BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

สมบัติบ้าในวัด : บาตร


สมบัติบ้าในวัด

ผ้า ๔ เหล็ก ๓ น้ำ ๑ ... นี้คืออัฎฐบริขาร ซึ่งเป็นเครื่องใช้พื้นฐานของพระภิกษุ...

ผ้า ๔ ได้แก่ ผ้าไตรจีวร คือ อันตรวาสก (ผ้านุ่ง) อุตตรวาสก (ผ้าห่ม) และ สังฆาฎิ (ผ้าทาบ) ส่วนผ้าอีกอย่างคือ รัดประคด (สายเอว)

เหล็ก ๓ ได้แก่ มีดโกน เข็ม และ บาตร

น้ำ ๑ คือ ธรรมกรก (ที่กรองน้ำ)

อันที่จริง พระวินัยอนุญาตบาตรไว้ ๒ ขนิด คือ บาตรดินเผาและบาตรเหล็ก แต่บาตรดินเผาไม่เป็นที่นิยม ดังนั้น ในชุดอัฎฐบริขารปัจจุบันจึงจัดไว้เฉพาะบาตรเหล็ก... ส่วนบาตรไม้ไม่อนุญาต สิ่งเทียมบาตรอื่นๆ เช่น หม้อ น้ำเต้า กระโหลก ก็ไม่อนุญาตเช่นเดียวกัน...

บาตรมีหลายขนาดซึ่งพระวินัยแบ่งไว้กว้างๆ ว่า เล็ก กลาง และใหญ่... แต่ในปัจจุบันมักเรียกกันตามขนาดหน้าตัดของปากบาตร อย่างเล็กก็ ๕-๖ นิ้ว และใหญ่สุดก็ ๑๒ นิ้ว...

ส่วนชนิดของบาตรเหล็ก ตามที่เคยเห็นมาก็มีหลายแบบ เช่น บาตรหล่อ (ใช้เหล็กผืนเดียว) บาตรเย็บ (ใช้เหล็กแผ่นเล็กๆ แล้วตีขึ้นรูป เชื่อมให้ติดกัน จะมองเห็นเป็นรอยคล้ายผืนผ้าที่เอามาเย็บต่อกัน) ซึ่งปรกติก็จะรมดำมาจากร้าน ...และทั้งสองชนิดนี้ ถ้านำมาเคลือบทำนองเดียวกับจานหรือช้อนเคลือบก็จะเรียกว่า บาตรเคลือบ...ที่ต่างออกไปก็ บาตรพม่า จะใช้เหล็กลวดขดขึ้นมาเป็นรูปบาตรแล้วใช้สีบางอย่างเคลือบอย่างสวยงาม... ในท้องถิ่นอื่นสันนิษฐานว่าคงจะมีบาตรทำนองอื่นอีก แต่ผู้เขียนไม่เคยเห็น ....

สมัยก่อนบาตรหล่อหรือบาตรเย็บรมดำธรรมดา ใช้ไม่นานก็จะขึ้นสนิม หรือบางลูกก็เริ่มขึ้นสนิมมาจากร้านแล้วก็มี ดังนั้น การรักษาบาตรมิให้ขึ้นสนิมจึงเป็นเรื่องที่จะต้องเอาใจใส่ (พระรุ่นก่อนจึงมักจะล้างบาตรและเก็บบาตรเอง)...

ตามพระวินัยได้อธิบายการเก็บรักษาบาตรไว้อย่างละะเอียด คือใช้เสร็จแล้ว ต้องล้างให้สะอาด ล้างเสร็จแล้วก็ต้องเช็ดให้แห้ง เมื่อแห้งแล้วก็นำไปผึ่งแดดหรือตากแดด และอย่าตากไว้นาน พอแห้งดีแล้วก็ต้องเก็บไว้ การเก็บก็อย่าเก็บไว้ในที่สูง ต้องเก็บไว้ในที่ด่ำ (ผู้รู้สันนิษฐานว่า โบราณคงจะใช้บาตรดินเป็นส่วนมาก จึงกำหนดให้เก็บไว้ในที่ต่ำ เพราะเกรงจะหล่นแตก) ...ซึ่งพระวินัยปรับอาบัติทุกกฎ ทุกขั้นตอนถ้าไม่เอื้อเฟื้อเรื่องนี้.....

สำหรับส่วนตัวผู้เขียน ตอนบวชใหม่ๆ หลังจากล้างและเช็ดบาตรเรียบร้อยแล้ว พอตากแดดเหล็กเริ่มร้อน ก็มักจะใช้เทียนทาลงไปบาตร เพื่อทำให้เนื้อเทียนเคลือบกับผิวบาตร จะช่วยป้องกันสนิมได้ ... แต่ก็มีบ้างเหมือนกัน ที่เผลอสติ ลิมเก็บบาตรแล้วฝนตกได้น้ำเต็มบาตร รุ่งเช้าสนิมจับทันที...นั่นคือ นอกจากเป็นอาบัติแล้วก็ต้องขัดใหม่อีกครั้ง

ถ้าสนิมจับมากๆ หรือบาตรเคยใช้แล้วทิ้งไว้นาน สนิมจับทั้งลูก ก็จะใช้วิธีเผาไฟ นั่นคือ ก่อไฟขึ้นแล้วเอาบาตรไปเผา จนเนื้อแดง แล้วก็นำมาขัดใหม่ ซึ่งวิธีการก็มีหลายสูตร บางท่านก็เผาด้วยพดมะพร้าวสดๆ เพื่อให้เกิดเป็นน้ำมันเคลือบผิวบาตร หรือเคลือบกับน้ำมันตังอิ้ว น้ำมันมะพร้าว...

ส่วนบาตรเคลือบ ไม่เป็นสนิม แต่ก็ต้องดูแลอย่าให้ตกหรือกระแทก เพราะสีจะกระเทาะออกมา และจุดนั้นจะผุเป็นสนิม ซึ่งถ้าไม่รีบเอาสีทาทับลงไป ไม่นานก็ทะลุเป็นรูได้ ดังนั้น บาตรเคลือบจึงมีผู้นิยมน้อยกว่าบาตรรมดำ เพราะแพงกว่าและดูแลยากกว่า..

ต่อมาก็เริ่มมี บาตรสแตนเลส เข้ามา ปัญหาเรื่องบาตรขึ้นสนิมก็ค่อยๆ หมดไป ส่วนบาตรแบบเดิมก็กลายเป็น สมบัติบ้าในวัด...

ประมาณ ๑๐ ปีก่อน เพื่อนผู้เขียนจัดงานบวชเณรฤดูร้อน แล้วถามผู้เขียนว่า มีบาตรบ้างมั้ย? ผู้เขียนก็รับปากว่าจะไปดูให้... ผู้เขียนก็มาดูที่วัด... ใต้ถุนมีบาตรแบบเก่าอยู่เกือบร้อยลูก เมื่อพบเพื่อนผู้เขียนวันต่อมา ก็บอกให้มาเอาบาตร ท่านบอกว่า เปลี่ยนใจแล้ว ลงทุนซื้อบาตรสแตนเลส ๕๐ ลูกแล้ว ปีหน้าค่อยซื้อเพิ่ม จะได้ไม่ต้องเผาบาตรขึ้นสนิมทุกปี (การเผาบาตรขึ้นสนิมครั้งละประมาณ ๑๐๐ ลูก จัดว่ามิใช่งานธรรมดา) ...ส่วนบาตรเก่าใต้ถุนกุฎิ ผู้เขียนก็เรียนให้พระผู้ใหญ่ทราบว่า น่าจะขายเป็นเศษเหล็กทิ้งไว้ก็เกะกะ... จึงได้รู้ว่าเหล็กบาตร พ่อค้าของเก่าไม่รับซื้อ...ดังนั้น จึงสรุปว่า บาตรเก่าๆ ไม่ใช้แล้วฝังหมด (ยกเว้นบาตรสแตนเลส)

บาตรรมดำ ยังมีขายในท้องตลาดปัจจุบัน บางคนบวชลูกหลานก็ซื้อไปใช้ โดยไม่เข้าใจ พอเป็นพระหรือเณรในวัดก็จะเข้าใจว่าบาตรแบบนี้ เค้าเลิกใช้กันแล้ว ถ้าบวชไม่นานนักก็จะทิ้งบาตรลูกนั้นไว้ หรือถ้าบวชอยู่นานๆ ก็จะแสวงหาบาตรสแตนเลสมาใช้ ส่วนบาตรลูกเดิมก็เป็นสมบัติบ้า ที่ผู้อยู่ในวัดต้องฝังลงดิน ครั้งแล้ว ครั้งเล่า...

ผู้เขียนมักจะแนะนำบรรดาญาติโยมที่จะบวชลูกหลานแล้วมาปรึกษาว่า ให้ซื้อบาตรสแตนเลส แพงกว่านิดหน่อยแต่ใช้ได้ตลอด (ถ้าไม่ซื้อที่ร้านก็ทอนบาตรเก่าเอาในวัดก็ได้ ส่วนสลกบาตรค่อยไปซื้อของใหม่จากร้าน)

จึงบอกเล่ามายังเพื่อนสมาชิกใน gotoknow ด้วย ถ้าใครมีศรัทธาจะบวชเอง หรือบวชลูกบวชหลาน ก็ให้ซื้อบาตรสแตนเลส จ้า.... 

คำสำคัญ (Tags): #สมบัติบ้าในวัด
หมายเลขบันทึก: 84104เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2007 22:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (32)

ขอบคุณพระอาจารย์สำหรับความรู้นี้ค่ะ ดิฉันเพิ่งทราบจริงๆ ค่ะว่า มีบาตรสแตนเลสด้วย

ความรู้ใหม่ค่ะ

กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

ไม่ทราบว่าทำไมถึงห้ามใช้บาตรไม้หรือครับ มีเหตุผลอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่าครับ

กราบนมัสการมาด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่งครับ

P

คำถามน่าสนใจครับ ยังไม่พบหลักฐานจากคัมภีร์ และก็ไม่เคยเห็นผู้รักในการค้นคว้านำเรื่องนี้มาเขียนโดยตรง มีโอกาสอาจจะลองไปค้นดู...

ส่วนที่จำมาตั้งแต่เรียนเรื่องนี้ มีเพียง ๒ ข้ออ้าง คือ บาตรไม้ทำให้ติตเชื้อโรคได้ง่าย และ บาตรไม้เป็นเหตุให้มีปัญหาจากการนำไม้มาทำ ....

เจริญพร

พระอาจารย์ครับ...กระผมกลับคิดว่า...บาตรสแตนเลสเป็นสมบัติบ้ามากกว่า...(ขัดคอตามประสา)

 

นัยหนึ่งอาจเป็นเพราะกระผมชอบของเก่า...อิอิ...

แต่ก็เชื่อว่า...การดูแลบาตรนั้น...เป็นกิจของสงฆ์ที่แฝงไว้ด้วยมรณานุสติ(ว่าไปนั่น)...

 

ในความคิดกระผม...บาตรสแตนเลสทำให้พระไม่ต้องครองสติในเรื่องปัจจัยครองชีวิต... ซึ่งถือเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกเช่นวิสัยทางโลก...(อันที่จริงบาตรสแตนเลสทำให้พระต้องใช้สติควบคุมความร้อนจากข้าวที่ส่งผ่านบาตรมากกว่าด้วยซ้ำ...อิอิ)

P

ไปตามยุคสมัยนั่นแหละ ท่านเลขาฯ

สมัยก่อน ถ้างานไหนมีรถรับส่ง แสดงถึงงานนั้นใหญ่ยิ่ง หรือพระคุณเจ้าที่มีรถรับส่งเป็นผู้มีบารมีสูงส่ง...

สมัยนี้ พระคุณเจ้าเดินกลับเอง เจ้าภาพไม่ค่อยยอม ถือว่าเป็นการเสียเกียรติของเจ้าภาพ...

สมัยล้าสุด พระคุณเจ้ามีรถมั้ย ? พารถหรือเหมารถมาเองเลย โยมจะจัดการเรื่องค่าพาหนะให้ในภายหลัง...

ความแตกต่างกันสามนัยนี้ อาจเขียนไปในแนวพัฒนาการทางสังคม ประเพณี และวัฒนธรรมได้ ๑ เล่ม

เจริญพร

  • นมัสการพระคุณเจ้า
  • เป็นกฏของสงฆ์หรือไม่คะที่จะต้องฝังบาตรที่ไม่ใช้แล้ว
  • นำไปใช้รีไซเคิลใหม่  หรือออกแบบสร้างสรรค์ใช้ทำประโยชน์อื่นได้ไหมคะ  เสียดาย
  • แต่คิดอีกที ก็อาจจะไม่เหมาะ  เพราะเป็นของใช้สำคัญของสงฆ์

 

P

การฝังบาตรที่ไม่ใช้แล้ว ไม่มีบัญญัติไว้ในพระวินัย... เพียงแต่สิ่งต่างๆ ภายในวัดก็อาจจัดการไปตามความเหมาะสม...

สิ่งของภายในวัดมีหลากหลาย บางอย่างก็ล่วงยุคสมัย มากเกินไป ไม่จำเป็น ซึ่งถ้าปล่อยไว้ก็อาจท่วมวัดได้ ดังนั้น ผู้อยู่ภายในวัดก็ต้องจัดการไปตามที่เห็นสมควร...

แต่หลายๆ อย่างทางวัดก็ต้องการหรือขาดแคลน ซึ่งความจำเป็นเหล่านี้อาจแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น วัดทางเหนือและอิสานจะมีห้องเก็บฟูกและผ้าห่ม แต่ภาคใต้สิ่งเหล่านี้ ไม่มีและมิใช่สิ่งจำเป็น เป็นต้น..

เรื่องสมบัติบ้าในวัด ก็พยายามสะท้อนให้เห็นว่า ญาติโยมควรฉลาดในการทำบุญหรือบำรุงวัด ซึ่งอาตมาก็เล่าไปเรื่อยๆ ส่วนความเหมาะสม ผู้ที่ได้อ่านอาจคิดได้เอง และช่วยแก้ไขเมื่อมีโอกาส..

เจริญพร

เท่าที่ผมเคยได้สัมผัสด้วยตัวเอง รู้สึกว่า

ถ้าเป็นสมัยก่อน การใช้บาตรไม้ พระสงฆ์จะต้องทำเอง และด้วยเหตุนี้ มีพระวินัยข้อหนึ่งที่บอกประมาณว่า ห้ามมิให้ตัดของเขียวออกจากที่ที่เดิม(ประมาณนี้แหละ ผมจำไม่แม่นเท่าไหร่) ซึ่งผมคิดว่า น่าจะหมายถึง ห้ามตัดต้นไม้(หรือเปล่า???)

ด้วยเหตุนี้หรือเปล่าครับ ที่ห้ามใช้บาตรไม้???

และตอนที่ผมบวชมีคำถามเยอะมาก แต่ก็ไม่ได้คำตอบ แม้กระทั้งตอนนี้ แต่....ผมก็ลืมคำถามแล้วล่ะครับ

แล้วผมจะนึกใหม่ แล้วมาถามพระอาจารย์แล้วกันนะครับ

P

ที่คุณโยมว่ามาก็ถูกต้อง...

การตัดไม้ การพรากของเขียว .และอื่นๆ ซึ่งมีประเด็นย่อยๆ มาก...

ยังมีนิทานจากคัมภีร์ธัมมทัฎฐกถา ซึ่งมีเรื่องว่าโยมคนหนึ่งได้ไม้แก่นจันท์อย่างดีมาแล้วก็ให้ทำเป็นบาตร และสั่งให้แขวนไว้บนยอดธง แล้วประกาศว่า ถ้าพระอรหันต์มีจริง ก็ให้เหาะมาเอาไป ...

ต่อมา มีวิวาทะระหว่างนักบวชหลายฝ่าย สรุปว่า พระเถระรูปนึ่ง ก็ได้เหาะไปเอาเพื่อแก้ปัญหา... ต่อมาพระพุทธเจ้ารับสั่งให้ทำลาย....

เรื่องนี้หลวงพี่เคยแปลนานแล้ว เลือนๆ เล่าไม่ค่อยถูก...

แต่ต้นบัญญัติเรื่องนี้จริงๆ ยังไม่เจอว่ามีใครเขียนไว้บ้าง...

เจริญพร 

    นมัสการครับพระอาจารย์กระผมอยากทราบว่า

ในสมัยปัจจุบันนี้การใช้บาตรดำกับบาตรสเเตนเลสอาจารย์คิดว่า

บาตรไหนดีที่สุด

  ส่วนตัวของกระผมเองคิดว่าในสมัยนี้่การใช้บาตรสเเตนเลสน่าจะ

ดีกว่าเพราะยุคปัจจุบันนี้พระภิกษุของเราไม่ค่อยดูแลอัฏฐบริขาร

ของตัวเองเลยปล่อยปะละเลยถ้ายิ่งใช้บาตรดำก็จะยิ่งแย่ถ้าไม่รักษา

    พระผมใคร่ขอความเมตตาจากท่านอาจารย์ช่วยอธิบายให้ผมหน่อยครับ

ไม่มีรูป
ลูกศิษย์

บาตรสแตนเลส

เจริญพร

ชอบเรื่องที่ท่านยกมาเล่ามากเลยครับ

เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวคนที่จะบวชจริงๆ น่าจะมีประโยชน์แก่คนที่ตั้งใจจะบวชและคนที่จะถวายทานมาก ความรู้จะทำให้การถวายทานเป็นไปด้วยดีมากขึ้น จะติดตามอ่านต่อไปครับ

 

นมัสการพระอาจารย์ มีข้อจะสอบถามพระอาจารย์ขอรับ บาตรใบแรกที่ฆฏิการพรหมนำมาถวายพระพุทธเจ้า ไม่ทราบว่าเป็นโลหะอะไร หรือบาตรดิน ไม่ทราบว่าพอจะหาข้อมูลได้จากไหน พอดีจะใช้อ้างอิงในงานนะขอรับ ขอความกรุณาพระอาจารย์ด้วยครับ นมัสการ

ไม่มีรูป

นาลันทา

 

  • ฆฎีการมหาพฺรหฺมุนา ทินฺโน มตฺติกปตฺโต เอตฺตกํ อทฺธานํ โพธิสตฺตํ อวิชหิตฺวา ตสฺมึ ขเณ อทสฺสนํ คโต ฯ
  • บาตรดิน อันฆฏีการมหาพรหม ถวายแล้ว ไม่้ละ ซึ่งพระโพธิสัตว์ ตลอดกาล มีประมาณเท่านี้ ถึงการไม่ปรากฎ ในขณะนั้น ฯ

 

จาก คัมภีร์ ชินมหานิทาน เล่ม ๑ ภาคภาษาบาลี ของหอสมุดแห่งชาติ อันดับที่ ๑/๒๕๓๐  หน้า ๗๔ (ฉบับภาษาไทยก็มี แต่ที่หลวงพี่ให้ญาติผู้ใหญ่ไปนานสิบกว่าปีแล้ว) ลองไปค้นและเทียบเคียงดู

ในคัมภีร์อรรถกถาพระวินัย (สมันตปสาทิกา) ก็มี แต่หนังสือหาไม่เจอ... ส่วนใน 84000.org เค้ายังลอกมาไม่เสร็จ... มีแต่เพียงอรรถกถาพระสูตร ซึ่งหลวงพี่ก็หาไ่ม่เจอ

ถ้าจะอ้างอิง เล่มนี้ก็พออ้างอิงได้ เพราะเป็นคัมภีร์บาลีโบราณเหมือนกัน ตามประวัติบอกว่าคัมภีร์นี้ น่าจะแต่งสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนแต่นั้น...

.........

ปกติหลวงพี่ก็ไม่ค่อยชำนาญ และไม่อ่านหนังสือพวกนี้นานแล้ว ถ้าไม่แน่ใจก็มักจะค้นในเน็ต เมื่อค้นจากหนังสือก็ต้องหาแว่น... ยังไงก็อย่าถามบ่อยๆ ขี้เกียจใส่แว่น... 

เจริญพร

 

 

ขอบพระคุณมากขอรับ นับว่าเป็นบุญของเกล้ามาพบพหูสูตรในกาลนี้ บางครั้งนั้นมืดบอดหาทางไม่เจอเลยขอรับ บางทีเกล้ากระผมหาข้อมูลจากเน็ตก็ไม่แน่ใจว่าคนเขียนจะสะกดถูกตามต้นหรือเปล่า บางที่ก็พิมพ์สะกดคำต่างกัน ก็เลยไม่กล้านำมาอ้างอิงขอรับ

อาทิ ขนาดของบาตรอย่างใหญ่ จุข้าวสุขแห่งข้าวสารกึ่งอาฬหกะ บางที่พิมพ์ อาฬหก ไม่มีสระอะ เป็นต้นครับ ตัวผมเองก็ยังไม่ได้บวชจึงไม่มีความรู้ ไม่ทราบว่าจะหาอ่านได้จากไหน เพราะไม่มีพื้นทางนี้เลยขอรับ ต้องขอขอบพระคุณ พระอาจารย์เป็นอย่างมากครับ นมัสการด้วยความเคารพ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

ผ่านมาอ่านแล้วขำค่ะ (ถูกใจคำว่า สมบัติบ้า)

พอดีหนูทำรายงานเรื่องบ้านบาตร จึงเปิดผ่านมา

กราบขอบพระคุณท่านที่ได้เขียนบทความเรื่องนี้ค่ะ

สาธุ

นมัสการครับ

คือผมอยากจะมาบอกว่า ข้าววัดอร่อยจริงๆครับ

ตอน ม.ต้นอยู่ด้วย ข้าววัดจริงๆครับ

เพื่อนเป็นเด็กวัดครับเลยไปนั่งกินข้าวที่วัดทุกวันครับ

อย่างกับบุฟเฟ่ต์หย่อมๆครับ โตมาด้วยข้าวก้นบาตรครับ

เลยตั้งชื่อแก๊งค์ว่า Eat Rice Tample(ERT) ครับ

วัดโคกสมานคุณครับ

นมัสการครับ

P

ibbz.net

 

ตอนหลวงพี่ยังเป็นวัยรุ่น ไปกินข้าววัดก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะมีกับข้าวให้เลือกเยอะแยะเลย ซึ่งเพื่อนๆ ที่เคยมาเยี่ยมก็ได้ให้ความเห็นทำนองนี้...

แต่สำหรับพระำำ-เณรที่บวชนานๆ รู้สึกถึงข้อจำกัดหลายๆ อย่าง เช่น อยากของร้อนได้ของเย็น อยากของเค็มได้ของเปรี้ยว เป็นต้น...

ลองสังเกตดูก็ได้ พระเถระเกือบครึ่งหนึ่ง นิยมฉันหนเดียว เพราะเบื่ออาหารนั้นเอง... ถ้าอยากจะรู้ว่า ทำไมจึงเบื่ออาหาร ก็ลองมาบวชอยู่ให้ได้สักยี่สิบปีแล้วจะรู้ (5 5 5...)

เจริญพร

มีข้อสอบถามพระอาจารย์ครับ คือ ผมอายุ33ปีแล้วยังไม่ได้บวช แล้วถ้าจะบวชยาวไม่สึกพอจะเป็นไปได้ไหม แล้วถ้าไม่สึกต้องเรียนนักธรรม หรือเปรียญธรรมหรือไม่ เพราะถ้าอยู่เฉยๆไม่เรียนไม่ทำอะไรก็กลัวเขาจะขับออกจากวัดหาว่ามาบวชกินข้าวฟรี ใจผมอยากบวชเป็นธรรมยุต ไม่ทราบมีที่ไหนจัดให้บวชฟรีบ้างไหมครับ หรือถ้าเสียเงินต้องใช้จ่ายประมาณเท่าไรครับ ผมอยู่ในกรุงเทพครับ นมัสการ

ไม่มีรูปนาลันทา

 

  • บวชไม่สึก ?

ไร้สาระเกินไปที่จะเพ้อฝัน... เป็นเรื่องอนาคตอย่าไปคาดหวังเลย เจอมาเยอะแล้ว พวกตั้งใจบวชไม่สึก บางคนไม่ถึงเดือนก็สึก...

ถ้าจะบวชจริงๆ ก็ติดต่อและปรึกษาวัดใกล้บ้าน ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย ไม่แน่นอน...

วิธีการบวชฟรี เท่าที่เคยเห็น มักจะอาศํยบวชพร้อมกับนาคอื่นๆ ซึ่งต้องให้ทางวัดและเจ้าภาพของนาคที่เราจะบวชพร้อมเค้าเห็นชอบในเบื้องต้น...

เจริญพร   

นมัสการพระอาจารย์ครับ คือสอบถามไว้เบื้องต้นเท่านั้นก็ไม่มั่นใจเหมือนกันว่าจะบวชได้นานเท่าไร ในกรุงเทพก็มีวัดปทุมวนารามที่เขามีโครงการบวชฟรี แต่ผมไปดูมาแล้ว ที่วัดมีญาติโยมเข้ามามากเกินไป ไม่เหมาะที่จะปฏิบัติธรรม เพราะต้องมาห่วงกิจกรรม วัดธรรมมงคลก็คิดว่าน่าจะมีญาติโยมเยอะ คงเหลือวัดบรมนิวาส กับวัดราชประดิษฐ์ที่คิดไว้ แต่ยังไม่ได้ไปดูขอรับ ในความหมายที่ถามคือ ผมอายุมากแล้วถ้าจะอยู่นานกว่าปกติ คือจะสึกหรือไม่สึกก็ดี จะศึกษาพระธรรมวินัยน่ะ พอเป็นไปได้ไหมขอรับ เพราะมีความรู้สึกเบื่อและใช้ชีวิตฆราวาสมาพอสมควรแล้ว

ไม่มีรูปนาลันทา

 

  • ผู้ศรัทธาจะบวชมีมาก แต่ผู้ได้บวชมีน้อย
  • ผู้ได้บวชมีมาก แต่ผู้ศรัทธาจะศึกษาเล่าเรียนมีน้อย
  • ครั้นบวชแล้ว ผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมีมาก แต่ผู้ศรัทธาจะปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นมีน้อย

เจริญพร

นมัสการครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า คือผมศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของบาตรพระอยู่อะครับ ผมมีคำถามอยากจะขอคำปรึกษาจากพระคุณเจ้าดูอะครับว่าทำไม

1.บาตรพระทำไมจึงต้องมีรูปทรงอย่างนี้ด้วยอะครับ

2.ทำไมที่ทำจากเหล็กทำไมต้องใช้เหล็ก 8 ชิ้นด้วยอะครับ

3.บริบทรอบๆบาตรที่มีนัยอะไรแฝงอยู่รึเปล่าครับ

ผมอยากทราบเอาไปเป็นข้อมูลอะครับ ยังไงก็กราบนมัสการพระคุณเจ้านะครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

เห็นด้วยกับการนำบาตรเก่า และสมบัติบ้าอื่นๆ ไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมอย่างอื่นๆหรือรีไซดเคิล ครับ

ไม่มีรูปสมพล


  • ตามที่ถามมา ไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องทำนองนี้เลย ต้องขออภัยด้วย...
..........


Pผศ. เพชรากร หาญพานิชย์


เท่าที่เคยเห็น พระบางรูปใช้บาตรเก่าทำกระถางต้นไม้ อีกอย่างหนึ่งก็เคยเห็นบางวัดใช้บาตรเก่าทำเป็นถังตักน้ำขึ้นจากบ่อในสมัยก่อน...
..........

เจริญพรทั้งสองท่าน

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

ขอบพระคุณมากค่ะที่ให้ความรู้เรื่องบาตร เพราะกำลังคิดจะถวายบาตรอยู่พอดีค่ะ

แต่ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนถึงจะได้ถวาย ก็เลยเปิด google search มาเรื่อยๆ

ก็ดีใจที่ได้อ่านเจอบทความนี้ สาธุค่ะ

ส่วนเรื่องการ recycle บาตร คิดว่าบาตรพวกนี้เป็นของสงฆ์ ถ้าเอาของสงฆ์ไปทำอย่างอื่นก็คงบาปนะคะ

เพราะเคยได้ยินว่า แค่ไปหยิบดินหินก้อนเดียวในวัดซึ่งถือว่าเป็นของสงฆ์ก็บาปแล้ว ส่วนบาตรอันใหญ่ๆก็คงไม่ต้องพูดถึง

กราบนมัสการพระคุณเจ้า เท่าที่อ่านหน้านี้มาทั้งหมด ทำให้เกิดข้อสงสัยอยู่สองข้อ ข้อแรกคือเรื่องบาตร เคยไปเที่ยวพม่า บาตรที่นั่นค่อนข้างเบา เป็นเครื่องเขิน เขาเอาไม้ไผ่ขดขึ้นเป็นรูปบาตร จากนั้นก็ลงรักสีดำ แบบนี้ถือว่าอาบัติรึเปล่าครับ

ส่วนปัญหาที่สองคือเรื่องพรากของเขียว อย่างนี้ก็ปลูกผักไว้ฉันเองไม่ได้สิครับ

30หมูน้อย

 

เรื่องบาตรพม่า เป็น นวัตกรรมใหม่ที่สร้างขึ้นมา พระพม่าที่มีความรู้คงจะวินิจฉัยไว้แล้ว แต่อาตมาไม่เคยเจอ จึงตอบไม่ได้...

พระปลูกผักไว้ฉันเอง ประเด็นนี้ตามพระวินัยผิดชัดเจน พระที่เคร่งครัดและเคารพวินัยมักไม่ทำ... ส่วนพระบางรูปไม่ทำโดยอ้างว่าผิด แต่กลับไปทำสิ่งอื่นที่ผิดยิ่งกว่า.....

เรื่องวินัยนั้น มีหลายแง่มุม มีหลายระดับ อ้างแต่เพียงถูกผิดเท่านั้นไม่ได้ ถ้าจะพูดก็ยาววววววววว ขอผ่าน........

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท