เฉาก๊วยชากังราว


                 เคยเล่าถึงเรื่องการไปเยือนเมืองชากังราว เจ้าของคำขวัญ กรุพระเครื่อง เมืองคนแกร่ง ศิลาแลงใหญ่ กล้วยไข่หวาน น้ำมันลานกระบือ เลื่องลือมรดกโลก และแหล่งกำเนิด พระซุ้มกอ หนึ่งในห้าพระชั้นยอดของเมืองไทย หรือ เบญจภาคี ที่ประกอบด้วย พระสมเด็จ พระรอด พระซุ้มกอ พระนางพญา และพระผงสุพรรณ

                วันแรกของการไปเยือนก็พลาดเฉาก๊วยชากังราวที่เลื่องชื่อไปอย่างน่าเสียดาย วันสุดท้ายก่อนกลับจึงต้องไปเยือนเสียหน่อย โชคดีมีเจ้าถิ่นพาไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตถึงที่และได้ดูกระบวนการผลิตอย่างละเอียด เห็นแล้วก็ต้องยอมรับเลยว่า...สุดยอดจริงๆ

                เมื่อก่อนไม่เคยทราบมาก่อนว่า เฉาก๊วยที่เรากินๆ กันอยู่ทุกวันนี้ทำมาจากยางของต้นไม้ เข้าใจว่าเป็นวุ้นอยู่เสียนาน เสียแรงที่จบเฉพาะทางมาซะเปล่า แต่อย่างไรก็ดี เฉาก๊วยส่วนใหญ่ที่เราเห็นขายตามท้องตลาด ก็ล้วนแล้วแต่ผสมวุ้นแทบทั้งสิ้น

                การผลิตเฉาก๊วยให้อร่อย เจ้าของตำรับเปิดเผยอย่างไม่เกรงใครจะมาลอกเลียนแบบ ว่าต้องใช้เฉาก๊วยถึง 3 สายพันธุ์  คือต้นเฉาก๊วยจากจีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม เหตุเพราะมีความแตกต่างกันทางคุณลักษณะ คือ เฉาก๊วยเวียดนามจะมีความหวานมากกว่า ส่วนอินโดนีเซียจะให้ความเหนียวนุ่ม และของจีนก็ใช้สำหรับผสมเพื่อให้รสกลมกล่อม  เริ่มต้นแค่วัตถุดิบก็ไม่ง่ายซะแล้ว

                ต้นที่ใช้ได้จะมีขนาดความสูงประมาณสองฟุต ซึ่งไม่สามารถปลูกในเมืองไทยได้ ต้องนำเข้า 100 เปอร์เซ็นต์  เริ่มการผลิตโดยนำต้นที่ตากแห้งแล้ว มาต้มเพื่อให้ยางเฉาก๊วยออกมา ประมาณ 1-2 ชั่วโมง แล้วกรองเศษเปลือกออก จากนั้นนำมาเคี่ยวจนได้ที่อีก 3 ชั่วโมง แล้วกรองอีกครั้งก่อนผสมน้ำเชื่อม กวนต่อให้ผสมเข้ากันดี  กรองอีกครั้งแล้วพักไว้เพื่อทำการกวนขั้นสุดท้าย ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องใช้ความชำนาญและประสบการณ์สูงในการตรวจสอบ  แล้วจึงเทใส่ถาด พักไว้จนแข็งตัว นำไปตัดด้วยเครื่องที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ แล้วจึงบรรจุ

                ไลน์การผลิตแม้จะไม่ถึงกับขนาดได้รับตรา HACCP แต่ GMP เค้าก็ไม่น้อยหน้าใครเลยทีเดียว ขนาดกล้าเปิดให้ลูกค้าทุกคนที่มาซื้อ เข้าไปพิสูจน์กับตาได้ทุกเวลา เครื่องไม้เครื่องมือหลายชนิด ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับการทำงาน แถมไม่หวงวิชาอีกต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องตัด เครื่องบรรจุ หม้อกวน หรือเตาที่ถูกส่งผ่านความร้อนมาจากเตาเผาแบบโบราณที่ใช้ฟืน และ Boiler สมัยใหม่ ที่ติดตั้งมาเพื่อให้เกิดความคุ้มค่า เพราะคำนวณมูลค่าการลงทุนและจุดคุ้มทุนมาเป็นอย่างดี

                ส่วนรสชาติไม่ต้องพูดถึง หวาน หอม นุ่มเหนียว กลมกล่อม กว่าเจ้าไหนที่เคยชิมมา

                SMEs ไทย ถ้าพัฒนาเช่นนี้ได้ทั้งหมด ประเทศคงก้าวไกลไม่น้อย

คำสำคัญ (Tags): #sharing
หมายเลขบันทึก: 85028เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2007 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท