Content Mangement System


Content Mangement System คืออะไร ใครรู้บ้าง

--------

เจาะกระแส “CMS” ทูลสำคัญสู่เว็บไซต์คุณภาพ

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 9 มิถุนายน 2548 09:13 น.

----  กระแส CMS โตวันโตคืน หลายฝ่ายระบุเอสเอ็มอีที่คิดจะสร้างเว็บไซต์เชิงพาณิชย์ควรเริ่มสร้างด้วย CMS ซึ่งมีบทบาทมหาศาลอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเว็บไซต์ขนาดใหญ่แทบทุกแห่ง ชูประเด็นความเร็ว ความสะดวกสบาย และประโยชน์สูงสุดในการใช้งาน ภายใต้กฏ "ต้องเลือก CMS ให้เหมาะกับความต้องการ" เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
       
       บทบาทมากมายของ CMS ที่มีผลต่อการพัฒนาเว็บไซต์เชิงพาณิชย์ทำให้เกิดเป็นความจำเป็นในการให้ความรู้กับประชาชน เพื่อให้นำความรู้ด้าน CMS ไปใช้พัฒนาเว็บไซต์อย่างถูกต้อง เหล่านี้ทำให้เกิดเป็นงานเสวนาระหว่างตัวแทนภาครัฐอย่างเนคเทค ตัวแทนภาคเอกชนทั้งกลุ่มที่ทำการค้าโปรแกรม CMS อย่างออราเคิล (Oracle) และกลุ่มโอเพ่นซอร์สอย่างโพสนุ้ค (Post Nuke) และแมมโบ้ (Mambo) ตัวแทนจากเว็บไซต์ที่มีคอนเทนต์ระดับประเทศอย่างเว็บไซต์ผู้จัดการ โดยมีนายพงษ์ระพี เตชพาหพงษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท Mind Connections บรรณาธิการที่ปรึกษาของนิตยสารพีซีเวิร์ล (PCWorld) เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
       
       รู้จัก CMS
       

       CMS คือระบบจัดการคอนเทนท์เนื้อหาของเว็บไซต์ (Content Management System) เป็นระบบที่ถูกเขียนขึ้นด้วยภาษาสคริปต์เพื่อให้วิธีการทำงานเป็นแบบอัตโนมัติ เพื่อช่วยประหยัดทรัพยากรในการพัฒนาและบริหารเว็บไซต์ ทั้งเรื่องของกำลังคน ระยะเวลา และต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการสร้างและควบคุมดูแล
       
       CMS ส่วนใหญ่จะต้องมีเมนูควบคุมที่ใช้ในการบริหารจัดการการทำงานต่างๆในเว็บไซต์ เมนูที่ว่านี้จะทำให้ผู้ดูแลสามารถบริหารจัดการเนื้อหาได้รวดเร็ว ที่สำคัญคือ CMS จะเน้นที่การทำงานผ่านเว็บไซต์ ทำให้ผู้ดูแลสามารถเข้ามาแก้ไขข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา
       
       CMS สามารถเพิ่มเติม ดัดแปลง แก้ไขแล้วประยุกต์เพื่อให้เหมาะสมตามรูปแบบและประเภทของแต่ละเว็บไซต์ได้ อย่างเช่น การนำเสนอบทความ, เว็บไดเรคทอรี่, การเผยแพร่ข่าวสารต่างๆและหัวข้อข่าว, รายงานสภาพดินฟ้าอากาศ, ถาม/ตอบปัญหา, ห้องสนทนา, กระดานข่าว และส่วนอื่นๆอีกมากมายที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอัปเดทข้อมูลเป็นกิจวัตร
       
       ความสามารถด้านการจัดการเปลี่ยนแปลงอัปเดทข้อมูลของ CMS ทำให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลายใน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ต้องการการจัดการด้านคอนเทนท์เนื้อหา สองคือกลุ่ม E-Learning และสามคือกลุ่ม E-Commerce
       
       เริ่มใช้ CMS
       
       ทุกคนที่ร่วมเสวนาในหัวข้อ “บทบาทของ CMS กับการพัฒนาเว็บไซต์ไทยในเชิงพาณิชย์” เห็นตรงกันว่าการสร้างเว็บไซต์ควรจะวางรากฐานที่สมบูรณ์ด้วย CMS เพราะความสะดวกรวดเร็วทั้งในด้านการพัฒนาและการใช้งาน โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็กไม่จำเป็นต้องรอให้มีคอนเทนท์จำนวนมากขึ้นจึงจะเริ่มหันมาใช้ CMS แต่จะต้องเลือกสรรระบบ CMS ที่เหมาะสมกับความต้องการ
       
       "กระแส CMS ไม่ได้กำลังจะแรง แต่แรงอยู่แล้วในขณะนี้ เพราะง่ายสำหรับยูสเซอร์ เว็บไซต์ส่วนใหญ่ทั้งของภาครัฐและเอกชนใช้ CMS เป็นเบื้องหลัง” นายอาณัติ รัตนถิรกุล โปรเจคแมนเนเจอร์ของเว็บไซต์ CMSthailand.com ผู้เชี่ยวชาญ CMS โอเพ่นซอร์สอย่างโพสนุ้ค (Post Nuke) กล่าว “SME ที่จะเริ่มทำเว็บไซต์ควรจะเริ่มทำจาก CMS เลย เพราะจากประสบการณ์การสอนคนที่เคยทำแบบเก่ามา พบว่ายากกว่า คนเก่าๆจะยึดติดกับการอัปเดททีละหน้า ยังไม่ชินกับการมีเทมแพลตเพื่อใส่ข้อมูลแล้วจะอัปขึ้นไปเอง"
       
       นายอัครวุฒิ ตำราเรียง ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ www.mambohub.com เว็บไซต์ศูนย์รวม "Mambo" ทูลส์ CMS โอเพ่นซอร์สที่โด่งดังอีกค่าย กล่าวย้ำว่า "เริ่มใช้เลยจะง่ายกว่า เพราะจะสามารถขยายขอบเขตความต้องการไปได้เรื่อยๆ จะยากกว่าหากไม่ใช้ CMS ตั้งแต่เริ่ม เพราะเมื่อต้องการขยายขอบเขตข้อมูลในอนาคต จะต้องเสียเวลารื้อของเก่าเพื่อเปลี่ยนมาใช้ CMS"
       
       เลือกอะไรดี
       
       ในเมื่อทูล CMS มีให้เลือกสองแบบคือแบบคอมเมิร์ชที่ต้องมีการซื้อ-ขายหรือแบบโอเพ่นซอร์สราคาต่ำ คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ ใครเหมาะกับ CMS แบบใด คำตอบที่ได้จากทุกฝ่ายในการเสวนาครั้งนี้ หนีไม่พ้นเรื่องระดับความต้องการของเว็บไซต์นั้นๆ
       
       ในแง่ของโอเพ่นซอร์ส นายอัครวุฒิกล่าวชี้แจ้งเรื่องค่าใช้จ่าย ว่าในทางปฏิบัติ ค่าใช้จ่ายของแบบคอมเมิร์ชกับโอเพ่นซอร์สไม่ได้ต่างกันมากมาย
       
       “คนยังเข้าใจว่าโอเพ่นซอร์สต้องฟรี จุดนี้ต้องเปลี่ยน เพราะโอเพ่นซอร์สเองต้องมีค่าอิมพลีเมนท์กรณีที่ผู้ใช้ไม่มีความรู้พื้นฐานใดมาเลย ต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าที่ปรึกษาเพื่อซื้อเวลา แทนที่ผู้ใช้จะต้องมาเสียงเวลาเรียนรู้ใหม่ด้วยตัวเองทุกอย่าง ถ้าจะเริ่ม เดี๋ยวนี้มีบริษัทรับอิมพลีเมนท์มากมาย ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเหมือนแบบคอมเมิร์ช แต่ราคาจะถูกกว่า ลดปัญหาเรื่องไลเซนส์ไปได้"
       
       "3 ข้อดีหลักคือ เร็ว ถูก และพัฒนาต่อได้" นายอาณัติกล่าวเพิ่มว่า "ราคาขั้นต่ำเริ่มที่ประมาณ 1000 บาท"
       
       ในแง่ของแบบคอมเมิร์ช นายวิศิษฐ์ ไพศาลศิริวัฒน์ ผู้จัดการด้านช่องทางจัดจำหน่ายของออราเคิลกล่าวว่าขึ้นอยู่กับความต้องการ งบประมาณ รวมถึงปัจจัยอื่นๆนอกเหนือจากเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องคำนึงถึงในการตัดสินใจเลือกใช้
       
       "เป็นเรื่องของเซกเมนท์มากกว่า ในองค์กรใหญ่ๆมีงบเพื่อการอาร์แอนด์ดีมากมาย บริษัทใหญ่ๆไม่อยากแชร์ข้อมูลกับใคร ในเอสเอ็มอีก็เช่นกัน เมื่อข้อมูลมันมากเข้า จะถึงจุดอิ่มตัวจุดหนึ่งที่จะต้องเริ่มคิดว่าต้องมีเรื่องค่าใช้จ่าย เรื่องการค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง"
       
       "จุดนี้ก็ดี เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีรายเล็กๆสามารถทำ CMS ได้ ซึ่งผู้ใช้จะต้องดูความต้องการ ดูพัฒนาการ ดูความต่อเนื่อง ดูพื้นฐานความมั่นคงตั้งแต่ต้น ป้องกันกรณีที่หากอีกสองสามจะพัฒนาแล้วไม่มีให้ทำต่อ" นายวิศิษฐ์กล่าว
       
       กึ่งสำเร็จรูป
       
       
แนวคิดหนึ่งที่ชัดเจนในการเสวนาครั้งนี้ คือแนวคิดที่ว่า CMS เป็นเครื่องมือทำเว็บไซต์ให้หลากหลายมากขึ้นก็จริง แต่ยังต้องมีทูลหรือแอปพลิเคชันเสริมอื่นๆเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละเว็บไซต์
       
       นายกำธร ไกรรักษ์ หัวหน้างานวิจัยซอฟต์แวร์พื้นฐานและทั่วไป ในฐานะของเนคเทค กล่าวว่าอีกองค์กรที่ควรใช้คือหน่วยงานการศึกษา จะได้รับประโยชน์สูงเพราะไม่ต้องสร้างทีละหน้า แต่จะต้องมีการปรับใช้ให้ตรงความต้องการ เช่นปัจจุบันหน่วยงานการศึกษาจำนวนมากเริ่มใช้ CMS ควบคู่กับ LMS (Learning Management System) หรือ SME ขนาดเล็กหากเอาแมมโบ้ ซึ่งถือเป็นระบบ CMS ที่ค่อนข้างใหญ่มาปรับใช้ จะต้องปรับตามความต้องการ
       
       "ผมมองว่า CMS ไม่ใช่เรื่องสำเร็จรูป เป็นกึ่งสำเร็จรูปที่ต้องเอาพัฒนาต่อเอง จุดหนึ่งคือคนเอาไปต้องเอาไปใช้ให้เหมาะสม อย่าใช้เกินกำลัง"
       

       หากมองในแง่ของกรณีศึกษา ตัวอย่างเว็บไซต์ที่มีคอนเทนต์มากระดับประเทศเช่นเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ นายปัญจภัทร อังคสุวรรณ ผู้จัดการฝ่ายไอที เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ กลับมองว่าปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้ นอกเหนือจาก CMS คือคอนเทนท์ โครงสร้างฐานข้อมูล และที่สำคัญคือวัตถุประสงค์ของเว็บไซต์
       
       “ในส่วนของผู้จัดการ เราสร้างเองไม่ได้ซื้อ การวางโครงสร้างระบบของผู้จัดการค่อนข้างยุ่งยาก เรื่องซื้อตัดไปได้เลย จุดหนึ่งคือการสร้างเองแก้ไขได้ง่ายและเร็วกว่า”
       
       “ทุกเว็บไซต์ควรจะใช้ CMS แต่ต้องวางรากฐานให้ดี ต้องลงทุนเรื่องฐานข้อมูลเป็นหลัก อย่างกรณีผู้จัดการออนไลน์ สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากผู้จัดการออน์ไลน์ตลอด 3-4 ปีคือฐานข้อมูล”
       
       “ประเด็นสำคัญคือ CMS ดียังไงก็ตาม ถ้าคอนเทนท์ไม่ดีก็ไม่มีประโยชน์ เทคโนโลยีเป็นเพียงส่วนเสริม ผู้ใช้ต้องเข้าใจ และมีส่วนร่วมกับมัน คนสร้างเว็บไซต์ต้องรู้ก่อนว่า จุดประสงค์คืออะไร แล้วเทคโนโลยีจะเป็นทูลที่นำไปสู่จุดประสงค์นั้น” นายปัญจภัทรกล่าว
       
       อนาคต CMS
       

       CMS ที่ตอนนี้เป็นกระแสแรงมากอยู่แล้ว ถูกมองว่าจะมีอนาคตสดใสทั้งในเรื่องแนวโน้มการขยายตัวและการพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก การเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่น่าสนใจคือการเปลี่ยนแปลงจาก CMS เป็น CMF
       

       นายอาณัติให้ความเห็นว่า “แน่นอนว่า CMS จะเก่งขึ้น ในอนาคตข้างหน้าจะกลายเป็น CMF คือ Content Management FrameWork เป็นเฟรมเวิร์กการจัดการข้อมูลภายในทั้งหมด แต่ขณะนี้ยังมียุ่งยากในการใช้งานอยู่”
       
       ด้านนายอัครวุฒิอธิบายว่า “เมมโบ้วางคอนเซ็ปต์ CMS ไว้ 2 แบบ หนึ่งคือแบบเพียงพอกับการใช้งาน สองคือแบบ Advance ผมมองว่าจะเริ่มเดินตามคอนเซ็ปต์พัฒนาโมดูล Advance ใหม่ๆเพิ่มเติมกว่านี้” สอดคล้องกับนายกำธรที่มองว่า ความสามารถของ CMS ในอนาคตจะชัดเจนเรื่อยๆ มีการขยายขอบเขตมากขึ้นไปอีก พร้อมชี้ประเด็นเรื่องความปลอดภัยที่อาจสร้างความเสียหายได้
       
       “ต้องระวังเรื่องซีเคียวริตี้ ถ้าใน CMS โอเพ่นซอร์สเจอข้อบกพร่อง คนอื่นก็รู้ด้วย เป็นเป้าโจมตีได้ง่าย”
       
       “CMS ยังต้องมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ เกิดการแข่งขัน เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ตรงตามความต้องการมากที่สุด” นายวิศิษฐ์กล่าวปิดท้าย
       
       หมายเหตุ : เนื้อหาการเสวนาเรื่อง "บทบาทของ CMS กับการพัฒนาเว็บไทยในเชิงพาณิชย์" ฉบับเต็ม จะนำตีพิมพ์ในนิตยสาร PCWORLD คอลัมน์ Business Forum

คำสำคัญ (Tags): #content#mangement#system
หมายเลขบันทึก: 8385เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2005 17:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 00:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
ThaiNuke.net.   (2002-08-06)  CMS คืออะไร?  ค้นข้อมูล 29 พย48 จาก http://www.thainuke.net/nuke/modules.php?name=Content&pa=showpage&pid=1
CMS คืออะไร?
ความหมายของ Content Management System (CMS)



ระบบการจัดการเนื้อหาของเว็บไซต์(Content Management System : CMS) คือ ระบบที่พัฒนา คิดค้นขึ้นมาเพื่อช่วยลดทรัพยากรในการพัฒนา(Development) และบริหาร(Management)เว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกำลังคน ระยะเวลา และเงินทอง ที่ใช้ในการสร้างและควบคุมดูแลไซต์


โดยส่วนใหญ่แล้ว มักจะนำเอา ภาษาสคริปต์(Script languages) ต่างๆมาใช้ เพื่อให้วิธีการทำงานเป็นแบบอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็น PHP, Perl, ASP, Python หรือภาษาอื่นๆ(แล้วแต่ความถนัดของผู้พัฒนา) ซึ่งมักต้องใช้ควบคู่กันกับโปรแกรมเว็บเซิร์ฟเวอร์(เช่น Apache) และดาต้าเบสเซิร์ฟเวอร์(เช่น MySQL)
ลักษณะเด่นของ CMS ก็คือ มีส่วนของ Administration panel(เมนูผู้ควบคุมระบบ) ที่ใช้ในการบริหารจัดการส่วนการทำงานต่างๆในเว็บไซต์ ทำให้สามารถบริหารจัดการเนื้อหาได้อย่างรวดเร็ว และเน้นที่การ จัดการระบบผ่านเว็บ(Web interface) ในลักษณะรูปแบบของ ระบบเว็บท่า(Portal Systems) โดยตัวอย่างของฟังก์ชันการทำงาน ได้แก่ การนำเสนอบทความ(Articles), เว็บไดเรคทอรี(Web directory), เผยแพร่ข่าวสารต่างๆ(News), หัวข้อข่าว(Headline), รายงานสภาพดินฟ้าอากาศ(Weather), ข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจ(Informations), ถาม/ตอบปัญหา(FAQs), ห้องสนทนา(Chat), กระดานข่าว(Forums), การจัดการไฟล์ในส่วนดาวน์โหลด(Downloads), แบบสอบถาม(Polls), ข้อมูลสถิติต่างๆ(Statistics) และส่วนอื่นๆอีกมากมาย ที่สามารถเพิ่มเติม ดัดแปลง แก้ไขแล้วประยุกต์นำมาใช้งานให้เหมาะสมตามแต่รูปแบบและประเภทของเว็บไซต์นั้นๆ
CMS ทำงานอย่างไร?
ลักษณะการทำงานของ Content Management System (CMS)


เป็นระบบที่แบ่งแยกการจัดการในการทำงานระหว่างเนื้อหา(Content) ออกจากการออกแบบ(Design) โดยการออกแบบเว็บเพจจะถูกจัดเก็บไว้ใน Templates หรือ Themes ในขณะที่เนื้อหาจะถูกจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลหรือไฟล์ เมื่อใดที่มีการใช้งานก็จะมีการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 ส่วน เพื่อสร้างเว็บเพจขึ้นมา โดยเนื้อหาอาจจะประกอบไปด้วยหลายๆส่วนประกอบ เช่น Sidebar หรือ Blocks, Navigation bar หรือ Main menu, Title bar หรือ Top menu bar เป็นต้น


ส่วนประกอบของ CMS

  • Templates หรือ Theme เป็นส่วนที่เปรียบเสมือนหน้าตา หรือเสื้อผ้า ที่ถือเป็นสีสรรของเว็บไซต์(Look&feel) ที่มีรูปแบบที่กลมกลืนกันตลอดทั้งไซต์
  • ภาษาสคริปต์ หรือ ภาษา HTML ที่ใช้ในการควบคุมการทำงานทั้งหมดของระบบ
  • ฐานข้อมูล เพื่อไว้เก็บข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของเว็บไซต์


    ทำไมถึงต้องใช้ CMS

    ข้อดีของ CMS มีทั้งต่อผู้ดูแลเว็บไซต์(Webmasters) และผู้ใช้งานเว็บไซต์(Users)

  • ความสามารถในการใช้ Template และส่วนประกอบของการออกแบบ ที่ครอบคลุมการออกแบบตลอดทั้งไซต์
  • ผู้ใช้งานเว็บไซต์สามารถใช้งาน Template โดยนำมาประกอบกับเอกสารหรือเนื้อหา ทำให้ช่วยลดภาระเรื่องการเขียนโค้ดให้น้อยลง
  • ผู้ใช้งานเว็บไซต์ให้ความสนใจเฉพาะเนื้อหามากกว่าการออกแบบ และในการที่จะเปลี่ยนหน้าตาของเว็บไซต์ ผู้ดูแลเว็บไซต์ก็แค่ไปแก้ไขที่ template ไม่ใช่ที่แต่ละหน้าของเว็บเพจ
  • CMS จะช่วยให้ทุกอย่างง่ายขึ้น ในการสร้างและบำรุงรักษาเว็บไซต์ นอกจากนั้นยังช่วยจัดระดับการใช้งานสำหรับแต่ละส่วนงานของเว็บไซต์ โดยไม่ต้องเข้ามาเซ็ตการใช้งานของระบบที่เซิร์ฟเวอร์โดยตรง เพราะสามารถทำได้โดยผ่านเว็บบราวเซอร์
  • นอกจากนั้น ถ้ามี Search engine, Calendar, Web mail และส่วนอื่นๆ ที่สามารถเพิ่มเติมสู่ CMS หรือแม้กระทั่งไปหา Plug-in หรือ Addons เข้ามาเสริมการทำงานได้ ส่วนนี้จะช่วยประหยัดเวลาในการพัฒนาได้

การพิจารณาเลือกใช้ CMS

  • ความยากง่ายในการใช้งาน
  • ความยืดหยุ่นในการพัฒนา
  • ความสามารถในการทำงาน
  • อื่นๆ ได้แก่ เทคโนโลยี ระบบปฏิบัติการ และราคา

(from http://www.thainuke.net/nuke/modules.php?name=Content&pa=showpage&pid=2)

PHP-Nuke กับ CMS
ประวัติความเป็นมาของการพัฒนา CMS ด้วย PHP
CMS ถือกำเนิดมาจาก Perl และที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ Slash Dot ต่อมามีผู้นำ PHP มาเขียน CMS และที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางตัวแรก ก็คือ thatware หลังจากนั้นมีการนำ thatware มาพัฒนาต่อ โดยเพิ่มคุณสมบัติต่างๆเข้าไปเพื่อให้สามารถทำงานในส่วนต่างๆได้มากขึ้น ที่เด่นๆก็คือ PHP-Nuke ต่อจากนั้นก็มีการนำเอา PHP-Nuke มาพัฒนาต่อเกิดเป็น phpWebSite, myPHPNuke,PostNuke และ XOOPSตามลำดับ
ข้อเปรียบเทียบระหว่าง CMS ที่พัฒนาด้วย PHP (ตามความเห็นของผมนะครับ)
  • thatware มีโค้ดเฉพาะที่จำเป็นในการทำงานระบบ CMS จึงมีขนาดเล็ก และง่ายต่อการใช้งาน แต่คุณต้องทำงานหนักถ้าต้องการเพิ่มฟังก์ชันการทำงาน
  • phpWebSite โค้ดทั้งหมดมีการแปลเป็นภาษาต่างๆแล้ว เช่น ของไทย จะเป็น phpwebsite-th-0.8.1.1 เป็นต้น ทำให้ใช้งานแบบ ML ไม่ได้ แต่จะทำงานเร็วขึ้น เพราะตัดภาระในการแปลภาษาออกไป และรู้สึกว่าจะสนับสนุนการทำงานบน Unix&Linux มากกว่า Windows นะครับ พัฒนามาจาก PHP-Nuke 3.x
  • myPHPNuke ติดตั้งง่ายขึ้น และมีการติดตั้งโมดูลต่างๆไว้ให้แล้ว ทำให้ใช้งานในคุณสมบัติต่างๆได้ทันที คือ อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเลย ไม่ต้องหาโมดูลมาติดตั้งเพิ่มอีก แต่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และไม่ค่อยยืดหยุ่นในการใช้งานนัก คือ จะเป็นแบบสำเร็จรูปมากกว่า(ติดตั้งแล้วใช้งานได้เลย) พัฒนามาจาก PHP-Nuke 4.4.x
  • PHP-Nuke เป็นผู้นำCMS ที่เป็น php (ต้นตำหรับตระกูล Nuke) มีผู้ใช้มากทั่วโลก ทำให้มีโมดูล(Modules) ธีม(Themes) บล็อก(Blocks) ให้เลือกนำมาใช้งานมากมาย แต่ติดตั้งค่อนข้างยาก และมีการพัฒนาแบบปิด(ข้ามาคนเดียว โดยยอดชายนาย Francisco Burzi : FB) พัฒนามาจาก thatware
  • PostNuke มีกลุ่มที่รวมตัวกันพัฒนาเป็นทีมงาน ทำให้ตัวโค้ดมีระเบียบ(clean code) เป็น modular มากกว่า(ตอนหลัง PHP-Nuke ยังต้องเอาอย่างในบางส่วน) ทำให้ง่ายต่อการเพิ่ม/ลด ฟังก์ชันการใช้งาน และการติดตั้งก็ค่อนข้างง่าย พัฒนามาจาก PHP-Nuke 5.2
  • XOOPS น้องใหม่ล่าสุดของตระกูล Nuke ที่มีการออกแบบ(GUI)ที่สวยงาม ไอเดียดี และสะดวกต่อการใช้งานครับ พัฒนามาจาก myPHPNuke 1.8.x
อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้ทุกอย่างนั้น ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งาน ว่าชอบอะไร ผมอยากให้คุณลองใช้ทั้ง PHP-Nuke, phpWebSite, thatware, myPHPNuke, PostNuke, XOOPS ดูก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจนำมาใช้บนเว็บไซต์จริง ๆ เพื่อที่จะได้สามารถเลือกใช้ได้ตรงกับที่คุณต้องการจริง ๆ
ThaiNuke All Right Reserved. ติดประกาศ: 2002-08-06  http://www.thainuke.net/nuke/modules.php?name=Content&pa=showpage&pid=3

ได้รับประโยชน์มากเลย ค่ะ

กำลังทำรายงานเรื่อง LMS กับ CMS

LMS กับ E-learning เเตกต่างกันอย่างไร

LMS กับ E-learning เเตกต่างกันอย่างไรค่ะเเละทั้งสองมีข้อได้เปรียนเสียเปรียบกันอย่างไรบ้างค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท