักษณ์หรืออัตลักษ์ของตนเอง  ผ่านการแสดงกาหยง  และ รองเง็งของพี่น้องร่าหมาดที่นำมาอวดโชว์ให้แขกผู้มาเยือน  อย่างมีภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตน   ......... มีการช่วยเหลือเกื้อกูล  พึ่งพากันในชุมชน ประกอบอาชีพปลูกสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน  เลี้ยงสัตว์ ( มีประชากรควายอยู่หลายร้อยตัว ) และทำการประมงเพื่อเลี้ยงชีพควบคู่กับการทำนาปลูกข้าวไว้บริโภค   ... ยามเช้า ๆ เห็นผู้คนออกมานั่งจังกาบ ( พูดคุย) กินโกปี๊ (กาแฟโปราณ) พร้อมด้วยข้าวเหนียวปิ้งหลากหลายแบบ  และที่ประทับใจของพวกเราคือ  ในหมู่บ้านไม่เคยมีการรบราฆ่าฟัน ให้ตายหรือบาดเจ็บแม้นแต่รายเดียว  ไม่มีการเล่นการพนัน  ไม่มีร้านคาราโอเกะหรือสถานบันเทิงใด ๆ เป็นข้อห้ามของหมู่บ้าน  หากผู้ใดฝ่าฝืน  โต๊ะครูหรือ โต๊ะอิหม่ามจะไม่ทำนิกะ ( ประเพณีทางศาสนา) ....... ประการที่สองการจัดการกลุ่มองค์กร  ที่มีกลุ่มที่หลากหลาย  ทั้งกลุ่มออมทรัพย์ กองทุน  กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ( จัดตั้งตามนโบยรัฐ )ซึ่งเป็นกลุ่มแม่ยังแยกย่อยเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อทำกิจกรรมตามความถนัดของสมาชิกกลุ่มละ ห้าหกคน  เช่นกลุ่มเตยปาหนัน  กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า  กลุ่มกาแฟโปราณ  กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ.... ในส่วนของกลุ่มผู้สูงอายุก็มีกิจกรรมทำเครื่องจักรสานและถ่ายทอดภูมิปัญญให้แก่คนรุ่นหลัง  ผ่านศิปลวัฒนาธรรมการแสดงพื้นบ้าน  ได้แก่  กาหยง  รองเง็ง  ลิเกป่า  ข้อสังเกตคือกลุ่มที่สามารถดำรงอยู่ได้ต้องดำรงภายใต้ความเป็นวิถีของชุมชน และ ตอบสนองความต้องการและความเป็นอยู่ของชุมชน  .... ประการที่สาม การเรียนรู้และการจัดการแหล่งเรียนรู้    ซึ่งมีการสร้างศูนย์เรียนรู้และแหล่งเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน  มีป่าชุมชนไว้เป้นแหล่งอาหารและให้ผู้สนใจได้  มีศึกษา  มีการเพาะปลูกผักปลอดสารไว้บริโภคและจำหน่ายในท้องถิ่นและเป็นสถานที่เรียนรู้  คงรักษาการทำนาไว้  ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นที่สำคัญ  คือตัวผู้รู้หรือวิทยากรที่ถ่ายทอด  องค์ความรู้  และ รูปธรรมที่เกิดขึ้นจากองค์รู้นั้น ๆ  ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบของการจัดการแหล่งเรียนรู้ .... ที่ร่าหมาดเขามีระบบจัดการได้เป็นอย่างดี

       ในค่ำคืนนั้นพวกเรานั่งล้อมวงชมการแสดงของกลุ่มแม่บ้าน    และได้ฝึกการสรุปบทเรียนด้วยการตั้งโจทย์อย่างง่าย  ว่า....  เรารู้สึกอย่างไร  และได้เห็นอะไรบ้างของการเดินทางมาที่นี่   และสิ่งที่เห็นนั้นมันเป็นอย่างไร   ?  หลายคนได้ตอบ  แต่บางคนก็ไม่ได้ตอบ  ซึ่งก็ฟังคนอื่น ๆ  แล้วก็แยกย้ายไปพักผ่อน  ณ เขตห้าล่าพันธุ์สัตว์  ฯ ป่าทุ่งทะเล

          โอกาสต่อไปค่อยมาเล่าการเที่ยวชมเกาะลันตา    วัฒนธรรมสามเชื้อชาติ  สามศาสนา ( ไทยจีนพุทธ  ไทยมุสลิม  ไทยใหม่  )ที่อยู่ร่วมกันอย่างอยู่ดีมีสุข  ...สมานฉันท์  และปรากฎการเหรียญสองด้านของเกาะลันตา  ด้านความพอเพียง  และ ทุนนิยมโลกาภิวัฒน์  ซึ่งอยู่ร่วมกันได้  อย่างไร  ในตอนต่อไป

            

คำสำคัญ (Tags): #social chumphon
หมายเลขบันทึก: 85041เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2007 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พระพูลไท ถิรธัมโม

เจริญพร  คุณโยม

    อาตมาอ่านเรื่องนี้แล้ว คิดว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่ชาวพุทธ จะได้สร้างสังคมพุทธ ที่ปลอดจากอบายมุข อย่างชุมชนนี้ เพราะทุกศาสนาล้วนสอนให้คนดำเนินชีวิตที่ดี ให้สังคมมีความผาสุก ไม่เป็นทาสของวัตถุนิยม

    อีกเรื่องก็อยากให้กำลังใจคนทำงาน ให้มีความมานะอดทน มั่นดูแล สุขภาพกายใจของตัวเอง ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ดีๆ แก่อนุชนรุ่นต่อๆไป เพื่อภาระกิจที่ทำ แม้จะไม่ปรากฎผลชัดในช่วงชีวิตเรา ก็หวังว่ามีผู้ที่สามารถสานต่อไปได้

                                             ขอเจริญพร

                                           พระพูลไท  ถิรธัมโม

  กราบขอบพระคุณพระอาจารย์

           ที่ช่วยให้กำลังใจ  และเติมสติให้กับ  กระผม และมวลมิตรทั้งหลาย

            จริงแล้วก็เดินทางไปหลาย  ๆ  ที่  แต่เดี่ยวค่อยหาจังหวะที่ได้นั่งอยู่หน้าคอม ฯ  แล้วค่อยบอกเล่าผ่านทาง blog 

          ที่สิ่งที่อยากได้คือ  การคอมเม้น  จากการเล่าเรื่อง  เพื่อเป็นกระจกสะท้อนในการฝึกวิทยายุทธ  เรื่องเล่าเร้าพลัง....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท