สำรวจพื้นที่ตรัง นครฯ พัทลุง (6-จบ) ..สร้างพื้นที่ให้คนเล็กคนน้อยที่ลุ่มน้ำปะเหลียน


เราคิดว่า การอนุรักษ์ก็ประเด็นหนึ่ง แต่หัวใจการทำงานจริงๆของอาจารย์พิศิษฐ์ คือ “การสร้างพื้นที่ให้กับคนเล็กคนน้อย”

ลุ่มน้ำปะเหลียนกินพื้นที่กว้างมีระบบนิเวศที่น่าสนใจมากทั้งเขตป่าบก ไล่ลงมาเป็นป่าสาคู ...ป่าชายเลน 

เราคุ้นเคยกับป่าชายเลนอยู่บ้าง เพราะบ้านเดิมก็อยู่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และเคยไปดูงานป่าชายเลนในหลายจังหวัด  น่าเสียดายที่ครั้งนี้ไม่มีเวลาไปดูป่าสาคู  ซึ่งคุณด้วง ภรรยาอาจารย์พิศิษฐ์บอกว่า เป็นป่าที่สำคัญต่อแหล่งน้ำจืด   งานนี้จึงไปดูแต่ป่าชายเลน

ชาวบ้านในเขตป่าชายเลนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม  เราได้ไปคุยกับชาวบ้านหลายกลุ่มทั้งที่บ้านตะเซะ (กลุ่มชาวบ้านมีการอนุรักษ์ป่าชายเลน) บ้านแหลม (โรงเรียนมีบทบาทสำคัญมากในการจัดกิจกรรมที่มีผลต่อการอนุรักษ์)  และนั่งเรือมาบ้านแตะหรำ (ที่ที่ชาวบ้านชี้ให้เห็นความแตกต่างของป่าปลูกเชิงเดี่ยวของรัฐ  กับป่าชุมชนซึ่งมีความหลากหลายของพันธุ์พืชมากกว่า)  เราใช้เวลาในการคุยแต่ละพื้นที่ประมาณ 2 ชั่วโมง

 

สิ่งที่เป็นความรู้ใหม่น่าสนใจสำหรับเรา  คือ  แนวทางการทำงานของอาจารย์พิศิษฐ์  ของสมาคมหยาดฝน และ ดร.เลิศชาย นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่มาช่วยให้คำแนะนำวิธีการศึกษาพื้นที่แก่ทีมเศรษฐศาสตร์ 

สำหรับอาจารย์พิศิษฐ์ 

เราคิดว่า การอนุรักษ์ก็ประเด็นหนึ่ง  แต่หัวใจการทำงานจริงๆของอาจารย์พิศิษฐ์  คือ การสร้างพื้นที่ให้กับคนเล็กคนน้อย 

เราต้องใช้ประวัติศาสตร์เพื่อสร้างตัวตนให้กับชุมชน  อาจารย์บอกเรา และขณะนี้  เราคิดว่า อาจารย์ก็กำลังใช้เศรษฐศาสตร์ที่มองประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการรักษาป่า เพื่อสร้างความชอบธรรมและทำให้สังคมยอมรับบทบาทของ คนเล็กคนน้อย ผู้รักษาป่าเหล่านี้  ให้พวกเขามีที่ยืนในสังคมได้อย่างสง่างาม 

และไม่ต้องแปลกใจว่า  ทำไมอาจารย์จึงเห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกันหลายฝ่ายเพื่อสนับสนุนชุมชน  

สำหรับ ดร.เลิศชาย  

อาจารย์ย้ำว่า ชุมชนไม่ได้เป็นเอกภาพเสมอไป  และการศึกษาชุมชน คือ การศึกษากระบวนการ ที่เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ และมักเป็นเรื่องของการจัดการที่จะอยู่ร่วมกันภายใต้ความขัดแย้งซึ่งมีอยู่เป็นธรรมดา

**************

ก่อนออกจากตรัง  เราได้ไปสักการะอนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์  เราเคยอยู่ที่ตรัง มาวิ่งเล่นและปิคนิคที่สวนบริเวณอนุสาวรีย์นี้อยู่ 7 ปี   

เป็นเวลา 30 ปีแล้วที่เราไม่ได้กลับมาคารวะท่านอีกเลย

ได้มีโอกาสผ่านบ้านเก่าที่เคยอยู่  ผ่านโรงเรียนเก่าที่เคยเรียน ผ่านร้านหนังสือที่เคยแวะอ่านการ์ตูน   เมืองตรังวันนี้เล็กลงถนัดตา และทรุดโทรมไปมาก

แต่การกลับมาเยือนก็น่าตื่นเต้นและมีความหมายมาก  เราเก็บดอกศรีตรังจากสวนไว้ดอกหนึ่ง  ทับไว้อย่างดีในหนังสือ

เราจะได้มาเมืองตรังและลุ่มน้ำปะเหลียนอีกครั้งในเดือนเมษายน

 
หมายเลขบันทึก: 82317เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2007 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

น่าสนใจจังคะ หน่อยยังไม่เคยไปเยี่ยม สมาคมหยาดฝนเลย  แต่มีรุ่นพี่อยู่ ตรัง ด้วยคะ สมัยก่อนไปเที่ยว บ้านพี่และไปนั่งเรือ ไปลอดถ้ำ

จำชื่อไม่ได้ และไปดำน้ำดูปะการังด้วยคะ โลกใต้น้ำ

มีสีเยอะมาก    ติดใจ  ....พี่ทำงาน ประสานงานเครือข่ายชาวประมงภาคใต้ ภาคประชาชน

หัวหน้าเก่าของหน่อยที่สุรินทร์คะ 

........................

อาจารย์ มีประสพการณ์ หลายจังหวัดดีนะคะ

ชอบ ดอกศรีตรัง ด้วยคะ 

  • ตามมาอ่านบันทึกอาจาย์
  • มาจากบันทึกคุณดอกแก้ว
  • อยากชวนมาที่นี่ครับ
  • สนใจไหมครับ
  • จำได้ว่าเคยพบคุณพิศิษฐ์ที่สมาคมหยาดฝน มีน้องในชมรมมาจากตรัง ทำงานเก่งมาก
  • ขอบคุณครับผม

คุณหน่อยคะ

พี่อยู่ตรังตอนที่พื้นที่รอบตัวเมืองเป็นเขตสีชมพู หรือสีแดง  คือ เป็นช่วงของการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างรัฐกับ พคท.  จำได้ว่า แทบไม่ได้ออกไปนอกพื้นที่เขตเมืองเลย ยกเว้นตอนปิดเทอมที่ต้องเดินทางกลับบ้านที่สงขลา คือ จากตรัง ข้ามเขาพับผ้าไปพัทลุง แล้วไปลงเรือข้ามทะเลสาบสงขลา

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่รู้จักทะเลสวยๆของเมืองตรังเลย  เสียดายมาก   ลุ่มน้ำปะเหลียนก็เพิ่งได้ไปเยี่ยมครั้งนี้เป็นครั้งแรกค่ะ

รู้งี้เก็บดอกศรีตรังมาสองดอกก็ดีนะคะ  จะได้ทับดอกไม้แห้งเผื่อคุณหน่อย

ขอบคุณอาจารย์ขจิตนะคะที่มาเยี่ยม และเชิญชวนไปที่พื้นทีครูบาสุทธินันท์  มีชาวบล็อคหลายคน น่าสนุกนะคะ    ดิฉันเคยเรียนหนังสือกับอาจารย์จิระ หงส์ลดารมย์  ตอนเรียนที่เศรษฐศาสตร์ มธ. ด้วยค่ะ

ปี 47  เราเคยพากลุ่มชาวบ้านและนักวิจัยโครงการระบบแลกเปลี่ยนชุมชนไปสัมมนาที่ศูนย์ของครูบาฯค่ะ  ครูบาสุทธินันท์เก่งมาก ยิ่งการนำเสนอใช้ไฮเทครวดเร็ว สนุก ได้สาระ

ตอนนี้กำลังจัดโปรแกรมชีวิตตัวเองอยู่นะคะ  จะรับเอาข้อมูลจากอาจารย์ไว้พิจารณาด้วยค่ะ  ขอบคุณค่ะ

  • ผมไม่ได้มาตรังหลายปีแล้ว  มากกว่า 5 ปี ก่อนหน้านี้ต้องมาเชงเม้งทุกปี
  • หวังว่าพี่พิศิษฐ์สบายดีอยู่นะครับ
  • คิดถึงปากเมง และอาหารอร่อยๆทั้งหลายในเมือง

ขอบคุณคะอาจารย์ ดอกศรีตรัง เป็นสัญญลักษณ์ ที่

มอ.ปัตตานี ด้วยคะ ที่ตึกเยื้องตึกกิจกรรม มีลานศรีตรัง

ค่ะ  ชอบไปนั่งเล่น 

คุณบางทรายคะ

อาจารย์พิศิษฐ์สบายดีค่ะ  ท่านยังแข็งแรงมากทั้งกายและพลังใจ  ยังประทับใจสิ่งที่ท่านพูดในวงชาวบ้าน สร้างกำลังใจให้กับทุกคน

ตามมาอ่านครับ...

ดีใจครับที่เห็นการพัฒนาเกิดขึ้นแถวบ้านเกิดครับ...

อยากให้พัทลุงได้รับการพัฒนามากกว่านี้ครับเพราะเป็นจังหวัดที่มักถูกมองข้ามครับ...

คิดว่าพัทลุงก็มีศักยภาพในการพัฒนาสูงเพราะมีเครือข่ายชาวบ้านเข้มแข็งค่ะ  แต่ที่จริงพัทลุงก็สงบน่าอยู่นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท