ระบบการคลังเพื่อสังคม : เสริมหนุน หล่อลื่น ภาคประชาชน


ผมคิดว่า ถ้าทำได้อย่างนี้ ภาคประชาชน จะเข้มแข็งขึ้นอีกมากเลย ไม่ใช่แค่เพียงประชาชนจะซื้อกิจกรรมเพื่อสังคมได้ แต่ประชาชน คนธรรมดา อีกจำนวนมากน่าจะสามารถลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆให้สังคมได้อีกเยอะเลยครับ

ช่วงนี้ผมได้ยินข่าวเกี่ยวกับเรื่องการเก็บภาษีพิเศษมาเพื่อทำกิจกรรมสาธารณะบางอย่างบ่อยครั้งขึ้น

 ก่อนหน้านี้ สักประมาณ 4-5 ปี เราคงได้ยินกรณีของ สสส. เดี๋ยวนี้ก็จะได้ยินในกรณีของ ITV ที่มีการให้ความเห็นหลายประการรวมถึงการที่ให้มีการจัดตั้ง ระบบการสื่อสารมวลชนสาธารณะ ให้มีลักษณะเหมือนช่อง BBC หรือ NHK ของอังกฤษและญี่ปุ่นตามลำดับ

 ข้อเสนอก็มีตั้งแต่ charge คนที่ซื้อทีวีใหม่บ้างล่ะ หรือเช็คว่าบ้านไหนมีทีวีแล้วก็เก็บค่าบริการรายเดือนบ้างล่ะ ฯลฯ

แต่เท่าที่ดูก็ดูเหมือนว่า หลักการคือ เก็บคนที่มีโอกาสจะใช้ แม้ว่าจะไม่ได้ใช้ เช่น ซื้อทีวีมาดูละครน้ำเน่า ไม่ได้ซื้อมาดูข่าว ก็ถือว่า ช่วยกันจ่ายก็แล้วกัน เพราะหลายอย่างที่เราใช้เราก็อาจจะไม่ได้จ่ายเองก็ได้

คำถามของผมคือ ถ้างานสาธารณะด้านสุขภาพ เก็บจากภาษีเหล้าบุหรี่ งานสาธารณะด้านโทรทัศน์เก็บจากทีวี แล้วงานสาธารณะเพื่อสังคมล่ะ เช่น พวก NGOs ที่ทำงานด้านเด็ก หรือสิทธิมนุษยชน ฯลฯ เราควรจะเก็บเงินตรงไหนให้พวกเขาทำงาน หรือไม่ควรเก็บ?

ปัจจุบัน องค์กรที่ไม่ได้ทำงานในแนวสุขภาพ ก็มักจะได้เงินสนับสนุนในการทำกิจกรรมต่างๆ จากองค์กรระหว่างประเทศบ้าง บริษัทเอกชนบ้าง หน่วยงานราชการในบางโอกาส

อย่างไรก็ดีแหล่งเงินทุนเหล่านี้มันมีให้ไม่สม่ำเสมอ และบางแหล่งทุนก็ต้องการให้โครงการเกิดความยั่งยืน และลดงบประมาณลงเรื่อยๆ  ส่วนงบประมาณที่จะได้จากรัฐนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า ช่วงไหนรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับประเด็นอะไร บางครั้ง NGos ก็จะต้องเบนประเด็นไปเป็นประเด็นตรงนั้น ... หรือไม่ก็จะประสบความยากลำบากในการหาแหล่งทุนสนับสนุน


...

อย่างไรก็ดี ถ้าเราสมมติว่า NGOs ทุกๆองค์กรต่างปรารถนาดีต่อสังคม และสิ่งที่พวกเขาทำย่อมส่งประโยชน์ให้สังคมในมิติต่างๆดีขึ้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์จริงๆก็มิใช่เพียงกลุ่มเป้าหมายของเขา แต่รวมถึงประชาชนทุกๆคนด้วย ผมเลยคิดว่า ...ประชาชนทุกๆคนก็น่าจะมีส่วนสนับสนุนตรงจุดนี้ด้วยเหมือนกัน

...

ถ้าเอากรอบคิดทางเศรษฐศาสตร์ ง่ายๆมาจับ เช่น เรื่อง Demand Supply เอามาจับกับตลาดกิจกรรมเพื่อสังคม เราจะพบว่า โครงสร้างตลาดกิจกรรมเพื่อสังคมนั้น ค่อนข้างจะเป็นตลาดที่ไม่สมบูรณ์เอามากๆ คือ

ผู้ซื่อกิจกรรมทางสังคมประเภทนี้ ที่เป็น Demand (= ความต้องการ + กำลังซื้อ) แท้จริงนั้น จริงๆก็มีแต่ผู้ให้ทุน เช่น สสส. , และแหล่งทุนอื่นๆ ... ซึ่งจริงๆแล้วก็มีน้อยราย  ที่อยากจะซื้อและมีกำลังซื้อ 

จริงๆแล้วผู้ซื้ออาจแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ กลุ่มที่เป็นบริษัทเอกชน สิ่งที่เขาซื้อจาก NGOs หรือกิจกรรมนักศึกษา หรือกิจกรรมเพื่อสังคมอื่นๆนั้น โดยหลักการคือ เขาซื้อ "ผู้ชม" ... อาจมีตั้งใจซื้อตัวกิจกรรมบ้าง แต่ ผู้ชม นี่อาจจะเป็นหลัก ... พูดง่ายๆก็คือ เขาให้ตังค์เราทำ เพราะเค้าอยากให้คนอื่นรู้ว่า เขาก็ให้เงินสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมนะ ... และจะให้มากขึ้นถ้าผู้ชมนั้น เป็นคนที่อาจจะมีโอกาสซื้อสินค้าเขาด้วย

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่เป็นกองทุนต่างๆ ไม่ว่าจะในหรือต่างประเทศ กองทุนเหล่านี้มีโลกที่เขาอยากเห็น เป็นประเด็นๆไป เช่น กองทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมก็อยากเห็นสิ่งแวดล้อมดี กองทุนเพื่อสุขภาพ อย่างสสส. ก็อยากให้คนมีสุขภาพดี อันนี้เขาก็จะซื้อโครงการ ที่ตอบสนองความต้องการของเขาได้

ในฝั่งผู้ขายนั้น จะมากราย หรือน้อยรายนั้น อาจจะต้องดูในรายกิจกรรมแต่ละประเภท แต่ที่แน่ๆ โดยส่วนใหญ่ ผมคิดว่าอำนาจต่อรองอาจจะต่ำ .. จะมีมากก็เฉพาะบางองค์กรที่อยู่มานานแล้ว มีประสบการณ์ มีความน่าเชื่อถือ แต่องค์กรใหม่ๆ ซึ่งจะว่าไปปัจจุบันก็ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ก็เป็นผู้ขายกิจกรรมรายเล็ก ไม่มีอำนาจต่อรอง ...

ผู้ผลิตกิจกรรม จะผลิตกิจกรรมตามความต้องการของผู้ซื้อ .... ฉะนั้นจะเห็นว่า กิจกรรมเชิงสุขภาพนั้นจะมีมากมายมหาศาล ... กิจกรรมที่พอจะหาเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพได้ก็จะมีอยู่บ้าง แต่บางประเด็นซึ่งอาจจะจำเป็น แต่นึกหาเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพไม่ได้ ก็จะไม่เกิดขึ้น หรือบางประเด็นที่จริงๆแล้วมีคนอยากให้ทำ แต่คนที่อยากอาจจะไม่มีกำลังซื้อ ก็ไม่สามารถผลิตกิจกรรมได้

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าเกิดในระบบกิจกรรมเพื่อสังคม ก็คือ ข้อมูลข่าวสารนั้นไม่ค่อยจะสมบูรณ์ ผู้ซื้อก็ไม่รู้ว่าผู้ขายมีใครบ้างที่ทำอยู่ ... ผู้ขายก็ไม่รู้ว่า มีใครสนใจจะซื้อ หรือให้การสนับสนุนกิจกรรมของเราบ้าง

เมื่อเป็นลักษณะนี้ ... ความเข้มแข็งของภาคประชาชนในภาคส่วนต่างๆก็อาจจะเกิดขึ้นได้ยาก ... จะแข็งขันก็เฉพาะในส่วนทีจะมีกำลังซื้อเท่านัน้ ซึ่งก็มาจากกองทุนฯ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย .... ซึ่งจริงๆแล้ว ความต้องการของกองทุนนั้นก็ สะท้อนต่อมาจากรัฐบาลอีกต่อหนึ่งเช่นกัน ถ้าองค์กรที่อิสระสักหน่อยอย่าง สสส. ก็จะสะท้อนมาไม่มากนัก แต่ประเด็นก็คือ ขึ้นอยู่กับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่กำกับสสส.และตัวผู้จัดการนั่นเอง (อาจจะรวมถึงภาคีเครือข่าย) ว่าจะกำหนดทิศทางการให้ทุนไปในทางใด ... ก็อาจจะเป็นเรื่องดี ถ้าเราเชื่อมั่นว่า คนเหล่านั้นจะสามารถชี้นำสังคมไปในทางที่โอเคได้

ที่พูดเรื่องนี้ขึ้นมา ไม่ใช่จะบอกว่า กองทุนที่มีอยู่อย่าง สสส.ไม่ดีนะครับ การมีองค์กรที่ช่วยหล่อลื่นงานภาคสังคมนั้นเป็นเรื่องดีมากๆ แต่มันก็ยังมีเรื่องอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับสุขภาวะ หรือ มันอาจจะต้องอ้อมโลกมาหาเรื่องสุขภาวะเหมือนกัน

-------------

ผมกำลังคิดว่า เราน่าจะทำให้มันเกิดระบบ ที่ประชาชน สามารถ เป็นผู้ซื้อ กิจกรรมเพื่อสังคม เองได้

-------------

ผมลองนึกดูเล่นๆว่า ถ้าเกิด ตอนนี้เราสามารถกรอกแบบฟอร์มภาษีและเสียภาษีผ่านอินเตอร์เนตได้แล้วเนี่ย มันน่าจะทำได้

สมมติว่ากำหนดว่า 2% ของภาษีที่ สรรพากรเก็บ จะถูกเอาไปจัดสรรให้กับองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้กับสังคม  แล้วในหน้าสุดท้ายของการกรอกแบบฟอร์มภาษี เรามีให้เขาช่วยติ๊ก ด้วยว่า คุณอยากให้ 2% ของคุณไปช่วยงานด้านไหน เช่น อาจมีให้เลือก งานด้านเยาวชน งานด้านสิ่งแวดล้อม งานด้านสิทธิมนุษยชน งานด้าน.... ฯลฯ สุดแท้แต่จะมีองค์กรที่ทำเรื่องนี้หรือไม่อย่างไร หรือ จะเป้นประเด็นทางสังคมที่ควรค่าแก่การแก้ไขก็ได้   ก็ให้คนเสียภาษีกดเลือก สมมติให้เลือกเรื่องเดียว (ถ้าเลือกสามเรื่องแล้ว จัดอันดับก็ได้ แต่ต้องไปคิดวิธีการคำนวนอีก)   และ ต้องเป็น 1 man 1 vote ด้วยนะ ไม่ขึ้นกับว่า ใครจ่ายมากจ่ายน้อย

พอหมดช่วงเสียภาษีเราก็จะรู้ว่า คนอยากเอาเงินภาษี 2% ของเขาไปช่วยงานด้านไหน
อาจจะ 30% อยากให้ไปด้านสันติภาพ  , 15% งานด้านเยาวชน, 20% เป็นงานด้านสิ่งแวดล้อม ...ฯลฯ ถ้ามีรายละเอียดให้ชี้เฉพาะอาจจะให้ vote เป็นแบบย่อยๆได้ เช่น สิ่งแวดล้อม โวตให้เรื่อง ป่าชายเลน เป็นต้น

เงินภาษีรายได้ 2% ซึ่งมหาศาลมาก (ตัวภาษีรายได้บุคคลธรรมดาเองมีมูลค่าเกือบ 3 เท่าของภาษีเหล้าบุหรี่  ถ้ารวมนิติบุคคลด้วยนี่ก็เยอะมากมายเลย มากกว่า เกือบ 6 เท่าของภาษีเหล้าบุหรี่ ที่หักเข้า สสส.)  ก็จะควรจะถูกจัดสรรไปเข้ากองทุน เพื่อ ... ต่างๆกัน ตามสัดส่วนของการ vote ของประชาชน โดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้อง ผ่านรัฐบาล ... .เช่น 30% ไปเข้ากองทุนเพื่อสันติภาพ ... 15% ไปเข้ากองทุนเพื่อเยาวชน ... เป็นต้น

ในแต่ละด้านก็ควรจะมีกองทุน ซึ่ง ก็น่าจะเริ่มได้ง่ายขึ้น เพราะว่า ถ้าโครงสร้างของ สสส. นั้น Work มันก็น่าจะนำไปปรับประยุกต์ใช้กับกองทุนแต่ละกองได้เช่นกัน ... แต่ละกองทุนก็อาจจะมีผู้จัดการรวม และก็มีแผนงานต่างๆ ... คล้ายสสส. ....  แล้ว ผู้จัดการของแต่ละกองทุนก็ต้องมีนั่งคุยกันในแต่ละปีว่า งานในปีนี้ ทิศทางควรไปทางไหน ... แต่ละกองทุนควรจะให้เงินหล่อลื่นกิจกรรม ทีจะสอดคล้องกับงานของตนและสอดประสานกับกองทุนอื่นๆอย่างไร และที่สำคัญที่สุด ต้องเป็นไปตามเจตนารมย์ของผู้จ่ายภาษีที่สุด (คือ ต้องจัดสรรให้ หัวข้อย่อย เช่น เรื่องป่าชายเลน ตามสัดส่วนนั้นๆ) ...

กองทุนก็จะทำหน้าที่หลักคือ เป็นหน่วยที่ทำการหล่อลืนให้ภาคประชาชน ซึ่งรวมทั้ง nGOs องค์กรชุมชน ฯลฯ สามารถดำเนินกิจกรรมของตนไปได้ ...

ด้วยระบบนี้ จะทำให้คนทำงานเพื่อสังคมทราบด้วยว่า ตอนนี้ คนในสังคม (ที่เสียภาษี) กำลังมีความกังวล และต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาอะไร ... ซึ่ง มันก็จะมีองค์กรจัดกิจกรรม หรือโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น อีกทีหนึ่ง มากน้อย ก็จะตามแต่ที่ประชาชนจะ vote ให้ (กิจกรรมควรจะมากตามเปอร์เซ็นต์ของเงินที่ถูกจัดสรร)

ในการจัดสรรก็ควรจะมีเพดานของเงินที่จะให้ ... ควรมีระบบ รับรอง ตรวจสอบคุณภาพขององค์กรเกิดขึ้นด้วย ... และให้ คตง. ตามตรวจการดำเนินงานของกองทุนพวกนี้อีกต่อหนึ่ง ....  รวมถึงต้องเปิดให้มีการร้องเรียนโดยตรงจากประชาชนได้เช่นเดียวกัน (ความโปร่งใสสำคัญอย่างมาก ทั้งนี้เพื่อจะได้พิสูจน์ว่า ถ้าภาคประชาชนร่วมกันผลักดัน สังคมจะดีได้ ... ถ้าไม่โปร่งใส สังคมคงหมดศรัทธากับทุกอย่าง คือ รัฐก็คอรัปชั่น ภาคประชาชนยังคอรัปชั่นกันเองอีก ... แย่เลยครับ)

ในขณะเดียวกัน ตอนเริ่มแรก และแต่ละปี แต่ละกองทุนก็ต้องทำการสรุปผลงานประจำปี ... ให้ประชาชนได้รับทราบ หรืออย่างน้อยก็เป็นข้อมูลให้แก่ผู้จ่ายภาษี เพื่อเขาจะได้รู้ว่า ปีนี้เขาควรจะ vote ให้งานด้านนี้อีกหรือไม่ ...ทำดีแล้ว แต่ยังมีปัญหาอยู่น่าจะให้อีก หรือน่าจะ vote ให้งานด้านอื่นแล้วนะ เพราะปัญหาด้านอื่นมันมากกว่า ... เป็นต้น    

ถ้าจะมีระบบการฝึกอบรม ฐานข้อมูล หรือจัดการความรู้สำหรับองค์กรเหล่านี้ก็น่าจะดีครับ แต่ก็ต้องคิดกันต่อไป

 นอกจากนี้ที่สำคัญ ในกติกาในการเข้ามาเป็นผู้ผลิต หรือการจัดตั้งองค์กรเพื่อสังคม หรือคิดโครงการดีๆ นั้น ต้องเป็นไปได้โดยง่าย เพื่อจะได้มีคนที่อยากทำอะไรดีๆ สามารถริเริ่มทำสิ่งดีๆได้มากขึ้นได้

--------------

ระบบแบบนี้มันน่าจะกระตุ้นให้ คนทำงานภาคสังคม รู้ทิศทางบ้าง ... จริงๆแล้ว มันจะช่วยสื่อสัญญาณให้ภาครัฐ ทราบด้วยเช่นกัน ว่าตอนนี้คนต้องการอะไร จะได้มีการผลิตบริการทางสังคม เพื่อตอบสนองปัญหานั้นๆได้ถูกจุดมากขึ้น และถ้าเกิดมีการคอรัปชั่นมากเข้าในฝั่งของราชการ อย่างน้อยคนก็ยังรู้ว่า มันก็จะมีเงินส่วนนึง ที่มันจะถูกเอาไปใช้ตามเจตนารมย์ของเขา

ในความเป็นจริง การเสนอกฎหมายต่างๆในปัจจุบันนั้น หรืออย่างน้อยตาม รธน. 40 โดยมากก็จะเป็นฝั่งของรัฐบาลเท่านั้นที่เสนอกฎหมาย เพราะว่า รธน. 40 ได้สร้างต้นทุนในการนำเสนอกฎหมาย ให้กับ สส. เช่น ต้องรวบรวมสส.ได้ 20 คน (ถ้าจำไม่ผิด) และต้องเสนอผ่าน พรรค เท่านั้น ..ยากมากๆ .. ตัวแทนของประชาชนจึงไม่สามารถเสนอกฎหมายที่จะแก้ปัญหา และสะท้อนความต้องการของประชาชนได้มากนัก

 ฉะนั้นโดยหลักคนใช้กฎหมายและงบประมาณคือรัฐบาล และคนที่กำหนดเรื่องนี้ของรัฐบาลคือ คณะรัฐมนตรี ซึ่งก็มีกันไม่มาก ... และเรื่องทางสังคมมีเป็นกระตั๊กเลย ... ผมคิดว่าไม่มีใครในโลกที่สามารถพิจารณาเรื่องทุกเรื่องได้... เพราะมีเวลาจำกัด และความเชี่ยวชาญต่างกัน  ... ฉะนั้น ครม. จะตัดสินใจเอากับเรื่องอะไรนั้นขึ้นอยู่กับว่า คนที่ใกล้ชิดจะชงเรื่องอะไรเข้าไป ซึ่งก็อาจจะไม่ได้ตรงความต้องการของประชาชน

นอกจากนี้ อาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะเกิด trend ของบริษัทต่างๆเกี่ยวกับการนำเสนอตัวเองว่า เราจ่ายภาษีมากน้อย อย่างไร ด้วย แทนที่จะมาสร้างภาพ CSR (Corporate Social Responsibility) โดยจ่ายเงินเพื่อสร้างภาพลักษณ์ เพียงอย่างเดียว

--------------------

ถ้าเป็นเช่นนี้ได้ ตลาดกิจกรรมเพื่อสังคมน่าจะมีความสมบูรณ์มากขึ้น คือ ผู้ซื้อก็มากราย ฉะนั้นก็ไม่มีใครบิดเบือนตลาดได้ ผู้ขายก็จะมากรายมากขึ้นในระยะยาว ถ้าการเข้าสู่ตลาดนี้ไม่มีอุปสรรคจนเกินไปนัก ระบบข้อมูลข่าวสารต่างๆ รวมถึงระบบสนับสนุนและฝึกอบรม ก็จะเป็นตัวช่วยให้คนเข้าตลาดได้ง่ายขึ้น

--------------------

แต่ผมก็ยังนึกแปลกใจว่า มันน่าจะคนเคยคิดเรื่องแบบนี้ไว้บางสิ ... หรือว่าเคยคิดแล้วแต่มันมีจุดบกพร่อง ... หรือมันมีข้อจำกัดอะไร ถึงไม่ได้เสนอ ไม่ได้ทำผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน ... ถ้าเกิดมีใครอ่านจนถึงตอนนี้แล้วช่วยบอกผมหน่อยนะครับ ว่ามันเคยมีคนคิดแบบนี้มั้ย ถ้ามี ทำไมมันถึงยังไม่ถูกผลักดันให้เกิด... หรือผมเข้าใจอะไรผิดไป?

แต่ผมคิดว่า ถ้าทำได้อย่างนี้ ภาคประชาชน จะเข้มแข็งขึ้นอีกมากเลย  ไม่ใช่แค่เพียงประชาชนจะซื้อกิจกรรมเพื่อสังคมได้ แต่ประชาชน คนธรรมดา อีกจำนวนมากน่าจะสามารถลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆให้สังคมได้อีกเยอะเลยครับ

 

หมายเลขบันทึก: 84454เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2007 18:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สืบเนื่องจากที่อาจารย์ชลไปแสดงความเห็นไว้ใน blog econ4life ก็เลยตอบอาจารย์ไว้ที่โน่นเล็กน้อย และจะมาตอบประเด็นหลักๆที่นี่นะคะ

ตอนนี้ขอแสดงความเห็นประเด็นแรกก่อนนะคะ เรื่องจะเก็บเงินตรงไหนให้งานสาธารณะเพื่อสังคม

ถ้าดูจากงานสาธารณะด้านสุขภาพ   คิดว่าเงินที่เก็บจากภาษีเหล้า เนื่องจากการดื่มเหล้าสร้างผลกระทบต่อสุขภาพผู้ดื่มและผลกระทบภายนอก เป็นหลัก  (ไม่ใช่การเก็บภาษีเพื่อจะ cover cost ในการทำงานสาธารณะด้านสุขภาพโดยตรง)

ส่วนการเก็บเงินของ NHK  โดยหลักการน่าจะเป็นการเก็บจากผู้ใช้หรือผู้ได้ประโยชน์  (จึงเป็นการเก็บเพื่อ cover cost แม้จะเพียงบางส่วน)

งานกิจกรรมสาธารณะด้านเยาวชน  อาจมาจากวิธีที่ 1 (แบบภาษีเหล้า) หรือ วิธีที่ 2  (แบบ user cost ที่ดูทีวี) ก็ได้

ถ้าเป็นแบบแรก  ต้องไป tax เอาคนที่ก่อผลกระทบด้านลบต่อเยาวชน  เช่น พวกร้านเกม  คนขายขนมขบเคี้ยว หรือ อื่นๆที่หากินก้บเด็ก และได้ประโยชน์จากการบริโภคของเด็กและเยาวชน   ซึ่งจะช่วยลดการบริโภคสินค้าที่ไม่ค่อยได้ประโยชน์เหล่านั้น  และยังจะมีรายได้มาอุดหนุนกิจกรรมสาธารณะเพื่อเด็ก 

ส่วนจะเก็บได้จริงหรือไม่ อีกเรื่องหนึ่งนะคะ  ต้องไปดูความเป็นไปได้ ต้นทุนในการจัดเก็บอีก

ถ้าเป็นแบบที่สอง ต้องไปดูว่าใครได้ประโยชน์จากงานสาธารณะเพื่อเด็ก  น่าจะเป็นผู้ปกครองและสังคมโดยรวม

ซึ่งประเด็นนี้ ต้องขอยกยอดไปคิดต่อก่อน  เพราะจะสืบเนื่องกับประเด็นอื่นๆที่อาจารย์เขียนมาด้วยค่ะ

รออ่านนะคะ

ควรมีระบบตรวจสอบเกี่ยวกับ "ภาษี" ครับ..ว่าภาษีที่เราๆท่านๆจ่ายกันไป.. ถูกนำไปใช้อย่างไร.. โดยใคร.. และเงินภาษีนั้นไปตกอยู่ที่ไหนบ้าง.. เกิดผลประโยชน์..หรือสูญหายไปอย่างไรบ้าง..

และประชาชนต้องตระหนักถึงสิทธิอันพึงมีที่จะได้รับบริการสาธารณะซึ่งเกิดจากภาษีที่ตัวเองได้จ่ายไป..

เมื่อประชาชนตระหนักถึงสิทธิตรงนี้.. แล้วพบว่าภาษีที่จ่ายไปถูกนำไปใช้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ..ประชาขนก็ควรเรียกร้องความเป็นธรรมตรงนี้ได้..

 

อ่านแล้วชอบข้อเสนอของอาจารย์  แต่ก็เหมือนแบ่งเค๊กจากรัฐบาลเลยทำให้ลำบากหน่อย  รัฐบาลคงติดตามและประเมินผลงานของ สสส. อยู่เพื่อเป็นแนวทางต่อไป  ขอติดตามบทความของอาจารย์ต่อนะครับ
  • ขอบคุณ อ.ปัท และคุณคนชอบวิ่ง มากเลยครับ
  • ขออภัยที่มันอาจจะดูยาวเกินไป
  • ถ้าใครมีคอมเมนต์อะไรเพิ่มเติมก็รบกวนช่วยกันหน่อยนะครับ ... ไม่ต้องเทคนิคมากก็ได้ครับ อาจจะเป็นดีหรือไม่ เหมาะสมไหม อะไรแบบนี้
ตอนยังเรียนอยู่ที่คณะเราเคยเขียนบทความเกี่ยวกับความไม่สมมาตรของข้อมูลข่าวสารในตลาดกิจกรรมนักศึกษา ซึ่งทำให้กิจกรรมที่ดีเกิดยาก ในขณะที่กิจกรรมรื่นเริงกลับเกิดขึ้นเกินกว่าที่ควรจะเป็นส่งวิชา ศ.200 เรามองว่าความคิดเราสองคนคงคล้ายกันตรงจุดนี้ สืบเนื่องจากกลไกตลาดไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์รัฐบาลจึงมีความชอบธรรมเข้ามาจัดสรรทรัพยากรให้เป็นไปในแนวทางที่สังคมต้องการ อย่างไรก็ดี กระบวรการแทรกแซงของรัฐบาลก็ยังมีความบกพร่องทั้งในด้านความคลอบคลุมความต้องการของสังคมโดยรวม และการรวบรวมความต้องการเหล่านั้นมาพิจารณา แนวทางที่อาจารย์ชลเสนอมาเรามองว่าเป็นการผนวกกลไกตลาดให้เข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลให้สามารถดำเนินงานได้สมบูรณยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการเข้าถึงความต้องการของประชาชน และความต้องการเงินทุนขององค์กรอิสระต่างๆที่ก็พยายามทำหน้าที่สาธารณะที่รัฐบาลเองมิสามารถลงมาดูแลอย่างทั่วถึง ข้อเสนอเเนะนี้จึงเหมือนเป็นการติดสถาบันการเงินเฉพาะกิจเข้ากับระบบภาษีของประเทศ หากว่าอัตราร้อยละสองที่ว่านั้นคืออัตราดุลยภาพในสังคม แสดงว่าความล้มเหลวของระบบการจัดการภาษีของภาครัฐอยู่ที่ร้อยละสอง ที่นี้ถามว่ามีอะไรที่ควรคำนึงถึงหากต้องการดำเนินการระบบช่วยเหลือทางการคลังนี้ เพราะต้นตอของปัญหาอยู่ที่ข้อมูลข่าวสารต้องลองคิดดูว่าทำอย่างไรจึงจะสร้างช่องทางจากอุปทานสู่อุปสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการติดตามประเมินผลที่ดี ซึ่งก็ต้องหาผู้รับผิดชอบตรงนี้ อนึ่งในประเทศอังกฤษ โทรทัศน์ทุกเครื่องต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีประมาณปีล่ะแปดพันบาท ผู้รับชมจะได้ชมห้าช่องที่แทบไม่มีการตัดเข้าโฆษณาเลยซึ่งเป็นวัฒนาธรรมทางการรับชมของประเทศนี้  นอกจากนั้นการโฆษณาโครงการสาธารณะบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆมีอยู่มากมาย กลไกคือผู้มีบัญชีเงินฝากเพียงกรอกข้อมูลติดตั้งให้องค์กรเหล่านั้นมีสิทธิตัดเงินจากบัญชีเงินฝากรายเดือนได้เท่ากับวงเงินที่ตกลงกันไว้ หากพิจารณาว่าการอาศัยภาครัฐดูเเลเรื่องเช่นนี้อาจเสี่ยงต่อปัญหาความอ่อนประสิทธิภาพของหน่วยงานราชการ แนวทางหลังนี้อาจดูน่าสนใจ อย่างไรก็ดีข้อมูลที่จะได้รับจากแนวทางที่อาจารย์เสนอมาย่อมเประเมินค่ามิได้ต่อภาครัฐเเละนักวิชาการครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท