3 ปี สคส. กับการจัดการความรู้เพื่อสังคม


ทำงานแบบองค์กร เคออร์ดิก

3 ปี สคส. กับการจัดการความรู้เพื่อสังคม
          สคส. เน้นการทำงานเชิงสร้างสรรค์   เป็นการทำงานของ “ผู้ไม่รู้” หรือผู้ไม่มีความรู้   ว่ารูปแบบของการจัดการความรู้ที่เหมาะสมต่อสังคมไทยควรเป็นอย่างไร   สคส. จึงไม่มีรูปแบบหรือสูตรของการทำงานแบบตายตัว   แต่ทำงานแบบ “ทำไปเรียนรู้ไป” แบบ “องค์กรเคออร์ดิก” (Chaordic Organization)
          องค์ประกอบขององค์กรเคออร์ดิก   มี 6 ประการ   โดยมีตัวย่อ คือ PPPOCP
                   Purpose
                   Principles
                   Participants
                   Organization
                   Constitution
                   Practice
          สคส. ยึดหลักการทำงานแบบองค์กรเคออร์ดิก   คือยึดมั่นต่อสององค์ประกอบแรกหรือ 2 P คือ   Purpose กับ Principles   ส่วนอีก 4 องค์ประกอบเน้นการทำไปพัฒนาไป   ไม่สร้างกรอบหรือข้อจำกัดให้ตัวเอง


ปณิธานความมุ่งมั่น (Purpose)
          ปณิธานความมุ่งมั่นเป็นองค์ประกอบหลักหรือหัวใจของการทำงานของ สคส.   เรามุ่งมั่นทำงานเพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยสู่สังคมที่มีความรู้เป็นฐาน (Knowledge – Based Society)   ผู้ปฏิบัติงาน ภาคีพันธมิตร และเครือข่าย   มีความมุ่งมั่นร่วมกันในการสร้างสรรค์สังคมไทยสู่สังคมเรียนรู้หรือสังคมที่มีความรู้เป็นฐาน   เรามีความมุ่งมั่นในระดับความเชื่อ   คุณค่า   ความดี   และศีลธรรม   ซึมซาบอยู่ในระดับจิตสำนึก   จิตใต้สำนึก   และจิตเหนือสำนึก   เราร่วมกันมุ่งมั่นฟันฝ่าเพื่อการสร้างสรรค์สังคมไทยสู่เป้าหมายนี้   โดยพร้อมที่จะทำงานระยะยาว   พร้อมที่จะทำงานหนัก   เผชิญอุปสรรคหรือความล้มเหลวโดยไม่ย่อท้อ
          สคส. พันธมิตร และเครือข่าย   ทำงานภายใต้พลังแห่งปณิธานความมุ่งมั่นร่วมกัน   เป็นความมุ่งมั่นรวมหมู่   และพร้อมที่จะเรียนรู้ร่วมกันทั้งจากความสำเร็จและความล้มเหลวในการดำเนินการไปสู่เป้าหมายนี้


หลักการและหลักปฏิบัติ (Principles)
          พนักงานของ สคส. พันธมิตร และเครือข่าย   ยึดถือหลักการและหลักปฏิบัติร่วมกัน   ที่จะเอื้อให้เกิดการสร้างสรรค์ในทุกส่วนขององค์กรและเครือข่าย   เพื่อการบรรลุปณิธานหรือความมุ่งมั่นร่วมกันในการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่สังคมที่มีความรู้เป็นฐาน   หลักปฏิบัติสำคัญ ๆ ได้แก่
·       พนักงาน/สมาชิกมีสิทธิรวมตัวกันได้เอง   เพื่อปฏิบัติการกิจตามปณิธานความมุ่งมั่นขององค์กร
·       มอบอำนาจตัดสินใจไว้ ณ จุดปฏิบัติงาน   หรือใกล้จุดปฏิบัติงานมากที่สุด
·       สร้างความพร้อมใจ   ไม่ใช่บังคับ
·       ถือประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว   ประโยชน์ส่วนใหญ่มากกว่าประโยชน์ส่วนย่อย
·       ยึดถือความซื่อสัตย์ต่อตนเอง   ต่อเพื่อนร่วมงาน   ต่อองค์กรและต่อภาคีเครือข่าย
·       ทำงานให้แก่องค์กรเต็มเวลา   ไม่มี “งานแฝง” ใด ๆ
·       เน้นความสัมพันธ์แบบ “เอื้ออำนาจ” (empowerment) ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  และระหว่างองค์กร
หลักการและหลักปฏิบัติเหล่านี้พนักงานของ สคส. และภาคีเครือข่าย   ค่อย ๆ ซึมซับและ
พัฒนาขึ้น   จนเป็นวัฒนธรรมองค์กร   อันเป็นวัฒนธรรมขององค์กรเรียนรู้


ภาคีหรือผู้ร่วมงาน (Participants)
          ภาคีหรือผู้ร่วมงานของ สคส. มี 3 ชั้นหรือ 3 ระนาบ   ได้แก่
(1)   พนักงานของ สคส.
(2)   พนักงานขององค์กรพันธมิตร
(3)   ประชาชนทั่ว ๆ ไป
สคส. ถือว่าคนใน 3 ระนาบนี้เป็นภาคีร่วมผลักดันขับเคลื่อนสู่ปณิธานความมุ่งมั่นในการ
ขับเคลื่อนสังคมไทยสู่สังคมที่มีความรู้เป็นฐาน   การดำเนินการของ สคส. จะคำนึงถึงภาคีทั้ง 3 ระนาบนี้เสมอ


การจัดองค์กร (Organization)
          สคส. จัดองค์กรเพื่อความคล่องตัวสูงสุดในการทำงานแบบองค์กรเรียนรู้   มีการเรียนรู้ในทุกอณูขององค์กร   ในทุกส่วนของภาคีหรือผู้ร่วมงาน   และในทุกกิจกรรม   ทุกขณะจิต
          สคส. จึงจัดองค์กรแบบไม่มีรูปแบบ   คล้ายรูปร่างของตัวอะมีบาที่เปลี่ยนรูปทรงได้ทุกขณะ   ถ้าจะให้ระบุรูปแบบการจัดองค์กร    น่าจะกล่าวได้ว่าจัดแบบ “คณะทำงาน” (Task Force)   เพื่อทำภารกิจอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็นภารกิจระยะสั้นและภารกิจต่อเนื่อง   ผลัดกันทำหน้าที่นำและหน้าที่สนับสนุน


กฎเกณฑ์กติกา (Constitution)
          เนื่องจาก สคส. เป็นโครงการภายใต้ สกว.   จึงปรับใช้กฎระเบียบของ สกว.   ทำให้มีความสะดวกคล่องตัว   แต่ในขณะเดียวกันก็มีระบบตรวจสอบที่เข้มงวดรัดกุม   มีความโปร่งใส   มีหลักการชัดเจน


ภารกิจ (Practice)
          ภารกิจของ สคส. คือการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายตามปณิธานความมุ่งมั่น   คือ ขับเคลื่อนสังคมไทยสู่สังคมที่มีความรู้เป็นฐาน   โดยทำความชัดเจนว่า สคส. “ดำเนินการส่งเสริมการจัดการความรู้ในสังคมไทย   ทั้งในภาคสังคม – เศรษฐกิจพอเพียง   และในภาคสังคม – เศรษฐกิจแข่งขัน   ทั้งในภาคราชการ   ภาคธุรกิจเอกชน   ภาคเอกชนไม่ค้ากำไร (เอ็นจีโอ)   และภาคประชาชน   ทั้งดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินการจัดการความรู้ในบริบทและรูปแบบที่หลากหลาย   และส่งเสริมขบวนการเคลื่อนสังคมไทยสู่สังคมความรู้และสังคมเรียนรู้   โดยมีการสร้าง “ศาสตร์” ด้านการจัดการความรู้ในสังคมไทย   และสร้าง “สุขภาวะ” ทางสังคม   และทุนทางสังคมไปพร้อม ๆ กับการดำเนินการดังกล่าว”


นวัตกรรมในการดำเนินงาน ปี 2548
          ปี 2548   เป็นปีที่ สคส. และภาคีเครือข่ายร่วมกันสร้างนวัตกรรมในการทำงานขับเคลื่อนเครือข่ายจัดการความรู้ของประเทศมากกว่าในปีก่อน ๆ หลายเท่า   นวัตกรรมสำคัญ ๆ ได้แก่
·       บล็อก Gotoknow.org   เป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ทรงพลังมาก
·       กิจกรรม “จับภาพ KM”   จะเป็นกลไกเชื่อมโยงและกระชับความสัมพันธ์เครือข่ายที่มีพลังมาก
·       การสร้างวิทยากร KM ขึ้นภายใน สคส. และภายนอก   จะเป็นบันไดสู่การสร้างวิทยากร KM จำนวนมากในปี 2549
·       “KM สัญจร”  เป็นกิจกรรมที่ก่อผลกระตุ้นและสร้างความมั่นใจให้แก่กลุ่ม “คุณกิจ”   และ “คุณอำนวย” ที่คณะของ KM สัญจรไปเยี่ยมชม   ก่อผลเชื่อมโยงกิจกรรมจัดการความรู้กับกลไกนโยบายระดับประเทศ ที่บุคคลในคณะ KM สัญจรมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือรับผิดชอบอยู่   และเป็นกลไกเคลื่อนกระแสของการจัดการความรู้ในสังคมไทยไปพร้อม ๆ กัน
·       เทคนิคการจัดตลาดนัดความรู้และการประชุมปฏิบัติการเพื่อทำความรู้จักการจัดการความรู้   มีรูปแบบที่ชัดเจนขึ้น   และเห็นได้ชัดว่าทำไม่ยาก   ทำให้การฝึกนักจัดการความรู้และวิทยากร KM ทำได้ง่ายขึ้น
·       มีภาคีเครือข่ายที่ขับเคลื่อนกิจกรรมจัดการความรู้ได้เอง   ช่วยเหลือองค์กรอื่นได้   เกิดวิทยากร KM ขึ้นในองค์กรภาคี
·       เริ่มมีหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางเครือข่าย (hub) เข้ามาขอความร่วมมือ   ขอเรียนรู้วิธีการดำเนินการจัดการความรู้เพิ่มขึ้นมาก   แสดงว่าวิธีการของ สคส. ได้รับความเชื่อถือ
·       มีการจัดมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติครั้งที่ 2   ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ สคส. เป็นผู้ดำเนินการหลัก   และเชิญองค์กรภาคีเครือข่ายเข้ามารับผิดชอบจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้   เป็นการปูทางสู่มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ   ขนาดใหญ่มากในปีต่อ ๆ ไป
·       รูปแบบของการจัดการความรู้ของ สคส.   เน้นการจัดระบบและเน้นบทบาทของ “คุณเอื้อ” มากขึ้น   เพื่อให้เกิดการดำเนินการต่อเนื่องและเป็นเนื้อเดียวกันกับงานประจำ
·       มีการพัฒนารูปแบบของการประชุมวิชาการ   ให้มีความหลากหลายมากขึ้น
·       มีการให้รางวัลเพื่อสร้างบรรยากาศในการจัดการความรู้   ได้แก่รางวัลสุดคะนึง   และรางวัลจตุรภาคี
·       มีการให้สัญญาสนับสนุนแบบใหม่   ที่คณะผู้ดำเนินการต้องเขียนบันทึกกิจกรรมจัดการความรู้ลงบล็อก
สคส. เป็นองค์กรขนาดจิ๋ว   มีพนักงาน 10 คน    ทำงานใหญ่   ในระดับขับเคลื่อนสังคม   โดย
ใช้พลังของความเล็ก   พลังขององค์กรเคออร์ดิก   พลังของเครือข่าย   โดยที่ความสำเร็จของปณิธานความมุ่งมั่นนี้   ขึ้นอยู่กับบทบาทของบุคคล   กลุ่มคน   หน่วยงาน   และองค์กรที่มีความหลากหลายซับซ้อน   ภายใต้บริบทของสังคมไทยที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลง (transition) อย่างรุนแรง   เป็นการทำงานสร้างการเปลี่ยนแปลงในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอย่างซับซ้อน (และสับสนในหลายกรณี   รวมทั้งกรณีความเข้าใจเรื่องการจัดความรู้)
          ความสำเร็จในเบื้องต้นของการทำงาน 3 ปีของ สคส.   คือการวางรากฐานความรู้   ความเข้าใจ   ศาสตร์และศิลป์ของการจัดการความรู้ที่เหมาะสมต่อสังคมไทย   รวมทั้งการขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้การจัดการความรู้ในบริบทขององค์กร   และบริบทของชุมชน
          และที่สำคัญที่สุดคือการสถาปนากระบวนทัศน์หลักของการจัดการความรู้ในสังคมไทย   อันได้แก่  การพัฒนารูปแบบของการจัดการความรู้ที่เหมาะสมต่อสังคมไทยขึ้นใช้เอง   ไม่ลอกเลียนแบบจากต่างประเทศโดยตรง     รวมทั้งมีขบวนการขับเคลื่อนการเรียนรู้ (ศาสตร์และศิลป์) ของการจัดการความรู้ผ่านการปฏิบัติ   เป็นวงจรที่เป็นพลวัตมีมีสิ้นสุด
         

คำสำคัญ (Tags): #demand#–#side#km#creativity
หมายเลขบันทึก: 8494เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2005 20:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท