ภาษาดี มีพลังสร้างสรรค์ขนาดไหน ?


เด็ก ๆ เดี๋ยวนี้ มักมองข้ามความสำคัญของภาษา มองว่า ใครเก่งภาษา คือคนที่ไม่คิดเอาดีด้านวิทยาศาสตร์ แล้วก้มหน้าก้มตาฝึก "เอ็ม" กับเพื่อน ด้วยภาษาไก่เขี่ยอย่างเอาเป็นเอาตาย ใครท้วงว่าภาษาวิบัติ ก็ไม่สน

ถ้าคิดแบบนั้น เปลี่ยนแนวคิดใหม่ยังทันนะครับ

เวลาพูดถึงภาษา เรามักนึกถึง "สะกดให้ถูก" หรือ "ไวยากรณ์ให้ถูก" แต่มักไม่ได้มองว่า นี่คือ "การสื่อสาร"

การสื่อสารที่ดี ไม่ใช่เพื่อสื่อกับคนอื่นเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อสื่อกับตัวเองด้วย

การสื่อสารกับตัวเอง ก็คือ การคิด

ผลคือ เมื่อไม่สนใจภาษาในฐานะเครื่องมือสื่อสาร ภาษาอ่อนเปลี้ย ไม่เพียงสื่อกับคนอื่นไม่ได้ แต่ยังสื่อกับตัวเองไม่ได้ คือคิดไม่ชัด

ตัวเองคิดไม่ชัด เรื่องสื่อกับคนอื่นได้คมชัด ไม่เป็นอันพึงหวัง

ลองมองในมุมใหม่ ภาษาทำอะไรได้มหาศาล เพราะเป็นจุดตั้งต้นของความคิดที่คมชัด และเป็นตัวกลางที่ทรงพลังมาก

ลองดูตัวอย่าง

ประวัติศาสตร์คณิตศาสตร์ สอนว่า เมื่อยุโรปทิ้งระบบนับเลขของยุโรปเอง (เลขโรมัน) หันมาใช้ระบบนับเลขของอาหรับ (เลขอาระบิค) ก็เป็นรากฐานทำให้เกิดการก้าวกระโดดทางวิทยาศาสตร์ได้

(ผมเล่าไว้ใน แนวคิดเชิงระบบของ Juan Enriquez-Cabot)

หากยุโรปยังใช้เลขโรมันอยู่ แม้แต่แคลคูลัส คงยากที่จะเกิด ซึ่งจะทำให้นิวตันไม่สามารถสร้างผลกระทบทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างที่เราเห็น และโลกเราคงต่างออกไปจากทุกวันนี้อย่างมหาศาล

เพราะถ้ายังใช้เลขโรมัน แม้แต่จะบวกเลข ก็ยังยากแบบหืดขึ้นคอ

MCMXCIX + I = MM

(คำแปล: 1999 + 1 = 2000)

ซึ่งจากการใช้เลขอาระบิค ก็ทำให้แนวคิดเรื่องเลขฐานเกิดได้อย่างมั่นคง เป็นที่มาของระบบเลขฐานสองในเวลาต่อมา

เมื่อเกิดภาษาตรรกศาสตร์ และนำมาผนวกกับระบบเลขฐานสอง ก็เป็นจุดตั้งต้นทำให้สามารถเกิดวงจรตรรกศาสตร์ของคอมพิวเตอร์ได้

นี่ก็คือผลจากภาษา กรณีนี้คือภาษาของตัวเลข

 

ลองดูอีกตัวอย่างหนึ่ง

เดี๋ยวนี้มีการนำวิทยาศาสตร์ให้เข้ามาสู่ชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งโจทย์แม้ดูง่าย แต่การคำนวณมักซับซ้อนมาก เช่น การพยากรณ์อากาศ การทำนายโครงสร้างโมเลกุลของยาใหม่ การทำงานของโปรตีนที่ใช้เป็นยาได้ ฯลฯ

ผลคือ ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ตามปรกติไม่ได้ เพราะทำงานไม่เร็วพอ

คือถ้าทำนายฝนล่วงหน้าหนึ่งวัน แต่ต้องใช้เวลาประมวลผลหนึ่งปี คงเป็นเรื่องที่ดูตลก

ก็เลยมีโจทย์ว่า ทำอย่างไรจะแก้ปัญหานี้

สิ่งแรกที่คนคิดและทำกัน คือสร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ที่ทำงานเร็วกว่าเดิมมาก ๆ นับพัน ๆ เท่า หรือเร็วกว่านั้น

ก็ได้ผลบ้าง แต่ปัญหาเกิดที่การทำอย่างนี้ ต้องลงทุนมหาศาลมาก

ก็มีคนที่เขาคิดชัด เขาลองคลี่ความคิดออกมาดู

"ต้องการแก้ปัญหาโดยต้องมีเครื่องคำนวณที่เร็ว"

ซึ่งเมื่อเปลี่ยนข้อความนิดเดียว เป็น

"ต้องการแก้ปัญหาโดยต้องคำนวณได้เร็ว"

ดูเผิน ๆ เหมือนกัน

แต่ต่างกันมาก

ประโยคแรก นำไปสู่การสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่หมด

ประโยคที่สอง นำไปสู่ระบบการจัดการด้วยซอฟท์แวร์

คือใช้ซอฟท์แวร์ที่ช่วยประสานเครือข่ายเครื่องคอมพิวเตอร์แบบธรรมดาที่เราใช้ตามปรกติ ให้มาร่วมกันประมวลผล แก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งทำให้ไม่ต้องสร้างเครื่องใหม่ แต่สร้างซอฟท์แวร์แทน

จะเห็นว่า ภาษาต่างกันนิดเดียว นำไปสู่วิวัฒนาการแยกเส้นทางได้

จะคิดให้ชัด ภาษาต้องชัดก่อนครับ
คำสำคัญ (Tags): #คณิตศาสตร์#ภาษา
หมายเลขบันทึก: 82569เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2007 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 20:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

จิงค่ะ

ถ้าเรามองเห็นความสำคัญของภาษา

มากกว่านี้ก้อจะดีมากมายค่ะ

  • การสื่อสารที่ชัดเจนตรงประเด็นไม่อ้อมค้อม
  • เป็นจุดเริ่มของความสำเร็จทั้งปวงค่ะ

คิดไม่ถึงความหมายต่างขนาดนี้        

คิดไม่ถี่จึงคิดหมายไม่ถึง

คิดไม่ถึงความคิดมากมายคำนึง         

...

คิดถึงจึงคิดถึงความคิดถึง

...

;P

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท