ข้อคิดเศรษฐกิจพอเพียง


ไม่ลองไม่รู้

ข้อคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง

 

                                                                                                                   พลเดช วรฉัตร 

ปี 2549 ที่ผ่านไปนี้เป็นปีที่ต้องยอมรับว่ามีการพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงผ่านสื่อต่างๆ มาก และอย่างกว้างขวาง  เราได้เห็นความสนใจที่ชัดเจนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

                อาจเป็นเพราะกระแสเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่นับวันจะเสื่อมลง  ไม่ได้สร้างรายได้                   และความเจริญให้ประเทศต่างๆ ในโลกอย่างสมดุลย์และอย่างแท้จริง  คนจนในประเทศต่างๆ  ยังคงยากจนเหมือนเดิม คนรวยซึ่งมีจำนวนน้อยนิดก็ยังคงรวยและเสวยสุขอยู่บนความทุกข์ของผู้อื่นอยู่ต่อไป

                ในบ้านเราก็ไม่ได้ต่างกัน ผมจำได้ว่าช่วงกลางปี 2549 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) ได้ระดมความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 10 นั้น  ในขณะที่อารัมภบทของแผน 10 ชูเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแต่รัฐบาลในขณะนั้นรู้สึกว่าจะประกาศเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีต่างๆ นานา  เรียกว่ามุ่งมั่นที่จะพัฒนาทุนนิยมแบบสุดโต่ง  ซึ่งต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง             ตามที่ทราบกัน และรัฐบาลใหม่ได้ประกาศจุดยืนว่าจะนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทาง            การพัฒนาประเทศ และได้ยกเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาตินั่นแหละ  ทุกฝ่ายจึงได้หันหลังกลับมาสนใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจังจนเป็นกระแสของสังคมไทยไปแล้วในขณะนี้  และ                    คิดว่าจะยังคงเป็นกระแสต่อเนื่องไปทั้งปี 2550 ที่เป็นปีมหามงคลฉลองพระชนมายุ 80 พรรษา             ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

                ในบรรดาการอบรมและสัมมนาที่ได้จัดขึ้นตามกระแสนั้นมีอยู่หลักสูตรหนึ่งที่น่าสนใจและโดดเด่น นั่นคือ หลักสูตรพัฒนาผู้นำ ตามแนวทางพระราชดำริและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จัดโดยคลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ของ วปอ.ซึ่งมีพลเอกจรัล กุลละวณิชย์เป็นประธานคลังสมอง

                ปรากฏว่าหลังจากประกาศออกไปมีผู้สนใจสมัครเข้ารับการอบรมเป็นจำนวนมากกว่า              800 คน แล้ว  ผู้จัดจึงต้องแบ่งการอบรมออกเป็นรุ่นๆ รุ่นแรกอบรมกันระหว่างวันที่ 18 พ.ย. 23 ธ.ค. 2549  โดยเป็นการอบรมเฉพาะวันเสาร์  มีการบรรยายในห้องเรียนและการออกไปศึกษานอกสถานที่เพื่อให้เห็นของจริง

                ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้เข้ารับการอบรมรุ่น 1 ผมเห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจของ                 เศรษฐกิจพอเพียงที่ได้จากการอบรม ดังนี้

                                1.  เกิดการตื่นตัวอย่างชัดเจนของคนในสังคมที่หันกลับมาสนใจปัญหาของบ้านเมือง ปัญหาหนี้สินและความเป็นอยู่ของประชาชน และต้องการที่จะหาทางออกที่ดีกว่าเดิม  โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นทางเลือกใหม่สำหรับสังคมไทย

                                2.  กระแสการตื่นตัวนี้มาจากองค์ประกอบที่สอดคล้องกับหลายประการตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาลคนใหม่ที่เอื้อให้มองเรื่องคุณธรรมมากกว่าความร่ำรวยในระบบแข่งขันในโลกทุนนิยม และด้วยความที่ประชาชนต่างจงรักภักดีและเทิดทูนองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงต้องการทำความดีถวายแด่ในหลวง

                                    เป็นการอบรมที่ผมรู้สึกว่าผู้เข้ารับการอบรมทุกคน( 108 คน) มาด้วยใจ มิได้ถูกหน่วยงานของตนบังคับให้มา และเมื่อได้สอบถามกันก็พบว่าทุกคนต่างมาอบรมเพื่อทำความดีถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งสิ้น

                                3.  การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้นั้นไม่ใช่เรื่องที่จะอาศัยเพียงการรู้เท่านั้นแต่จำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดถึงแก่นแท้ ทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติซึ่งหลักสูตรนี้                  มีทั้ง 2 ส่วน โดยเป็นการบรรยายในห้องเรียน 5 ครั้งและไปศึกษานอกสถานที่ 1 ครั้ง ในรุ่นที่ 1 นี้ได้ไปศึกษาที่ศูนย์การศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทราและบ้านผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม

                                4.  การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงจำเป็นต้องสร้างผู้นำ หรือผู้ที่จะเป็นผู้นำ                     ในการปฏิบัติตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง  มิใช่เพียงแต่พูดอย่างเดียวเพราะจุดที่ยากอยู่ตรงนี้                       หากไม่เริ่มปฏิบัติด้วยตนเองก็จะไม่เกิดผลต่อเนื่องใดๆ

                                5.  นอกจากจะนำไปปฏิบัติเองแล้วยังต้องมีการสร้างเครือข่ายของผู้ที่ปฏิบัตินี้            ให้เข้มแข็งเพื่อจะเป็นพลังของกลุ่ม และให้เกิดการขยายวงของผู้ปฏิบัติให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลักสูตรของคลังสมองนี้มีเป้าหมายที่จะให้บรรลุผลนี้ต่อไป

                                6.  เป็นครั้งแรกที่องค์กรสาธารณประโยชน์ของ วปอ. ให้ความสนใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจังและเป็นผู้ริเริ่มจัดหลักสูตรผู้นำ โดยมีพลโทเอกชัย ศรีวิลาศเป็นประธานโครงการ ซึ่งไม่มีใครประกันว่าจะได้ผลหรือประสบความสำเร็จเพียงใด  จึงถือเป็นความกล้าหาญของคลังสมอง วปอ. เป็นอย่างมาก ทราบว่าจากเดิมที่จะจัดเพียงไม่กี่รุ่นมาถึงขณะนี้ด้วยจำนวนคนที่สมัครเข้ามากันมากทำให้อบรมกันถึงรุ่นที่ 4  ถึงเดือนเมษายน 2550 แล้ว

                เศรษฐกิจพอเพียงกำลังจะถูกเปิดให้เห็นถึงหลักปรัชญาที่ลึกซึ้งและแก่นแท้                          ผมเชื่อว่าด้วยคนกว่า 800 คนในหลักสูตรนี้จากภาครัฐและเอกชนที่มาอบรมด้วยใจ                                   ไม่ได้ถูกบังคับให้มานี้จะเป็นผู้ผจญภัยและผู้ค้นหาและผู้ค้นพบถึงแก่นของหลักปรัชญา                    เศรษฐกิจพอเพียง และคงสามารถนำไปปฏิบัติกับตนเองรวมทั้งเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อให้เกิดการทำตามและที่สำคัญที่สุดทั้ง 800 คน หรือมากกว่านี้จะรวมพลังกันสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง เป็นตัวอย่างที่ดีแก่สังคมไทยว่าเราต้องเริ่มปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว เพื่อที่จะได้ยืนอยู่บนขาของตัวเองได้ ซึ่งตัวอย่างของความสำเร็จของผู้นำชุมชนหลายท่านก็ได้พิสูจน์แล้วว่าหากทำตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฏีใหม่ ไทยเราอยู่ได้แน่นอน

7.ความมหัศจรรย์ของหลักเศรษฐกิจพอเพียงนี้ สำหรับผมแล้วคิดต่อไปถึงการมีผล(ที่ดี)ไปถึงการที่คนไทยเป็นล้านๆ คนต้องหนีหนี้สิน ความยากจน ความแห้งแล้งของที่ทำกินไปตายเอาดาบหน้าในเมืองกรุงและขายแรงงานขายตัวในต่างประเทศ ทั้งนี้ก็เพื่อจะหาเงินมาเลี้ยงตนและครอบครัวนั่นเอง หากคนเหล่านี้จะได้เรียนรู้สักนิดหนึ่งว่า ที่จริงแล้วไม่ต้องไปลำบากในต่างแดนเลย เพราะผืนดินของสยามนั้นเป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ 1 ใน 5 ของโลกและแม้บางส่วนจะเสื่อมโทรมไปบ้างแต่ก็แก้ไขได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพิสูจน์ผ่านโครงการพระราชดำริหลายพันโครงการแล้วว่าดินไม่ดีแค่ไหนก็แก้ไขได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มากในสายตาของผมที่เคยเดินทางไปต่างประเทศหลายประเทศ ที่ได้ไปเห็นสภาพพื้นดินที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน(ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ ศูนย์ที่ประสบความสำเร็จ)จากดินที่เป็นทรายล้วนๆ ได้แก้ไขดินจนกลายเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ในเวลาเพียง 10 กว่าปี ดินคือทรัพย์สินจากธรรมชาติที่มีค่ายิ่งสำหรับคนไทยและประเทศไทย ตัวอย่างของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิมและอีกหลายคนที่ประสบความสำเร็จในการสร้างรายได้จากดินเพื่อเลี้ยงตัวเองอย่างพอดีและพอเพียง รายได้ที่พอเพียงและยั่งยืนแบบนี้มิใช่หรือที่คนไทยต้องการ จะมิดีกว่ารายได้ที่ได้จากการไปเสี่ยงชีวิต ทำลายศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในต่างแดนหรอกหรือ

ถ้าจะมีการส่งเสริมเรื่องนี้กันมาก ผมเชื่อว่าจะเป็นการลดจำนวนคนไทยที่ไปขายแรงงานและตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศรวมทั้งจะเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้คนรุ่นใหม่ไปขายแรงงานในต่างประเทศในระยะยาวได้ด้วย

ผมเห็นว่าคนไทยทุกคนควรจะตื่นตัวได้แล้วที่จะศึกษาและเข้าใจหลักเศรษฐกิจพอเพียงตลอดจนทฤษฏีใหม่เพื่อนำมาใช้ประโยชน์กับชีวิต สร้างชีวิตที่อยู่ดีกินดีแบบยั่งยืน หากทำได้แม้บางส่วนก็จะทำให้ประเทศมีภูมิคุ้มกันสามารถต่อสู้กับกระแสโลกาภิวัฒน์ได้อย่างสง่างาม ผมเชื่อเช่นนั้น

..................................................................

หมายเลขบันทึก: 83776เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2007 18:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ที่สถานศึกษา  โรงเรียนบ้านไทรงามกำลังทำเรื่องนี้อยู่แหละยั่งยืน  ใคร่กระจายแนวปฏิบัติเชิญเยี่ยมชม

                                    ผู้อำนวยการวาสนา

ขออนุญาตนะครับ

ช่วยกันสร้างสรรค์สังคม G2K นะครับ

ขอบพระคุณครับ

 

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท