แนวปฏิบัติในการออกกำลังกายเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิต


การพัฒนาแนวปฏิบัติในการออกกำลังกายเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

การพัฒนาแนวปฏิบัติในการออกกำลังกายเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

1.      กำหนดประเด็นปัญหาทางคลินิก

 

1.1  ระบุประเด็นปัญหาที่สนใจทางคลินิกที่ต้องการปรับปรุง/แก้ไขด้วยงานวิจัย พร้อมกลุ่มประชากร

                 การพัฒนาแนวปฏิบัติในการออกกำลังกายเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

1.2  หลักการและเหตุผล

 การเปลี่ยนแปลงด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสารสนเทศ   ในปัจจุบันของประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพของประชาชน กล่าวคือ  ทำให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ และโรคที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการแปรเปลี่ยนโรคจากความยากจนและโรคติดต่อ มาเป็นโรคไม่ติดต่อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม เช่น โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคมะเร็งและโรคเบาหวานเป็นต้น สาเหตุของโรคดังกล่าวนั้น ล้วนเกิดจากการมีพฤติกรรมการดำรงชีวิต (Wealth Related Behavior) ที่ไม่ถูกต้องทั้งสิ้น เช่น การกินอาหารที่มีไขมันสูง การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา ภาวะเครียด และขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น ( สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข,2543) จากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งสิ้น

โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ยังไม่สามารถบอกสาเหตุของการเกิดโรคได้ชัดเจน อาจเป็นได้ทั้งพันธุกรรมและปัจจัยอื่น ๆ (ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์และดวงกมล  จันทรนิมิตร , 2542. หน้า 1) จึงทำให้ป้องกันโรคได้ยาก นอกจากนี้ยังเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาหายขาดได้ เมื่อเป็นโรคระยะแรก ๆ มักไม่มีอาการแสดง ทำให้ไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรก เมื่อผู้ป่วยมีความรุนแรงมากขึ้นหรือมีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วยจึงมีอาการเจ็บป่วย  การรักษาและควบคุมความดันโลหิตจะต้องใช้ยาหลายตัวร่วมกัน การเจ็บป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงทำให้ผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานเกิดผลกระทบกับสุขภาพ เศรษฐกิจ ครอบครัว ชุมชนและตัวผู้ป่วยเอง โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบได้ในหมู่ประชากรทั่วไปประมาณกันว่า ประชากรของแต่ละประเทศจะเป็นโรคนี้ถึงร้อยละ 20 (ชะนวนทอง  ธนสุกาญจน์ และ ดวงกมล  จันทรนิมิตร, 2542. หน้า1)  ประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1999 – 2002 พบอุบัติการณ์โรคความดันโลหิตสูงตามวัยร้อยละ 28.6 เมื่ออายุมากขึ้นก็พบโรคความดันโลหิตสูงมากขึ้นและพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย พบในชนผิวดำร้อยละ 40.5 ชนผิวขาวร้อยละ 27.4  ชาวอเมริกันแมกซิกันร้อยละ 25.1  ในจำนวนนี้พบว่าเป็นความดันโลหิตสูงในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป (www.cdc.gov/mmwr)

สถานการณ์ของอัตราป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงของประเทศไทยต่อประชากร 100,000 คน ปี พ.. 2544 – 2546  มีอัตราเพิ่มขึ้นตามลำดับ ดังนี้ 287, 340 และ 390 ตามลำดับ ในเขตภาคเหนือ อัตราป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงต่อประชากร 100,000 คน ในช่วงเวลาเดียวกัน มีอัตราการป่วยเพิ่มขึ้นเช่นกัน คือ 370 , 429 และ 521 ตามลำดับ  (สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข) เช่นเดียวกับจังหวัดสุโขทัย มีอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงต่อประชากร 100,000 คน ในปี พ.. 2545 – 2547  คือ 749 , 730 และ 781 ตามลำดับ (รายงานประจำปีงานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย)  จำนวนผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่เข้ารับการรักษาที่งานผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลศรีสังวรสุโขทัย ปี พ.. 2547 – 2549มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก คือ 2,618 คน, 2,928 คน และ 3,398 คน ตามลำดับสำหรับผู้ป่วยนอก  ผู้ป่วยในมี 758 คน, 847 คนและ 940 คน ตามลำดับ (รายงานประจำปี โรงพยาบาลศรีสังวรสุโขทัย) ศูนย์สุขภาพชุมชนทับผึ้ง อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเข้ารับการรักษา ระหว่างปี พ.. 2547– 2549 จำนวน 86 คน, 85 คน และ 104 คน  ตามลำดับ(จากทะเบียนรายงานผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ศูนย์สุขภาพชุมชนทับผึ้ง) แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่โรงพยาบาลและศูนย์สุขภาพชุมชน จากการที่ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและศูนย์สุขภาพชุมชนมีจำนวนเพิ่มขึ้นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่ง โรคความดันโลหิตสูงเป็นภัยเงียบที่ค่อย ๆ คุกคามชีวิตผู้ป่วยโดยไม่รู้สึกตัว  เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มีการเจ็บป่วยให้เห็นชัดเจนจนกว่าจะมีการทำลายอวัยวะสำคัญของร่างกาย ได้แก่ สมอง หัวใจ ไต ตา  ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงจึงมักไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรกของการเกิดโรค ตามนโยบายเมืองไทยแข็งแรงของกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้มีการคัดกรองผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง  โดยประชากรอายุ 40 ปีขึ้นไปร้อยละ 60 ได้รับการวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เป็นการช่วยค้นหาผู้ที่มีความดันโลหิตสูงให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงเล็กน้อยหรือก้ำกึ่งควรได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตเพื่อไม่ให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงในที่สุด เพราะโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ร้อยละ 20 – 25 ของผู้ที่มีความดันโลหิตสูงเล็กน้อยสามารถควบคุมความดันโลหิตได้โดยไม่ต้องใช้ยา (Friedman, Stuart and Benson, 1992 หน้า 1 อ้างในสมจิต  หนุเจริญกุล และอรสา  พันธ์ภักดี, 2542. หน้า 11) ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิตประกอบด้วยการลดน้ำหนัก  (ในคนอ้วน)   จำกัดการรับประทานอาหารรสเค็ม เพิ่มผักผลไม้ แคลเซียม, งดอาหารไขมันอิ่มตัว, ออกกำลังกาย, เลิกสูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ และการจัดการความเครียด (WHO, 1993 หน้า 398 – 399 , Friedman, Stuart and Benson, 1992  หน้า 2 – 5 อ้างใน    สมจิต  หนุเจริญกุล และอรสา  พันธ์ภักดี, 2542. หน้า 11, ปิยะนุช  รัตพานิชย์, 2542. หน้า 26 และ ชุมศักดิ์  พฤกษาพงศ์, 2547. หน้า 177)  ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของเฮาส์ตัน (Houston 1986 , หน้า 179 – 185 อ้างใน เตือนใจ หมวกแก้ว. 2540 หน้า 2) ว่าผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเล็กน้อยควรใช้วิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตก่อนที่จะใช้ยา  เช่นเดียวกับ The Seventh Report of the joint National Committee on Prevention, Detection, Evaluation and Treatment of High Blood Pressure หรือ JNC. 7  ที่ระบุว่าประชากรที่มีระดับความดันซีสตอลิค 120 – 139 มิลลิเมตรปรอท  ระดับความดันไดแอสตอลิค 80 – 89 มิลลิเมตรปรอท  การปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตมีความสำคัญมากในการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงได้แก่การรับประทานอาหารที่มีปริมาณโปแตสเซียม แคลเซียมมากพอและลดปริมาณโซเดียม ออกกำลังกายและจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์  (JNC. 7, 2503)การรักษาโดยไม่ใช้ยาสามารถลดความดันโลหิตซีสตอลิคได้10 – 15 มิลลิเมตรปรอท และความดันไดแอสตอลิค 6 – 10 มิลลิเมตรปรอท พบถึงร้อยละ 40 ของประชากรที่มีความดันไดแอสตอลิค 95 – 100 มิลลิเมตรปรอท (จิตรชนก หัสดี , 2541. หน้า 2)

ในการวิเคราะห์ปัญหาการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่มารักษาในโรงพยาบาลศรีสังวรสุโขทัยและศูนย์สุขภาพชุมชน จะพบว่าเกิดจากปัจจัยหลายด้าน ที่พบมากที่สุดคือผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ชอบรับประทานอาหารที่มีเกลือโซเดียมมากรสเค็ม ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ทำงานหนัก เคร่งเครียด ขาดการออกกำลังกาย รับประทานยาไม่ต่อเนื่อง และไม่มารับการวัดความดันโลหิตตามนัด เมื่อมีอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ และมารับบริการที่โรงพยาบาลและศูนย์สุขภาพชุมชน จึงพบว่ามีความดันโลหิตสูงปานกลางถึงรุนแรง ต้องให้การรักษาด้วยยาลดความดันโลหิตขนาดสูง หรือจำนวนตั้งแต่ 2 ชนิดร่วมกันขึ้นไป จากปัญหาและผลกระทบดังกล่าว จึงต้องมีการหาแนวทางป้องกันและควบคุมระดับความดันโลหิตเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นจากโรคความดันโลหิตสูง เช่น มีภาวะความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ (Cardiovascular disease) โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)อาจเกิดทุพพลภาพ และ / หรือเสียชีวิตเฉียบพลันได้ (สุพรชัย  กองพัฒนากูล, 2542. หน้า1) ความดันโลหิตสูงทำให้หลอดเลือดฝอยที่ไตแข็งตัวทำให้อัตราการกรองที่ไตลดลง หน้าที่ของ Tubular เสื่อมลง  พบโปรตีนในปัสสาวะ  ผู้ป่วยร้อยละ 10  ที่เสียชีวิตจากไตวาย  (สมจิต  หนุเจริญกุล,  2540. หน้า 139)  ผลต่อตาทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดดำใหญ่กลางเรตินาทำให้สูญเสียการมองเห็นและมีเลือดออกบริเวณด้านหลังลูกนัยน์ตา  พื้นที่บริเวณเรตินาตายลงเนื่องจากเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ปรากฏรอยขาว ๆ ขึ้น (ชุมศักดิ์  พฤกษาพงศ์, 2547. หน้า 156)

จากการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นประกอบกับการทบทวนวรรณกรรม เอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องยังไม่พบว่ามีการนำรูปแบบการออกกำลังกายมาใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่เหมาะสมในชุมชนและเป็นมาตรฐาน รวมทั้งพยาบาลยังขาดความชำนาญและทักษะในการประเมินและการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกต้องเหมาะสม การปฏิบัติที่ผ่านมาเน้นการให้สุขศึกษาเป็นรายกลุ่มด้วยการบรรยายเป็นส่วนใหญ่ นักศึกษาจึงมีความสนใจที่จะใช้รูปแบบการออกกำลังกายมาใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากภาวะความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่จะพัฒนาการพยาบาลเพื่อให้เกิดแนวทางการปฏิบัติการพยาบาลที่ถูกต้องและเหมาะสม และสามารถนำมาใช้เพื่อควบคุมระดับความดันโลหิต ซึ่งการออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อการลดระดับความดันโลหิตและเป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงแบบไม่ใช้ยาวิธีหนึ่งซึ่งผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูงควรปฏิบัติ อีกทั้งช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัว มีความสามารถในการดูแลตนเองซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมปฏิบัติตัวที่ถูกต้องและคงอยู่ตลอดไป

อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
 http://gotoknow.org/file/nursing/RUexerciseinHT.doc
หมายเลขบันทึก: 82226เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2007 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 11:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท