เล่าเรื่องโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต (๑) : อุดมศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ (ภาพรวม)


ระบบการศึกษาไทยไม่ค่อยคิดถึง "ผู้ใหญ่" ที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่าไปแล้ว ให้ได้กลับมาเรียนต่อระดับอุดมศึกษา จึงเป็นโครงการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้คนเหล่านี้ที่ "แก่ประสบการณ์" (สำนวน ดร.เสรี) ได้พัฒนาตนเองทางวิชาการเพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง ครอบครัว และท้องถิ่น

คุณอาซีซ๊ะ และมินา เจ้าหน้าที่โครงการบัณฑิตอาสา มอ. ส่งเมล์มาถามหลังจากเห็นผมเข้าบล็อกของอาจารย์เต็มศักดิ์ แล้วไปเขียนความคิดเห็นไว้ คุณอซีซ๊ะบอกว่าสนใจกิจกรรมการทำงานของผมเกี่ยวกับวิทยาลัยชุมชน ว่ามีกิจกรรมอย่างไรบ้าง เผื่ออาจจะได้แลกเปลี่ยนการทำงานกัน

ผมเลยใช้โอกาสนี้เริ่มเขียนเล่าเรื่องโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตที่ผมทำอยู่ตามที่ได้ตั้งใจไว้ โดยข้อความต่อไปนี้เป็นข้อความเดียวกับที่ผมได้เขียนเล่าในอีเมล์ตอบคุณอาซีซ๊ะ

ผมทำงานอยู่ในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตซึ่งเป็นคนละอันกับวิทยาลัยชุมชนครับ โครงการมหาวิทยาลัยชีวิตเป็นโครงการของมูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน (สสวช.) มีเว็บไซต์ชื่อ www.rulife.net ในนั้นมีเอกสารเกี่ยวกับโครงการ เว็บรายวิชา เว็บศูนย์เรียนรู้ และเว็บบอร์ดที่เป็นเวทีให้นักศึกษาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่ด้วย แต่เมื่อถามมาผมจะสรุปย่อๆ ให้ดังนี้ครับ

โครงการนี้คิดกันมาหลายปีแต่เพิ่งเริ่มปฏิบัติจริงมาได้ปีหนึ่ง ริเริ่มโดย รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ (www.phongphit.com) โดยมีแนวคิดว่าระบบการศึกษาไทยไม่ค่อยคิดถึง "ผู้ใหญ่" ที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่าไปแล้ว ให้ได้กลับมาเรียนต่อระดับอุดมศึกษา จึงเป็นโครงการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้คนเหล่านี้ที่ "แก่ประสบการณ์" (สำนวน ดร.เสรี) ได้พัฒนาตนเองทางวิชาการเพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง ครอบครัว และท้องถิ่น

วิธีการคือเชิญชวนมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นเปิดหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เป็นหลักสูตรปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยนั้นๆ เพราะโครงการไม่ใช่สถาบันการศึกษา ให้ปริญญาใครไม่ได้ รับผู้จบ ม.ปลายหรือเทียบเท่าที่เป็นผู้ใหญ่ "ทำงานแล้ว" ไม่ใช่เยาวชนที่จบใหม่ โดยกระตุ้นให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบจ. เทศบาล หรือ อบต. ร่วมมือกับครู-อาจารย์ และเจ้าที่รัฐในท้องถิ่น และผู้นำภาคประชาชนในท้องถิ่นร่วมมือกันจัดตั้ง "ศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาชีวิต" ขึ้นในท้องถิ่นของตน จัดหาสถานที่พบกลุ่มและอุปกรณ์ที่จำเป็น และรวบรวมผู้ที่สนใจเข้าศึกษาให้ได้กลุ่มละไม่น้อยกว่า ๕๐ คน ศูนย์เรียนรู้นี้ไม่ได้ขึ้นต่อหรือเป็นสาขาของมหาวิทยาลัยหรือ สสวช. แต่เป็นศูนย์ของท้องถิ่นเอง บริหารจัดการกันเอง

ที่เปิดการเรียนการสอนไปแล้วตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ ๑/๒๕๔๙ มี ๔ มหาวิทยาลัย คือมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มรภ.สุรินทร์ มรภ.ชัยภูมิ และ มรภ.ศรีสะเกษ มีนักศึกษารวมกันทั้ง ๔ มหาวิทยาลัยห้าพันกว่าคน ใน ๘๑ ศูนย์เรียนรู้ ขณะนี้กำลังขยายความร่วมมือเพิ่มกับอีก ๑๕ มหาวิทยาลัย ในปีการศึกษา ๒๕๕๐

วิชาในหลักสูตรนี้มี ๔๐ วิชา เป็นวิชาทั่วไปและวิชาเลือกรวมกัน ๑๒ วิชา ที่เหลือเป็นวิชาเฉพาะ(วิชาเอก) ในวิชาเอกยังแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มวิชา คือ กลุ่มวิชาปรับกระบวนการคิด กลุ่มวิชาการจัดการชีวิต และกลุ่มวิชาการจัดการชุมชน กลุ่มวิชาปรับกระบวนทัศน์ประกอบด้วยวิชากระบวนทัศน์พัฒนา วิชาภูมิปัญญาท้องถิ่น กลุ่มวิชาจัดการชีวิตประกอบด้วยวิชาการจัดการความรู้ การวางเป้าหมายและแผนชีวิต การสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตและงาน กลุ่มสุดท้ายคือการจัดการชุมชนมีรายวิชาอยู่มากที่สุด เช่น วิชาการทำแผนแม่บทชุมชน วิสาหกิจชุมชน ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมชุมชน สุขภาพชุมชน เครือข่ายชุมชน ฯลฯ วิชาทั้งหมดล้วนมาจากประสบการณ์ของชาวบ้านในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตสู่ชีวิตแบบพึ่งตนเองและพอเพียง (เช่นผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม คุณประยงค์ รณรงค์ ทั้งสองคนนี้เป็นกรรมการมูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชมด้วย)

วิธีการเรียนการสอน ใช้วิธีการจัดการความรู้โดยผู้เรียนเป็นหลัก นั่นคือ เน้นการเรียนที่ให้ผู้เรียนสร้างความรู้จากการปฏิบัติ และ "สอนน้อย เรียนมาก" อาจารย์ที่มาร่วมสอนในโครงการต้องมาปรับวิธีการกันก่อนว่าต้องลดการบรรยายลง และต้องเป็น "ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้" ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้เรียนก็เช่นกัน เข้ามาใหม่ๆ มักบ่นว่าไม่เห็นสอนอะไร เพราะเขาเข้าใจว่าการสอนคือการที่มีคนมาบอกให้เขาจดข้อมูลความรู้แล้วทดสอบตอนปลายภาคว่าเขาจำได้แค่ไหน บางคนเทอมเดียวก็ปรับตัวได้ บางคนก็ยังไม่ได้

โจทย์ของผมตอนนี้ คือ

๑. จะจัดปฐมนิเทศนักศึกษารุ่นที่จะเข้ามาใหม่อย่างไรให้เข้าใจในแนวคิดและวิธีการเรียนการสอนแบบนี้

๒. จะจัดอบรมสัมมนาอาจารย์ที่จะร่วมสอนในโครงการนี้ให้เข้าใจและปฏิบัติตรงกันอย่างไร

๓. จะพัฒนาวิธีการเรียนการสอน สื่อการสอน และการประเมินผลให้เป็นไปตามแนวคิดนี้อย่างไร

ผมจึงต้องเข้ามาใน
gotoknow.org เพื่อ "ดักจับ" ประสบการณ์ที่อาจมีประโยชน์

(ประสบการณ์ทีมงานคุณอาซีซ๊ะ และอาจารย์เติมศักดิ์ที่นำวิธีการจัดกิจกรรมมาเล่ามีประโยชน์มากทีเดียวกับการนำไปคิดต่อเรื่องปฐมนิเทศนักศึกษา อย่างเช่นที่ให้แต่ละคนเล่า(เรืองเล่าเร้าพลัง)ถึงชีวิตของตัวเอง ซึ่งเท่าที่ผมอ่านดูทีมงานคล้ายจะประเมินว่าใช้วิธีนี้แล้วประสบผลสำเร็จในการทำให้ทุกคนรู้จักกันดี เกิดอารมณ์และเจตนารมณ์ร่วมกันในการที่จะทำงานร่วมกันให้บรรลุเป้าหมาย นอกจากนี้ยังมีการประเมินเปรียบเทียบวิธีการด้วย เช่น การให้ทุกคนเตรียมตัวโดยต้องเขียนมาก่อน กับ การให้เวลาทุกคนเขียนครึ่งชั่วโมงก่อนเริ่มกลุ่ม ซึ่งหากสามารถลงรายละเอียดได้มากกว่าที่เล่ามาในบันทึกจะดีมากเลย)

เรื่องเล่าโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตตอนที่ ๑ นี้ เหมือนกับบทนำที่ปูพื้นภาพรวมของโครงการ เมื่อเล่าภาพรวมๆของโครงการไปแล้ว ก่อนที่จะเล่าเรื่องอื่นๆ ของโครงการนี้ จากที่ได้ทำมาในตอนต่อไปผมคิดว่าจะต้องเล่าเรื่องตัวเองว่าเข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการนี้อย่างไร



ความเห็น (5)
  • อ่านเรื่องที่อาจารย์สุรเชษฐเล่าให้อ่านจบแล้วทำให้ผมนึกถึงข้อความประโยคหนึ่ง ไม่ทราบว่าใครคิด พูด เขียนไว้ แต่ดูเหมือนคล้ายกับแนวคิดของอาจารย์นะครับ ข้อความนั้นเยนไว้ว่า "ให้เบ็ดอย่าให้ปลา" ครับ
  • ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ และขอเป็นกำลังใจครับ

ครับอาจารย์อาลัม ผมเป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่ามีแต่ "ปัญญา" เท่านั้นที่แก้ปัญหาชาวบ้านในท้องถิ่นได้ "เงิน" ไม่มีทางแก้ได้ ไม่ว่าจะกองทุน ๑ ล้านหรือกี่ล้าน โครงการนี้มุ่งให้เกิดปัญญาขึ้นในทุกท้องถิ่น เมื่อปัญญาเกิดแล้วก็จะพึ่งตัวเองได้  พึ่งกันเองได้ เพียงพอ และยั่งยืนได้

การสอนแบบให้เด็กฝึกปฏิบัติเยอะดีมากเลยค่ะ แต่ราณีอยากให้อาจารย์สอนเด็กเรียนรู้วิธีการประยุกต์ใช้ หรือปรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยให้เด็กเรียนรู้จากกรณีศึกษาและลองคุยแลกเปลี่ยนกัน ไม่รู้ว่าของอาจารย์ทำแล้วหรือยังค่ะ ต้องขอโทษที่เข้ามาแนะนำ

ลืมบอกไปค่ะอาจารย์  ราณีอยากให้อาจารย์เข้าไป comment ที่ blog  เรื่องรู้ให้สูง อยู่ให้ต่ำ   http://gotoknow.org/blog/Ranee/82244

เผื่ออาจารย์มีอะไรแนะนำราณีได้บ้าง  ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท