การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกจังหวัดเพชรบูรณ์


โครงการรณรงค์ค้นหาโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกแบบบูรณาการ(X – Ray) ครั้งที่ 1 / 2550 วันที่ 3 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2550

1.  ความเป็นมา 

จังหวัดเพชรบูรณ์ได้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547 โดยได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกและโรคระบาดอื่น ๆ ในระดับจังหวัด[1] (ศปน.พช.) และอำเภอ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอได้กำกับดูแลอย่างใกล้ชิดและได้แต่งตั้งคณะทำงานช่วยอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกและโรคระบาดอื่น ๆ จังหวัดเพชรบูรณ์[2] เพื่อเป็นองค์กรช่วยอำนวยการ และประสานการดำเนินงานเชิงบูรณาการในภาพรวมของจังหวัด พัฒนาการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นอยู่เสมอ ด้วยการแต่งตั้งคณะทำงานช่วยอำนวยการฯ เพิ่มเติมขึ้น[3]  และได้แต่งตั้งชุดปฏิบัติการรณรงค์และกวาดล้างการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกเชิงบูรณาการ จังหวัดเพชรบูรณ์[4]  เพื่อเป็นกลไกในการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ทั้งด้านการค้นหาโรคและสอบสวนหาสาเหตุของโรค การทำลายสัตว์ปีก การควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก การฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกโรคในคน และการประชาสัมพันธ์ และรวมถึงการสร้างความตระหนักและความร่วมมือของประชาชน ซึ่งองค์กรกลไกดังกล่าวยังคงมีการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องตลอดมา

จังหวัดเพชรบูรณ์ได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก ขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและอำเภอทุกอำเภอเพื่อให้สามารถรับกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยกำหนดขั้นตอนและวิธีปฏิบัติอย่างครอบคลุมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกทุกด้าน ทั้งด้านการป้องกันเฝ้าระวังในสัตว์ปีกและในคน การดำเนินการเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรค ตลอดจนการประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักและเห็นความสำคัญของการเฝ้าระวังป้องกันโรคในประชาชนทั่วไป โดยแจ้งให้อำเภอทุกอำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ถือปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการฯ ทั้งนี้การดำเนินงานให้ถือเสมือนว่ามีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์[1]  นอกจากนี้จังหวัดเพชรบูรณ์ได้แต่งตั้งผู้รับผิดชอบในการรายงานสถานการณ์โรคไข้หวัดนกของจังหวัด หรือ Mr.ไข้หวัดนก(นายธรณิศวร์  บุญแข็ง) เพื่อให้มีหน้าที่ในการประสานข้อมูลเรื่องไข้หวัดนกกับหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ ตลอดจนรายงานกรณีมีสถานการณ์เร่งด่วนฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ภายในจังหวัดให้ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนกกระทรวงมหาดไทย(ศปน.มท.) ทราบ[2]เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพกลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน จังหวัดเพชรบูรณ์ได้พัฒนาการอำนวยการและประสานการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกและโรคระบาดอื่นๆ ของจังหวัด ด้วยการยกเลิกคณะทำงานช่วยอำนวยการฯ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการช่วยอำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกและโรคระบาดอื่นๆ จังหวัดเพชรบูรณ์[3] ขึ้นแทน โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์(นายสมพงศ์  อรุณโรจน์ปัญญา) เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ให้มีหน้าที่ช่วยอำนวยการ ประสานงาน ตลอดจนกำกับ ติดตาม และประเมินผล การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกและโรคระบาดอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์
2.  สถานการณ์การและการดำเนินงานปี 2549  
2.1  การป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก
(ก)  ในสัตว์ปีก ซึ่งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเจ้าภาพหลักบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและอำเภอทุกอำเภอ ผลการดำเนินงานสำรวจและสอบสวนโรคพบสัตว์ปีกป่วยตายในพื้นที่ทุกอำเภอ รวมจำนวน 4,100 ตัว จากเกษตรกร จำนวน  400 ราย ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อไข้หวัดนกแต่อย่างใด ทำลายสัตว์ปีกในพื้นที่ 7 อำเภอ คือ เมืองเพชรบูรณ์ หล่มเก่า วังโป่ง ชนแดน หนองไผ่ บึงสามพัน และวิเชียรบุรี จำนวน 20,856 ตัว จากเกษตรกรจำนวน 938 ราย
(ข) ในสัตว์ปีกธรรมชาติ ดำเนินการโดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตะเบาะ ห้วยใหญ่ ได้ส่งตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมจำนวน 111 ตัว ไม่พบเชื้อไข้หวัดนกแต่อย่างใด
(ค) การตั้งจุดตรวจสัตว์เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ ดำเนินการโดยด่านกักสัตว์เพชรบูรณ์ บูรณาการสนธิกำลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอาสาสมัคร ได้ดำเนินการตรวจการเคลื่อนย้ายสัตว์ ใน 3 จุด คือ จุดตรวจบ้านกกกะทอน อ.หล่มเก่า จุดตรวจบ้านห้วยสนามทราย อ.หล่มสัก  และจุดตรวจบริเวณสี่แยกราหุล อ.บึงสามพัน ตรวจสัตว์ปีกรวมจำนวน 7 ล้านตัวเศษ เป็ด 3 แสนตัวเศษ ซากสัตว์ปีก 5 ล้านกิโลกรัม ไข่ 1.5 ล้านฟอง สั่งทำลายไข่เป็ดไล่ทุ่ง จำนวน 600 ฟอง ไม่พบผู้กระทำผิดกฎหมายการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีแต่อย่างใด  
2.2 การตรวจสอบและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดนกในคน  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์และเครือข่ายบริการสุขภาพได้จัดเตรียมความพร้อมเพื่อรับสถานการณ์ โดยจัดให้มีบริเวณกักกันโรคระดับจังหวัดที่โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และมีห้องแยกโรคในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง มีการเตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากร วัสดุอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ตลอด 24 ชั่วโมง หากพบว่าผู้ป่วยสงสัยสามารถดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนการป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในปี 2549 จังหวัดเพชรบูรณ์มีผู้ป่วยอยู่ในข่ายสงสัยว่าเป็นโรคไข้หวัดนก จำนวน 79 ราย ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อโรคไข้หวัดนก และผู้ป่วยทั้งหมดได้จำหน่ายออกจากโรงพยาบาลหมดแล้ว[1] และยังไม่มีผู้ป่วยไข้หวัดนกและที่อยู่ในข่ายสงสัยว่าเป็นโรคไข้หวัดนกแต่อย่างใด 
2.3 การรณรงค์ประชาสัมพันธ์  สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเพชรบูรณ์และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดเพชรบูรณ์(สวท.พช.) เป็นเจ้าภาพหลักดำเนินการประชาสัมพันธ์ทางสื่อทุกชนิด และเน้นให้ประชาชนให้ความร่วมมือในการเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและสร้างความเข้าใจต่อประชาชนอย่างครอบคลุมในพื้นที่จังหวัด ศปน.พช. ได้ส่งแผ่นซีดีโรคไข้หวัดนกของกรมปศุสัตว์แจกจ่ายให้อำเภอทุกอำเภอ และตำบลทุกตำบลนำไปเปิดเผยแพร่ รวมถึงได้ส่งสำเนาซีดีให้กับสื่อมวลชน สถานีวิทยุและโทรทัศน์ท้องถิ่นทำการเปิดเผยแพร่อีกทางหนึ่งด้วย[2]  
3.  การดำเนินงานในปี 2550  
3.1  สถานการณ์ทั่วไป จังหวัดเพชรบูรณ์ได้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลเฝ้าระวังยังไม่พบรายงานการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกเข้ามาในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์แต่อย่างใด  
3.2  การดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง จังหวัดเพชรบูรณ์ได้จัดการประชุมคณะทำงานช่วยอำนวยการฯ เพื่อตรวจสอบสถานการณ์และติดตามผลความก้าวหน้าในการดำเนินงาน และได้แจ้งเน้นย้ำการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกให้อำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกได้รับทราบและดำเนินการรวมถึงเน้นย้ำการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก[1]  ดังนี้
-    การระงับการอนุญาตให้เล่นการพนันชนไก่ / บ่อนไก่ อย่างเด็กขาด และเข้มงวด กวดขัน ตรวจสอบการชนไก่ชนในพื้นที่ โดยให้ตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบูรณ์และทุกอำเภอกำกับดูแลและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
-    ประชาสัมพันธ์ในเชิงรุกการบูรณาการเน้นย้ำการ สร้างความเข้าใจในการเฝ้าระวัง รวมทั้งแจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อพบสัตว์ปีกป่วยตายในพื้นที่ขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ทางวิทยุ / หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น / สื่ออื่น ๆ
-    ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่  26  มกราคม 2550[1] เพื่อให้พื้นที่จังหวัดเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินที่จำเป็นต้องรีบป้องกันและแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือลดอันตรายจากภัยพิบัติที่จะทำความเสียหายต่อสัตว์ หรือลดความเสียหายต่อราษฎรโดยส่วนรวม ต้องให้ความช่วยเหลือทันทีตามหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546
 3.3        โครงการค้นหาโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกแบบบูรณาการ(X – Ray)(3 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2550 )จังหวัดเพชรบูรณ์ได้สนธิกำลังจากทุกภาคส่วนดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรค และดำเนินโครงการค้นหาโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกแบบบูรณาการ(X – Ray)  ในระหว่าง วันที่ 3 มกราคม  3 กุมภาพันธ์ 2550  โดยกำหนดเป้าหมายการดำเนินงาน ดังนี้[1]
-          วันที่    3 - 9  มกราคม  2550  ครอบคลุมพื้นที่ ร้อยละ 25
-          วันที่  10 -16  มกราคม  2550  ครอบคลุมพื้นที่ ร้อยละ 50
-          วันที่  17 -23  มกราคม  2550  ครอบคลุมพื้นที่ ร้อยละ 75
-          วันที่  24  มกราคม – 3 กุมภาพันธ์   2550  ครอบคลุมเต็มพื้นที่ ร้อยละ 100
มีผลการดำเนินงาน ดังนี้
§       ดำเนินการครอบคลุมร้อยละ 100 ใน 11 อำเภอ 117 ตำบล 1,430 หมู่บ้าน
§       ผลการสำรวจสัตว์ปีกจำนวน 1,381,231 ตัว ผู้เลี้ยงจำนวน 49,739 ราย
§       พบสัตว์ป่วยตายผิดปกติ จำนวน 25 ตัว ของผู้เลี้ยง 5 ราย
§       ผลการเก็บตัวอย่าง(Cloacal swab) ส่งตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการ ตั้งแต่วันที่  15  มกราคม 2550  จำนวน 1,825 ตัวอย่าง จาก 8 อำเภอ 34 ตำบล 462 หมู่บ้าน อยู่ระหว่างรอผลจากห้องปฏิบัติการ
§   ประชาสัมพันธ์ในเชิงรุกการบูรณาการ โดยได้ขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ทางวิทยุ / หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น / สื่ออื่นๆ เน้นย้ำการ สร้างความเข้าใจการดำเนินโครงการรวมถึงการเฝ้าระวัง และแจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อพบสัตว์ปีกป่วยตายในพื้นที่
§       ประสานการปฏิบัติกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์เฝ้าระวังในคน 
3.4  การควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ปีกอย่างเข้มงวด ผลการดำเนินงานควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกเดือนมกราคม  2550 ด่านกักสัตว์เพชรบูรณ์ ได้ตรวจสัตว์ปีก  จำนวนทั้งสิ้น 3,234,622 ตัว  และซากสัตว์ปีก จำนวน 5,120,648 กิโลกรัมไม่พบผู้กระทำผิดกฎหมายในการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกและซากสัตว์ปีกแต่อย่างใด 
3.5 การตรวจสอบและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดนกในคน  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์และเครือข่ายบริการสุขภาพยังคงเตรียมความพร้อมเพื่อรับสถานการณ์ อยู่ตลอดเวลา เสมือนว่าพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก โดยจัดให้มีบริเวณกักกันโรคระดับจังหวัดที่โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และมีห้องแยกโรคในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง มีการเตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากร วัสดุอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ตลอด 24 ชั่วโมง หากพบว่าผู้ป่วยสงสัยสามารถดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนการป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ในปี 2550 จังหวัดเพชรบูรณ์ไม่มีผู้ป่วยไข้หวัดนกและที่อยู่ในข่ายสงสัยว่าเป็นโรคไข้หวัดนกแต่อย่างใด
3.5  โครงการเนื้อสัตว์ปีกปลอดภัย ฉลองตรุษจีน ปี 2550เพื่อเป็นทางเลือกในการบริโภคสัตว์ปีกและมั่นใจว่าเนื้อสัตว์ปีกนั้นมีความสะอาดและปลอดภัย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีน ปี 2550 จังหวัดเพชรบูรณ์ได้แจ้งเชิญชวนให้ประชาชนเลือกซื้อสัตว์ปีกที่บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกและติดสติ๊กเกอร์ของโครงการเนื้อสัตว์ปีกปลอดภัยฯ ที่มีข้อความว่า เนื้อสัตว์ปีกปลอดภัย ฉลองตรุษจีน ปี 2550 ” โดยมีวัตถุประสงค์  2 ประการ
(1.)  สนับสนุนให้ประชาชนได้บริโภคเนื้อสัตว์ปีกที่สะอาดปลอดภัย
(2.)  เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค จากการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกเริ่มดำเนินการตั้งแต่ วันที่ 25 มกราคม 2550 โดยมีหลักเกณฑ์ผู้เข้าร่วมโครงการ ดังนี้
-  ต้องแจ้งที่มาของฟาร์มสัตว์ปีก โรงฆ่าสัตว์ และสถานที่จำหน่ายให้ สนง.ปศุสัตว์จังหวัดทราบ
- สัตว์ปีกที่เข้าทำการผลิตต้องมาจากฟาร์มที่ผ่านการตรวจสอบ/วิเคราะห์เชื้อไข้หวัดนกตามเกณฑ์ของกรมปศุสัตว์ต้องมีใบรายงานผลแนบมาด้วยทุกครั้ง- หลังจากที่ได้รับการอนุมัติเข้าร่วมโครงการผู้ประกอบการจะได้รับสติ๊กเกอร์เพื่อติดบนถุงบรรจุสัตว์เป็นรายตัว
- ผู้ประกอบการต้องเข้ารับการฝึกอบรมหลักเกณฑ์เข้าร่วมโครงการจังหวัดเพชรบูรณ์มีผู้ประกอบการแจ้งวัตถุประสงค์เข้าร่วมโครงการ 2 บริษัท คือ บริษัทโกลเด้นไลน์ บิซิเนส จำกัด ร่วมกับผู้ค้ารายย่อย ซึ่งจะมีไก่จำหน่ายในช่วงตรุษจีนประมาณ 10,000 ตัว, บริษัท เบทาโก จำกัด มีไก่จำหน่ายช่วงเทศกาลตรุษจีนประมาณ 2,500 ตัว

[1] หนังสือจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ ศปน.พช.  / ว 1 ลงวันที่  4  มกราคม  2550 เรื่อง  แนวทางปฏิบัติโครงการรณรงค์ค้นหาโรคไข้หวัดนกแบบบูรณาการ



[1] ประกาศจังหวัดเพชรบูรณ์(ฉบับที่ 2)  ลงวันที่  26  มกราคม  2550 เรื่อง ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์


[1] หนังสือจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ ศปน.พช.  / ว 2 ลงวันที่  18  มกราคม  2550 เรื่อง เน้นย้ำการป้องกัน เฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก


[1]  รายงานการประชุมคณะทำงานช่วยอำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกและโรคระบาดอื่นๆ จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่  2  ตุลาคม  2549 ณ  ห้องปฏิบัติการกลุ่มงานความมั่นคง ที่ทำการปกครองจังหวัดเพชรบูรณ์
[2]  หนังสือจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ ศปน.พช. / ว 32 ลงวันที่  30  พฤศจิกายน  2549 เรื่อง  การเผยแพร่เพลงประชาสัมพันธ์ไข้หวัดนก


[1]  หนังสือจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ ศปน.พช. / ว 11 ลงวันที่  4  สิงหาคม  2549 เรื่อง  แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก
[2]  หนังสือจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ ศปน.พช. / 24  ลงวันที่  24  สิงหาคม  2549 เรื่อง  แจ้งรายชื่อผู้ประสานข้อมูลสถานการณ์โรคไข้หวัดนก(Mr.ไข้หวัดนกจังหวัดเพชรบูรณ์)
[3]  คำสั่งจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่  160 / 2550 ลงวันที่  7  กุมภาพันธ์  2550 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการช่วยอำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกและโรคระบาดอื่นๆ จังหวัดเพชรบูรณ์


[1] ประกาศจังหวัดเพชรบูรณ์ (ที่ 113 / 2547) ลงวันที่ 29  มกราคม  2547  เรื่อง  แต่งตั้งกรรมการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกและโรคระบาดอื่นๆ จังหวัดเพชรบูรณ์
[2]  คำสั่งจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ 131 / 2547 ลงวันที่  2  กุมภาพันธ์  2547  เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานช่วยอำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกและโรคระบาดอื่นๆ จังหวัดเพชรบูรณ์
[3]  คำสั่งจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ 2102 / 2548 ลงวันที่  14  พฤศจิกายน  2548 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานช่วยอำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกและโรคระบาดอื่นๆ จังหวัดเพชรบูรณ์ เพิ่มเติม
[4]  คำสั่งจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ 1371 / 2549 ลงวันที่  7  สิงหาคม  2549 เรื่อง  แต่งตั้งชุดปฏิบัติการรณรงค์และกวาดล้างการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกเชิงบูรณาการจังหวัดเพชรบูรณ์
คำสำคัญ (Tags): #ไข้หวัดนก
หมายเลขบันทึก: 82757เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2007 02:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 15:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท