ชื่นชมคณะเทคนิคการแพทย์ ม. มหิดล


         สภามหาวิทยาลัยมหิดลไปเยี่ยมชื่นชมคณะเทคนิคการแพทย์  เมื่อวันที่ ๒๗  ก.พ. ๕๐     เป็นคณะเทคนิคการแพทย์คณะแรกของประเทศ     ก่อตั้งมาจะครบ ๕๐ ปี  วันที่ ๒๙ มิย. ๕๐    และครบ ๕๐ ปีวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ของประเทศไทยด้วย    โดยมี ศ. นพ. วีกูล วีรานุวัตติ์ เป็นคณบดีผู้ก่อตั้ง

       อาคารของคณะอยู่ที่ศาลายา  และมีสถานที่ทำงานบริการที่ศิริราชเพื่อเป็นที่ฝึก นศ.

       รศ. ศรีสนิท อินทรมณี รองคณบดีฝ่ายการศึกษา บอกว่าภูมิใจบทบาทของคณะต่อการจัดการสอบระบบโควต้าของ ม. มหิดล     ซึ่งจัดในปี  ๒๕๔๘  เป็นปีแรก    คณะรับผิดชอบ ๓ ใน ๑๐ สนามสอบทั่วประเทศ    และจัดสถานที่และบริการในการตรวจสุขภาพ นร. ที่สอบข้อเขียนได้   รวมทั้งให้บริการตรวจสุขภาพแก่สมาชิกของมหาวิทยาลัยมหิดล    คณะฯ มี mobile unit ตรวจทางรังสี

       จัดการเรียนการสอนใน ๒ สาขา คือเทคนิคการแพทย์ และรังสีเทคนิค   ระดับปริญญาตรี โท  และเอก

       สาขารังสีเทคนิค  ศ. นพ. สุพจน์ อ่างแก้ว เป็นผู้ก่อตั้ง  เป็นแห่งแรกของไทย     และเวลานี้ท่านก็ยังมาสอน

       หลักสูตร ป. เอกสาขาเทคนิคการแพทย์ นานาชาติ มีแห่งเดียวในประเทศ   เริ่มปี ๒๕๔๑  จบการศึกษาแล้ว ๓๖ คน  มีผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติ ๗๑ เรื่อง    นักศึกษาได้รับทุนจาก สกอ. และจาก คปก.

       เป็น รร. รังสีเทคนิคที่มีอุปกรณ์เพื่อการฝึกงานของ นศ. พร้อมที่สุดในประเทศไทย     มีเครื่อง CT ชนิด ๔ สไลด์ (ได้รับบริจาคจากรามา) สำหรับให้ นศ. ฝึก    ทางคณะเทคนิคซาบซึ้งต่อ ศ.นพ.รัชตะ   รัชตะนาวิน คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี มาก ที่ยกเครื่องนี้ให้ฟรี     โดยเรียกร้องให้มีการเสนอแผนงานใช้เครื่อง ก่อนจะอนุมัติ     ผมมองว่าเป็นโอกาสในการทำวิจัยที่คณะจะหยิบฉวยเอามาสร้างผลงานวิชาการ   และหรือเอามาใช้จัดการฝึกอบรม   หา ทางสร้าง value จากเครื่องมือนี้

      คณะฯ มีบทบาทสำคัญ ในการพัฒนาทักษะวิชาชีพ หรือ จัด Continuing Medical Technology Education ให้แก่ประเทศ    คณบดีถึงกับมีเป้าหมายสัปดาห์ละ  ๑  course ตรงนี้ผมตาลุก มองเห็นโอกาสสร้างสรรค์ผลงานวิชาการแนวใหม่ ที่เชื่อมโยง KM   เชื่อมโยงกับการทำงานในชีวิตจริงของคนในวิชาชีพ    คือมองว่าความรู้เชิงประสบการณ์จากนักเทคนิคการแพทย์ทั่วประเทศเป็น knowledge asset ที่มีค่า     คณะจะต้องจัดกระบวนการ ลปรร. เพื่ออิงความรู้จากประสบการณ์นั้นมาทำความชัดเจน     หรือเอามาทำวิจัยต่อยอด     ผมยังไม่ทันเสนอความเห็นนี้ ท่านคณบดี รศ. นพ. ฉัตรชัย ศรชัย ก็เอ่ยเสียก่อน    ผมฟังด้วยความชื่นใจ

       ผมฟังงานประกันคุณภาพของห้องปฏิบัติการโดยองค์กรภายนอก (EQAS - External Quality Assurance Scheme) ที่นำเสนอโดย ผศ. สุพรรณี ศานติวิจัย    และเห็นว่าเป็นผลงานที่มีคุณูปการต่อประเทศไทยอย่างยิ่งในลักษณะงาน ปิดทองหลังพระ   และเป็นงานที่ไม่มีหน่วยใดเหมือน  มีความร่วมมือหลายภาควิชา   ให้บริการแก่สมาชิกผ่านศูนย์ประยุกต์    ที่น่าชื่นชมยิ่งคือตัวอย่างตรวจและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่ใช้วิเคราะห์พัฒนาขึ้นเองทั้งสิ้น     ผมชื่นชมพิเศษที่ผลงานวิจัยเพื่อพัฒนานี้สามารถนำไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติได้

      ผมปิ๊งแว้บ RfR (Research for Routine) หรือ R2Q (Research to Quality ) เพื่อการจัดระบบควบคุมคุณภาพของห้องปฏิบัติการ   และให้บริการสู่ภายนอก หรือ R2U (Research to Use) ที่ อ. ศรีสุรางค์
เล่าเรื่องโครงการบริการประกันคุณภาพทางจุลชีววิทยาให้แก่ภาคเอกชน และหน่วยงานภายนอก จนได้รับยกย่องเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงของ อย. เป็นห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัยแห่งเดียวของประเทศ     มีฐานะเท่าห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

      ผมมองว่าน่าจะหาทางพัฒนาบริการนี้ใน commercial scale โดยสร้าง brand value ของความเป็นคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วย     ผมกะจะเล่านิทานเรื่อง อุโมงค์ลมของ Imperial College มหาวิทยาลัยลอนดอน     แต่ลืม    จึงขอนำมาเล่าในที่นี้     เมื่อประมาณ ๒๐ ปีมาแล้ว ตอนที่ผมเป็นผู้บริหารอยู่ที่ มอ.     ได้ไปร่วมสัมมนาเรื่อง Entrepreneurial University ที่อังกฤษ     เขาพาไปดูงานที่ Imperial College, U of London    เจ้าหน้าที่ธุรกิจของมหาวิทยาลัยเล่าว่า      บริษัทรถแข่งมาขอใช้อุโมงค์ลมของมหาวิทยาลัยในการทดสอบการทรงตัวของรถ     และถามว่าจะคิดค่าบริการเท่าไร     ศาสตราจารย์ที่เป็นนักวิจัยจะคิด ๕๐๐ ปอนด์ตามค่าใช้จ่ายจริง บวกกำไรอีกสักเท่าตัว     แต่ฝ่ายธุรกิจของมหาวิทยาลัยบอกว่าคิดอย่างนั้นไม่ได้     เพราะว่า "ราคา" ของบริการไม่ใช่มีแค่ผลทางวิทยาศาสตร์     แต่มีราคาของ Brand Name ของ Imperial College ติดไปด้วย     เพราะบริษัทรถยนต์จะเอาไปโฆษณาว่าผลการทดสอบการทรงตัวทำในอุโมงค์ลมของ Imperial College     ทางฝ่ายธุรกิจเรียกค่าตอบแทน  ๑๐,๐๐๐ ปอนด์ ทางบริษัทรถยนต์ไม่ต่อสักคำ

       ผมเล่านิทานเรื่องนี้เพื่อจะเสนอว่า บริการด้านการทดสอบคุณภาพของสิ่งส่งตรวจจากตัวอย่างสินค้า ของคณะฯ น่าจะทำใน commercial scale และจัดการแบบธุรกิจ     หวังเอาเงินมาอุดหนุนวิชาการ

       ผมคิดว่ายุทธศาสตร์ของคณะฯ ถูกทางแล้ว     โดยสร้างคุณค่าที่มาจากการเน้นงาน Quality   เพื่อสร้างความเข้มแข็งของวิชาชีพ  เพื่อประโยชน์ของประเทศ      ดำเนินการ Quality Improvement ของวิชาชีพ ในทุกมิติ

       ผมขอแสดงความชื่นชมการริเริ่มของ อ. อมรินทร์ ปรีชาวุฒิ ในการริเริ่มทำ EQAC มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ และทำอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา  จนได้รับการยอมรับให้เป็นศูนย์ของ WHO  และการยอมรับอื่นๆ

      ท่านคณบดี รศ. นพ. ฉัตรชัย ศรชัย แจ้งว่า เป้าหมายต่อไปคือ  calibration lab ให้บริการตรวจคุณภาพความแม่นยำของเครื่องมือ โดยทำงานร่วมกับสถาบันมาตรวิทยา      ผมมองว่าเป็นเป้าหมายที่เหมาะสมอย่างยิ่ง

       ผมตีความว่า ที่คณะเทคนิคการแพทย์ทำงานวิจัยเพื่อเพิ่มคุณภาพ และความแม่นยำของห้องปฏิบัติการ     และทำวิจัย นำเอาความรู้เชิงทฤษฎียากๆ ไฮเทค  มาแปลงเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสม     แปลงเป็นวิธีการที่เหมาะสมในการใช้ภายในประเทศ เป็นการทำ Knowledge Translation อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง     น่าจะมีการเขียนเล่าการดำเนินการนี้ไปลงใน Bulletin WHO     โดยลองไปปรึกษษ ศ. นพ. วิษณุ ธรรมลิขิตกุล ที่ศิริราช ว่าควรเขียนอย่างไร

         เป็นครึ่งวันที่ผมมีความสุข     ที่ได้ไปรับฟังและชื่นชมเรื่องราวความสำเร็จของคณะเทคนิคการแพทย์ ที่ถ้าไม่เอามาตีความทำความเข้าใจ    ก็อาจเห็นคุณค่าไม่ชัดเจน     ผมหวังว่าทางคณะจะหาทางนำเสนอผลสำเร็จที่ไม่ธรรมดานี้ ให้เห็นชัดใน website และในรายงานประจำปีของคณะ และของมหาวิทยาลัย

วิจารณ์ พานิช
๒๗ ก.พ. ๕๐

๑. บรรยากาศในห้องประชุม

๒. อีกมุมหนึ่งของห้องประชุม

๓. ซ้าย รศ.นพ.ฉัตรชัย   ศรไชย คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์  

     ขวา ผศ.ทพ.พาสน์ศิริ   นิสาลักษณ์  รองอธิการบดีฝ่ายประสานงานและเลขานุการสภามหาวิทยาลัย

๔. คณบดีฯ มอบของที่ระลึกแด่นายกสภามหาวิทยาลัย

๕. ภาพถ่ายรวมผู้เข้าร่วมเยี่ยมชื่นชมคณะเทคนิคการแพทย์

หมายเลขบันทึก: 82456เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2007 16:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 17:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าชื่นชมผลงานต่างๆของคณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดลที่ท่านอ.วิจารณ์นำมาเผยแพร่ค่ะ มีความรู้สึกว่า อย่างแรกคือต้องขอบคุณท่านอ.วิจารณ์ที่มีวิธีการถ่ายทอดสิ่งที่อาจารณ์ชื่นชมได้อย่างเห็นภาพชัดแจ้ง ว่าอะไรคือสิ่งที่ท่านชม แถมยังแนะนำแนวทางปฏิบัติในการขยายผล เพราะเราเอง ในฐานะนักเทคนิคการแพทย์ เราจะไม่ค่อยตระหนักนักว่าผลงานที่ทำมีคุณค่าน่าเผยแพร่ ดูเหมือนเราจะทำแล้วก็ภูมิใจ อิ่มอกอิ่มใจกันในวงวิชาชีพที่ไม่ได้ทำให้กว้างขวางนัก

ต้องกราบขอบพระคุณท่านอ.วิจารณ์เป็นอย่างยิ่งค่ะ ที่จุดประกายอะไรหลายๆอย่างให้กับงานในสายวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ของพวกเรา

อยากสอบถามอัตราค่าเล่าเรียนคณะเทคนิคการแพทย์เท่าไรค่ะเพราะสนใจที่จะเรียนคณะนี้มากมีความตั้งใจอยากสอบเข้ามหาวิทยาลัยมหิดลมากค่ะหากเข้าได้แล้วสามารถกู้กยศ.ได้ไหมค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท